พลังงานกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ คำสัญญาที่ยังคงล้มเหลว

พลังงานกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ คำสัญญาที่ยังคงล้มเหลว

นักวิจัยของกรีนพีช เผยภาพรวมประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ยังล้มเหลวในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พบปี 2565 มีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินสูงสุดเป็นประวัติการณ์

สัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน (MAEW – Mekong-ASEAN Environmental Week) เมื่อวันที่ 22-24 กันยายน เวทีเสวนา “พลังงานกับวิกฤตสภาพอากาศ: คำสัญญาที่ยังคงล้มเหลว” ร่วมจัดโดยเครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว และกรีนพีซ ประเทศไทย ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน เชิงสะพานหัวช้าง กรุงเทพฯ

การพูดคุยถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างพลังงาน และวิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ แดเนียล เฮย์วาร์ด (Daniel Hayward) ผู้ประสานงานเวทีงานวิจัยเรื่องที่ดิน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้วิจัยประเด็นถ่านหินของกรีนพีซ ประเทศไทย ดร. คาร์ล มิดเดิลตัน (Carl Middleton) Center for Social Development Studies (CSDS) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ดำเนินรายการโดย แกรี่ ลี (Gary Lee) องค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers)

แดเนียล เฮย์วาร์ด ผู้ประสานงานเวทีงานวิจัยเรื่องที่ดิน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้วิจัยประเด็นถ่านหินของกรีนพีซประเทศไทย เปิดเผยประเด็นสำคัญจากรายงาน “หมดยุคคาร์บอน ?: โอกาสการปลดระวางถ่านหินในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” (Carbon Dated? The Prospects for an Exit from Coal in the Mekong Region) ว่า ภาพรวมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงโควิดที่ผ่านมา ล้มเหลวในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการสร้างกลับมาให้ดีกว่าเดิม และเมื่อพิจารณาถึงระบบพลังงานและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินอาจไปถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565

แดเนียล เฮย์วาร์ด ผู้ประสานงานเวทีงานวิจัยเรื่องที่ดิน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และผู้วิจัยประเด็นถ่านหินของกรีนพีซประเทศไทย 

“เรากำลังอยู่ในภาวะวิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การสร้างเขื่อนเพื่อการผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น เราจะต้องมองหาทางเลือกอื่น ๆ เพื่อที่จะบรรเทาวิกฤตของปัญหานี้ได้” แดเนียล กล่าว

แดเนียล เล่าถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่ามี 3 ส่วนหลัก ๆ คือ 1) พัฒนาการในการเปลี่ยนผ่านพลังงานในภูมิภาคแม่น้ำโขง และความคืบหน้าล่าสุดของความมุ่งมั่นที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นผลมาจากการประชุม COP26 เมื่อปีที่แล้ว โดยดูจากการมีส่วนร่วมของประเทศต่าง ๆ ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งแต่ละประเทศกำหนดเอง และศักยภาพที่จะเปลี่ยนผ่านแหล่งพลังงาน

2) การใช้พลังงานจากถ่านหินของประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม มีจุดยืนอยู่ตรงไหน ทั้งการผลิตและการบริโภคไฟฟ้าที่มาจากถ่านหิน และ 3) รายละเอียดเรื่องพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งการผลิต การบริโภค ของประเทศไทยและนอกประเทศ

จากการวิจัยครั้งนี้ สรุปได้ว่า 1.ความก้าวหน้าหลังการประชุม COP26 ของประเทศภูมิภาคแม่น้ำโขงที่ได้ลงนามความร่วมมือไว้ พบว่าภาพรวมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ล้มเหลวในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการสร้างกลับมาให้ดีกว่าเดิม และเมื่อพิจารณาถึงระบบพลังงานและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ พบว่าการปล่อยคาร์บอนไม่ต่างจากก่อนมีโควิด -19 แต่กลับมีการฟื้นตัวของการค้าถ่านหิน และการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินมากขึ้น จนอาจสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565

2.สถานการณ์ล่าสุดของอุตสาหกรรมถ่านหิน ในฐานะความท้าทายของปฏิบัติการระดับโลกว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของกลุ่มประเทศแม่ลุ่มน้ำโขง 5 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม มีข้อสรุปว่า แม้มีโอกาสที่จะปลดระวางถ่านหิน แต่อาจไม่เกิดขึ้นในทันที แต่เรามีองค์ความรู้ ประสบการณ์ของแต่ละประเทศ และแบบจำลองการผลิตไฟฟ้าที่ทำให้บรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานที่ลดการปล่อยคาร์บอน อีกทั้งการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานนี้จะสร้างผลประโยชน์ ทั้งในด้านผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน

“การมีส่วนร่วมของแต่ละประเทศที่ผ่านมา โดยเป้าร่วมกันคือ ลดจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2015 ปรากฏว่าประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ไม่ได้มีความคืบหน้า เช่น ไทยและเวียดนามไม่มีมีความคืบหน้าเลย ซึ่งนั้นเท่ากับว่าอยู่ในขั้นวิกฤต และสรุปได้ว่าประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขงมีความมุ่งมั่นและแนวทางการแก้ไขปัญหาไม่เพียงพอ” แดเนียล ระบุ

นอกจากนั้น ในวงเสวนายังได้พูดคุยถึงข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดสำหรับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คือ ให้พิจารณาถึงทางเลือกของพลังงานหมุนเวียนแทนที่พลังงานฟอสซิล และขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม วิจัยของ แดเนียล ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ การนำเสนอดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการรายงานความคืบหน้าของการวิจัยประเด็นถ่านหินในประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเท่านั้น

ดร. คาร์ล มิดเดิลตัน ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้าน ดร. คาร์ล มิดเดิลตัน ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การผลักดันการสร้างเขื่อนพลังงานน้ำ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ​นั้น ไม่ใช่เรื่องจริง และภูมิภาคแม่น้ำโขงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งที่แม่น้ำแม่โขงเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนกว่า 10 ล้านคน ทั้งในเรื่องการประมง วัฒนธรรม หรือว่าการเพาะปลูกการเกษตรต่าง ๆ ซึ่งการที่จะมีแม่น้ำไหลได้อย่างอิสระ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเป็นอยู่ของผู้คนในภูมิภาคนี้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตระหนักว่า ไม่ใช่เฉพาะแม่น้ำโขงเท่านั้น แต่ยังมีแม่น้ำสายอื่นด้วยที่มีความสัมพันธ์กันในแง่ของการเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพและแหล่งผลิตอาหาร

สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญและต้องตระหนัก คือ เวลาที่สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เราอาจจะบอกได้ว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างร่วมกันระหว่างเอกชนและภาครัฐ โดยมีการกำกับดูแล แต่ปัจจุบันนี้เขื่อนต่าง ๆ ถูกสร้างโดยภาคเอกชนล้วน ๆ เท่ากับว่ามีการเปลี่ยนแปลงด้านหลักการบริหาร ดังนั้น แทนที่น้ำจะเป็นสินค้าของสาธารณะที่ทุกคนจะต้องใช้ด้วยกัน แต่ตอนนี้กลายเป็นสินค้าที่บริษัทต่าง ๆ จะนำไปปั่นไฟ เพื่อนำไปขายอย่างเดียว สิ่งนี้มันทำให้สถานการณ์มีความซับซ้อนมากขึ้น” ดร. คาร์ล กล่าว 

000

คลิกฟังงานเสวนาย้อนหลัง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ