เชิญผู้สนใจ ร่วมอบรมการผลิตสื่อแนวใหม่ LONGFORM INTERACTIVE JOURNAL

เชิญผู้สนใจ ร่วมอบรมการผลิตสื่อแนวใหม่ LONGFORM INTERACTIVE JOURNAL

ทีม Locals  ThaiPBS  โดยฝ่ายพัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ขอเชิญชวน….ผู้ผลิตสื่ออิสระ  ผู้ผลิตสื่อชุมชน เครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น  ร่วมเรียนรู้และฝึกอบรม เชิงปฏิบัติการ การผลิตสื่อแนวใหม่ ด้วยแนวคิดและรูปแบบ LONGFORM INTERACTIVE JOURNAL ระหว่างวันที่ 25 – 26 กรกฎาคม 2566 ทาง ZOOM

การนำเสนอแบบ long-form journalism คือการรายงานขนาดยาวเพื่อให้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกอย่างครบถ้วน รอบด้าน และด้วยยุคสมัยของ digital การทำเนื้อหาแบบ longform ยังเปิดให้สร้างสรรค์เทคนิคการนำเสนอได้หลายรูปแบบ และเปิดกว้างที่จะทำให้เกิดการคิดค้นรูปแบบการสื่อสารที่สามารถสร้างการปฏิสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของสังคมได้เป็นอย่างดี   จึงเป็นรูปแบบที่สื่อทั่วโลกให้ความสำคัญพัฒนาคนทำงานและลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อให้ได้มาซึ่งการนำเสนอแบบ long-form  มากขึ้นเรื่อยๆ   

ทีม Locals ThaiPBS โดยฝ่ายพัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง ซึ่งทำหน้าที่พัฒนาศักยภาพนักสื่อสารในท้องถิ่น ให้ร่วมเป็นระบบนิเวศทางการสื่อสารของสังคม โดยให้ความสำคัญกับเนื้อหาจากท้องถิ่น ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของแต่ละพื้นที่และเชื่อมโยงสู่ระดับชาติได้ปรับรูปแบบการทำงานโดยนำแนวคิด long-form journalism มาดำเนินงานมุ่งหวังจะสร้างการทำงานสื่ออย่างมีส่วนร่วมกับเครือข่ายนักสื่อสารในท้องถิ่น ตามเงื่อนไขและคุณลักษณะที่แตกต่างหลากหลาย และร่วมกันส่งมอบเนื้อหาและบริการที่มีประโยชน์ ต่อท้องถิ่นเพิ่มขึ้น จึงจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การผลิตสื่อแนวใหม่ ด้วยแนวคิดและรูปแบบ LONGFORM INTERACTIVE JOURNAL ระหว่างวันที่ 25 – 26 กรกฎาคม 2566 ทาง ZOOM โดยมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

คุณสมบัติผู้เข้าร่วมอบรม

  1. เป็นผู้ผลิตสื่ออิสระ  ผู้ผลิตสื่อชุมชนท้องถิ่น และเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น
  2. เป็นผู้มีทักษะการผลิตสื่อ เช่น  การเขียนข่าว บทความ ถ่ายภาพเล่าเรื่อง งาน DATA ถ่ายและตัดต่องานวีดิโอ  หรือสื่อสารลักษณะ Onground หรือทำกิจกรรมส่งเสริมการรับรู้ หรือ การขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม  
  3. เป็นผู้เคยร่วมฝึกอบรมการผลิตสื่อกับไทยพีบีเอส หรือไม่เคยก็ได้
  4. เป็นผู้มีความตั้งใจจะเรียนรู้แนวคิดและแนวทางการผลิตสื่อแนวใหม่  LONGFORM INTERACTIVE JOURNAL โดยจัดเวลาเข้าร่วมกิจกรรมและสามารถผลิตงานทดลองสื่อสาตามแผนที่โครงการวางไว้จนแล้วเสร็จ

เงื่อนไขการเข้าร่วมอบรม

  1. ส่งใบสมัครและผลงานการสื่อสารของท่าน   ภายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2556  ได้ตามช่องทางต่อไปนี้

คลิกใบลงทะเบียน… https://forms.gle/btxu9LqWMtd2F9YdA

  • ผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องยืนยันสิทธิ์และยืนยันสามารถเข้าร่วมกิจกรรมตามกระบวนการที่กำหนดครบทุกขั้นตอน (รายละเอียดตามแผนดำเนินงาน) โดยนอกจากการเรียนรู้แนวคิดและข้อมูล จากวิทยากรแล้ว จะมีการทำ Prototype เพื่อทดลองสื่อสารด้วย
  • การพิจารณาคัดเลือกผู้สมัคร และพิจารณาไอเดียเพื่อทำ Prototype ของคณะทำงานฝ่ายพัฒนา เครือข่ายสื่อพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ถือเป็นที่สิ้นสุด

คือวารสารออนไลน์ของประเด็นท้องถิ่นที่สำคัญ  ที่มีการรวบรวมงาน TPBS CONTENT และเปิดให้ร่วมพัฒนาเนื้อหา โดยสาธารณะ (นักวิชาการและผู้อ่าน) ใน  LONGFORM INTERACTIVE JOURNAL  ยังจะปรากฏเนื้อหาที่เป็น  LOCAL PREMIUM CONTENT และ กิจกรรมที่กระตุ้นให้มี Public Croundsoursing ที่หลากหลาย

นิยาม  LOCAL PREMIUM CONTENT  ชุดสื่อคุณภาพสูงของประเด็นท้องถิ่นที่สำคัญ ที่ใช้ในการกระตุ้นให้คนใน พื้นที่ตื่นตัวและเชื่อมโยงประเด็นสู่การรับรู้ของสังคมในระดับประเทศ

ทำไมต้องทำเรื่องนี้ :ฝุ่นเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือที่ความเสียหายและผลกระทบสูงที่สุด ในหลายมิติ และต้องพยายามหาทางแก้ไขหลายระดับไม่ให้รุนแรงเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาฝุ่นเป็นเรื่องซับซ้อนเกี่ยวพันหลายแง่มุม  มีความจำเป็นต้องสื่อสารโดยออกแบบและวางแผนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และระดมการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา

โจทย์ปัญหา : ทำอย่างไรสังคมและ Policy Maker จะเข้าใจสาเหตุหลักฝุ่นไฟเหนือในฤดูฝุ่น และผลักดันให้แก้ไขให้ตรงจุด  โดยระยะที่ 1) FOCUS เฉพาะสาเหตุหลักในฤดูฝุ่น   รากปัญหาที่ซับซ้อน  และมาตรการแก้ไขที่ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์และนโยบาย ภายใต้ 3 กรอบ

          – ฝุ่น จากไฟแปลงใหญ่  สถานะและแนวทางแก้ไข

          – ฝุ่นข้ามแดน   สาเหตุและแนวทางแก้ไข

          – คนเหนือ อยู่อย่างไรให้รอด ซึ่งทั้ง 3 มิติ สามารถผูกโยงกับกิจกรรมที่สามารถจะระดมการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา จากประชาชนในพื้นที่ได้

รายละเอียดค้นหาเพิ่มเติมได้จาก สภาลมหายใจภาคเหนือ และ สถานีฝุ่น https://www.facebook.com/DustStationTH

ทำไมต้องทำเรื่องนี้ : ภาคเหนือมีภูมิปัญญาและองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพแฝงอยู่ในวิถีชีวิตและอาหาร การกิน   เราเชื่อว่า การอยู่ดี  กิ๋นลำ ด้วยภูมิปัญญาคนเหนือ จะก่อให้เกิดสุขภาพที่ดี ซึ่งสุขภาพที่ดีจะเป็นเกราะป้องกันตัว ในยุคที่โรคภัยอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด และนอกจากเรื่องสุขภาพแล้วภูมิปัญญาการอยู่ การกินของคนเหนือ ยังสามารถต่อยอดในเชิงมูลค่ายกระดับเศรษฐกิจชุมชนได้อีกด้วย

โจทย์ปัญหา : ภูมิปัญญาของคนเหนือผ่านการกิน การอยู่ บางอย่างกำลังจะสูญหาย บางอย่างติดเงื่อนไขทางกฎหมาย เช่นหมอยาพื้นบ้าน ภูมิปัญญาการรักษา ซึ่งต้องการการคลี่คลายอย่างเป็นระบบ  โดยจุด Focus ของประเด็นระยะที่ 1 คือ  

“อยู่ดี” นิยามความสุขแบบง่ายๆของคนท้องถิ่นภาคเหนือ หากอยู่ดีหมายถึงการเป็นอยู่ ชีวิตไม่เจ็บป่วยไข้ หรือแม้จะป่วยก็สามารถรักษาให้หายได้ โดยการดูแลตนเอง (Self health care) ก่อนที่ป่วย ด้วยศาสตร์และภูมิปัญหาของคนเหนือ เช่นการนวด การใช้สมุนไพรบำบัด การออกกำลังกายด้วยด้วยท้วงท่าของการฟ้อนเจิง หรือรวมถึงความเชื่อ

“กิ๋นลำ” ผ่านวิถีการกินอาหารของคนเหนือ(ล้านนา) ที่เป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมประสบการณ์ และสืบต่อกันมาอย่าง ผ่านกิจกรรมในวิถีชีวิตประจำวัน วัฒนธรรม ประเพณี ซึ่งคนเหนือ เน้นอาหารการกินที่ยึดโยง ธรรมชาติทั้งตามฤดูกาล รวมทั้งการที่ปลูกไว้ตามบริเวณที่อยู่อาศัย แล้วนํามาปรุงเป็นอาหารเพื่อ บริโภค โดยผักพื้นบ้านที่นํามาปรุงเป็นอาหารล้วนแล้วแต่มีสรรพคุณทางยาที่ช่วยในการรักษาโรค ขณะเดียวกัน ผักพื้นบ้านที่นํามาปรุงอาหารเหล่านี้ยังเกี่ยวข้องคติ ความเชื่อ คํานิยมของคนเหนือ (ล้านนา)   

ทำไมต้องทำเรื่องนี้ : การต่อภาพจิ๊กซอของแผนการพัฒนาภาคใต้ (Megaproject)เพื่อรองรับเศรษฐกิจโลก และเส้นทางสายเศรษฐกิจที่มี 2 ชุดความคิด ที่คู่ขนานกันในการกำหนดทิศทางการพัฒนาภาคใต้ ทั้งในมิติลงทุนขนาดใหญ่ กับแนวคิดการมองศักยภาพชุมชนที่สามารถออกแบบภายใต้ 3 ต้นทุนหลักของพื้นที่ คือ 1.ประมง  2.ท่องเที่ยว 3.เกษตร  คนใต้สามารถจะกำหนดอนาคตตัวเองที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม เป็นจุดสำคัญที่เกี่ยวโยงกับการพัฒนาที่สอดคล้องกับเทรนด์โลกที่เป็นอีกทางเลือกได้หรือไม่ ?

ทำไมต้องทำเรื่องนี้ :  มุ่งฉายอนาคตและความเป็นไปได้ชายแดนใต้  ผ่านมุมมองของเศรษฐกิจการศึกษา ภายใต้Concept 

  1. เศรษฐกิจ-ปากท้อง ติดอันดับยากจนที่สุดในประเทศ เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร   ตลาดแรงงาน 
  2. การศึกษา ที่สร้างคนคุณภาพและเข้าถึงง่าย 
  3. การพูดคุยสันติภาพ (นโยบายรัฐ สิทธิมนุษยชน งบประมาณ)

โดยความไม่สงบและความขัดแย้งในชายแดนใต้ที่กินเวลามากว่า 19 ปี ทุ่มงบประมาณเกือบ 5 แสนล้าน ที่มุ่งให้ความสำคัญอย่างมากกับงานด้านความมั่นคงและโครงการก่อสร้าง แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญด้านการศึกษา สวัสดิการสังคม และการพัฒนาอาชีพและรายได้ รวมถึงต้องเจอกับโจทย์ในพื้นที่ ที่ไม่มีตลาดแรงงานที่ใหญ่พอจะรองรับคนรุ่นใหม่   ทำให้จังหวัดที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง และติดอันดับจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ 10 อันดับแรก ต่อเนื่องนานเกินกว่า 16 ปี 

คนในพื้นที่เห็นว่า เรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง และเรื่องการศึกษาที่มีศักยภาพ สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม เป็นปัญหาเรื่องสำคัญต่อชีวิตและเป็นความสนใจร่วมของคนทุกกลุ่มในสามจังหวัดชายเเดนภาคใต้ เพราะการ อยู่ดี มีสุข มีสุนทรียะ มีการศึกษาดี มีความเป็นธรรมในความเป็นอยู่  ถือเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกระบวนการสร้างสันติภาพ  และเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่อง สันติภาพที่กินได้ คือ ไม่ได้มองแต่เรื่องของประเด็นความมั่นคง ประเด็นอิสระในการปกครองตนเอง แต่เขาอยากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีด้วย เป็นเรื่องปากท้อง economy (เศรษฐกิจ)ให้ความสำคัญนึกถึงเรื่องการใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการนำสังคม ชุมชน  หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ก็จะช่วยลดเงื่อนไขเชิงโครงสร้างและนำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องของความมั่นคงหรือการลดความรุนแรงในพื้นที่ได้

ทำไมต้องทำเรื่องนี้ : “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” หรือ “Soft power” คือเป็นคำที่ถูกหยิบยกกล่าวถึงว่าจะเป็นโอกาสใหม่ของเศรษฐกิจไทย ชาติที่รุ่มรวยด้วยพหุวัฒนธรรมอันหลากหลาย

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ให้ความหมายของ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานขององค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และการศึกษาวิจัยซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม พื้นฐานทางประวัติศาสตร์การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจ การผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคม

การแสดงศิลปะหมอลำอีสาน คือ หนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย 15 สาขา คือ 1) งานฝีมือและหัตถกรรม 2) ดนตรี 3) ศิลปะการแสดง 4) ทัศนศิลป์ 5) ภาพยนตร์ 6) การแพร่ภาพและกระจายเสียง 7) การพิมพ์ 8) ซอฟต์แวร์ 9) การโฆษณา 10) การออกแบบ 11) การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม 12) แฟชั่น 13) อาหารไทย 14) การแพทย์แผนไทย และ 15) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

งานวิจัยเรื่องหมอลำกับเศรษฐกิจและสังคมของคนอีสาน Morlum (Northeastern – style singers) and socio-economic โดยคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การแสดงหมอลำ ศิลปะพื้นบ้านและภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเป็นหนึ่งในการแสดงทางวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง คณะหมอลำได้มีการปรับตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา โดยมีข้อมูลจากงานวิจัยระบุว่า ในสถานการณ์ปกติอุตสาหกรรมหมอลำบันเทิงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภาคอีสานรวมทั้งสิ้น 6,615 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน ทั้ง ในระบบและนอกระบบ รวมทั้งสิ้น 38,835 คน ในช่วงของสถานการณ์ COVID-19 อุตสาหกรรมหมอลำบันเทิงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภาคอีสาน รวมทั้งสิ้น 1,153 ล้านบาท เกิดการจ้างงานทั้งในระบบและนอกระบบรวมทั้งสิ้น 6,934 คน

จึงเป็นที่มาสำคัญของการสื่อสารถึงปัจจัยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมอลำในอีสานที่มีความร่วมสมัย เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายให้เกิดการตระหนักถึงคุณค่าศิลปะการแสดงพื้นบ้าน การสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับท้องถิ่นชุมชน ตลอดจนสวัสดิการของแรงงานนอกระบบในธุรกิจบันเทิง (หมอลำ) การรวบรวมและเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูล ตลอดจนข้อเสนอในระดับนโยบายที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแก่ชาวอีสาน

ทำไมต้องทำเรื่องนี้ : ภาคอีสานประกอบไปด้วย 3 ลุ่มน้ำหลัก คือ ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ  มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมกว่า 100 ล้านไร่ ซึ่งมีการใช้ประโยชน์และประสบปัญหาผลกระทบ ทั้ง น้ำท่วม-น้ำแล้ง ตลอดจนมีความพยามแก้โจทย์เหล่านี้มากว่า 30 ปี โดยในรายละเอียด คือ 1.ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 47,161.97  ตารางกิโลเมตร มี 36 ลุ่มน้ำสาขา ความยาวลำน้ำ 520 กม. (เฉพาะผ่านภาคอีสาน) 2.ลุ่มน้ำชี มีพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 49,273.86 ตารางกิโลเมตร มี 27 ลุ่มน้ำสาขา  ความยาวลำน้ำ 1,030 กม. และ 3 ลุ่มน้ำมูล มีพื้นที่รวมกว่า 70,943.01 ตารางกิโลเมตร  มี 53 ลุ่่มน้ำสาขา ความยาวลำน้ำ 880 กม.

อย่างไรก็ตาม แม้ข้อมูลลุ่มน้ำอีสาน จะระบุว่ามีพื้นที่ครอบคลุมภูมิภาค และยังมีลุ่มน้ำสายสำคัญ แม่น้ำสาขาและโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่  “เขื่อน”  ในอีสาน ถึง 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์  เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำปาว เขื่อนลำตะคอง และ เขื่อนลำพระเพลิง ซึ่งยังไม่รับรวมประตูระบายน้ำ ฝายทดน้ำ และอื่น ๆ ที่ขวางกั้นลำน้ำสำคัญในอีสาน ที่เป็นทั้งอุปสรรคและเงื่อนไขในการบริหารจัดการน้ำของชุมชน ตลอดจนแม่น้ำ ลำห้วยที่หล่อเลี้ยงผู้คนกระจายทั้งภูมิภาค แต่ก็มักถูกกล่าวหาว่า “อีสานแล้ง”

ข้อมูลจาก สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ระบุพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ปี 2565 รวมกว่า 12  ล้านไร่ ใน 69 จังหวัด พบว่า ภาคอีสาน มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 3 ล้าน 9 แสนไร่ รวม 20 จังหวัด  แต่เมื่อดูในรายละเอียด และค้นข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ถึงการรายงานสถานการณ์น้ำท่วม ระหว่างปี 2561 – 2565 โดยในภาคอีสานมีรายงานเหตุการณ์รวม 5 ปี จำนวน 1,508 ครั้ง  ซึ่งจังหวัดที่มีการรายงานสถานการณ์ 3 อันดับสูงที่สุด ของอีสานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ และเลย ตามลำดับ

โดยพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง ส่วนใหญ่ของภาคอีสานจะอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ซึ่งทั้งหมดจะไหลมารวมกันที่พื้นที่ปลายน้ำบริเวณ จ.อุบลราชธานี ก่อนจะออกสู่แม่น้ำโขง นั่นส่งผลให้อุบลราชธานีต้องเผชิญน้ำท่วมในทุก ๆ ปี

ความถี่และความรุนแรงของภัยพิบัติ ทั้ง น้ำท่วมหรือภาวะแล้ง ที่ส่งผลต่อคนลุ่มน้ำในภาคอีสาน นับเป็นโจทย์ใหญ่และโอกาสที่หลายฝ่ายจะเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและลดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน และวิถีชุมชน เพราะภัยพิบัติเริ่มมีความถี่และแนวโน้มผลกระทบรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ หรือ Climate change และเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านปรากฏการณ์จากลานีญาสู่เอลนีโญ

จึงเป็นที่มาของการสื่อสาร เพื่อสร้างความตระหนักถึงการมีส่วนร่วมหาทางออกผ่านกลไกป้องกันและรับมือภัยพิบัติร่วมกัน ในระดับพื้นที่โดยชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็น และรวบรวมข้อมูล เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนในระดับนโยบายเพื่อนำไปสู่การกระจายอำนาจในระดับท้องถิ่น ชุมชน เพื่อให้เกิดการจัดการภัยพิบัติอย่างมีส่วนร่วม

ทำไมต้องทำเรื่องนี้ : ปัญหาช้างป่ารุกเมือง เป็นความเดือดร้อนของคน ช้าง ป่าภาคตะวันออกที่เผชิญหน้ากับความขัดแย้งมายาวนาน และรุนแรงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ

จากการสำรวจของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปี 2564 พบว่า ในพื้นที่ป่าภาคตะวันออก มีจำนวนประชากรช้างเพิ่มขึ้นถึง 8.2 %  ปี จำนวนช้างป่าที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับจำนวนพื้นที่ป่าของประเทศที่ลดลง ในขณะที่การพัฒนาส่งผลต่อการขยายตัวของพื้นที่เมืองและชุมชน ทำให้ป่าธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าลดลงทั้งในเชิงขนาดพื้นที่และความสมบูรณ์ ทุกวันนี้เราจึงเห็นช้างป่าออกหากินนอกเขตป่ามากขึ้น นำมาสู่การเผชิญหน้า และความสูญเสียของทั้งคน ทั้งช้าง อย่างอยากจะหลีกเลี่ยง

ความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับคนเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออก  และกำลังขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ คนในสังคม ยังไม่เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงไม่เข้าใจธรรมชาติและพฤติกรรมของช้างป่า โดยยังมีภาพจำความน่ารักของช้าง อีกทั้งยังมีข้อถกเถียงเรื่องวิธีการแก้ไขและการเยียวยาที่เหมาะสม แม้เรื่องนี้ไม่ใช่ภาพใหญ่ของคนทั้งประเทศ แต่จากสถิติความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็ทำให้เห็นแนวโน้มว่าหากไม่เร่งแก้ไข ผลกระทบนี้อาจขยายวงกว้างเกินเยียวยา

สำหรับคนในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกขณะนี้ เริ่มมีการระดมการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา ทั้งในระดับจังหวัดที่ตั้งคณะทำงานฯ และในส่วนของชุมชนที่มีการทำวิจัยท้องถิ่น

การทำงานสื่อสารครั้งนี้ จึงหวังรวมข้อมูลและองค์ความรู้ของประชาชน ที่พยายามเรียนรู้ทำความเข้าใจธรรมชาติและพฤติกรรมของช้างเพื่อการดำเนินชีวิตในพื้นที่ และผลักดันการจัดการปัญหาในทุกระดับที่เกี่ยวข้องและการเยียวยาผลกระทบ อีกทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจ ให้คนในสังคมได้เข้าใจถึงต้นตอปัญหา ผลกระทบ ความเสียหายที่เกิดขึ้น และเกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

ทำไมต้องทำเรื่องนี้ : โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก   Eastern Economic Corridor (EEC) เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่ต่อยอดมาจาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ซึ่งดำเนินมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลทั้งการพัฒนาและปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าต่อสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และในรอบนี้ขยายพื้นที่ในเขต 3 จังหวัดคือ ชลบุรี, ระยอง และฉะเชิงเทรา

แนวคิดของโปรเจค EEC และโครงการที่สำคัญต่าง ๆ ภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561  ระบุถึงโอกาสในการพัฒนา แต่อีกด้านหนึ่งอาจเป็นปัญหาของคนภาคตะวันออก ทั้งมลพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในโครงการที่เกิดขึ้นแล้วอย่าง ท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุดเฟส 1-3, ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเฟส 3, การชดเชยจะยอมรับผิดชอบกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วปี 65 ไปจนถึงขีดจำกัดในการรองรับมลพิษ และการเข้าถึงข้อมูลมลพิษ (PRTR)

การมีพื้นที่นำรวบรวมและเสนอข้อมูลภาพรวม ของทิศทางการพัฒนาและผลกระทบอย่างรอบด้าน จะเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนที่ประชาชนมีส่วนร่วม รวมไปถึงหาทางออกสำหรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและระดมการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา จากประชาชนในพื้นที่ที่อยากร่วมกำหนดอนาคตของตัวเอง

โจทย์ปัญหา : การเดินหน้าพัฒนาที่จะสร้างความเจริญให้ประเทศจะให้น้ำหนักอย่างไร กับการสร้างความเป็นธรรมและตอบโจทย์อนาคตที่คนในพื้นที่ต้องการ

แผนดำเนินงาน

Step 1 วันที่  25 – 26 ก.ค.2566  อบรมการผลิตสื่อแนวใหม่ LONGFORM INTERACTIVE JOURNAL

Step 2 วันที่  27 ก.ค.- 3 ส.ค.2566  ส่งไอเดียการสื่อสารแบบ LONG FORM JOURNALISMและไอเดีย Prototype

Step 3 วันที่ 8-17 ส.ค. 2566        ทดลอง Prototype 

มายเหตุ :

1.วันเวลาของแต่ละหัวข้ออาจมีการปรับเปลี่ยน อยู่ระหว่างประสานวิทยากร

2.หลังเสร็จสิ้น Step 1 จะ เข้าสู่ Step 2 และ Step 3 ตามแผนงาน   ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกไอเดีย Prototype จะได้รับงบอุดหนุนในการทดลองตามอัตราที่ระเบียบของสสท. และได้รับสิทธิ์เข้ายื่นเสนอร่วมผลิต LONGFORM INTERACTIVE JOURNAL กับฝ่ายพัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมี ส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส ในขั้นตอนต่อไป


        

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ