เครือข่ายนักข่าวพลเมืองและผู้ผลิตอิสระ ที่มาร่วมสื่อสารกับไทยพีบีเอสในหลายแพลทฟอร์มในรอบปี 2565 และนี่คือ 10 อันดับ ยอดวิวหลักล้าน สถิตินับจาก 1 มกราคม – 30 พฤศจิกายน 2565 ดังนี้
อันดับ 1 คลิปชื่อ “อิแมคัวะ : จุดเริ่มต้นออกเดินทางตามฝันของวุฒิ” จากเพจ Localist ชีวิตนอกกรุง กับยอดวิว 3.8 ล้าน ยอดแชร์ 6.7 แสน
ถ้อยคำโดนใจในคลิป “เรียนจบสูงขนาดนี้ ทำไมต้องกลับมาอยู่บนดอย? “ คือคำถามสำคัญที่ทำให้ “วุฒิ สราวุฒิ ภมรสุจริตกุล เด็กหนุ่มชาติพันธุ์ลีซู ต้องพิสูจน์ตัวในวันที่เลือกกลับบ้านเกิดเพื่อทำตามความฝัน คือใช้ต้นทุนในบ้านเกิดเพื่อสร้างเศรษฐกิจพร้อมกับพัฒนาชุมชน คลิปที่เป็นบทนำของสารคดี 5 ตอนยาว เรื่อง อีแมคัวะ เส้นทางเติมฝัน ฉัน พี่ชาย สารคดีการเดินทางของ 2 พี่น้องจากดอยเลาวู ที่แสวงหามุมมองใหม่ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และใช้โอกาสของความเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลก เพื่อสานฝันสร้างตัวเองเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อสร้างอนาคตให้ชุมชนและคนรอบข้าง
อันดับ 2 คลิปชื่อ “นาผักบุ้ง ยายสรัด” จากเพจ อยู่ดีมีแฮง กับยอดวิว 3,099,763 ยอดแชร์ 11,204 การเปลี่ยนนาข้าวเป็นนาผักบุ้ง ของคุณยายสรัด คันสินธ์ แห่งบ้านชมสะอาด ต.ชมสะอาด อ.เมยวดี จ.ร้อยเอ็ด ที่เดิมเคยเจอปัญหาไฟส่องสว่างจนทำให้ข้าวไม่ได้ผลผลิต คุณยายจึงปรับพื้นที่มาปลูกผักบุ้งขาย นอกจากจะเป็นโอกาสสร้างรายได้ คุณยายยังทำให้เห็นว่า ผู้สูงอายุก็สามารถทำเกษตรได้ตามกำลังพร้อมแบ่งปันวิธีการปลูกและแนวคิดเปลี่ยนนาข้าวเป็นนาผักบุ้งอีกทางเลือก
อันดับ 3 คลิปชื่อ “ผ้าไหมรงระ” จากเพจLocalist ชีวิตนอกกรุง ยอดวิว 2.1 ล้าน ยอดแชร์ 8.9 แสน “ถ้าเรียนต่อแล้วไม่มีงานทำก็เสียเวลา มาทอผ้าขายได้เงินเยอะ” ผ้าไหมรงระ เล่าเรื่องราวของบีม ภูวนาท ตุ่มใสย์ เยาวชนบ้านรงระ จ.ศรีสะเกษ ที่หยุดเรียนในระบบ แล้วหันมาหาความรู้ในชุมชนในวิชาผ้าไหมจากปราชญ์ในชุมชน จสร้างรายได้ให้กับตัวเอง และเชื่อมกับหน่วยงานข้างนอก เพื่อสืบทอดภูมิปัญญา และทำให้ผ้าไหมรงระเป็นที่รู้จัก เป็นตอนหนึ่งในชุดการศึกษาตลอดชีวิต
อันดับ 4 คลิปชื่อ “โนรา สู่สากล” จากเพจ เปิดบ้านไทยพีบีเอส ยอดวิว 1,880,469 ยอดแชร์ 4,170
เดือนธันวาคม 2564 UNESCO ประกาศรับรอง ขึ้นทะเบียน ‘โนรา’ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่เก่าแก่ถูกยกระดับสู่สากลจึงเป็นข่าวดีที่ทำให้คนไทยภาคภูมิใจ ก่อนเทศกาลศิลปะร่วมสมัยเบียนนาเล่ (Venice Biennale 2022)จะเริ่มต้นขึ้น ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เปิดบ้านไทยพีบีเอส มีโอกาสสัมภาษณ์ครูธรรม ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาการแสดงโนราถึงความรู้สึกที่ “โนรา” ได้ก้าวสู่เวทีโลกและได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสารคดี “โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน
อันดับ 5 คลิปชื่อ “อาสาล้างบ้าน ฟื้นพลังไทยอุบล” จากเพจ อยู่ดีมีแฮง ยอดวิว 1,263,679 ยอดแชร์ 1,229 เล่าเรื่องอาสาสมัครล้างบ้าน มูลนิธิกระจกเงา อาสาสมัครศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก และนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ช่วยทำความสะอาดชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมปี 2565 โดยเล่าเรื่องผ่าน คุณยายยุพิน ผึ่งมา วัย 84 ปี ชาวอุบลราชธานี ซึ่งเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่ทีมอาสาให้ความช่วยเหลือก่อน พร้อมอธิบายว่าทำไมต้องช่วยกลุ่มนี้ทำความสะอาด เรื่องราวและภาพได้สะท้อนภาพแทนของชาวอุบลราชธานีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ภาพความเสียหายของชุมชน
https://www.facebook.com/youdeemeehang/videos/807443700546775/
อันดับ 6 คลิปชื่อ “เลี้ยงปลาหมอยักษ์ โอกาสจากปลาเข็ง” เพจ อยู่ดีมีแฮง ยอดวิว 1,237,727 ยอดแชร์ 3,826 โอกาสและช่องทางสร้างอาชีพที่พัฒนาจากความชอบ โดยเล่าเรื่องผ่านเกษตรกรรุ่นใหม่ ปิยนัติ กุลชัย หนุ่มอีสานเจ้าของฟาร์มปลาหมอยักษ์ อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี ที่เลี้ยงปลาหมอ หรือ “ปลาเข็ง” ซึ่งเดิมเป็นปลาพื้นถิ่นที่ชาวอีสานนิยมรับประทาน แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์เป็น “ปลาหมอเทศ” ที่มีขนาดใหญ่ ขายได้ราคาดี ซึ่งเนื้อหาเล่าถึงการเปลี่ยนจากบ่อน้ำของครอบครัวที่เกษตรกรอยู่แล้วมาเลี้ยงปลาหมอ พร้อมอธิบายที่มาและช่องทางขาย ทำให้คลิปนี้มีการแลกเปลี่ยนของสมาชิกแฟนเพจ ทั้งถกเถียงถึงต้นทุน บางคนสนใจวิธีการเลี้ยง และบ้างมาแชร์เรื่องการเลี้ยง
อันดับ 7 “ใบกระท่อมเสี่ยงล้นตลาด” จากเพจ BACKPACK JOURNALIST ยอดวิว 1.1 ล้าน ยอดแชร์ 6.4 แสน ในวันที่ใครๆ ก็ปลูก
กระท่อม เพราะถือเป็นพืชที่มาแรง-ราคาสูง เวลาผ่านไปราคารับซื้อใบกระท่อมกลับลดลงจนเริ่มเข้าสู่ภาวะโอเวอร์ซัพพลาย ในขณะที่ อย. ยังไม่ชัด ว่าจะให้กระท่อมได้แปรรูปในเชิงพานิชย์ได้แค่ไหน เพราะยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียง ทำให้บริษัทหรือนักลงทุนหลายที่ แม้จะเตรียมการเรื่องการปล่อยผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้วแต่ก็ยังทำไม่ได้- เมื่อขาลงของกระท่อมมาถึงเร็วกว่าที่คิด แม้จะปลดล็อกปลูก แต่ยังเจอเดดล็อกแปรรูป จากรายได้หกหลักลดฮวบ คลิปนี้จึงตั้งคำถามต่อการปลดล็อกกระท่อมและแนวโน้มความเสี่ยงกระท่อมล้นตลาด
อันดับ 8 คลิปชื่อ ต่อยอดดีไซน์ “ครก” สู่นวัตกรรมแก้โจทย์สากแตก จากเพจ The Northองศาเหนือ ยอดวิว 1,036,885 ยอดแชร์ 6.7 พัน
เป็นหนึ่งในคลิปชุดเศรษฐกิจฐานราก *คนรุ่นใหม่กลับบ้าน” เล่าเรื่อง : “ครกหินแกรนิตตาก” เป็นผลิตภัณฑ์จากหินแกรนิตในจังหวัดตาก ที่สร้างจุดขายด้วยไอเดียว่าครกน่าจะให้สากพักหรือพิงได้ โดยพัฒนามาตั้งแต่ปี 2558รุ่นพักพิงคว่ำ ทรงสี่เหลี่ยม ด้านข้างมีหูจับ ตรงกลางระหว่างสี่เหลี่ยมมีร่องสำหรับวางสาก และต่อมาพัฒนาจนได้ครกหูหิ้ว รุ่นพักพิงคว่ำ เป็นครกทรงแก้วตานารี สามารถพักและพิงสาก รวมถึงสามารถจับเทน้ำได้อย่างสบาย ผลงานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผลิตภัณฑ์จากหิน ศิลาทิพย์ อ.เมือง จ.ตากที่รวมตัวกันกับผู้ประกอบการครกใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองตาก อ.บ้านตาก อ.สามเงา อ.วังเจ้า
อันดับ 9 คลิปชื่อ รถไฟลาว-จีน จากเพจLocalist ชีวิตนอกกรุง ยอดวิว 984.1 แสน ยอดแชร์ 3.8 แสน โดยชวนไปดูความเปลี่ยนแปลงหลังเปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีน ที่พบว่าระยะเวลาการเดินทางสั้นลง แค่ 2 ชั่วโมงจากหลวงพระบางไปเวียงจันทร์ เกิดพื้นที่เชื่อมต่อสินค้าจีนและอาเซียน ผ่านเส้นทางรถไปลาวจีน 1035 กม. เกิดอาชีพการนำเข้าและส่งออกสินค้า และเกิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อหาน-บ่อเต็น เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดนลาว-จีน เป็นประตูขนส่งโลจิสติกส์จากอาเซียนสู่จีน เป็นเมืองพักผ่อนและท่องเที่ยว รวมถึงเป็นโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป สำหรับนักลงทุนที่ต้องการสิทธิพิเศษ และลาวกำลังจะพัฒนาตัวเองไปสู่เกตเวย์ของอาเซียน เป็นการสื่อสารชุดซีรีย์ #กระบวนยุทธการค้าฝ่าแดนมังกร 5 ตอน เพื่อให้เราเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก
10. คลิปชื่อ ทุเรียนเงินหยวน จากเพจ BACKPACK JOURNALIST ยอดวิว 9.69 แสน ยอดแชร์ 3.1 แสน
รางจีน รางคู่ และรางร้าง เปิดเส้นทางทุเรียนเงินหยวน เจอ-ปิด-จบ ไปไม่ถึง(จีน) เพราะ…กำแพงการค้า เพิ่มด่านคุมโควิด-จำกัดรอบ การต่อรองที่เป็นไปไม่ได้ กับฝันที่เป็นจริงของรางคู่เด่นชัย-ด่านเชียงของยังสบายดีก่? ฮับโลจิสติกส์ชั่วโมงนี้เป็นเรื่องจริงหรือฝันค้าง