ฟังเสียงประเทศไทย | ทุ่งกุลาร้องไห้ นครหลวงข้าวหอมมะลิ

ฟังเสียงประเทศไทย | ทุ่งกุลาร้องไห้ นครหลวงข้าวหอมมะลิ

เรียบเรียง : ธันวา ศรีสุภาพ

ฟังเสียงประเทศไทย ยังคงออกเดินทางในทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมรับฟังเสียงของผู้คนด้วยหัวใจที่เปิดรับ เพื่อให้มีข้อมูลที่รอบด้านและหวังจะร่วมหาทางออกจากโจทย์ความท้าทายของผู้คนในแต่ละพื้นที่

รายการฟังเสียงประเทศไทย Next normal พาออกเดินทางต่อที่ภาคอีสาน ทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็น 1 ใน 5 จังหวัดที่อยู่ในบริเวณทุ่งกุลา บนพื้นที่กว่าร้อยละ 46  คือ แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ GI ทุ่งกุลาร้องไห้หนึ่งเดียวของโลกที่วันนี้กำลังเผชิญกับข้อท้าทายสำคัญ

แต่จากความเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ หรือ Climate change, วิถีเกษตรกรรม, แรงงาน, การใช้ประโยชน์ที่ดิน  และภัยธรรมชาติ ที่อาจส่งผลต่อเอกลักษณ์สำคัญของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ที่มีความหอม มีเมล็ดเรียวงาม อันเป็นผลมาจากดินที่มีลักษณะเป็นดินทราย มีความเค็มที่พอเหมาะเพราะมีธาตุโซเดียมและซิลิก้า บวกกับแสงแดดที่เหมาะสม และกระบวนการผลิต เพื่อให้ทุกคนได้ฟังกันอย่างใคร่ครวญ ได้ไตร่ตรอง ฟังโดยไม่ตัดสิน และชวนรับฟัง แลกเปลี่ยนและเว้าจา โสเหล่ ถึงภาพอนาคตทุ่งกุลา นครหลวงข้าวหอมมะลิกับเศรษฐกิจการเกษตรให้ทุกคนเดินไปพร้อม ๆ กัน เพื่อร่วมหาทางออก ผ่านการจัดวงคุยภายใต้แนวคิด  Citizen Dialogues ประชาชนสนทนา

เราเชื่อว่าการเดินทางทุกครั้งหัวใจของการมาเจอคือได้มา “ฟัง” แลกเปลี่ยนข้อมูล ได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ หรือได้เติมข้อมูลให้กัน และนำมาคิดไปข้างหน้า เพื่อร่วมออกแบบภาพอนาคต โอกาสและข้อท้าทายมาเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากขึ้น รายการยังมีข้อมูลพื้นฐาน โอกาสและข้อท้าทาย เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ภาพรวมเพิ่มมากขึ้น

-ทุ่งกุลาร้องไห้-

จังหวัดร้อยเอ็ดมีพื้นที่ในทุ่งกุลาร้องไห้ถึงร้อยละ 46 ของพื้นที่ทุ่งกุลาทั้งหมด 2,107,690 ไร่ ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด 986,807 ไร่ สุรินทร์ 575,993 ไร่ ศรีสะเกษ 287,000 ไร่ มหาสารคาม 193,890 ไร่ และ ยโสธร 64,000 ไร่

เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งมีการปรับปรุงและรับรองพันธุ์ในปี 2502 ในชื่อ “ขาวดอกมะลิ 105” ปลูกแพร่หลายในปี 2524 ต่อมากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2550

-เอกลักษณ์สําคัญของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา-

ได้แก่ ความหอม ซึ่งมีผลมาจากดินที่มีลักษณะเป็นดินทราย และมีความเค็มที่พอเหมาะกับข้าวพันธุ์นี้ เมล็ดเรียวงาม มีน้ำและแสงแดดเหมาะสม ในดินมีธาตุโซเดียมและซิลิก้า มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ

-จังหวัดร้อยเอ็ด-

มีพื้นที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล มีพื้นที่รับน้ำฝนทั้งสิ้น 5,187,156 ไร่ มีแม่น้ำสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำชี แม่น้ำยัง แม่น้ำมูล ลำน้ำเสียว และลำน้ำเตา

-ด้านอุตสาหกรรม

ร้อยเอ็ดมีโรงงานอุตสาหกรรม รวม 425 โรงงาน โดย 5 ลำดับแรก จำแนกตามประเภทอุตสาหกรรม 21 หมวด คือ

  • ผลิตภัณฑ์จากพืช 69 โรงงาน
  • ผลิตภัณฑ์อโลหะ 67 โรงงาน
  • การผลิตอื่น ๆ 67 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมอาหาร 66 โรงงาน
  • แปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ 45 โรงงาน

ที่มา: สํานักงานอุตสาหกรรมจังหวัดร้อยเอ็ด 2565

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปีงบการเงิน 2564 ระบุว่า โรงสีข้าวในภาคอีสานมีความสามารถในการผลิตข้าวได้อย่างมีคุณภาพ เช่น การเลือกใช้ข้าวพันธุ์ดี การควบคุมกระบวนการผลิต การบรรจุภัณฑ์ และการตรวจสอบคุณภาพข้าว ซึ่งทำให้โรงสีข้าวเป็นที่นิยมในการทำธุรกิจและรับซื้อข้าว โดย 5 อันดับจังหวัดที่มีรายได้รวมของโรงสีข้าวมากที่สุด

อันดับที่ 1 ร้อยเอ็ด มีรายได้รวม 7,822 ล้านบาท

อันดับที่ 2 สุรินทร์ มีรายได้รวม 7,520 ล้านบาท

อันดับที่ 3 ศรีสะเกษ มีรายได้รวม 6,525 ล้านบาท

อันดับที่ 4 ขอนแก่น มีรายได้รวม 5,474 ล้านบาท

อันดับที่ 5 อุบลราชธานี มีรายได้รวม 5,231 ล้านบาท

ที่มา : ISAN Insight & Outlook

– ด้านแรงงาน-

ร้อยเอ็ดมีประชากรที่อายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 856,320 คน เป็นผู้อยู่ในกําลังแรงงาน 585,309 คน  ผู้มีงานทำ 553,930 คน คิดเป็นร้อยละ 94.63 และผู้ว่างงาน 1,108 คน โดยส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตรกรรม

มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินในภาคเกษตร ร้อยละ 71.38  (3,702,354 ไร่) 

ป่าไม้ ร้อยละ 4.15  (215,454 ไร่) และนอกภาคเกษตร ร้อยละ 24.47 (1,269,349 ไร่)

ที่มา: สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2563

โดยข้อมูลความเหมาะสมของพื้นที่ ปี 2565/2566 จากสถานีพัฒนาที่ดินร้อยเอ็ด ระบุ สูงสุดสำหรับข้าว 3,340,185.8  ไร่ รองลงมา คือ อ้อย 208,645.64 ไร่, มันสำปะหลัง 111,162.45 ไร่ และ ยางพารา 95,110.29  ไร่ ซึ่งในปี 2564/2565 ร้อยเอ็ดมีครัวเรือนเกษตรกร 298,307 ครัวเรือน  ปลูกข้าวนาปี ข้าวเจ้าและข้าวเหนียว รวมพื้นที่เก็บเกี่ยว กว่าสามล้านไร่ ได้ผลผลิตกว่าหนึ่งล้านสองแสนตัน รวมมูลค่า 10,997.05 ล้านบาท

ที่มา : สํานักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด

มีจำนวนเกษตรกรได้รับรองสินค้า GI และรายชื่อผู้ประกอบการแปรรูปข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ผ่านมาตามมาตรฐานสากล External control ประจำปีการเพาะปลูก 2563/64 รวม 1,132 ราย 1,624 แปลง รวม 20,315.50 ไร่


พื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดร้อยเอ็ด แบ่งออกเป็น 6 รูปแบบ คือ
1. เกษตรอินทรีย์          432,554.25 ไร่
2. เกษตรธรรมชาติ        317,411 ไร่
3. เกษตรผสมผสาน       35,924 ไร่
4. เกษตรทฤษฎีใหม่       22,451.75
5. วนเกษตร               2,815 ไร่
6. และ อื่น ๆ              242,260 ไร่

-โอกาส

โอกาสจากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมด้านการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด
1.นโยบายส่งเสริมพัฒนาข้าวหอมมะลิและสินค้าเกษตร
2.ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ขึ้นทะเบียน (GI)
3.ความต้องการอาหารคุณภาพสูงของสังคมโลก
4.นโยบายด้านอาหารปลอดภัย
5.นโยบายเส้นทางรถไฟรางคู่ (บ้านไผ่-นครพนม)
6.สถานการณ์แรงงานคืนถิ่น
7.นโยบายจังหวัดในการสร้างแบรนด์ข้าว
8.นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร

-ภัยคุกคาม

1.ปัญหาโรคอุบัติใหม่และภัยพิบัติน้ำแล้ง-น้ำท่วม
2.เศรษฐกิจโลผันผวน สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ
3.แรงงานและต้นทุนการผลิตสูง
4.เทคโนโลยี เครื่องจักรการเกษตรมีราคาสูง
5.สัดส่วนแรงงานแนวโน้มลดลง  เข้าสู่สังคมสูงวัย
6.ชุมชนเมืองขยายตัว พื้นที่เกษตรมีแนวโน้มลดลง
7.คู่แข่งตลาดข้าวหอมมะลิในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น
8.ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากโควิด-19

ฉากทัศน์ A : ทุ่งกุลากับชาวนาผู้ประกอบการ

ชาวนาทุ่งกุลาวางแผนรอบการผลิตเพาะปลูกข้าวนาปีตามฤดูกาล และยกระดับเป็นผู้ประกอบการ จำหน่ายข้าวจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการตลาดโดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการสร้างฐานตลาดเกษตรอินทรีย์ในประเทศและยกระดับสินค้าสู่มาตรการสากล มีระบบตรวจสอบย้อนกลับตามใบอนุญาตรับรอง ซึ่งต้องมีความร่วมมือและการลงทุน การผลิต ลานตากข้าว โรงสี บรรจุภัณฑ์ โกดังสินค้า และการขนส่ง จากบริษัทเอกชน หน่วยงาน และภาควิชาการในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถทะลุข้อจำกัด ระบบชลประทาน การผลิตที่ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าทุกมิติ ให้สามารถเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นไปตามวิถีดั้งเดิม เน้นการทำเกษตรที่ยั่งยืน แต่ด้านการตลาดยังมีการแข่งขันสูงเนื่องจากสัดส่วนผู้ครองตลาดข้าวรายใหญ่มีจำนวนมาก

ฉากทัศน์ B : ทุ่งกุลากับเศรษฐกิจการเกษตรแปรรูปข้าว

ชาวนาทุ่งกุลาวางแผนรอบการผลิตเพาะปลูกข้าวนาปีตามฤดูกาล และยกระดับแปรรูปสินค้าจากผลผลิตข้าวหอมมะลิ GI สู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีเอกลักษณ์ และมูลค่าสูง เช่น เครื่องสำอาง สุราก้าวหน้า เป็นต้น เพิ่มเติมจากการผลิตและแปรรูปข้าวเพื่อการบริโภคในมื้ออาหาร โดยเน้นตลาดเฉพาะกลุ่มทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางการตลาด จากผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่และยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มเติม ทั้ง เงินทุน การตลาด ความรู้จากภาควิชาการ เทคโนโลยีการผลิตและแปรรูป  ซึ่งอาจมีผลต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ต้องปรับเปลี่ยนจากเกษตรดั้งเดิม สู่พื้นที่เกษตรอุตสาหกรรม เน้นการผลิตได้ปริมาณมากคุณภาพสูง ควบคู่กับแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกข้าวที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม-น้ำแล้ง

ฉากทัศน์ C : ทุ่งกุลากับอุตสาหกรรมเกษตร BCG

ชาวนาทุ่งกุลาเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรที่หลากหลายและปริมาณสูง ทั้ง ข้าวนาปี พืชเศรษฐกิจโรงงาน เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ตามระบบอุตสาหกรรมการเกษตร ราคาผลผลิตอาจเป็นไปตามกลไกตลาด เกษตรกรมีอำนาจต่อรองไม่มาก ต้องมีความร่วมมือสนับสนุนต้นทุนในการผลิตร่วมกับภาคเอกชน และรัฐบาล ทั้ง แรงงานภาคเกษตร เครื่องจักรกล เทคโนโลยี และระบบชลประทานเพื่อให้สามารถผลิตได้ปริมาณที่ต้องการ ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจเศรษฐกิจชีวภาพ BCG เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน และเศรษฐกิจชายแดน ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ พัฒนาการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ ซึ่งอาจส่งผลต่อรูปแบบการใช้ที่ดินเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น

นอกจากข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องถึงศักยภาพและต้นทุนของแม่น้ำมูลที่รวบรวมมาแบ่งปันแล้ว ยังมีข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฉากทัศน์มาให้ร่วมตัดสินใจ โดย คุณกมล หอมกลิ่น เป็นผู้ดำเนินวงเสวนา เพราะเราเชื่อว่าหากทุกคนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน ได้พูดคุยและรับฟังกันอย่างเข้าใจจะนำไปสู่การออกแบบภาพอนาคตได้เพราะเสียงของทุกคนมีความหมาย

ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ A

ทุ่งกุลากับชาวนาผู้ประกอบการ

ประสาน พาโคกทม ประธานเกษตรแปลงใหญ่ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด

“ทุ่งกุลา เป็นที่ที่เราหวงแหนมาตลอด เราถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ ดีใจที่ถูกทางภาครัฐมองเห็น เราดิ้นรนทำมาเรื่อย ๆ ปี 2563 ภาครัฐอาจจะเห็นว่าเราทำมานาน เลยยกระดับเป็นนครหลวงของข้าวหอมมะลิโลก ซึ่งมีความหอมที่สุดในโลก เราก็เลยมีความรู้สึกว่า มันต้องหวงแหนไว้ เพราะที่ตัวเอง ไม่ต้องให้ใครมาแทรกแซง ถึงเราจะพัฒนาเทคโนโลยี แต่ก็อยากจะให้เป็นประโยชน์ในเรื่องข้าวมากที่สุด และรักษาอัตลักษณ์ของตนเองให้ได้มากที่สุด เราก็จะมีการแปรรูปยกระดับเราไปเรื่อย ๆ เหมือนกัน

โอกาสดีรัฐบาลยุคที่แล้วก็ให้เงินสนับสนุนพวกเรามา มายกระดับเกษตรแปลงใหญ่เป็นเกษตรสมัยใหม่ เชื่อมโยงตลาดคนละ 3 ล้านบาท อย่าง อ.ปทุมรัตต์ได้มา 84 ล้านบาท เรามีความภูมิใจในการพัฒนาทุ่งกุลาให้มั่นคงและยั่งยืน ในเรื่องของข้าวหอมมะลิตรงนี้ ยกระดับตนเองจนไปถึงนวัตกรรม มีบางกลุ่มนำร่องให้เรา เราก็เชื่อมโยงกับ 29 กลุ่ม มาพัฒนาช่วยกัน ก็จะมีกลุ่มแปรรูปในเรื่องของเครื่องสำอาง หรือสบู่ ยาสีฟัน พวกเราก็มีแล้ว ก็จะเป็นตัวแทนเศรษฐกิจทุ่งเรื่องเหมือนกัน ไม่ต้องเอาอย่างอื่นมาใส่พวกเราหรอก พวกเราคิดกันแบบนี้ พวกเราจะพัฒนาสินค้าเราได้อยู่แล้ว ในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นพืชหลังนา อันนี้พวกเราก็ทำ เราทำวิธีธรรมชาติคืออินทรีย์ ซึ่งมีงบ 38 กลุ่ม ไร่ละ 2,000-4,000 บาท เราก็เลยหวงแหนพื้นที่ตรงนี้มากว่ามันจะนำร่องให้ประเทศไทยเชิดหน้าชูตา จะพัฒนาไปถึงน้ำหอม พัฒนาในหลาย ๆ เรื่องเพื่อสุขภาพของเรา

อยากฝากถึงรัฐบาลชุดต่อไปว่าให้หาเครื่องไม้เครื่องมือมากกว่านี้ที่พอช่วยพวกเราได้ เราเชื่อว่าทุ่งกุลาจะเป็นแหล่งส่งออกข้าวของโลกได้ อันนี้คือความหวังของเราในอีก 5 ปีข้างหน้า เป็นแหล่งโกอินเตอร์ เราก็เลยหวงแหนตรงนี้มาก ไม่อยากให้รัฐสนับสนุนเรื่องอื่น อยากให้เป็นเรื่องข้าวนี่แหละ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเราโดยตรง”

ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ B

ทุ่งกุลากับเศรษฐกิจการเกษตรแปรรูปข้าว

นิศาชล พัฒน์โรจนสกุล ประธาน YEC หอการค้า จ.ร้อยเอ็ด

“ก่อนอื่นเราต้องปรับ Mind Set ของเราก่อน ปรับทัศนคติทั้งเกษตรกร เอกชน ภาครัฐ ที่จะต้องร่วมงานกันทุก ๆ ขั้นตอน เพื่อที่จะให้งานของเราสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี สอง เราจะต้องมีการให้ความรู้ ในเรื่องของการปลูกข้าว พันธุ์ข้าว ว่าพันธุ์ข้าวที่จะต้องหอมอย่างเป็นเอกลักษณ์จังหวัดร้อยเอ็ดต้องเป็นอย่างไร และจะต้องมีการให้ความรู้อย่างชัดเจนและถูกต้อง ตั้งแต่หลักสูตรประถม มัธยม มหาวิทยาลัย เพื่อต่อไปลูกหลานของเราจะเป็นแรงผลักดันที่จะพัฒนาเกษตรกรของเรา และนำไปสู่เกษตรยุคใหม่ เข้าไปสู่ยุคในอีก 5-10 ปี มีอะไรบ้าง

เช่น ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย แปรรูปข้าวหอมมะลิเป็นอย่างอื่น สกินแคร์ โลชัน โฟมล้างหน้า ชา เครื่องดื่มต่าง ๆ ตรงนี้จะต้องมีการให้ความรู้อย่างชัดเจน ถูกต้องว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์มาจำหน่าย ไม่ว่าจะตลาดในประเทศไทย หรือตลาดส่งออก โปรดักซ์ต้องมีความชัดเจน มีจุดยืน จจะสามารถเพิ่มยอดขาย

ในมุมมองของหอการค้าเองก็จะเป็นตัวช่วยที่จะโปรโมตสินค้า ก็จะเป็นส่วนที่จะก้าวไปด้วยกัน เกษตรกร เอกชน และภาครัฐเอง ซึ่งจะต้องมีการร่วมมือกันอย่างชัดเจน และถูกต้อง”

ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ C

ทุ่งกุลากับอุตสาหกรรมเกษตร BCG

ไตรรัตน์ ขุมหิรัญ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรม จ.ร้อยเอ็ด

“ก่อนอื่นอยากทำให้ภาพจำเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและเกษตรใหม่ ภาพจำของเราคืออุตสาหกรรมจะเป็นพวกรถไถเนาะ ถ้าใช้รถเกี่ยวก็เป็นผลพวงของอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราอยากสร้างภาพจำใหม่คือ อุตสาหกรรมคือการเพิ่มมูลค่า การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การเพิ่มประสิทธิผลในการผลิต เพราะฉะนั้นเราจะลบภาพจำพวกโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นปล่องควัน ภาพโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสียออกมา เพราะฉะนั้นถ้าเราจำภาพอุตสาหกรรมที่จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้เรา

สิ่งที่จะแลกเปลี่ยนในฉากทัศน์นี้ก็คือว่า สิ่งที่จะใส่เข้าไป เช่น วันนี้เราปลูกข้าว ใส่ข้าวเปลือกเพื่อที่จะได้ข้าวเปลือก มีกระบวนการที่ขายข้าวกิโลกรัมละ 15 บาท แต่จะมีอะไรที่มาเปลี่ยนแปลงเพิ่มมูลค่า เพิ่มด้านเศรษฐกิจ เพิ่มการกินดีอยู่ดีของเราในพื้นที่ให้มากขึ้น เราจะเปลี่ยนตอซังข้าวให้เป็นซิลิก้าได้อย่างไร เราจะเปลี่ยนรำข้าวให้เป็นน้ำมันรำข้าวได้อย่างไร เราจะเปลี่ยนเปลือกข้าวให้เป็นไฟฟ้าได้อย่างไร นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องมา Transform ความคิดด้วยกัน

เพราะฉะนั้นวันนี้การเปลี่ยนแปลงจะต้องมีผลกระทบ กับด้านใดด้านหนึ่งแน่นอน แต่อย่ากลัวว่าการเปลี่ยนแปลงว่าเราจะเสียอะไร เราควรจะเตรียมความพร้อมว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไร”

ฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่งเสียงแลกเปลี่ยนด้วยข้อมูลที่รอบด้าน

แม้จะมีความเห็นที่หลากหลาย แต่การฟังข้อมูลอย่างรอบด้านคือหัวใจในการสนทนาโสเหล่ในครั้งนี้ และนี่เป็นเพียง 3 ฉากทัศน์ท่ามกลางฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากมายหรือบางครั้งก็อาจจะเกินกว่าจินตนาการได้

นครหลวงข้าวหอมมะลิ GI อย่าง “ทุ่งกุลาร้องไห้” เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เพาะปลูกข้าวสำคัญของชาวนาไทยในภาคอีสานที่กำลังเผชิญความท้าทายค่ะ และนอกจาก 3 ฉากทัศน์ที่หยิบยกมาตั้งต้นพูดคุย รับฟัง แลกเปลี่ยน ยังมีโจทย์ศักยภาพพื้นที่ซึ่งต้องออกแบบอนาคตร่วมกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ