8 หน่วยงานภาคีลงนามบันทึกความร่วมมือจัดการป่าชุมชน-ฝายมีชีวิต

8 หน่วยงานภาคีลงนามบันทึกความร่วมมือจัดการป่าชุมชน-ฝายมีชีวิต

พิธีลงนามความร่วมมือการจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิต 

พอช./ 8 หน่วยงานภาคี  พอช.-สสส.–กรมป่าไม้-กรมทรัพยากรทางทะเลฯ- RECOFTC Thailand-มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน-มูลนิธิชุมชนไท-มูลนิธิสืบนาคะเสถียร  ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือจัดการป่าชุมชน-ฝายมีชีวิต  ระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี  เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  ชุมชนมีอาชีพ-มีรายได้-ลดโลกร้อน      นำร่องขับเคลื่อนป่าชุมชนทั่วประเทศปีแรก 15  แห่ง  ขณะที่คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนทางสังคมจำนวน 21 ล้านบาทเศษ

วันนี้ 7 กรกฎาคม 2566   ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ มีพิธีบันทึกความร่วมมือการสนับสนุนและขับเคลื่อนการบริหารจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  ระหว่าง  กรมป่าไม้  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า – ประเทศไทย (RECOFTC – Thailand)

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  มูลนิธิชุมชนไท  และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

โดยมีผู้แทน 8 หน่วยงานดังกล่าวร่วมลงนาม   มี ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  เป็นประธานสักขีพยานการลงนาม  โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ และผู้แทนชุมชนที่จะขับเคลื่อนโครงการป่าชุมชนนำร่อง 15 แห่งทั่วประเทศร่วมในพิธี  รวม 80 คน

2
นายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช.

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’  กล่าวมีใจความสำคัญว่า  การที่ชุมชนจะเข้มแข็งได้นั้น  คนในชุมชนจะต้องมีกระบวนการรวมกลุ่มการทำงานร่วมกัน  คนในชุมชนจะต้องมีอาชีพมีรายได้ที่ดี  เพราะฉะนั้นมิตินี้  ป่าชุมชนและฝายมีชีวิตก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่คุณภาพชีวิต  อาชีพ และรายได้ของพี่น้องประชาชน  โดยมีหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมลงนามในวันนี้ร่วมสนับสนุน   และขับเคลื่อนไปด้วยกัน

“ไปคนเดียวอาจจะเดินไปได้  แต่ว่าไปได้ไม่ไกล  ถ้าเราจะไปได้ไกล  เราต้องเดินหลายคน ช่วยกันประคับ ประคอง  ช่วยกันเป็นลมใต้ปีก เติมเต็มข้อจำกัดต่างๆ ด้วยกัน  เพราะฉะนั้นวันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการที่เราจะมาร่วมมือกันระหว่าง 8 หน่วยงาน  ในการขยับขับเคลื่อนการทำพื้นที่ป่าชุมชนและฝายมีชีวิต” 

ผอ.พอช.กล่าวและว่า  ในปีนี้จะมีพื้นที่นำร่อง 15 จังหวัด 15 พื้นที่  หากพื้นที่ดังกล่าวเดินไปได้แล้วสำเร็จ  ก็จะเป็นพื้นที่ที่เป็นองค์ความรู้ ในการขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ จังหวัดอื่นๆ ต่อไป

3
นายเดโช  ไชยทัพ  ประธานคณะทำงาน ฯ

นายเดโช  ไชยทัพ  ประธานคณะทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนป่าชุมชนและฝายมีชีวิต  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  คณะทำงานชุดนี้มีแผนงานหลักที่จะดำเนินการ 3-4 เรื่อง  เช่น  1.การสร้างความเข้าใจกับชุมชน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562’  โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลที่ พอช.สนับสนุนการจัดตั้งทั่วประเทศเป็นพื้นที่ดำเนินการ  โดยเราจะสร้าง ‘ครู ก’ ขึ้นมาจากสภาองค์กรชุมชนฯ

2.สร้างพื้นที่ต้นแบบขึ้นมา 15 พื้นที่  เพื่อเป็นบทเรียนในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน  และสร้างการขยายผลในประเด็นต่างๆ ในบริบททั้งจังหวัด  3.เครือข่ายป่าชุมชนในแต่ละจังหวัดซึ่งจัดตั้งไปแล้ว 68 จังหวัดก็ยังไม่มีงบประมาณจัดสรรที่ชัดเจนมาสนับสนุน เราจึงประสานความร่วมมือไปยัง สสส. และ สสส.ได้สนับสนุนงบประมาณมาดำเนินการ

“วันนี้เป็นวันสำคัญเพราะเป็นวันเริ่มต้นของการสานพลัง  เพราะกฎหมายป่าชุมชนเจตนารมณ์เป็นกฎหมายของสังคม  สังคมจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้  จะต้องมาร่วมเกื้อกูล  สนับสนุนขีดความสามารถของชุมชน  องค์กรประชาสังคมที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้จะต้องมาเป็นแกนหลัก  ภาคีธุรกิจจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม  เอ็นจีโอต่างๆ  เข้ามาร่วมผนึกกำลังสนับสนุนการจัดการป่าชุมชนให้ยั่งยืน”  นายเดโชกล่าว

4
ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานบอร์ด พอช.

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวมีใจความสรุปว่า  เมื่อก่อน

ชาวบ้านเข้าไปในป่าเก็บของแล้วจะติดคุก  ไม่ต้องตัดต้นไม้  แค่เก็บมาก็ติดคุก  แต่เมื่อมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 ตอนนี้สามารถตัดต้นไม้ได้  ใช้ได้ในชุมชน  ขณะที่กรมป่าไม้ก็ตั้งใจให้เกิดโครงการนี้เพื่อให้เกิดป่าชุมชนทั่วประเทศ 20,000 แห่ง  พื้นที่ 10  ล้านไร่  เป็นเรื่องที่น่าดีใจ  เพราะป่าชุมชนบางแห่งมีเนื้อที่นับร้อยไร่  บางแห่งนับพันไร่              ถ้าประชาชนร่วมกันดูแลก็จะช่วยกันฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมให้มีความอุดมสมบูรณ์  เป็นซุปเปอร์มาเก็ต  สามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้  ถ้าหากทำอย่างนี้ได้ทั่วประเทศพี่น้องประชาชนก็จะมีความสุข

นอกจากนี้ พอช. และภาคีเครือข่ายที่ร่วมลงนามในวันนี้จะทำเรื่องฝายมีชีวิต  โดยใช้เครื่องมือง่ายๆ เช่น  ไม้ไผ่  กระสอบทราย  พอทำแล้วน้ำจะซึมลงใต้ดิน  ทำให้ผืนดินมีความชุ่มชื้น  ต้นไม้  ผลไม้ก็จะออกลูกตลอดทั้งปี  รวมทั้งจะทำเรื่องป่าชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน   เป็นป่าชายเลนชุมชน  และมีโครงการต่อไป คือ ทำธนาคารปูม้า กุ้ง หอย ปู ปลา  นำมาเพาะพันธุ์แล้วปล่อยลงไปในลำคลอง  ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์  เป็นแหล่งอาหาร  แหล่งท่องเที่ยว  ทำให้พี่น้องมีรายได้  มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

5
ดร.ชาติวุฒิ  วังวล   สสส.

               ดร.ชาติวุฒิ วังวล  ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ  สสส. กล่าวว่า World Economic  Forum  บอกว่า 1 ใน 3 ของความเสี่ยงที่เกิดขึ้น  เรื่องสิ่งแวดล้อมหนักที่สุด  ข้อมูลเมื่อปีที่ผ่านมา  เราเจอปัญหามลพิษทางอากาศ  เจอปัญหา PM 2.5  ปัญหาฝนน้อยและหนักมาก  ปัญหาเรื่องสุขภาพ  ปัญหาที่เกี่ยวกับมลพิษ เราจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้แล้ว  เราต้องช่วยกัน

สสส. เข้าสู่ปีที่ 21 เราคลุกวงในมากขึ้นในการที่จะแก้ปัญหาต้นทาง  ด้วยปรัชญา ‘สร้างนำซ่อม’ เพื่อที่จะทำให้เรามีภูมิต้านทานทางสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย  เรามองถึงการสร้างศักยภาพชุมชน  การสร้างพื้นที่ป่าที่เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ  เพื่อจะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง  โดยการประสานกับภาคนโยบาย ภาควิชาการ ภาคสื่อสาร และขับเคลื่อนงานไปพร้อม ๆ กัน  เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน

6
นายบรรณรักษ์  เสริมทอง  รองอธิบดีกรมป่าไม้  

               นายบรรณรักษ์  เสริมทอง  รองอธิบดีกรมป่าไม้   กล่าวมีใจความสำคัญว่า  กรมป่าไม้รู้สึกยินดีและภูมิใจที่พี่น้องประชาชน เครือข่ายทุกภาคส่วน  ทั้งภาครัฐ   องค์กรเอกชน  ภาคสังคมต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมช่วยกรมป่าไม้ในการดำเนินการดูแลรักษาป่า  ที่ผ่านมามีกิจกรรมปลูกป่า  ปลูกเสร็จแล้วกลับไปไม่มีใครดูแล ป่าไม่มีทางรอด  ป่าจะรอดได้ต้องมีพี่น้องชุมชนในพื้นที่นั้นๆ เข้ามาดูแลรักษาป่า  ขณะเดียวกันพี่น้องที่ดูแลป่าก็จะต้องได้รับประโยชน์จากการดูแลป่า  เช่น  เรื่องการท่องเที่ยว  การนำผลิตผลจากป่าไปใช้อย่างถูกกฎหมาย  และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

“ปัจจุบันประเทศไทยมีป่าชุมชน 12,000 แปลงทั่วประเทศ  มีหมู่บ้าน 13,000  หมู่บ้านที่เข้ามาร่วมกับป่าชุมชน   ซึ่งกรมป่าไม้มีเป้าหมายจะเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชนเป็น 15,000 แปลง  เนื้อที่ 10  ล้านไร่ภายในปี 2570  สิ่งที่จะทำให้ไปสู่ความสำเร็จได้ต้องเกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”  รองอธิบดีกรมป่าไม้กล่าว

เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  ชุมชนมีอาชีพ-มีรายได้

การจัดทำบันทึกข้อตกลงนี้  ตั้งอยู่บนพื้นฐานความร่วมมือของทุกฝ่าย  ชึ่งมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันในการสนับสนุนการบริหารจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตในพื้นที่ป่าชุมชน ตามกฏหมายว่าด้วยป่าชุมชน  รวมถึงสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของกลไกภาคีที่เกี่ยวข้องในการจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตให้เกิดความยั่งยืน เพื่อเสริมความเข้มแข็งชุมชนและเสริมรายได้ครัวเรือน ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น

ส่วนวัตถุประสงค์ของการบันทึกความร่วมมือ  ครั้งนี้  คือ 1.เพื่อเสริมสร้างความรู้  ความเข้าใจโดยการพัฒนาศักยภาพขององค์กรชุมชน  รวมถึงหน่วยงาน ภาคีที่เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์  ฟื้นฟู บริหารจัดการ บำรุงรักษา ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

2.เพื่อสนับสนุนกระบวนการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมให้กับเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด เครือข่ายฝายมีชีวิต  เครือข่ายองค์กรชุมชน  เพื่อเตรียมความพร้อมของชุมชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานในพื้นที่ ในการบริหารจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตในพื้นที่นำร่องตามที่ทุกฝ่ายกำหนดร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ป่า

และ 3.เพื่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคี ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เข้าร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนการบริหารจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

7
ผู้แทน 8 หน่วยงานร่วมลงนามความร่วมมือ

ผสาน 8 พลังภาคีหนุนป่าชุมชน-ฝายมีชีวิต

ทั้งนี้ 8 หน่วยงานภาคีที่ร่วมลงนามจะมีบทบาทและหน้าที่ต่างๆ กังนี้  กรมป่าไม้  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  1.ให้คำแนะนำแนวทางการดำเนินงาน และวิธีการติดตามประเมินผลโครงการที่สอดคล้องกับกฎหมาย  ระเบียบ  และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและป่าอย่างยั่งยืน

2.สนับสนุนข้อมูล องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและประสานงานกับหน่วยงานและชุมชนในพื้นที่รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามความเหมาะสม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

พอช. สสส. RECOFTC – Thailand  มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  มูลนิธิชุมชนไท  และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะร่วมกัน 1.เสริมความเข้มแข็งองค์กรชุมชน เครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายฝายมีชีวิต ในการดำเนินการขับเคลื่อนป่าชุมชนและฝายมีชีวิตให้เกิดขึ้นในพื้นที่เป้าหมาย

2.เสริมศักยภาพเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด  คณะกรรมการป่าชุมชนจังหวัดและกรรมการจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิต ให้สามารถจัดทำข้อมูล แผนที่ และแผนการบริหารจัดการป่าชุมชน ในพื้นที่อย่างยั่งยืน

3.ประสานแหล่งทุนภาคีหุ้นส่วนการพัฒนา จัดหางบประมาณสำหรับดำเนินงานและสนับสนุนชุมชน เครือข่าย ร่วมและเอื้ออำนวยในการบริหารจัดการงบประมาณ ตามแผนโครงการที่ภาคีหุ้นส่วนการพัฒนา  คัดเลือกและดำเนินการตามความจำเป็น

ทั้งนี้ความร่วมมือตามบันทึกการลงนามในครั้งนี้มีกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันลงนาม  และมีพื้นที่นำร่องการขับเคลื่อนโครงการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตจำนวน 15 แห่งทั่วประเทศ  เช่น ป่าชุมชนตำบลท่ากุ่ม จังหวัดตราด มีกิจกรรมฟื้นฟู อนุรักษ์ ปลูกป่า  และทำฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านเขาพลูร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ทำให้เกิดแหล่งอาหารจากป่าให้กับชุมชน  เช่น  เห็ด  หน่อไม้  ผักหวาน สมุนไพร  ฯลฯ  มีแหล่งต้นน้ำ  ประปาภูเขา ลงไปยังเรือกสวนไร่นา และน้ำสำหรับสาธารณูปโภคของชุมชน

ป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ หมู่ 4  ต.แก่งกระจาน  อ.แก่งกระจาน  จ.เพชรบุรี  ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกไผ่หวานและผักหวานเพื่อกินเองและสร้างอาชีพในโครงการหมู่บ้านอนุรักษ์พิทักษ์ป่า  และตั้งกลุ่มโฮมสเตย์บ้านถ้ำเสือเพื่อรองรับท่องเที่ยวแนว CSR outing ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวแบบทำกิจกรรมเพื่อสังคม  โดยการปลูกป่า  ทำฝาย  ทำแนวกันไฟเพื่อฟื้นฟูป่า เป็นต้น

8
ต้นยางนาขนาดใหญ่ที่ชาวบ้าน ต.หนองยาง  อ.หนองฉาง  จ.อุทัยธานี  ช่วยกันดูแล  และกำลังทำเรื่องเพื่อเข้าร่วมโครงการ ‘คาร์บอนเครดิต’ ร่วมกับกรมป่าไม้ เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน

ป่าชุมชน สร้างผลตอบแทนทางสังคม 21 ล้านบาท

นายเดโช  ไชยทัพ  ประธานคณะทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนป่าชุมชนและฝายมีชีวิต  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  การขับเคลื่อนโครงการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตจะมีการดำเนินกิจกรรมหลัก 4 กิจกรรม คือ        1.การอนุรักษ์และการแบ่งประเภทการใช้ประโยชน์ของป่าชุมชนและฝายมีชีวิต  2.การบริหารจัดการน้ำของชุมชน

3.การพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนและเครือข่าย  และ 4.การใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนและฝายมีชีวิตบนฐานการบริหารการจัดทรัพยากรอย่างยั่งยืน  เช่น  การเชื่อมโยงเศรษฐกิจสีเขียวหรือ BCG  ฯลฯ  ซึ่งการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะใช้งบประมาณดำเนินการรวม 3,498,000 บาท

“หากมีการลงทุนในโครงการดังกล่าวจำนวน  3,498,000 บาท  จะสามารถตีเป็นมูลค่าการตอบแทนทางสังคมได้จำนวน 21,361,079 บาทเศษ  ในการขับเคลื่อนปีที่ 1 และต่อยอดการดำเนินการของชุมชน  รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่ออีกอย่างน้อย 5 ปี

            นอกจากนี้จะสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น  มีส่วนร่วมในการบริหารป่าชุมชน  ด้วยการสร้างอาชีพ  ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์  และพัฒนาศักยภาพของชุมชน  และเป็นส่วนหนุนเสริมให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกลับคืนสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน”  ประธานคณะทำงานฯ กล่าวถึงผลตอบแทนและผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น

9
ชาวบ้าน ต.เสวียด  อ.ท่าฉาง  จ.สุราษฎร์ธานี  ร่วมกันอนุรักษ์ ‘ต้นยางเหียง’ ไม้หายาก  และร่วมกับสถาบันการศึกษาวิจัยสรรพคุณของยางเหียงเพื่อนำมาใช้ประโยชน์

เส้นทางสู่การขับเคลื่อน…ป่าชุมชน’ ขจัดความจน                                                           

ป่าชุมชนและฝายมีชีวิต’ เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ พอช.และหน่วยงานภาคีเครือข่ายกำลังร่วมกันขับเคลื่อน   โดยมีการตั้งคณะทำงานป่าชุมชนและฝายมีชีวิตขึ้นมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมานาน…นั่นคือ ‘ความยากจน’ ที่เกิดจากการที่ประชาชนในชนบทไม่มีสิทธิ์ในการดูแลและพึ่งพาอาศัยและใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรป่า !!

               ย้อนกลับไปในปี 2562 พ.ร.บ.ป่าชุมชน’ ฉบับแรกประกาศใช้  โดยในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติฉบับนี้  เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 และคณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 24 พฤษภาคมของทุกปีเป็น วันป่าชุมชนแห่งชาติ’

เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้  คือ “โดยที่เป็นการสมควรส่งเสริมให้ชุมชน ได้ร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์  ฟื้นฟู  จัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนในรูปแบบของป่าชุมชน  เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการป่าชุมชนและได้ประโยชน์จากป่าชุมชน  อันจะส่งผลให้ชุมชนดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้มีความสมบูรณ์และยั่งยืน  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

ป่าชุมชนตามความหมายของ พ.ร.บ.ฉบับนี้  คือ  “ป่านอกเขตป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่อื่นของรัฐ  นอกเขตป่าอนุรักษ์  ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชน  โดยชุมชนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์  ฟื้นฟู   จัดการ  บำรุงรักษา  ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม  และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืนตามพระราชบัญญัตินี้”

ผลจากการมี พ.ร.บ.ฉบับนี้  จะทำให้ประชาชนสามารถดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย  เช่น  สามารถเก็บหาของป่า  ตัดไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือน  เพื่อประโยชน์สาธารณะ  (ยกเว้นไม้ทรงคุณค่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ) ปลูกต้นไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์  สร้างฝายกักเก็บหรือชะลอน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้น  เป็นแหล่งเก็บน้ำใต้ดิน  ทำประปาภูเขา นำน้ำมาใช้ในการเกษตร  จัดการท่องเที่ยว  ฯลฯ

โดย  8 หน่วยงานที่ร่วมลงนามความร่วมมือในวันนี้ (7 กรกฎาคม) จะร่วมกันสนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ  ที่ทำเรื่องป่าชุมชนอยู่แล้วหรือกำลังจะจัดตั้งป่าชุมชนได้ศึกษาเรียนรู้เนื้อหาของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562  และนำไปสู่การวางแผนบริหารจัดการป่าชุมชนเพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์  ขณะเดียวกันก็จะเป็นการฟื้นฟูป่าไม้และแหล่งน้ำ  ช่วยลดภาวะโลกร้อน  คืนความสมดุลสู่ธรรมชาติต่อไป…!!

10

 เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ