กระทรวงยุติธรรม มีการจัดงานพิธีส่งมอบคู่มือโครงการพัฒนาอาชีพสำหรับเยาวชน “Career Development for Youth Model” (CDY Model) ระหว่างกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และมูลนิธิซิตี้ ซึ่งเป็นคู่มือต้นแบบการฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนทั้งหมด 21 แห่งทั่วประเทศ เพื่อใช้พัฒนาเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า โครงการพัฒนาอาชีพสำหรับเยาวชนดำเนินการเป็นระยะเวลา 8 ปี ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เกิดจากความร่วมมือกันกับ 2 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิซิตี้ และองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และได้ขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้ามาช่วยเหลือและพัฒนาเด็กและเยาวชนภายในศูนย์ฝึกฯ ให้มีทักษะชีวิตและทักษะในการทำงานที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนได้รับการจ้างงานที่เหมาะสม โดยผ่านกิจกรรมหลักได้แก่ อบรมทักษะชีวิต อบรมทักษะอาชีพ และการเตรียมความพร้อมในการทำงาน เพื่อเตรียมพร้อมเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ เข้าสู่ตลาดแรงงานเมื่อเขาได้กลับสู่สังคมจริง และมีการเสริมหลักสูตรการยุติความรุนแรงบนฐานเพศภาวะ รวมทั้งการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ กล่าวต่อว่า การให้การศึกษาหรือการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ แก่เด็กและเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกรมพินิจฯ ดังนั้นคู่มือ CDY Model ที่ผ่านการพัฒนากลั่นกรอง จะเป็นโมเดลที่เป็นประโยชน์อย่างสูงต่อการพัฒนาหลักสูตรการอบรมของศูนย์ฝึกฯ ให้มีมาตรฐานและคุณภาพเดียวกันทั้งหมด เพื่อโอบรับและผลักดันเด็กและเยาวชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ให้สามารถพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ตามความชอบหรือความสนใจของตนเอง เพื่อเป็นโอกาสนำพาพวกเขาไปสู่ชีวิตใหม่ ในการประกอบอาชีพสุจริต สร้างรายได้ด้วยตัวเอง และสามารถช่วยตนเองได้อย่างยั่งยืน
นายจอห์น แมคกาวน์ (Mr.John McGown) ผู้อำนวยการ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้ได้เริ่มต้นในปี 2558 ปัจจุบันดำเนินการในระยะ 2.3 และจะปิดโครงการในเดือนมิถุนายน 2566 หวังว่าหลักสูตร CDY Model ที่ถูกพัฒนาโดยสมบูรณ์จะถูกนำไปใช้โดยกรมพินิจฯ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนในระดับชาติ โดยผลดำเนินการมีดังนี้ ศูนย์ฝึกฯ เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 21 แห่ง มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ฝึกฯ และเจ้าหน้าที่ส่วนกลางผ่านการฝึกอบรมเป็นกระบวนกรทักษะชีวิต 71 คน ขณะเดียวกันเด็กและเยาวชนผ่านการอบรมพัฒนาทักษะชีวิต 1,468 คน ทักษะอาชีพ 391 คน มีการสนับสนุนค่าครองชีพตั้งต้นระยะเวลา 1 เดือน หรือ 3,000 บาท จำนวน 133 คน เจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกฯ เข้าร่วมการอบรมประเด็นด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ 251 คน นับว่าเป็นการบรรลุผลสำเร็จของโครงการ ที่สามารถช่วยเหลือเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น มีความรู้ในการใช้ชีวิตและประกอบอาชีพตามความชอบและความตั้งใจในอนาคต รวมทั้งมีความมั่นใจออกไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างสง่าผ่าเผยและมีคุณภาพ
ด้านนางสาววันวิสาข์ โคมินทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิซิตี้ให้การสนับสนุนโครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องถึง 8 ปี เพราะเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเยาวชน ที่จะต้องเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไปในอนาคต ซึ่งหลังจากนี้หวังว่าภาครัฐจะมีส่วนสำคัญในการสานต่อโครงการ นำหลักสูตร CDY Model ไปขยายผลพัฒนาเด็กและเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ ทั่วประเทศต่อไป