แผน PDP 2015: ข้อสังเกตต่อทิศทางการพัฒนา ‘ไฟฟ้าของชาติ’ ที่ประชาชนยังไม่มีโอกาสเห็น

แผน PDP 2015: ข้อสังเกตต่อทิศทางการพัฒนา ‘ไฟฟ้าของชาติ’ ที่ประชาชนยังไม่มีโอกาสเห็น

วันนี้ (14 พ.ค. 2558) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 หรือ PDP2015 ซึ่งเป็นแผนจัดหาไฟฟ้าในระยะยาว อย่างน้อย 20 ปี 

ภายหลังจากการประชุมของ กพช. ดังกล่าว มีการแจกใบแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล สรุปมติของคณะกรรมการเรื่องการอนุมัติแผน PDP นอกจากนั้นเป็นการสรุปมติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบท่อก๊าซ การลดปริมาณสำรองน้ำมันดิบ และการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น 

ทั้งนี้ การจัดทำแผน PDP2015 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 โดยจัดขึ้นเพียงครึ่งวัน ที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น ทั้งที่แผนดังกล่าวจะมีผลผูกมัดคนไทยทั้งประเทศกับภาระการลงทุนต่างๆ ของรัฐ ที่จะตามมาในอนาคตอีกไม่ต่ำกว่า 2 ทศวรรษ 

จากเอกสารที่แจกแก่ผู้เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นต่อ “ร่างแผน PDP2015” เป็นข้อมูลเพียงชุดเดียวที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าถึงได้ โดยไม่มีร่างแผน PDP2015 เผยแพร่เพื่อเป็นข้อมูลแก่ประชาชนแต่อย่างใด สรุปได้ว่า แผน PDP 2015 มีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าแผนฯ ที่ผ่านมาในแง่การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงานมากขึ้น โดยมีการนำแผนการอนุรักษ์พลังงาน (EEDP) มาใช้อย่างเต็มศักยภาพ และปรับแผนดังกล่าวและแผนพลังงานหมุนเวียน (AEDP) ให้ตรงกับกรอบเวลาของ PDP2015 

อย่างไรก็ตาม สันติ โชคชัยชำนาญกิจ กลุ่มจับตาพลังงาน ตั้งข้อสังเกตไว้ 4 ประการ ดังนี้ 

1. แม้จะมีการอ้างว่าได้มีการปรับลดค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าลงจากแผนเดิม แต่ในความเป็นจริงแล้วค่าพยากรณ์ชุดนี้ก็ยังสูงกว่าความเป็นจริง ดังจะเห็นได้จากความต้องการไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 27,198 เมกะวัตต์ แต่ค่าพยากรณ์ฯ ที่ใช้ในแผน PDP 2015 กลับใช้ตัวเลข 29,051 เมกะวัตต์ หรือสูงกว่าความเป็นจริงถึง 1,853 เมกะวัตต์ ฐานตัวเลขที่ไม่ถูกต้องเช่นนี้ย่อมทำให้ค่าพยากรณ์ฯ ในปีถัดไปสูงกว่าความเป็นจริงไปตลอดแผน

2. กำลังไฟฟ้าสำรองในช่วง 15 ปีแรก (2558-2568) ของแผน PDP2015 นั้นสูงมากถึง 20% – 39% โดยอ้างว่าเป็นไปตามโครงการที่มีภาระผูกพันไว้แล้ว แต่ในความเป็นจริงนั้น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาของ กฟผ. รวมกำลังผลิต 2,800 เมกะวัตต์ ยังไม่มีภาระผูกพันใดๆ และไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างอย่างน้อยในระยะ 12 ปีแรกของแผน ซึ่งมีกำลังผลิตสำรองสูงมากเกินความจำเป็นอยู่แล้ว กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่สูงมากดังกล่าว เป็นภาระผูกพันที่ประชาชนจะต้องจ่ายผ่านค่าไฟมหาศาลไม่ต่ำกว่าสองแสนถึงสามแสนล้านบาท 

หากพิจารณาถึงความมั่นคงของระบบ จะเห็นว่ากำลังผลิตสำรองที่สูงขนาดนี้ ไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และเทพา (ขนาดรวม 2,800 เมกะวัตต์) ก็ยังมีกำลังผลิตสำรองเหลือเกิน 15% อีกเยอะมาก

3. กำลังสำรองที่สูงมากดังกล่าว สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือ การเร่งรัดให้เปิดประมูลโรงไฟฟ้า IPP ของเอกชนจำนวน 5,000 เมกกะวัตต์ ซึ่งบริษัทกัลฟ์เจพี ประมูลชนะทั้งหมด และมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปเมื่อหลังรัฐประหาร เมื่อปีที่แล้ว ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างหรือควรจะเลื่อนออกไปอย่างน้อย 5-10 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานผู้รับผิดชอบด้านพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ที่บริหารนโยบายพลังงานโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม และสุดท้ายเป็นการสร้างภาระผูกพันทางการเงินแก่ประชาชนในระยะยาว 

ทั้งนี้ ในเมื่อกระทรวงพลังงานอ้างว่า หลายโครงการมีภาระผูกพันแล้ว ก็เพียงพอจะทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงอย่างสูง จึงไม่มีความจำเป็นที่จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติมในระยะ 12 ปีแรกของแผน หรือกล่าวโดยสรุปก็คือแผน PDP ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนใดๆ ที่จะต้องอนุมัติแผนฉบับใหม่ในขณะนี้

4. แผน PDP2015 มีโรงไฟฟ้าที่จะถูกปลดระวางมากถึง 24,669 เมกะวัตต์ ซึ่งการปรับปรุงโรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว หรือการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่เดิมจะเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้นและมีต้นทุนที่ต่ำกว่าด้วย แต่กลับมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงเดิมที่ปลดระวางเพียง 11,000 เมกะวัตต์ แผน PDP 2015 จึงเป็นแผนที่มุ่งเน้นการลงทุนโครงการใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ของ กฟผ.เอง ซึ่งจะกลายเป็นภาระทางการเงินที่ประชาชนต้องแบกรับอย่างไม่มีทางเลือก

20151505013707.png

ที่มาภาพ: สันติ โชคชัยชำนาญกิจ, กลุ่มจับตาพลังงาน

ต่อเรื่องสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ศุภกิจ นันทะวรการ จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ มีความเห็นว่า ที่ผ่านมาฝ่ายรัฐมีการอ้างมาตลอดว่าเมื่อทำสัญญาการซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนไปแล้ว ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ประชาชนกลับไม่เคยเห็นสัญญาเหล่านั้นเลย ดังนั้น เพื่อความโปร่งใส รัฐบาล และ กฟผ. ต้องเปิดเผยสัญญาเหล่านั้นให้ประชาชนได้ร่วมตรวจสอบ ว่า เป็นภาระผูกพันอย่างไรบ้าง สามารถปรับเลื่อนได้หรือไม่ ก่อนที่ประชาชนจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้ากับโครงการเหล่านี้ ถึงจะผลิตหรือไม่ผลิตไฟฟ้า ก็ต้องจ่าย

ศุภกิจยังให้ความเห็นต่อกระบวนการจัดทำและรับฟังความเห็นของแผน PDP ฉบับนี้ว่า การจัดรับฟังความเห็นของประชาชนเพียงแค่ครั้งเดียวที่กรุงเทพฯ และใช้เวลาเพียงแค่ครึ่งวัน ทั้งที่แผนดังกล่าวจะกระทบต่อคนทั่วประเทศ โดยที่เอกสารประกอบก็ไม่มีร่างแผน PDP2015 สำหรับให้ประชาชนได้ศึกษาประกอบการให้ความเห็นและการตัดสินใจอย่างถี่ถ้วน ถือเป็นกระบวนการวางแผนที่ไม่ยอมรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง

ส่วน ฝ้ายคำ หาญณรงค์ ผู้ประสานงาน คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม กล่าวถึงแผน PDP ฉบับนี้ว่า ที่อ้างถึงการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้าเมื่อเทียบกับแผนเดิมนั้น ยังห่างไกลจากการวางแผนพลังงานเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริงมาก จากเอกสารที่ประชาชนเข้าถึงได้ ดูเหมือนว่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงจะมาจากการปรับลดค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าให้เป็นจริงมากขึ้น (คือลดลง) ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว แต่ในทางกลับกันยังมีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นจำนวนมาก รวมทั้งการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไทยเข้าไปร่วมลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน และก็ไม่ทิ้งการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มด้วย

“แม้จะมีข้อดีที่มีการนำแผนอนุรักษ์พลังงานมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ยังมีคำถามว่าแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนนั้นได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่หรือยัง เพราะผู้สนใจผลิตพลังงานหมุนเวียนหลายรายยังไม่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบสายส่งเพื่อขายไฟได้ ด้วยติดทั้งข้อจำกัดทางเทคนิคและระบบโควต้าพลังงานแสงอาทิตย์ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งหากตั้งใจส่งเสริมกันอย่างเป็นระบบและเปิดเสรี ไม่มีโควต้า จะลดจำนวนโรงไฟฟ้าที่ต้องสร้างเพิ่มใหม่ได้อีกจำนวนมาก” ฝ้ายคำระบุ

ฝ้ายคำ กล่าวด้วยว่า การไม่เปิดเผยร่างแผน PDP ถือเป็นการกีดกันประชาชนในการมีส่วนร่วมวางแผนนโยบายพลังงานอย่างสร้างสรรค์และเป็นรูปธรรม ซึ่งก็เป็นปัญหาของการวางแผน PDP เพื่อตอบโจทย์คนต้องการสร้างโรงไฟฟ้าและเขื่อนตลอดมา แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ระบบปัจจุบันซึ่งมีแนวโน้มว่าผู้กำหนดนโยบายไม่จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชน และเสียงคัดค้านจะถูกกดให้เงียบไว้

“เมื่อพิจารณาแล้วว่ากำลังผลิตสำรองในประเทศยังมีอยู่เพียงพอโดยเฉพาะช่วง 10 ปีข้างหน้า จึงไม่จำเป็นต้องเร่งรัดผ่านแผน PDP ที่จะกลายเป็นภาระผูกพันคนทั้งประเทศด้วยกระบวนการที่ไม่โปร่งใส-ขาดการมีส่วนร่วม จนกว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะที่ผ่านมาแผน PDP ซึ่งควรจะเป็นแผนระยะยาว ก็มีการเปลี่ยนทุก 2-3 ปีอยู่แล้ว” ฝ้ายคำระบุ

ทั้งนี้ หลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ให้ความเห็นชอบแล้ว แผน PDP2015 จะต้องผ่านการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีก่อน จึงจะมีผลบังคับใช้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ