วันที่ 4 ธันวาคม 2557 ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ กว่า 10 พื้นที่ เดินทางมายังมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ชั้น 4 เพื่อเสนอข้อมูลสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ และแถลงความเห็นต่อร่าง พรบ.แร่ ฉบับใหม่ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอร่าง เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ที่ผ่านมา
เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทยและองค์กรเครือข่ายออกแถลงข่าวไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. …. และมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้
————————
แถลงการณ์
ข้อเสนอความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. …
วันที่ 4 ธันวาคม 2557 เวลา 10.00 น.
ณ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไปนั้น เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย และองค์กรเครือข่าย ได้ตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วเห็นว่ากระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้ เป็นการเร่งรัดเสนอกฎหมายของหน่วยงานราชการโดยไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และเมื่อพิจารณาเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติแร่ดังกล่าวแล้ว พบว่ามีลักษณะในการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการสำรวจและทำเหมืองแร่มากยิ่งกว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ และชุมชนที่จะได้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ และคำนึงถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากยิ่งกว่าการสงวนหวงห้ามและคุ้มครองพื้นที่ที่สำคัญต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงมิได้คำนึงถึงสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งๆ ที่ชุมชนและประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรแร่และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่โดยตรง
รวมทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันภายใต้การบังคับใช้กฎอัยการศึกไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริงในกระบวนการออกกฎหมาย ตลอดจน สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้งก็มิได้มีที่มาที่ยึดโยงในการเป็นตัวแทนของประชาชน อีกทั้งปัจจุบันอยู่ระหว่างการปฏิรูปและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นการพิจารณาออกกฎหมายซึ่งมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิเสรีภาพของประชาชนควรที่จะรอให้มีรัฐธรรมนูญและมีรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงเสียก่อน รวมถึงต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึงก่อนการพิจารณาร่างกฎหมายแร่ดังกล่าว
เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายตามรายชื่อด้านท้ายหนังสือฉบับนี้ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้
1. ขอให้รัฐบาลชะลอการเสนอร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. … ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญและมีรัฐสภาที่มีที่มาจากตัวแทนจากประชาชนอย่างแท้จริง
2. ให้มีการทบทวนร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. …ในระหว่างนี้โดยคณะกรรมการกฤษฎีกานำความคิดเห็นของภาคประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. …. ไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแร่ดังกล่าวด้วย
3. ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งคณะทำงานร่วมในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. … โดยประกอบไปด้วย คณะกรรมการกฤษฎีกา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภาคประชาชน ในการพิจารณาทบทวนเนื้อหาโดยละเอียด
เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย และองค์กรเครือข่าย ประกอบด้วย :
๑) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
๒) กลุ่มคนรักบ้านเกิด กรณีเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย
๓) กลุ่มคนรักบ้านเกิดอุมุง กรณีเหมืองแร่เหล็ก อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
๔) กลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ อำเภอเมือง จังหวัดเลย
๕) กลุ่มศึกษาปัญหาดินเค็มและการจัดการทรัพยากรแร่ จังหวัดนครราชสีมา
๖) กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
๗) กลุ่มรักทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
๘) กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)
๙) กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมี่ยม แม่ตาว จ.ตาก
๑๐) กลุ่มรักษ์บ้านแหง จังหวัดลำปาง
๑๑) กลุ่มป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได
๑๒) กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นบ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่
๑๓) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
๑๔) เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก
๑๕) เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จ.ลำปาง
๑๖) เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา
๑๗) โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
๑๘) ชุมชนลุ่มน้ำสรอย จ.แพร่
๑๙) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)