ชายหาดปากบารา ของใคร ?

ชายหาดปากบารา ของใคร ?

กางข้อเท็จจริงกรณีพิพาทที่ดินชายหาดปากบารา จังหวัดสตูล

“พื้นที่เอกชน” หรือ “พื้นที่สาธารณะ” กันเเน่ ?

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกรณีพิพาทที่ดินริมชายหาดปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยเอกชนรายหนึ่งอ้างสิทธิ์ในที่ดินบริเวณชายหาดปากบารา ซึ่งติดต่อกับชายหาดและทะเลอันดามัน โดยปรากฏภาพที่มีการปักเสาคอนกรีต แสดงเขตที่ดินบนชายหาดปากบารา ความยาวเกือบ 100 เมตร

ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดสตูล กล่าวว่า พื้นที่ชายหาดปากบารา เป็นสาธารณะสมบัติเเผ่นที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ท่ามกลางกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ Beach for life ชวนกางข้อเท็จจริงเเละข้อสังเกตในกรณีดังกล่าว

ผลการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ

หลังจากเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดสตูลได้เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้มีการตรวจสอบการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ (นส.3 ก.) นั้น มีความถูกต้องชอบธรรมด้วยกระบวนการทางกฏหมายหรือไม่อย่างไรนั้น จนนำไปสู่ความไม่สบายใจของประชาชนทั่วไป ที่เข้าใจว่าที่ดินชายหาดดังกล่าวคือ “พื้นที่สาธารณะ” ที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน แต่ปรากฏการปักเสาคอนกรีตเพื่อครอบครอง

วันที่ 14 กันยายน 2565 ภาคประชาชนจังหวัดสตูล เผยผลการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ให้เอกชนบนชายหาดปากบารา โดยในเอกสารผลการตรวจสอบนั้น ระบุว่า สำนักงานเจ้าท่าสาขาสตูล รายงานว่า จากการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินเชื่อได้ว่า เจ้าของที่ดินไม่ได้ปล่อยทิ้งให้เป็นทางน้ำสาธารณะ อันเป็นไปตามระเบียบเจ้าท่า สำหรับที่ดินที่ถูกกัดเซาะยังไม่ถือว่าเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ตามมาตรา 1034(2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การก่อสร้างผนังกันตลิ่งหรืออาหารโรงเรือนลงที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ จึงไม่ใช่สิ่งล่วงล้ำลำน้ำแต่อย่างใดและไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าท่า

ในรายงานยังระบุการตรวจสอบของอำเภอละงู โดยรายงานว่า องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ ได้รับรองว่าเจ้าของที่ดินได้มีที่ดินตามหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) โดยได้ครอบครองทำประโยชน์และปักแนวเขตแสดงการหวงแหนในกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนตลอดมา ปัจจุบันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ พร้อมได้ชำระบำรุงห้องที่เป็นประจำทุกปีตลอดจนถึงปัจจุบัน และได้ลงชื่อรับรองแนวเขตด้านจดทะเลอันดามันแล้ว

และรายงานการตรวจสอบของสำนักงานที่ดินจังหวัดสตูล ที่ระบุในหนังสือมีเนื้อหาในทำนองเดียวกัน จึงสรุปได้ว่าผลจากากรตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องนั้น พบว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวนั้น ไม่ได้ตกเป็นสาธารณะสมบัติแผ่นดิน ตามที่ได้ถูกร้องขอให้ตรวจสอบ

ข้อสังเกตภาคประชาชน

ภายหลังจากผลการพิจารณาแจ้งถึง คุณวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี แกนนำเครือข่ายกลุ่มรักษ์ทะเลไทย ว่าพื้นที่ที่ดินดังกล่าวนั้นไม่ตกเป็นสาธารณะสมบัติแผ่นดิน

คุณวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี แกนนำเครือข่ายกลุ่มรักษ์ทะเลไทย ได้ตั้งข้อสังเกตถึงผลการพิจารณาของหน่วยงานต่างๆว่ามีความขัดแย้งต่อสภาพความเป็นจริง โดยระบุว่า เจ้าของที่ดินที่พิพาทนั้นมิไม่หวงกันที่ดินไว้ก่อน มีการปักเสาเพื่อหวงกันที่ดินเมื่อช่วงประมาณ 2-3 วันที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านั้นไม่ได้มีการหวงกันที่ดินบริเวณดังกล่าวแต่อย่างใด และบริเวณดังกล่าวนั้นอยู่ในเขตทะเล เป็นพื้นที่ชายหาดที่น้ำทะเลท่วมขึ้นมาถึง ซึ่งเป็นที่รับทราบกันในทางสาธารณะว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นชายหาดที่น้ำทะเลท่วมถึง การวินิจฉัยของเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ บริเวณดังกล่าวจึงตกเป็นที่สาธารณะโยชน์ของแผ่นดิน เพราะไม่ได้มีการทำประโยชน์อย่างต่อเนื่องในที่ดินบริเวณดังกล่าว และยังกล่าวต่อไปว่า ในกรณีนี้สะท้อนชัดเจนว่าหน่วยงานราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เจ้าท่า อำเภอ ท้องถิ่น และที่ดินนั้น ไม่ตรวจสอบและรายงานผลการพิจารณาตามความเป็นจริง และเรียกร้องให้หน่วยงานยืนหยัดบนความถูกต้องและข้อเท็จจริง ไม่ควรปกปิดข้อเท็จจริงเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

สถานการณ์ล่าสุด วันที่ 16 กันยายน 2565 นายสมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนเครือข่ายปกป้องชายหาดอ่าวปากบารา ยื่นหนังสือถือกรรมาธิการที่ดินและสิ่งแวดล้อม สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เพื่อขอให้ลงพื้นที่และตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งประสานงานหน่วยงานให้หยุดยั้งการบุกรุกที่สาธารณะหาดปากบารา จังหวัดสตูล

ความคืบหน้าและข้อเท็จจริงในกรณีพิพาทดังกล่าวมีความคืบหน้าอย่างไร และเป็นอย่างไร ทางเพจ Beach for life จะติดตามและรายงานให้ทรายอย่างต่อเนื่อง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ