แม่แจ่มสร้างความร่วมมือชาวบ้าน ขอคืนผืนป่าที่ถูกแปรสภาพเป็นไร่ในบางจุดทำเป็น“สวนป่ากินได้” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาระดับชุมชนท้องถิ่นอย่างจริงจัง หวังเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ป่าต้นน้ำแม่แจ่มที่ถูกทำลายลงเรื่อยๆ ปักหมุดวันสิ่งแวดล้อม เดินหน้าแบ่งโซนลงมือทำ
นายสมเกียรติ มีธรรม จากสถาบันอ้อผญา แจ้งรายละเอียดความพยายามของชาวบ้านที่จะช่วยกันคืนผืนป่าต้นน้ำแม่แจ่มว่า พื้นที่ลุ่มน้ำแม่แจ่มมีทั้งหมดกว่า 1.7 ล้านไร่ โดนเป็นพื้นที่ป่า 1.4 ล้านไร่ โดยเป็นผืนป่าที่เป็นพื้นที่ให้น้ำไปหล่อเลี้ยงผู้คนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมากถึงร้อยละ 40 ของแม่น้ำปิงและร้อยละ 16 ของแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม ป่าแม่แจ่มถูกคุกคามจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว และการลักลอบตัดไม้ ในแต่ละปีทำให้ผืนป่าต้นน้ำแห่งนี้ลดลงไปหลายหมื่นไร่
โดยข้อมูลสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่พบว่า 3 ปีที่ผ่านมา ผืนป่าต้นน้ำถูกแปรสภาพเป็นไร่ข้าวโพด 86,304 ไร่ ในปีพ.ศ.2552 เป็น 105,465 ไร่ ในปีพ.ศ.2554 ขณะที่ต้นไม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ถูกโค่นขายให้กับนายทุนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ที่เคยอุดมสมบูรณ์เหลือเพียงผืนดินโล่งเตียนและแห้งแล้ง เมื่อถึงฤดูฝนก็ประสบปัญหาน้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม พัดเอาหน้าดินและโคลนลงสู่ที่ราบลุ่มน้ำอย่างรวดเร็ว ทำให้แม่น้ำลำห้วยตื้นเขินในช่วงสั้นๆ ระบบชลประทานเสียหายจนใช้การไม่ได้ พอฤดูแล้งปริมาณน้ำตามลำห้วยสาขาลดลงไป หลายสาขาแห้งขอด ระบบชลประทานที่ก่อสร้างโดยไม่คำนึงถึงสัมพันธภาพดินน้ำป่าใช้ประโยชน์ไม่ได้ ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นก็คือปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นทุกๆ ปีจากการเผาไร่และเผาป่า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนมากมายจนยากจะแก้ไขได้
ในการนี้ กลุ่มภาคีเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วย อำเภอแม่แจ่ม องค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาจร หน่วยโครงการพัฒนาป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สวนป่าสิริกิติ์ ที่ 6 (แม่ซา) หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.28 (สบวาก) เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) มูลนิธิไทยรักษ์ป่า สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต มูลนิธิรักษ์ไทย (แม่แจ่ม) มูลนิธิเศรษฐศาสตร์ชุมชนเพื่อการพัฒนา และสถาบันอ้อผะหญา (องค์กรสาธารณประโยชน์) จึงร่วมกันจัดโครงการคืนผืนป่าต้นน้ำแม่แจ่ม เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนการฟื้นฟูรักษาป่าต้นน้ำแม่แจ่ม และสร้างพื้นที่รูปธรรมของการคืนผืนป่าต้นน้ำสำหรับขยายผลและเผยแพร่ต่อไป โดยมีพื้นที่เป้าหมายดังนี้ พื้นที่เป้าหมายหลัก 6 หมู่บ้านในเขตตำบลแม่นาจร ได้แก่ บ้านแม่หอย หมู่ที่ 12 บ้านแม่ซา หมู่ที่ 2 บ้านแม่ขอ-สบขอ หมู่ที่ 11 บ้านแม่เอาะ หมู่ที่ 10 บ้านสบแม่รวม หมู่ที่ 1 และบ้านห้วยผา หมู่ที่ 8 ตำบลแม่นาจร และพื้นที่เป้าหมายรอง ได้แก่พื้นที่หมู่บ้านอื่นๆในเขตตำบลแม่นาจร และตำบลอื่นๆในอำเภอแม่แจ่ม
การดำเนินงาน หลังจากมีการ ประชุมเครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าและองค์กรเครือข่าย เพื่อจัดทำแผนงานปฏิบัติงานในแต่ละหมู่บ้าน ได้ประชุมชาวบ้านเพื่อจัดทำข้อตกลงร่วมกัน จากนั้นจะมีการลงพื้นที่จับ GPS พื้นที่ที่ชาวบ้านประสงค์คืนผืนป่ารายแปลงพร้อมกับบันทึกข้อมูลสนาม มีการจัดทำทะเบียนชาวบ้านที่คืนผืนป่าและบันทึกข้อมูลลงในแผนที่สำหรับจัดทำเอกสารเผยแพร่ในลักษณะนิทรรศการ และประสานงานจัดหาพันธุ์ไม้กินได้และกินไม่ได้จากหน่วยงานด้านป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้กำหนดจะจัดกิจกรรมประกาศคืนผื่นป่าต้นน้ำแม่แจ่มทั้งสิ้น 6 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 บ้านแม่ซา หมู่ที่ 2 ประกาศคืนผืนป่าวันที่ 5 มิถุนายน 2557 (วันสิ่งแวดล้อมโลก)ครั้งที่ 2 บ้านแม่เอาะ หมู่ที่ 10 ครั้งที่ 3 บ้านแม่หอย หมู่ที่ 12 ครั้งที่ 4 บ้านแม่ขอ-สบขอ หมู่ที่ 11 ครั้งที่ 5 บ้านสบแม่รวม หมู่ที่ 1 ครั้งที่ 6 บ้านห้วยผา หมู่ที่ 8
โดยจะเริ่มกิจกรรมประกาศคืนผืนป่าต้นน้ำแม่แจ่ม ครั้งที่ 1 วันที่ 5 มิถุนายน 2557 หรือวันสิ่งแวดล้อมโลก เชิญผู้สนใจร่วมงานได้ ซึ่งเครือข่ายหวังว่าการดำเนินงานครั้งนี้ ชุมชนภูมิใจ รู้สึกเป็นเจ้าของที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมคืนผืนป่าต้นน้ำและร่วมกันดูแลรักษา และได้พื้นที่รูปธรรมของการคืนผืนป่าต้นน้ำสำหรับการขยายผลและเผยแพร่
กำหนดการ
แสดงเจตนารมณ์คืนผืนป่าต้นน้ำแม่แจ่มและปลูกป่า ครั้งที่ 1
5 มิถุนายน 2557 (วันสิ่งแวดล้อมโลก)
บ้านแม่ซา หมู่ที่ 2 ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
9.00 น. – ลงทะเบียน
9.30 น. – กล่าวตอนรับโดยนายมนตรี ภาสกรวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านแม่ซา หมู่ที่ 2
– กล่าวรายงานโดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาจร
– ประธานกล่าวเปิดงานและให้โอวาทโดยนายวิจิตร หลังสัน นายอำเภอแม่แจ่ม
10.00 น. – มอบใบประกาศเกียรติคุณแก่ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการคืนผืนป่า
โดยนายอำเภอแม่แจ่ม
10.30 น. – นักศึกษากลุ่มอินเชียงใหม่และเครือข่ายฯมอบกองทุนปกป้องป่าต้นน้ำแม่แจ่ม
ให้กับสถานบันอ้อผะหญา
10.35 น. – อ่าน “สาสน์สัญญาประชาคมคืนผืนป่าต้นน้ำแม่แจ่ม” โดยชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ/
เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่า และตัวแทน 6 หมู่บ้าน
10.50 น. – นายอำเภอแม่แจ่ม นายก อบต. แม่นาจร ผู้นำชุมชน 6 หมู่บ้าน
องค์กรเครือข่ายที่ร่วมดำเนินโครงการ และชาวบ้านร่วมกันปลูกป่า
12.00 น. – รับประทานอาหารร่วมกัน เป็นอันเสร็จพิธี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
1. นายสมเกียรติ มีธรรม สถาบันอ้อผะหญา โทร. 089-038-0047 อีเมล orphya@gmail.com
2. นายประพันธ์ พิชิตไพรพนา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) โทร. 089-263-2124
3. นายทนงศักดิ์ ม่อนดอก เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่า โทร. 089-554-3463