“ความฝัน-ความจริง” อาชีพหมอ ผู้เสียสละของสังคม

“ความฝัน-ความจริง” อาชีพหมอ ผู้เสียสละของสังคม

ปัญหาหมอลาออกถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกระดับชั้น จากปัญหาทั้งภาระงานที่มากเกินความจำเป็น ระบบวัฒนธรรมองค์กรหรือแม้แต่สวัสดิการภายในโรงพยาบาลของรัฐที่มีแนวโน้มการเข้ารับบริการที่สูงขึ้น อยากให้ทุกคนร่วมกันมองภาพของ “ความฝัน-ความจริง” ของ “หมอ” ในสายตาของผู้คนที่แตกต่างว่ามีความเห็นอย่างไรบ้าง

000

กิติมา เพียงฤทัยโรจน์ พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง

ส่อง “หมอ” ผ่านเเว่นตาความทรงจำคนทั่วไป

“เวลาไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งจะต้องเจอกับคนที่เยอะมากและขั้นตอนซับซ้อน อีกทั้งจำนวนหมอที่น้อยทำให้ต้องมารอหมอก่อนเวลานาน”

กิติมา เพียงฤทัยโรจน์ พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง

กิตติมา เล่าถึงประสบการณ์ที่ต้องสำรองเวลาเพื่อไปพบหมอ บางครั้งถ้าไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยมากจะได้พบหมอยากขึ้นเพราะหมอต้องไปดูเคสที่ป่วยกว่า ในเรื่องของการทำงานตนเข้าใจถึงชีวิตส่วนตัวของหมอที่ต้องมีเวลาส่วนตัวแต่ด้วยหน้าที่ก็ต้องให้เวลากับการรักษาและดูแลผู้ป่วย

แต่ละครั้งที่ไปพบหมอจะเป็นในช่วงที่มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น อาการปวดอย่างหนัก หมอบางคนอาจคิดว่าเป็นอาการป่วยเล็กน้อยแต่สำหรับบางคนเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องพบหมอ บางครั้งก็มีการวินิจฉัยผิดพลาดทำให้ต้องมาพบหมอซ้ำซ้อนไปอีก สิทธิ 30 บาทกับประกันสังคมยิ่งทำให้การพบหมอยากขึ้นไปอีก คิดว่าหากถ้าเราจ่ายเงินเยอะอาจทำให้สามารถเข้าถึงหมอได้เร็วกว่าหรือไม่?

เคลย์ นัทธวุฒิ หลีหมาน นักวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง

จากอีกมุมกับเคลย์ เล่าว่ารู้สึกโอเคแม้ว่ามีเวลาพบหมอมีจำกัดแต่ก็เข้าใจถึงการรักษา ที่รู้สึกว่าเวลาจำกัดเพราะอาจเป็นความคาดหวังของเราที่ต้องการเวลามากขึ้นแต่ภาพรวมถือว่าโอเคในการรักษา การเข้าถึงหมอโรงพยาบาลรัฐยากกว่าเอกชนแต่ก็รู้สึกโอเคจากประสบการณ์ที่เจอทั้งสองที่ 

” สิ่งที่พบเห็นคือหมอจบใหม่ทำงานหนัก จากจำนวนหมอที่มีจำกัดแต่คนไข้เยอะ เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของมนุษย์ ทุกคนที่ไปโรงพยาบาลทุกคนคาดหวังการบริการและการรักษาที่พอใจกับตัวเอง อาชีพแพทย์ไม่เพียงแต่ดูแลในการรักษาต้องดูแลเรื่องบริการต่อคนไข้อีกด้วย “

เคลย์ นัทธวุฒิ นักวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง

สิ่งที่แตกต่างการพบหมอของรัฐและเอกชนแตกต่างตรงระบบการจัดคิวและการจัดการโรงพยาบาลเอกชนจัดการได้ดีกว่า ความรู้สึกต่อหมออินเทิร์นส่วนใหญ่จะเจอในส่วนของห้องฉุกเฉินกลางคืน การดูแลผู้ป่วยก็ไม่ได้แตกต่างกับหมอเฉพาะทาง 

000

หมอลาออกร้าวสะเทือนถึงการใช้ชีวิต

กระแสหมอลาออกที่สังคมกำลังตั้งคำถาม เคลย์มองถึงเรื่องนี้ว่า ส่วนตัวในฐานะนักศึกษาจบใหม่และคนเพิ่งเริ่มทำงานเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องมองทั้งสองฝั่ง ฝั่งในเชิงระบบถ้ามีการลาออกแบบนี้ยิ่งทำให้หมอไม่เพียงพอทำให้หมอที่ยังอยู่ในระบบทำงานหนักขึ้น ระบบก็จะยิ่งพังเป็นโดมิโน่ไปเรื่อยๆ ฝั่งของคนจบใหม่ปัจจุบันทุกคนต้องการความสบายและชีวิตที่ลงตัว ทำงานเรียนจบมาเหนื่อยแทบตายแต่ไร้ความสุขในชีวิตใครจะทน เชื่อว่าความสามารถในระดับคนที่เป็นหมอสามารถทำอะไรหลายอย่างได้มากกว่านี้ คงไม่จำเป็นต้องมาทน 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนคือคุณภาพการรักษาจะลดลง มีข่าวต่างประเทศเรื่องหมอตัดสินใจพลาดในการรักษาจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ส่วนตัวมองว่าหมอก็เหมือนนักบินหากชั่วโมงการทำงานเยอะเกินไปการตัดสินใจจะผิดพลาดง่ายขึ้น สิ่งนี้สำคัญเพราะนี้คือชีวิตคน เพราะฉะนั้นควรมีการจำกัดชั่วโมงการทำงานของหมอ

คล้ายกับกิตติมาที่บอกว่า ในแต่ละวันมีผู้คนเข้ามารับการรักษาเป็นจำนวนมาก มีอาการนิดหน่อยก็มาหาหมอแล้ว สาเหตุการลาออกอาจมาจากทนไม่ไหวที่รับผิดชอบภาระที่มากเกินไปจากผู้ป่วยที่เยอะมาก คนเราต้องมีความรู้สึกบางแต่หมอก็เป็นคนย่อมต้องมีความรู้สึก ในฐานะของผู้ป่วยก็เข้าใจเหมือนกันถ้าหมอลาออกแล้วประชาชนจะไปรับการรักษาจากใคร? ไม่งั้นถ้าหมอพบเจอผู้ป่วยแต่ละวันแล้วรู้สึกท้ออาจไปทำอาชีพอย่างอื่นไม่ดีกว่าและประชาชนก็ซื้อยาหาสมุนไพรรักษาตามอาการดีกว่า

000

“หมอ” ส่อง “หมอ” จากภาพความหวังและความฝัน

ฆฤณ ปรีชาชัยสุรัตน์ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่สามแห่งหนึ่ง

ฆฤณเห็นภาพจำนักศึกษาแพทย์สมัยเรียนประถมและมัธยมเรียน เห็นนักศึกษาแพทย์สามารถใช้ชีวิตได้ธรรมดาไม่ได้รู้สึกดูกดดันอะไร ดูยิ้มๆกอดหนังสือและไอแพด พูดคุยกับเพื่อนสนุกสนานของบรรดานักศึกษาแพทย์จุฬาและศิริราช

เมื่อได้มาพบกับชีวิตนักศึกษาแพทย์จริงๆ เวลาสอบจริงยากกว่าที่เห็น (ความเห็นส่วนตัว) เพราะบางคนเส้นทางนี้อาจเป็นทางที่ใช่ บรรยากาศเครียดกว่าที่เคยนึกไว้แม้ว่าจะมีกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยผ่อนคลายแล้วก็ตาม แค่ปีหนึ่งเทอมแรกต้องเรียนและทำความเข้าใจกับเนื้อหาอย่างหนัก

” บางคนที่เคยเรียนห้องพิเศษได้เกรดสูงเมื่อมาเรียนในคณะแพทย์เกรดลดลงเพราะต้องมาปรับตัวกับการเรียนใหม่ที่ต่างจากตอนมัธยมมาก หากใครที่มีสภาวะ PTSD หรือสภาวะเครียดหลังพบเหตุสะเทือนใจอาจยิ่งทำให้เกลียดการเรียนแพทย์มากขึ้น “

ฆฤณ ปรีชาชัยสุรัตน์ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่สามแห่งหนึ่ง

จากประสบการณ์เคยผ่านการสอบซ่อมหลายครั้ง ตนพยายามจะทำความเข้าใจกับเนื้อหายิ่งเปิดใจแล้วสอบตกยิ่งทำให้เจ็บใจกับตัวเอง ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่หนักมาก ใครที่จะมาเรียนสิ่งที่ต้องยอมรับว่าเวลาร้อยละ 80 ต้องทุ่มเวลาให้กับการเรียนเยอะมากจนแทบจะไม่มีเวลาส่วนตัวเลย ตนเคยไม่ได้นอนเกือบ 72 ชั่วโมงเพื่ออ่านหนังสือเตรียมสอบวิชาภาคบังคับเพราะเนื้อหาที่เยอะมาก ต้องเลือกระหว่างได้นอนแต่ต้องสอบตกกับไม่นอนแต่มีโอกาสผ่านมากกว่า

ชุตินาถ ชินอุดมพร สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน

ชุตินาถเล่าถึงความฝันอยากเป็นหมอเริ่มมาจากอยากมีความมั่นคงทางการเงินที่ให้ครอบครัวไม่ต้องกังวลเรื่องการเงินในทุกเดือน ก่อนจะมาเป็นหมอเห็นภาพจำมาจากซีรีส์หมอในต่างประเทศจากเรื่อง House M.D. ที่คอยค้นหาความจริงและมีความเป็นนักสืบที่คอยแก้ไขปัญหา นี่คือภาพฝันของหมอก่อนเข้าเรียน เมื่อได้เรียน 6 ปีในฐานะนักศึกษาแพทย์รู้สึกสนุกที่ได้เรียนรู้ไขปริศนาคนไข้ เมื่อพบกับความจริงทำให้ได้รู้ว่าคนไข้แต่ละคนได้เห็นถึงพื้นหลังความเจ็บปวดของคนไข้แต่ละคน เรารู้สึกว่าไม่ได้เป็นภาพแบบในหนังที่ดูมา ความสนุกบางทีมันก็มีแต่ความสวยของเคสคือความเศร้าของคนไข้ 

000

PRE-POST Intern

ฆฤณมองภาพอนาคตของตนเองในฐานะว่าที่หมออินเทิร์น ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบปัจจุบันขอไม่ใช้ทุนยอมจ่ายเงินแล้วจบอย่างน้อย 3 ปีไม่เหนื่อย จะให้ทำงานแบบหมอปุยเมฆหรือที่ต้องโดนพยาบาลด่า ภาระงานที่หนักมาก 5 วันติดกันโดยไม่ได้พักรวมถึงพยาบาลด้วย ถ้าเจอสภาพแบบนี้ขอยืนยันเลยว่าไม่ทำเด็ดขาดแม้ว่าจะไม่ได้ใบเพิ่มพูนทักษะก็ตาม

การที่จะได้เป็นหมออย่างสมบูรณ์ในช่วงอายุ 30 ปีรู้สึกว่าไม่ใช่ หากอยู่ในระยะยาวคุณอาจมีรายได้และความมั่นคงแต่ขาดอิสระ ซึ่งตนให้ความสำคัญกับอิสระถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ ในทรรศนะของตนมองว่าหากใครสามารถทำให้รายได้ ความมั่นคงและมีอิสระได้ถือว่าเป็นคนประสบความสำเร็จซึ่งปัจจุบันมีทางเลือกหลายทางมากที่จะทำให้สำเร็จได้

“เพื่อนนักศึกษาแพทย์ที่รู้จักหลายคนมีเป้าหมายคือไม่เป็นหมอฉีดหน้าก็หมอโรงพยาบาลเอกชนหรือไปเรียนต่อเฉพาะทางระดับสูงเพราะพวกเขารู้ดีว่านี่คือปัญหาคอขวด สอบเข้าหมอคือจุดเริ่มต้นเท่านั้นครึ่งหนึ่งเท่านั้นได้เรียนต่อในระดับพื้นฐานและไม่ถึงร้อยละ 10 ได้มีโอกาสไปเรียนต่อเฉพาะทางต่างประเทศ ส่วนที่เหลือก็ไปทำงานเป็นหมอฉีดหน้าหรือทำงานโรงพยาบาลต่างจังหวัดคิดว่าคุ้มค่าหรือไม่เพราะทุกกลุ่มเหนื่อยมาเหมือนกัน”

ฆฤณ ปรีชาชัยสุรัตน์ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่สามแห่งหนึ่ง

มุมกลับกันจากชุตินาถที่ผ่านด่านอินเทิร์นมาแล้ว ตนได้ใช้ทุนในโรงเรียนแพทย์ช่วงนั้นจึงไม่หนักแบบโรงพยาบาลต่างจังหวัด ชีวิตการทำงานหนักจริงแล้วเริ่มตั้งแต่ชั้นปีที่ 6 ตอนนั้นโรงเรียนแพทย์ของตนส่งไปฝึกงานที่ศาล มีขนาดห้องไม่ใหญ่แต่ปริมาณเตียงกว่า 70 เตียงซึ่งเยอะเกินภายในห้องมีพยาบาล 6 คนและตนที่เป็นนักศึกษาแพทย์เพียงคนเดียวทำให้จำเป็นต้องเลือกว่าจะช่วยใครก่อน

สถานการณ์กดดันมากไม่ว่าจะช่วยใครได้หรือไม่ได้แต่ก็เกิดความรู้สึกผิดกับคนที่เราไม่ได้รักษาแล้วเสียชีวิตสิ่งที่มากกว่านั้นคือบางครั้งตนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครเสียชีวิตแล้ว ตนเห็นว่าตามจริงนักศึกษาแพทย์ไม่ควรมีสิทธิ์ในการตัดสินใจเอง ในขณะเดียวกันหมออินเทิร์นต้องไปดูหอผู้ป่วยแผนกอื่นที่วิกฤตเหมือนกันทำให้หมอไม่เพียงพอ เพื่อนตนเคยเจอในขณะเป็นนักศึกษาแพทย์ต้องดูแลผู้ป่วยทั้งตึกที่มีอยู่ 7 ชั้นเพื่อนก็ตั้งใจในการดูแลผู้ป่วยแต่ไม่รู้ว่าเขาเสียชีวิตแล้วในขณะนั้นเพื่อนได้ทำอย่างเต็มความสามารถเท่าที่จะทำได้

000

จุดบาดเจ็บในภาระการงานที่มั่นคง

ชุตินาถบอกกับเราว่า การทำงานในแต่ละครั้งเหนื่อยมาก ทุกวันที่เลิกจากงานกลับไปนอนทั้งที่ไม่เคยกินข้าวเลยคิดแค่ว่าอยากไปถึงเตียงให้เร็วที่สุด เดินแบบไม่รู้เลยว่าไปถึงจุดไหน ท้อแท้มากทำงานจนลืมแม้กระทั่งเวลา เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากว่าหมอเป็นคนที่ทำงานใกล้ชิดกับชีวิตมากที่สุดอาชีพนึงแต่ว่าเราโดนลดทอนความเป็นมนุษย์ทำให้ไม่สามารถส่งต่อความเป็นมนุษย์ให้กับคนอื่นได้

เคสที่แย่ที่สุดคือในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดรอบเดลต้ารอบที่หนักที่สุด ซึ่งในตอนนั้นตนเรียนเฉพาะทางด้านอายุรกรรม ดูแลกรณีติดเชื้อโควิด ภาวะปอดติดเชื้อโควิดที่ค่อนข้างหนัก เคสที่อยู่ ICU บางครั้งเราไม่ได้มีศักยภาพเพียงพอที่จะดูแลแต่ก็ต้องทำเพราะความจำเป็นในขณะเดียวกันเพื่อนร่วมงานก็ล้มลงไป มันเป็นจุดที่ต้องเลือกระหว่างพยาบาลที่ทำงานที่ใส่ชุด PPE ทำงานจนเป็นลมหรือผู้ป่วยที่ต้องย้ายไป ICU แทนเตียงที่เสียชีวิตคนอื่นเข้ามาช่วยก็ไม่ได้เพราะชุด PPE ไม่เพียงพอ ทำให้รู้สึกว่าเรียนมาแทบตายแต่ไม่สามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานได้หรือแม้แต่คนไข้ตรงหน้าที่เรารู้สึกว่าเขากำลังจะตาย

“ จุดเจ็บปวดทั้งหมดของระบบสาธารณสุขไทยคือ “อำนาจนิยม” ซึ่งมีมาตั้งแต่ตอนเรียนแพทย์เริ่มจากการแต่งตัว ท่าทาง ลักษณะการพูดและการสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อใจต่อคนไข้ อาจารย์คือคนขีดเส้นให้ทั้งหมด ”

ชุตินาถ ชินอุดมพร สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน

ความรู้จากหนังสือเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นแต่อีกส่วนมาจากอาจารย์แพทย์คือประสบการณ์รักษา หากอาจารย์คนไหนเปิดใจก็สามารถถกเถียงได้แต่บางคนอาจารย์ยุคเก่าตนจะต้องไม่ว่าเขาพูดอะไรเราจะขัดใจเขาไม่ได้ มีการผูกขาดความรู้ส่วนหนึ่งในระดับเฉพาะทางด้วยประสบการณ์ที่มีน้อยกว่าทำให้ต้องไม่ทำอะไรที่เสี่ยงต่อการไม่ได้รับการช่วยเหลือ 

สืบต่อมาจนถึงในการทำงานความจริงจะต้องมีการทำงานเป็นทีมจำเป็นต้องอาศัยวิชาชีพอื่นมาร่วมด้วย ทำให้เพื่อนร่วมงานไม่ได้รับความสำคัญ ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นแพทย์กับพยาบาลทะเลาะกันหรือเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เสียน้ำตา อำนาจนิยมที่ถูกปลูกฝังมาไม่เพียงแต่หมอเท่านั้น พยาบาลก็เช่นเดียวกัน ทำให้เห็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หมอลาออก

000

ไม่ใช่แค่หมอเท่านั้นที่ต้องทุกข์จากระบบ

” ภาคการเมืองและระดับผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขต้องมีการต่อสู้ในปัญหานี้ ซึ่งไม่เพียงแต่หมอเท่านั้นยังรวมไปถึงพยาบาล เภสัช และบุคลากรฝ่ายอื่นๆ ก็ลาออกเช่นเดียวกัน “

โอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสหภาพลูกจ้างแรงงานของรัฐ

โอสถ เล่าถึงปัญหาที่พบคือการทำงานล่วงเวลาวันละ 8 ชั่วโมง 15-27 วันซึ่งถือว่าหนักและแน่นอนว่าการทำงานลักษณะนี้ไม่เพียงแต่หมอเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ

ตนเองที่ได้เรียกร้องสิทธิต่างๆ ก็โดนตั้งกรรมการสอบเพราะว่าอาจทำให้กระทรวงมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีเกิดความเสียหาย ยืนยันว่าสิ่งที่ทำคือการยืนยันข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการแก้ไขและพัฒนาที่ดีขึ้น โดยเฉพาะสายสนับสนุนที่ตนขับเคลื่อนอยู่ซึ่งถูกปิดปากและถูกเลือกปฏิบัติ 

องค์กรสาธารณสุขที่มีบุคลากรจำกัดแต่การใช้บริการมีถึง 18-20% ค่าตอบแทนนอกเวลาที่ได้เพียงแค่ 150 บ./ชม. ของตนได้แค่ 41.5บ./ชม. อีกทั้งการทำงานเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ทำให้มีการทำงานหนักแต่ค่าตอบแทนไม่คุ้มค่าโดยเฉพาะหมอจบใหม่ กลับกันภาคของเอกชนการทำงานนอกเวลาต้องคูณเพิ่ม 1.5 ของเงินเดือนและต้องเกิดจากการตกลงกันทั้งสองฝ่าย

000

ทางออกที่ลงตัวควรจะเป็นแบบไหน

มุมประชาชน

ภาคส่วนของระบบสาธารณสุข เคลย์เสนอต้องเปิดโอกาสเข้าถึงการเรียนแพทย์ให้มากขึ้นว่าปัจจุบันหมอไม่พอต่อการบริการหากมีการเพิ่มโอกาสให้มีบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น

“ เปิดหลักสูตรการเรียนหมอให้เข้าถึงมากขึ้น ให้คนที่สนใจเรียนแพทย์ที่จบปริญญาตรีมีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ เพราะนี่คือการเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าถึงการเป็นหมอกว่าเดิม ”

เคลย์ นัทธวุฒิ นักวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง

ส่วนกิตติมาชี้ว่าประชาชนต้องดูแลสุขภาพให้ดีไม่ว่าจะการกิน การนอน ออกกำลังกาย เพื่อพยายามหลีกเลี่ยงการพบเจอหมอ หากป่วยหนักหรือประสบอุบัติเหตุถึงค่อยพบหมอไม่ใช่เจ็บป่วยเล็กน้อยแล้วไปพบหมอ

มุมบุคลากรทางการแพทย์

ชุติมาเสนอถึงการแก้ปัญหาที่ต้องทำพร้อมกันหลายประเด็นว่าจากสาเหตุที่มีอยู่หลายประเด็นซึ่งมาพร้อมกันทั้งหมดกับสถานการณ์เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โรคระบาดทำให้มีการใช้บริการมากขึ้น

“การแก้ปัญหามองว่าไม่สามารถแก้ไขได้ทางเดียวควรทำได้พร้อมกันและต้องไม่สร้างปัญหาเพิ่มในอนาคต”

ชุตินาถ ชินอุดมพร สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน

ตนอยากปักธงไว้ว่าระบบสาธารณสุขของประเทศไทยก้าวหน้ามาก เราจะต้องพัฒนาระบบที่ไม่ถอยหลังค่าใช้จ่ายไม่เพิ่มขึ้น โจทย์สำคัญคือต้องทำให้ให้คนป่วยน้อยลงและมีสุขภาพดีขึ้น ต้องให้น้ำหนักสองทางไปพร้อมกันทั้งด้านผู้ให้บริการให้บุคลากรอยู่ในระบบ มีความสุข ได้รับค่าตอบแทนที่ดี ในด้านผู้รับบริการมีสุขภาพที่ดีขึ้นเข้าโรงพยาบาลน้อยลง ฉะนั้นกระทรวงสาธารณสุขกระทรวงเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้

ว่าที่หมอฆฤณเสนอต้องดูแลสวัสดิการและค่าตอบแทนของแพทย์ให้ดีเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ กล่าวว่าต้องดูตั้งแต่การต้องไปใช้ทุนที่ต่างจังหวัดให้เขาได้รับสวัสดิการที่ดีหรือยัง ยกตัวอย่างบ้านพักของแพทย์สภาพเก่ามากให้พวกเขาไปอยู่อย่างนั้นได้อย่างไร ต่างประเทศไม่มีกรณีแบบนี้เพราะเขามีการดูแลสวัสดิการที่ดีกว่าเพราะถือว่าหมอคือกำลังรักษาและผู้ต่อชีวิตให้ผู้อื่น โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัดควรได้ค่าตอบแทนเยอะกว่าหมอในตัวเมืองเพราะเขาคือผู้เสียสละอย่างแท้จริงคนกลุ่มนี้ควรได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการซึ่งอย่างยิ่ง ปัจจุบันทำงานมา 30-40 ปีได้รับแค่โล่เกียรติคุณแค่นี้หรือ 

มุมนักเคลื่อนไหวแรงงาน

โอสถให้ความเห็นว่าบุคลากรสาธารณสุขควรเป็นหนึ่งในแรงงานเช่นเดียวกับภาคเอกชน เพราะในต่างประเทศมีการก่อตั้งสหภาพแรงงานทุกอาชีพตามอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ประเทศไทยเข้าร่วมแต่ไม่มีการรับรอง น่าแปลกตรงที่ว่ามีการเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองตามอนุสัญญา ILO 87 และ 98 อยู่ตลอดทุกปี หมอเองสามารถออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิตามที่ควรได้รับให้สมกับการเล่าเรียนที่สะสมมาอย่างหนัก 

000

เปลี่ยนจาก “จุดเจ็บปวด” ให้เป็น “โอกาส” โดยว่าที่รัฐบาลใหม่

นพ.ภูมินทร์ ลีธีรประเสริฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย

ภูมินทร์ เล่าว่ามีการแก้ปัญหาว่าหลักๆ คือการปฏิรูปปรับโครงสร้างองค์กร เน้นให้เกิดการกระจายอำนาจให้มากที่สุดอาจต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร ในกรณีหมอลาออกเรื่องเร่งด่วนต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาเฉพาะจุด สิ่งหนึ่งที่ทำได้ไวและลดปัญหาภาระงานคือการใช้ Telemedicine สามารถจัดหาดำเนินการได้เร็วสามารถลดปัญหาตรงนี้ได้ เรื่องเพิ่มค่าตอบแทนต้องนำเข้าไปพูดคุย วัฒนธรรมองค์กรหรือความไม่พร้อมต้องไปดูกันอีกที สิ่งที่แก้ได้ไวคือการลดภาระงานและเพิ่มรายได้ การเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ให้มากขึ้นให้การยึดโยงกับพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจในพื้นที่และเพิ่มโอกาสที่สวยงามของพื้นที่และผู้คนที่จะได้เติบโตเป็นบุคลากรต่อไป

สำหรับคุณแล้วอาชีพ “หมอ” ในฐานะผู้เสียสละจากความคาดหวังของสังคมคิดเห็นยังไง? ร่วมติดตามการแลกเปลี่ยนและเลือกฉากทัศน์อนาคตหมอได้ผ่านการถ่ายทอดสดย้อนหลัง รายการฟังเสียงประเทศไทยตอนอาชีพแพทย์จุดเจ็บปวดของระบบสาธารณสุขไทยได้ที่นี่

000

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ