แรงงานอัดรัฐบาล อย่าเลือกปฏิบัติ ค่าแรงขั้นต่ำต้อง 360 บาท/วัน เท่ากันทั้งประเทศ

แรงงานอัดรัฐบาล อย่าเลือกปฏิบัติ ค่าแรงขั้นต่ำต้อง 360 บาท/วัน เท่ากันทั้งประเทศ

20152506145248.jpg

เรื่อง/ภาพ : นักสื่อสารแรงงาน เว็บไซต์ : voicelabour.org

วันที่ 25 มิถุนายน 2558 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ และเดินรณรงค์ไปยังกองอำนวยการรับเรื่องราวร้องทุกข์ นายกรัฐมนตรีที่ตั้งอยู่ที่ชั้นล่างสำนักข้าราชการพลเรือน ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือต่อถึงนายกรัฐมนตรี โดยมีนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นผู้มารับหนังสือดังกล่าว

วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ประกาศจุดยืนต่อการปรับค่าจ้าง ว่าที่ผ่านมา ประเด็นการปรับค่าจ้างเป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคม ประเด็นแรกคือ ความพยายามที่จะให้ลอยตัวค่าจ้างแทนค่าจ้างราคาเดียวทั้งประเทศ ประเด็นที่สองเรื่องการปรับค่าจ้างจาก 300 บาทที่ถูกแช่แข็งมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2558 ซึ่งขบวนการแรงงานขอปรับเป็น 360 บาท ทั้ง 2 ประเด็น

1. เราไม่เห็นด้วยต่อความพยายามในการที่จะปล่อยให้ค่าจ้างแบบลอยตัวในแต่ละจังหวัดแต่ละเขต เพราะจะทำให้คนงานย้ายถิ่นสู่พื้นที่ค่าจ้างที่สูงกว่า ทำให้ชนบทถูกทิ้งร้างถึงขั้นล่มสลาย เกิดการกระจุกตัวของประชาชนในเขตเมือง ก่อให้เกิดปัญหาความแออัด ปัญหาการเข้าถึงการบริการสาธารณะ ปัญหาสังคมด้านต่างๆ รัฐต้องลงทุนอย่างมหาศาลต่อการแก้ไขปัญหาความแออัดในเขตเมือง แทนที่จะนำงบประมาณไปลงทุนสนับสนุนเรื่องการศึกษา การป้องกันสุขภาพ และพัฒนาคุณภาพชีวิต

ประเด็นค่าครองชีพ ราคาสินค้าที่อ้างว่าต่างจังหวัดถูกกว่าในเขตเมืองวันนี้ไม่เป็นความจริงอีกต่อไป พิสูจน์ได้จากราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ในร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้าราคาเท่ากัน บางรายการแพงกว่าในเขตเมืองหรือกรุงเทพฯด้วย เราจึงขอสนับสนุนจะผลักดันทุกวิถีทางเพื่อให้มีค่าจ้างอัตราเดียวเท่ากันทั้งประเทศ

2. เราขอให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากวันละ 300 บาทเป็น 360 บาทเท่ากันทั้งประเทศ เพราะค่าจ้าง 300 บาทถูกแช่แข็งไม่มีการปรับมาตั้งแต่ปี 2554 ในขณะที่ราคาสินค้าปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลสำรวจค่าครองชีพจากผู้ใช้แรงงานและสำนักโพลต์ต่างๆก็ยืนยันว่าค่าจ้าง 300 บาทไม่เพียงพอต่อการยังชีพประกอบกับก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ตรากฎหมายให้ข้าราชการทุกประเภทปรับขึ้นเงินเดือนไปกว่าร้อยละ 10 ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรเลือกปฏิบัติต่อคนงานเอกชน และภาครัฐวิสาหกิจ ส่วนคำกล่าวอ้างว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศจะหามาตรการและวิธีการแก้ไข ที่สำคัญยามที่เศษรฐกิจทั่วโลกต่างมีปัญหาถดถอย การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศด้วยการปรับขึ้นค่าจ้างควบคู่กับการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้ปรับราคาสูงเกินไปก็จะเป็นการแกไขปัญหาที่เน้นการเติบโตและพึ่งพาตนเอง

ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวอีกว่า ดังนั้น คสรท. และ สรส. จึงขอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป้นวันละ 360 บาทอัตราเดียวเท่ากันทั้งประเทศอันจะเป็นเหตุผลในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมให้เแก่สังคมอย่างแท้จริง ดังนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศก่อนหน้านี้ ซึ่งคงจะได้เห็นถึงความจริงใจ และความกล้าหาญของรัฐบาลที่จะรักษาผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่หรือไม่เพราะผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ 

สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า  การที่ผู้ใช้แรงงานเสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาท เท่ากันทั้งประเทศ นั้นก็เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรม ด้วยค่าครองชีพในชนบทกับในเมืองไม่มีความแตกต่างกัน ส่วนเรื่องของข้ออ้างประเด็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก อย่าง SME นั้นตนเคยเสนอต่อรัฐบาลแล้วว่าให้หาวิธีการลดต้นทุนด้านอื่น เช่นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้มาช่วยส่งเสริมตรงนี้

“ผมไม่เห็นด้วยกับการลดต้นทุนด้านค่าแรง เป็นการเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานเกินไป คนทำงานก็ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่ทำงานมา 30 กว่าปี ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่านั้น” เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจกล่าว

20152506145231.jpg20152506145244.jpg20152506145246.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ