NIA จับมือ พอช. เดินหน้าโครงการ ‘หมู่บ้านนวัตกรรมสังคม’ ปีที่ 3

NIA จับมือ พอช. เดินหน้าโครงการ ‘หมู่บ้านนวัตกรรมสังคม’ ปีที่ 3

ผู้เข้าร่วมโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมสังคมที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เมื่อ 4-5 กรกฎาคม

พอช. / สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIAจับมือ ‘พอช.’  จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ  ‘Social  Innovation  Village :  Idea  Hacks 2023’ หรือ ‘หมู่บ้านนวัตกรรมสังคม’  เป้าหมายเพื่อเฟ้นหาสุดยอดชุมชนคิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาแก้ปัญหา-พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน  โดยปีนี้มีชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการ55  ทีม  ทีมที่ผ่านการคัดเลือกและมีความพร้อมจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำนวัตกรรมมาใช้จริงในชุมชน

นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน

               ‘นวัตกรรมเพื่อสังคม’  หรือ ‘Social  Innovation’  หมายถึง  กิจกรรม ผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่ ที่มุ่งตอบ สนองความต้องการของสังคมเป็นหลัก โดยมีการพัฒนาและเผยแพร่ผ่านองค์กรเพื่อสังคม ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคม  ชุมชน  และสิ่งแวดล้อม เพื่อเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต หรือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม มีผลกระทบในระดับชุมชน หรือส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ยังหมายถึงแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาที่มีอยู่แล้วแต่ยังแก้ไขไม่ได้ด้วยวิธีการทั่วไป และปัญหาใหม่ที่เพิ่งปรากฏขึ้น (คุณาวุฒิ  บุญญานพคุณ  ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ)

ทั้งนี้ในปัจจุบันมีองค์กรทางสังคมหลายองค์กร  รวมทั้งชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ  ได้ส่งเสริม  สนับสนุน  ให้ชุมชนได้นำนวัตกรรมมาใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนของตนเอง  เช่น  ชุมชนสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินปากช่อง  อ.ปากช่อง  จ.นครราชสีมา  โดยนายนิรันดร์  สมพงษ์  ประธานสหกรณ์  นำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตมาใช้ควบคุมการจ่ายน้ำในแปลงเกษตร  โดยควบคุมด้วยโทรศัพท์สมาร์ทโฟน  ช่วยประหยัดแรงงาน  วลา  และค่าใช้จ่าย  นอกจากนี้เขายังเป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวให้แก่เกษตรกรที่สนใจทั่วประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม  นวัตกรรมเพื่อสังคมไม่ได้จำกัดเพียงแค่การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนเท่านั้น  แต่ยังรวมถึงวิธีคิด  กระบวนการสร้างสรรค์  การนำวิธีการใหม่ๆ มาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและชุมชน

เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลที่วัง  อ.ทุ่งสง  จ.นครศรีธรรมราช  จัดการปัญหาขยะในชุมชน  โดยให้สมาชิกรวบรวมขยะรีไซเคิลมาขายให้แก่กองทุน  และสมาชิกจะได้สิ่งของตอบแทน  (ข้าวสาร  น้ำตาล  น้ำปลา  ปลากระป๋อง  ผงสักฟอก  สบู่  ฯลฯ ) ขยะรีไซเคิลกองทุนจะรวบรวมขายให้แก่ร้านรับซื้อ  ส่วนขยะเปียกให้สมาชิกนำมาหมักทำปุ๋ย  เพื่อใช้ปลูกผักสวนครัว  ทำให้มีผักกิน  ลดรายจ่าย  ลดขยะ  ฯลฯ

2
กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลที่วัง  จ.นครศรีธรรมราช  นำขยะมาแลกของ

ขณะที่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ได้ศึกษาแนวทางและนิยามความหมายของ “นวัตกรรมชุมชน” ที่ขบวนองค์กรชุมชนได้ดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน  ดังนี้ คือ 1.สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น : อะไรคือกระบวนการใหม่หรือเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในชุมชน  2.เกิดจากการมีส่วนร่วม : การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนต่อการพัฒนาใหม่ที่เกิดขึ้น  3.เกิดประโยชน์ส่วนรวม : เห็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนา  สามารถสร้างประโยชน์โดยรวมให้กับคนในชุมชน  มิใช่เพียงประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง  4.สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง : เห็นถึงผลต่อเนื่องของการพัฒนาที่ได้ดำเนินการ

5.ง่ายต่อความเข้าใจของคนในชุมชน :  เห็นกระบวนการพัฒนาใหม่ที่เกิดขึ้น  ไม่ใช่กระบวนการหรือเรื่องราวที่ซับซ้อนเกินกว่าที่คนส่วนใหญ่ในชุมชนจะเข้าใจร่วมกันได้  6.เกิดการเปลี่ยนความสัมพันธ์ :  จากกระบวนการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่ได้ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน  ระหว่างหน่วยงานภาคีในพื้นที่และนอกพื้นที่อย่างไรบ้างที่เห็นเป็นเชิงประจักษ์

3
การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการที่ พอช.เมื่อ 4-5 กรกฎาคม

โครงการ หมู่บ้านนวัตกรรมสังคม’ ปีที่  

ระหว่างวันที่ 4-5 กรกฎาคม  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ  ‘Social  Innovation  Village :  Idea  Hacks 2023’ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  โดยมีผู้แทนชุมชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการจากภาคตะวันตกและตะวันออกเข้าร่วมอบรมประมาณ 20 คน

ดร.อำพล อาภาธนากร  ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า  โครงการ ‘Social  Innovation  Village :  Idea  Hacks 2023’ หรือ ‘หมู่บ้านนวัตกรรมสังคม’ ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3  (ครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2564)  โดยจะเปิดสมัครชุมชนที่ต้องการคิดค้นและใช้นวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาชุมชน  หรือยกระดับคุณภาพชีวิตชาวชุมชน

หลังจากนั้นชุมชนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจะได้รับฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ  โดยชุมชนที่เข้าร่วมโครงการจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อต่างๆ  เช่น   นวัตกรรมเพื่อสังคมคืออะไร  การแลกเปลี่ยนมุมมองการแก้ปัญหาชุมชนด้วยนวัตกรรม  การปลดล็อคสมองเพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์  กระบวนการคิดเชิงออกแบบ  เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน  เครื่องมือการวางแผนนวัตกรรมชุมชน  การระดมความคิดนวัตกรรมชุมชน การประเมินผลลัพธ์ทางสังคม  การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม  การแนะนำการเขียนโครงการ  เป็นต้น

4
ดร.อำพล อาภาธนากร  ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฯ

ในปี 2566 มีชุมชนที่เสนอโครงการและผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการ Social Innovation Village : Idea Hacks  2023  จำนวน 55 ทีม 276 ชุมชน  แบ่งเป็น  ภาคเหนือ 22 ทีม  ภาคใต้ 14 ทีม  ภาคกลางและตะวันตก 8 ทีม และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 ทีม

โดยจะมีการจัดอบรมตามภูมิภาคต่างๆ ในรูปแบบ On Site  ครั้งแรกจัดขึ้นที่ พอช. กรุงเทพ (4-5 กรกฎาคม) ครั้งต่อไปจัดที่ภาคใต้  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และภาคเหนือ  เป็นลำดับต่อไป  เพื่อให้ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการได้แลกเปลี่ยนมุมมองการแก้ปัญหาชุมชนด้วยนวัตกรรม และเกิดการยกระดับคุณภาพชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย และเป็นต้นแบบการขยายผลการใช้นวัตกรรมเพื่อสังคมมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน

“ปีแรกและปีที่สองที่ NIA เปิดรับสมัครแบบชุมชนเดี่ยวๆ ขึ้นมา  เราได้เห็นข้อจำกัดว่า  เวลาเราให้ทุนสนับสนุน  สุดท้ายผลลัพธ์ที่ได้ออกมาหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชนมันอยู่แค่ชุมชนเดียว  เพราะฉะนั้นปีนี้ NIA จึงรับสมัครเป็นทีมชุมชน   คือหนึ่งทีมอย่างน้อยต้องมาสามชุมชน  สามวิสาหกิจ  แต่ต้องมีโจทย์ปัญหาเหมือนกันหรือว่าใกล้เคียงกัน  เพราะมันจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ได้มากกว่า  สร้างผลกระทบได้มากกว่าเดิม  เพราะผู้รับผลประโยชน์ไม่ใช่ชุมชนเดียวแล้ว อย่างน้อยสามชุมชนขึ้นไป”  ดร.อำพลกล่าว

ทั้งนี้ชุมชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะต้องเสนอโครงการในการใช้นวัตกรรมทางสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชนของตนเอง  โดยจะมีการจัดประกวดรางวัลโครงการนวัตกรรมดีเด่นเพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้แก่ชุมชน   หลังจากนั้นชุมชนที่ได้รับรางวัลหรือมีความพร้อมที่จะดำเนินโครงการจะได้รับทุนสนับสนุนจาก NIA (ไม่จำกัดวงเงิน  ที่ผ่านมาอนุมัติเฉลี่ยไม่เกินโครงการละ 500,000 บาท) ระยะเวลา 1 ปี  โดยชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมสมทบด้วย

5

รูปธรรมจากพื้นที่

ดร.อำพล  ยกตัวอย่างว่า  ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา  มีชุมชนต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการได้รับทุนสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติไปแล้ว  จำนวน 8 ราย  เช่น  ชุมชนที่อำเภอเดิมบางนางบวช    จ.สุพรรณบุรี   ทำโครงการ ‘มัลติมีเดียอะคาเดมี’ เป็นการสร้างและออกแบบหลักสูตรทางด้านมีเดียต่างๆ  เช่น การถ่ายภาพ  ถ่าย VDO  การตัดต่อ  การทำโฆษณา  ทำโปสเตอร์  ฯลฯ  เป็นหลักสูตรสำหรับเด็กผู้ด้อยโอกาส เด็กที่ไม่มีทุนทรัพย์ที่จะเรียนต่อ  เพื่อให้เขามีวิชาชีพติดตัว  นำไปสร้างอาชีพ  สร้างรายได้

‘ม้งไซเบอร์’   ที่บ้านน้ำจวง  อ.ชาติตระการ  จ.พิษณุโลก   เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ  มีภูเขา  น้ำตก  นาขั้นบันได  มีที่พักโฮมสเตย์  ชาวบ้านเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง  มีการแสดงศิลปะ  วัฒนธรรมของม้ง  การขับร้อง  ดนตรี  ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน   โดยโครงการจะมีหลักสูตรให้เด็กด้อยโอกาสได้เรียนเรื่องศิลปะ  วัฒนธรรม  การทำอาหารการเป็นไกด์  ฯลฯ  เมื่อมีการจัดงานเทศกาลท่องเที่ยวที่บ้านน้ำจวง  เด็กๆ เหล่านี้ก็จะได้มาแสดง  มาออกบูธขายอาหาร มาให้บริการห้องพัก  เป็นไกด์พาเที่ยว  ทำให้เศรษฐกิจชุมชนหมุนเวียน

6 / ชาวม้งที่บ้านน้ำจวง (ภาพจาก 7kaoded.com/news/)

“นอกจากนี้แล้ว  เด็กที่ผ่านการฝึกอบรมก็สามารถไปรับงานแสดงต่อได้อีก  เป็น  Influencer บ้าง Youtuber บ้าง  โปรโมทร้านอาหาร  เครื่องดื่ม   มียอดไลค์  ยอดวิว  บางคนมีค่ายเพลงมาจีบให้ทำเพลง  ทำให้เด็กมีอาชีพ  มีราย ได้”  ดร.อำพลยกตัวอย่างการจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนชาวม้ง  ช่วยให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยว  และเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสก็มีช่องทางในการสร้างอาชีพเช่นกัน

ขณะที่ในปีนี้มีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ 55 ชุมชนจากทั่วภูมิภาค  มีโครงการที่น่าสนใจ  เช่น  ตำบลคลองพลู อ.เขาคิชกูฎ  จ.จันทบุรี  มีปัญหาเรื่องช้างป่าเข้ามากินพืชไร่  ผลไม้  ทำลายทรัพย์สิน  ที่ผ่านมามีชาวบ้านโดนช้างทำร้ายได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต  จึงมีโครงการแก้ไขปัญหาช้างป่า  โดยการใช้โดรนหรืออากาศยานไร้คนขับและใช้รังสีอินฟราเรดตรวจการเคลื่อนไหวของช้างที่จะเข้ามาในหมู่บ้าน  โดยมีอาสาสมัครในตำบลรวมกว่า 100 คนที่จะร่วมเฝ้าระวังและแจ้งเตือนชาวบ้านด้วย

เครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า  จ.เชียงราย  มีแผนงานการใช้พลังงานโซล่าเซลล์และพลังงานน้ำมาใช้ในการตำข้าวในครกกระเดื่อง  เพื่อประหยัดเวลาและแรงงาน  และเป็นการอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมที่ชาวอ่าข่าตำข้าวกินเอง  และจะได้ข้าวที่มีประโยชน์  มีจมูกข้าว  มีสารอาหารต่างๆ  ที่ไม่สูญเสียไปเหมือนข้าวจากโรงสี  ฯลฯ

พอช.หนุนชุมชนเหลาไอเดียใช้ ‘นวัตกรรมกินได้-แก้ปัญหาได้’

นางสาวจันทนา  เบญจทรัพย์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ฯ  กล่าวว่า  ที่ผ่านมา  ชุมชนต่างๆ  มีการทำการเกษตร  หรือผลิตสินค้าชุมชนแล้ว  แต่การผลิตการอาจจะยังไม่ได้มาตรฐาน  อาจจะใช้เวลาเยอะ  พอช.จึงมีบทบาทประสานให้ชุมชนมาเข้าร่วมโครงการนี้

“เราสนับสนุนให้ชาวบ้านมาเหลาไอเดียให้ชัด  คือจริงๆ แล้ว  ชาวบ้านอาจจะเจอปัญหาในการทำของเขาอยู่แล้ว  แต่ไม่รู้ว่าการใช้นวัตกรรมมาช่วยจะทำให้เขาแก้ปัญหา  สามารถผลิตได้ดีขึ้น  ใช้ระยะเวลาน้อยลง และได้ผลผลิตมากขึ้น  เขาไม่รู้ว่ามันควรจะใช้อะไร  อย่างไร ? กระบวนการนี้เป็นการเหลาไอเดีย ให้คิดให้ชัด  คิดให้เป็นระบบมากขึ้น  โดยเอากระบวนการดีไซน์ Thinking  มาฝึกชาวบ้าน  ฝึกคิดให้ชัดก่อนที่จะใช้นวัตกรรมมาแก้ปัญหา  มาตอบโจทย์   พอช.จะทำหน้าที่นี้  และที่สำคัญก็คือการเป็นพี่เลี้ยงให้กับชาวบ้าน  กรณีที่อาจจะมีข้อติดขัด  ข้อสงสัย  พอช.จะทำหน้าที่ปรึกษาหารือ  และประสานกับทาง NIA”  ผู้ช่วย  ผอ.พอช.กล่าว

7
นางสาวจันทนา  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช.

               ผู้ช่วย  ผอ.พอช. บอกด้วยว่า  ชุมชนที่ผ่านกระบวนการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ   ‘Social Innovation Village : Idea Hacks  2023’  แล้ว  ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนโครงการหรืองบประมาณจาก NIA เท่านั้น  แต่สิ่งที่ชุมชนจะได้รับจากการเหลาไอเดีย  แนวคิด  นวัตกรรม  และการพัฒนาโครงการที่ได้จากการเข้าร่วมกระบวนการนี้  ชุมชนสามารถจะนำไปเสนอของบจากที่อื่น  เช่น  งบยุทธศาสตร์จังหวัด  งบจากหน่วยงานภาคีอื่นๆ ที่มีอยู่มากมาย  ซึ่งอาจจะไม่ใช่ NIA เพียงแหล่งเดียว

ขณะเดียวกันชุมชนก็ต้องไปประมวลความต้องการของชุมชนเอง  ดูศักยภาพความพร้อมชุมชนด้วย คือหากชุมชนมีความพร้อม  เป็นความต้องการที่แท้จริง   โครงการนี้มันก็จะมีประโยชน์  ทำให้การทำงานการผลิต การประกอบ การของชาวบ้านดีขึ้น  ทำให้ร่นระยะเวลา ลดเวลา ลดขั้นตอน  สร้างรายได้ได้จริง

Idea Hacks   ก็คือการเฟ้นไอเดียเจ๋งๆ ที่จะมาตอบโจทย์ชุมชน  ตอบปัญหาของชุมชนได้ แล้วเป็นไอเดียที่มันทำได้  กินได้  แก้ปัญหารายได้  เอามาแล้วชาวบ้านต้องทำต่อเองได้”  ผู้ช่วย ผอ.พอช. กล่าวย้ำในตอนท้าย

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ