ไซดักยุง นวัตกรรมเพื่อชุมชน

ไซดักยุง นวัตกรรมเพื่อชุมชน

เข้าสู่ช่วงฤดูฝนที่มาพร้อมกับโรคระบาด “ไข้เลือดออก”  จากฝนตกซุกมีน้ำท่วมขัง ทั้งสภาพอากาศชื้น น้ำขังตามภาชนะ ทำให้มีแหล่งวางไข่ขยายพันธุ์ของยุงได้มากขึ้น ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้นทุกปี

จากรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยตั้งแต่ในวันที่ 1 มกราคม – 28 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมสูงถึง 27,377 ราย สูงกว่าปีที่ผ่านมา ณ ช่วงเวลาเดียวกันเกือบ 3 เท่า และมีรายงานผู้เสียชีวิตเข้าระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ 33 ราย โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายนพบผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1,500 – 2,400 ราย เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1-3 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี พบอัตราป่วยสูงสุดในภาคใต้ กรุงเทพมหานคร และภาคกลาง

ช่วง UBON LIVE โดย คุณสุชัย เจริญมุขยนันท Ubon Connect อุบลคอนเนก เครือข่ายสื่อภาคประชาชน ผ่านการสนทนาออนไลน์ งานวิจัยหลังบ้าน นวัตกรรมจากภูมิปัญญา จากไซดักปลา ดักกุ้ง สู่ไซดักยุง อีกหนึ่งวิธีการในการกำจัดยุงลาย เพื่อป้องกันไข่เลือดออก สนทนากับ ผศ.สุรัตน์ หารวย อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ราชภัฏอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

ไซดักยุงคืออะไร ?

“ไซดักยุง เครื่องมือจับยุง หลักการเหมือนไซดักปลา จริง ๆ น่าจะเหมือนไซดักกุ้ง เพราะว่าพอมันเข้าไปในท่อรูกรวยแล้วมันจะหาทางออกไม่ได้ตรงนี้ ส่วนใหญ่จะหากินอยู่ข้างล่าง ถ้าเราทำกับดักตั้งทิ้งไว้ ในตรงบริเวณที่เป็นกรวยจะไม่ค่อยเจอ แต่ถ้าเจอจะเจอลูกน้ำระยะ 1-2ที่เป็นตัวเล็ก ๆ แต่พอโตมาแล้วจะอยู่ในถัง” ผศ.สุรัตน์ หารวย อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ราชภัฏอุบลราชธานี เล่าถึงที่มาของอุปกรณ์ดักยุงที่คิดค้น เหมาะสำหรับคนไม่มีเวลาดูแล โดยอุปกรณ์จะดักไปเรื่อย ๆ เป็นตัวเสริมนอกจากมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค

เริ่มจากก้นโอ่ง ?

“เริ่มจากก้นของโอ่งมีน้ำขัง มีลูกน้ำ ผมเลยเทลูกน้ำออก พอ 7 วันก็มีลูกน้ำอีก ปัญหาของผมไม่มีเวลาดูแลบ้าน ผมเลยพยายามศึกษาเรื่องยุง หาข้อมูลงานวิจัย จากเดิมเชี่ยวชาญด้านหอยน้ำจืดเลยมาศึกษาเรื่องยุง เพราะว่าเป็นปัญหา ผมมาเจอกับดักยุง เป็นพลาสติก มีการสอนใช้งานเยอะมาก”ผศ.สุรัตน์ หารวย เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการคิดนวัตรกรรมดักยุง

ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2562 ต่อยอดไอเดีย เริ่มทดลอง พัฒนานวัตรกรรมดักจับยุง จำนวน 5 อัน ที่หลังบ้าน โดยนำวัสดุที่หาได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อมาเป็นอุปกรณ์ หากยังไม่มีผลการทดลอง

ครั้งที่ 2 เริ่มทดลองในห้องแล็บหรือห้องปฏิบัติการทดลอง โดยใช้ลูกน้ำ 100 ตัว ผลการทดลองสามารถดักจับได้ 98-99%

ครั้งที่ 3 ทดลองให้ยุงจมน้ำตาย โดยใช้กรวยสวมใต้น้ำ ไล่อากาสออกให้หมด ได้ผลทดลอง 100%

ใช้แล้วยุงจะลดจริงไหม ?

“เราอยากจะดูว่าเอาไปใช้จริง ยุงจะมาวางไข่ไหม เพราะอันนี้ยังเป็นคำถามอยู่ เพราะเราทดลองในแล็บ เราเอาลูกน้ำหยอดลงไปเลย เราเลยได้เอาไปทดลองในชุมชน ก็มีชุมชนที่สิรินธรสนใจ  บ้านนาชุมคำ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ผมทำ 50 อัน แจกทุกครัวเรือนที่สนใจไปทำ ยุงจะมาเยอะช่วงฝน ผมเลยเริ่มดักยุงช่วงเดือนเมษายน ปี 2566 เริ่มเก็บข้อมูลครั้งแรก ทั้งนับจำนวนลูกน้ำ พร้อมทั้งลงไปให้ความรู้ชุมชน”ผศ.สุรัตน์ หารวย เล่าถึงการนำนวัตกรรมดักยุง โดยสร้างความร่วมมือกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมทอลอง รณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในชุมชน

ครั้งที่ 4 อยู่ระหว่างการทดลองอีกครั้ง หากสำเร็จตั้งเป้านำไปแจกจ่ายให้ชุมชนที่สนใจนำล่องอุปกรณ์ดักยุง

เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่ตระหนักถึงอันตรายของโรคไข้เลือดออก มีความรู้ความเข้าใจ และพฤติกรรมในการป้องกันไข้เลือดออกที่ถูกต้อง ไซดักยุง เป็นอีกเครื่องมือ ที่กำลังพัฒนาต้นแบบ อาจารย์รัตน์ หารวย ยังทิ้งทายไว้ว่า “ในช่วงต้นให้สังคมตั้งคำถาม อยากให้นำไปทดลองอุปกรณ์ก่อน เพื่อพัฒนานวัตรกรรมชิ้นนี้ให้ดีขึ้น”

มากกว่าประสิทธิภาพในการใช้งาน “ไซดักยุง” เป็นอีกนวัตกรรมที่นำเอาภูมิปัญญา หรือ เครื่องมือในชุมชนท้องถิ่นมายกระดับและผสมผสานเข้ากับความรู้สมัยใหม่ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ และมีความใกล้ชิดชุมชนมากยิ่งขึ้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ