ในช่วงนี้หลายพื้นที่จัดกิจกรรมเพื่อแสดงออกทางการเมืองผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ รวมถึงในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ได้มีจัดกิจกรรมจุดเทียนสันติภาพ เพื่อแสดงจุดยืนว่าไม่ต้องการความรุนแรง และใช้โอกาสนี้ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายระหว่างกัน
กว่า 11 วันแล้ว ที่กลุ่มนักศึกษา อาจารย์และชาวบ้านที่ใกล้เคียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จะร่วมกิจกรรมจุดเทียนเพื่อสันติภาพ เพราะอยากเห็นการปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นถูกคลี่คลายตามระบบประชาธิปไตย
อันธิฌา แสงชัย อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี มาร่วมจุดเทียนตั้งแต่วันแรกที่มีการนัดหมายกัน “ตอนนี้ที่ทำกิจกรรมเรามีการวางแผนว่าเราจะพยายามทำจนถึงวันเลือกตั้งอย่างน้อยๆระยะเวลาระหว่างนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงต่อสถานการณ์ตอนนี้ อย่างน้อยเราบอกว่าเราไม่ต้องการความรุนแรง ต้องการคลี่คลายปัญหาด้วยขบวนการตามครรลองประชาธิปไตย พอไปถึงจุดวันเลือกตั้งเราค่อยมาดูกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น สถานการณ์ตอนนี้เราก็ดูกันวันต่อมา กิจกรรมที่มากกว่าจุดเทียนเราได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน“
ชยุตพงศ์ โสภาวรรณ์ นักศึกษากลุ่ม ม.อ.ปัตตานีเสรีประชาธิปไตย เป็นคนที่ริเริ่มจัดกิจกรรมจุดเทียนใน ม.อ.ปัตตาน “ผมเรียนทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา อย่างหนึ่งที่ได้ก็คือ เราสอนให้คนมองคนอย่างเท่าเทียมกัน และความสันติสุขผมคิดว่าคือการที่เราอยู่ด้วยกันได้ นี่คือสิ่งที่สำคัญในระบบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยก็พูดเรื่องนี้เหมือนกันว่า ถ้าเราเท่าเทียมกันแล้วเราจะอยู่ร่วมกันได้ มีอำนาจการต่อรองเท่าเทียมกัน นี่คือสิ่งที่ประชาธิปไตยได้สร้างขึ้นมา”
ในทุกๆ วัน พวกเขาได้ใช้โอกาสนี้ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น ซึ่งมองว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ก็ส่งผลต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ด้วยเช่นกัน ซึ่งทุกคนมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหา
เมื่อไหร่ที่เรามองคนเท่าเทียมกัน ทุกภาคเราก็จะมองในหลักการเดียวกันมาสู่สามจังหวัด ปัญหาสามจังหวัดมันตัดขาดไม่ได้กับปัญหาส่วนกลางและปัญหาส่วนกลางก็ตัดขาดไม่ได้จากปัญหาสามจังหวัดและสิ่งที่ผมอยากให้เห็นก็คือเมื่อไหร่ที่คนเท่าเทียมกันแล้ว เราก็จะใช้มาตรฐานนี้มามองทุกปัญหาและแก้ปัญหานั้นภายใต้กรอบประชาธิปไตย แต่เมื่อไหร่ที่เราไม่ได้แก้ปัญหาภายใต้กรอบประชาธิปไตย เราไม่เลือกแนวทางประชาธิปไตยและไปใช้วิธีอื่นที่มันรุนแรงแก้ปัญหา และนี่คืออาจจะเป็นปัญหาส่วนกลางก็ได้ ความขัดแย้งมันก็จะกลายเป็นความรุนแรงที่มีการปะทะกันมากขึ้นนี่คือสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น ไม่และไม่อยากให้มีคนตายด้วยไม่ว่าจะสามจังหวัดหรือด้านบนก็แล้วแต่
อันธิฌา แสงชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้อีกว่า “พื้นที่นี้เป็นที่ที่มีการใช้ความรุนแรงมากมายต่อเนื่องปีนี้ก็เป็นปีที่สิบความรุนแรงเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นและส่วนกลางด้วยมีการเชื่อมโยงกันค่อนข้างที่จะมีนัยยะสำคัญการจุดเทียนสันติภาพครั้งนี้คือหลายๆคนคิดว่าเราต้องแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรงการที่อยู่นั้นที่เราก็เห็นแล้วว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดการใช้ความรุนแรงมัน เรารู้สึกว่าการเมืองส่วนกลางในที่สุดเชื่อมโยงโดยตรงกับขบวนการสันติภาพที่นี้ถ้าเกิดว่าเราไม่ออกมาส่งเสียงว่าเราไม่เอาต้องการความรุนแรงในที่สุดการใช้ความรุนแรงก็จะเกิดขึ้นในที่สุด และมันก็ไม่ได้แก้ไขปัญหา”
การมาพบปะกันของพวกเขาในครั้งนี้ก็เป็นส่วนผสมของความคิดคนที่หลากหลายทั้งทางความเชื่อและวิถีวัฒนธรรม แต่ก็ยังมีความหวังที่อยากเห็นร่วมกันในขณะนี้ คือ สันติภาพ และการแก้ไขปัญหาที่อยู่ในกรอบของประชาธิปไตย