วันที่ 7 กรกฎาคม 2566 นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและยา (สมุนไพรท้องถิ่น) ผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ปี 2566 ที่สมัชชาสุขภาพจังหวัดตราด ร่วมกับคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 6 ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ สภาองค์กรชุมชนตำบล หมอพื้นบ้าน และผู้แทนแปลงโคกหนองนาโมเดล พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายเข้าร่วมกว่า 80 คน ณ ห้องประชุมศูนย์เอื้ออาทรผู้สูงอายุ องค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด
นางสาวศิริวรรณ บุตราช ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดตราด กล่าวต้อนรับและรายงานการจัดเวทีปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและยา (สมุนไพรท้องถิ่น) ผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ในครั้งนี้โดยมีเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ ๑) พัฒนาความเข้มแข็งของกลไกสมัชชาสุขภาพจังหวัด ให้มีการดำเนินงานเป็นระบบ และขยายเครือข่ายการทำงานกับภาคีหน่วยงานต่างๆ สร้างการรับรู้ในระดับจังหวัดร่วมกัน ๒) เพื่อกำหนดวิธีการข้อตกลงร่วม และนำข้อเสนอเชิงนโยบายของสภาองค์กรชุมชนตำบล เสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ๓) สนับสนุนกิจกรรมเครือข่ายรูปธรรมระดับตำบล ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและยา (สมุนไพรท้องถิ่น) จังหวัดตราด สืบเนื่องจากการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดตราด ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา มีการจัดทำบันทึกความร่วมมือ “สานพลังภาคีพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ สร้างสุขภาวะ 5 ดีวิถีตราด ช่วยชาติต่อต้านทุจริต ” จังหวัดตราด ทำให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหารและยา(สมุนไพรท้องถิ่น) ซึ่งในปี 2566 นี้ ได้พัฒนาสู่การขับเคลื่อนโครงการ 1 ตำบล 1 สมุนไพรท้องถิ่น
จากนั้น ผู้แทน 11 หน่วยงาน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “สานพลัง สร้างความมั่นคงทางอาหารและยา (สมุนไพรท้องถิ่น) ผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง 2566” ทั้งนี้ นางสาวสิโรชิน ศรทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาคฯ สำนักงานภาคกรุงเทพฯปริมณฑลและตะวันออก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมาหาชน) เข้าร่วมในพิธีลงนามฯเพื่อให้เกิดความรู้เรื่องสมุนไพรท้องถิ่น และสานพลังภูมิปัญญาในพื้นที่ นายสมโภชน์ วาสุกรี ผู้ทรงคุณวุฒิสภาองค์กรชุมชนตำบล ประธานศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้าจังหวัดตราด เปิดห้องเรียนรู้ “สมุนไพรท้องถิ่นที่น่าจดจำ ทำทันที” ให้รู้จักและสามารถใช้ประโยชน์จากสมุนไพรใกล้ตัวอย่างถูกวิธี
ร่วมกำหนดเป้าหมาย แผนงาน โดยใช้กระบวนการกลุ่มระดมความคิดเห็น ภายใต้หัวข้อ– ภาพฝันที่ต้องการให้เป็นในเรื่องอาหารปลอดภัยในชุมชน หมายรวมถึงสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย– กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะทำให้ภาพฝันเป็นจริง /มีวิธีการทำอย่างไรและมีข้อเสนออยากให้ชุมชน หน่วยงานทำอะไร– แผนที่จะดำเนินการต่อเนื่องในเรื่องความร่วมมือความมั่นคงทางอาหารและยา(สมุนไพรท้องถิ่น)ระดับตำบล ระดับจังหวัดรับเพื่อนำบทสรุปแลกเปลี่ยนเสนอต่อเวทีประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัด และสมัชชาสุขภาพจังหวัดตราดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในช่วงเดือน กันยายน 2566 ต่อไป