4 มหาวิทยาลัยร่วมพลิกโฉม สร้างเครือข่ายเพื่อการวิจัย เป็นการร่วมมือระหว่าง 4 สถาบันการศึกษาในประเทศไทย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อร่วมกันพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์ความท้าทายของชุมชน สังคม และประเทศชาติ ด้วยยุทธศาสตร์เชิงรุก ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นการสร้างเครือข่ายงานวิจัย เชื่อมโยงมหาวิทยาลัย 3 กลุ่ม ได้แก่ มหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 1 มหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 2 และ มหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 3 ขับเคลื่อนความแข็งแกร่งของงานวิจัยเชิงพื้นที่ให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ ผสานภาคีเครือข่ายจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore)
มหาวิทยาลัยพะเยา โดยศาสตราจารย์ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี และนายธวรรท วิวัฒนากิจ ตัวแทนผู้ประกอบการ Magic Mountain ของจังหวัดพะเยา เข้าร่วมประชุมวิชาการ: พลิกโฉมมหาวิทยาลัย แพลตฟอร์มวิจัยเครือข่าย Reinventing University by Research Network Platform) เมื่อวันที่ 27 – 28 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องการเปิดพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงนักวิจัยจุฬาฯ กับ 3 มหาวิทยาลัยในภูมิภาคที่มีจุดสนใจเหมือนกันมารวมตัวกันเพื่อตอบโจทย์ที่สำคัญของภูมิภาคและประเทศ โดยงานวิจัยจะเน้นไปในด้านการแก้ปัญหาสังคมเป็นหลัก โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาดำเนินการด้วย “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เชื่อมประสานแพลตฟอร์มวิจัยเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง 4 มหาวิทยาลัยเพื่อความเข้มแข็งทางวิชาการ สร้างประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมร่วมกัน จนกระทั่งสามารถรวมกันเป็นเครือข่ายที่มีแนวทางการดำเนินงานชัดเจน นำร่องรูปแบบของแพลตฟอร์มวิจัยที่สามารถขยายได้ทั้งกลุ่มนักวิจัยร่วมในประเทศและต่างประเทศ เป้าหมายของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาคน และคนไปพัฒนาพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยความรู้จากหลากหลายมุมมองที่แตกต่าง และมีความเข้าใจในปัญหาอย่างแท้จริง ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ สนับสนุนให้นำความรู้มาใช้ร่วมกันให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ คน และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล
ภายในงานมีการบรรยายพิเศษเรื่อง “ภาพรวมโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย” การเสวนา “Bangsaen 80th Anniversary: Creative City and Municipality” การเสวนา “University-Urban Design and Development” และการเสวนา “Creative Tourism เส้นทางท่องเที่ยวยอด – ภูลังกา” โดยได้นักวิจัยจากทั้ง 4 มหาวิทยาลัย ผู้นำท้องถิ่น และผู้ประกอบการ จากทั้ง 4 พื้นที่ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการขับเคลื่อนงานวิชาการสู่การแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวและปัญหาการพัฒนาเมืองร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อให้ชุมชนได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน