ฟังเสียงประเทศไทย : อนาคตกัญชา เพื่อประชาชน

ฟังเสียงประเทศไทย : อนาคตกัญชา เพื่อประชาชน

“กัญชาเสรี” เสรีนี้เพื่อใคร… คำถามตั้งต้นของรายการฟังเสียงประเทศไทย ในโอกาศครบรอบ 1 ปี วันประกาศอิสภาพกัญชา 9 มิ.ย. และความเคลื่อนไหวทางการเมืองรอบล่าสุดที่มีการเสนอนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดโดยการจับมือของพรรคการเมือง 8 พรรคที่ร่วมลงนาม MOU จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีทั้งเสียงหนุนและค้านเกิดขึ้นในสังคม

เดิมกัญชาเป็นพืชควบคุม ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ประเภทที่ 5 เช่นเดียวกับ กระท่อมและฝิ่น ผู้ผลิต จำหน่าย มีไว้ครอบครอง หรือเสพ มีโทษทางอาญา แต่อย่างที่รู้โดยทั่วกันว่า นับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 กัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติดอีกต่อไป โดยการนิยามของกฎหมาย ทำให้มีการนำมาใช้อย่างกว้างขวาง และค้าขายกันอย่างโจ่งแจ้งในพื้นที่สาธารณะ จนเกิดการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการดูแล ควบคุม และกระแสเรียกร้องให้ทบทวนการเปิดเสรีกัญชา

รายการฟังเสียงประเทศไทยจึงจัดกระบวนการรับฟังกันด้วยข้อมูลจาก 4 วิทยากรที่เกี่ยวของกับการพัฒนากัญชาในด้านต่าง ๆ และประชาชน 30 คน ที่สนใจมาร่วมแลกเปลี่ยน เพื่อลองมองภาพอนาคตอยากจะเห็น สำหรับ “กัญชา เพื่อประชาชน” ไปเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา และวันนี้อยากชวนทุก ๆ คนมาหาทางออกในเรื่องนี้ไปด้วยกัน

ขอ 3 คำ สร้างอนาคตกัญชา เพื่อประชาชน ร่วมแสดงความคิดเห็นคลิกลิงก์ 

– กัญชากับการเมือง –

ย้อนไปก่อนหน้านี้ ประเทศไทยมี พ.ร.บ. กัญชา พ.ศ. 2477

ต่อมาเรามี พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นพื้นฐานของกฎหมายยาเสพติดที่บังคับใช้ในปัจจุบัน

การคลายล็อกกฎหมาย เริ่มตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2561 โดยการผลักดันของทั้งรัฐบาล และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 

25 ธ.ค. 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ให้สามารถนำกัญชาไปใช้ทางการแพทย์ รักษาโรค และการศึกษาวิจัยได้ 

18 ก.พ. 2562 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 // ทำให้ไทยเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชนทางการแพทย์และการวิจัย

ในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2562 พรรคภูมิใจไทยชู “กัญชาเสรี” เป็นนโยบายรณรงค์หาเสียง โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการผลักดันให้ “กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่” ที่จะสร้างรายได้ให้ประชาชน

หลังการเลือก นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยได้นั่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผลักดัน “นโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์ และส่งเสริมการปลูกพืชกัญชา” เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ต่อมาเดือน ก.ย. 2562 พรรคภูมิใจไทยเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ 1. พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ซึ่งมีเนื้อหากำหนดให้ประชาชนปลูกกัญชาได้ 6 ต้นต่อครัวเรือน และ 2.ร่าง พ.ร.บ. สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้มีองค์กรขึ้นมาดูแลพืชยาเสพติดที่ใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์โดยเฉพาะ 

อย่างไรก็ตาม รูปธรรมของ “การทำให้กัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด” ชัดเจนขึ้น เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 ที่ระบุให้ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราย และใบกัญชา ที่ไม่มียอดหรือช่อดอก และสารสกัดกัญชาที่มีสาร THC หรือ CBD ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ไม่ถือเป็นยาเสพติด 
ในปี 2564 รัฐบาลได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติด เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาในฐานะ “กฎหมายปฏิรูป” กฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 เปิดช่องนำยาเสพติดไปใช้ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย และเศรษฐกิจ อีกทั้งยัง ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศระบุชื่อยาเสพติดให้โทษได้ ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

Image Name

ต่อมาวันที่ 26 พ.ค. 2564 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564  มีสาระสำคัญคือการปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ

ตามมาด้วยการปลดล็อคกัญชา-กัญชง โดยเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 มีสาระสำคัญคือการระบุให้กัญชาทุกส่วน และ สารสกัดกัญชาที่มีสาร THC หรือ CBD ไม่เกิน 0.2% ไม่ถือเป็นยาเสพติด / มีผลบังคับใช้หลังเผยแพร่ประกาศ 120 วัน นั่นคือวันที่ 9 มิ.ย. 65

– กัญชากับกฎหมาย –

“ภาวะสุญญากาศ” เกิดขึ้นเมื่อกัญชาไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายยาเสพติด แต่กฎหมายใหม่ที่จะมาควบคุมการใช้ การบริโภค การจำหน่าย กัญชา-กัญชง คือ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ซึ่งมีอยู่ 2 ฉบับ คือ ร่างของพรรคภูมิใจไทย และร่างของพรรคพลังประชารัฐ ถูกนำเข้าสู่สภาฯ ในวันที่ 8 มิ.ย. 2565 และต้องอาศัยเวลาในการออกกฎหมายมาบังคับใช้

การเมืองในสภา ทำให้ภาพรวมการพิจารณาร่างกฏหมายเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากมีผู้ขออภิปรายจำนวนมากถึงช่องโหว่ของข้อกฎหมาย โดยเฉพาะจากพรรเพื่อไทย รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ 

แม้จะผ่านวาระ 1 ด้วยเสียงข้างมาก แต่ก็ติดอยู่ในการพิจารณาวาระ 2 ขณะที่เครือข่ายประชาชนพยายามเคลื่อนไหวให้เร่งผ่านกฎหมายควบคุมกัญชา 

สุดท้าย กฏหมายไม่สามารถพิจารณาให้เสร็จได้ทันปิดสมัยประชุม และการประกาศยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 

ทามกลางความตื่นตัวจากประชาชนจำนวนมาก ทั้งที่เคลื่อนไหวเรียกร้องการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์และคนที่เห็นประโยชน์ในการพัฒนากัญชา

ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กระทรวงสาธารณะสุข กระทรวงศึกษาธิการ กรมอนามัย และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงมีการออกประกาศเป็นแนวทางในการกำกับควบคุมการใช้กัญชา อย่างน้อย 6 ฉบับ เพื่ออุดช่องว่าง

ประกาศในภาวะสูญญากาศ เพื่อกำกับควบคุมการใช้กัญชา

1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ห้ามนำเข้า พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565
2. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2565
3. ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัด และในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2565
4. ประกาศกรมอนามัย เรื่อง กำหนดหัวข้อวิชา การใช้กัญชา หรือกัญชง ในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหารที่ปลอดภัย ในการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ. 2565
5. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม(กัญชา) ปี พ.ศ.2565 (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 23 พฤศจิกายน 2565)
6. ประกาศกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เรื่อง กำหนดแบบตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566)

บางฉบับออกมาแล้วแต่ประชาชนอาจยังไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารมากนักจึงปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ขณะที่บางฉบับออกมาหลังวันที่ 9 มิ.ย. จึงดูเหมือนจะกลายเป็นสภาวะวัวหายล้อมคอก ภายใต้กฏหมายหลายฉบับ หลายหน่วยงานรับผิดชอบ

หลังวันประกาศอิสรภาพ “กัญชา” กลายเป็นสินค้าที่แพร่หลายทั้งในห้างร้านบทท้องถนน และบนโลกออนไลน์ เข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะการใช้เพื่อสันทนาการ

แม้จะมีการระบุให้ “ช่อดอกกัญชา” ซึ่งเป็นส่วนของต้นกัญชามีความเข้มข้นของสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ ชนิด THC สูง มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้มึนเมา เป็น “สมุนไพรควบคุม” ที่เหลืออยู่เพียงส่วนเดียว ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ปี พ.ศ.2565 แต่กว่าประกาศนี้จะบังคับใช้ก็ล่วงเลยเวลาไปเกือบ 6 เดือน อีกทั้ง ยังไม่ได้กำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืนเอาไว้อย่างชัดเจน

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา คือ ให้เพาะปลูก ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือขายกัญชา กัญชง หรือสารสกัด ได้ แต่ต้องขอรับใบอนุญาตก่อน หากกระทำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และผู้ใดนําเข้ากัญชา กัญชง หรือสารสกัด โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ 

ทั้งนี้หากเป็นการปลูกกัญชาหรือกัญชงในครัวเรือน (ไม่ใช่ในเชิงพาณิชย์) กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องขออนุญาต แต่ต้องไปจดแจ้งและปลูกได้ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ต้น

– กัญชากับความคาดหวังของสังคม –

ปัญหาของกัญชาเสรีที่เกิดขึ้นมาหลังจากมีการปลกล็อกกัญชา กัญชงออกจากยาเสพติดให้โทษผิดกฎหมายเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย https://www.thaipediatrics.org/?p=2266 เปิดเผยจำนวนตัวเลขผู้ป่วยเด็กที่มีอาการป่วยจากกัญชา ตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. 2565 – 28 ก.พ. 2566 ว่ามีผู้ป่วยรวมทั้งหมด 30 ราย 

เป็นเด็ก 0-5 ปี 4 ราย

6-10 ปี 3 ราย 

11-15 ปี 18 ราย 

16-20 ปี 5 ราย 

โดยมีทั้งคนที่ตั้งใจใช้กัญชา และได้รับมาแบบไม่รู้ตัว

ด้านศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.)  https://cads.in.th/cads/ ภาควิชจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ สำรวจผลกระทบแนวทางการแก้ไขปัญหาสารเสพติดจากผู้เชี่ยวชาญ ด้วยการเก็บข้อมูลสำรวจ ทัศนคติและพฤติกรรมการใช้สารเสพติดจากกรณีศึกษาประชาชนอายุ 18-65 ปี ใน 20 จังหวัด ทั่วทุกภูมิภาค ตั้งแต่ปี 2563-2565 กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 5,630 คน

จากผลสำรวจพบว่า ทุกกลุ่มอายุ มีการใช้กัญชาแบบสูบเพื่อนันทนาการสูงขึ้นในช่วงระยะเวลา 3 ปี แต่ในปี 2565 การใช้กัญชาแบบสูบในเด็กและเยาวชนไทย อายุ 18-19 ปี มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2563 เป็น 10 เท่า ซึ่งเมื่อปี 2563 มีอัตราอยู่ที่ 1-2% แต่ในปี 2565 มีอัตราสูงกระโดดไปถึง 9.7% 

อีกด้านข้อมูลการบำบัดรักษายาเสพติดทั้งประเทศ จากกรมการแพทย์ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2565 ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มการบำบัดรักษายาเสพติด โดยเฉพาะกัญชา มีแนวโน้มลดลง 

โดยปี 2561 อยู่ที่ 13,626 คน

ปี 2562 อยู่ที่ 17,902 คน 

ปี 2563 อยู่ที่ 10,470 คน

ปี 2564 อยู่ที่ 7,169 คน 

ปี 2565 อยู่ที่ 2,085 คน 

แต่สวนทางกับชุดข้อมูลร้อยละผู้ป่วยเสพติดกัญชาที่เข้ารับการบำบัดรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตจิตเวช ที่มีแนวโน้วเพิ่มขึ้น โดย

ปี 2561 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาร้อยละ 3.55 

ปี 2562  มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาร้อยละ 14.13 

ปี 2563  มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาร้อยละ 8.30 

ปี 2564  มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาร้อยละ 14.67 

ปี 2565  มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาร้อยละ 16.79 

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2565 มีแถลงการณ์จากแพทย์ทั่วประเทศกว่า 1,363 คน ที่ออกมาเรียกร้องให้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หยุดกัญชาเสรี เนื่องจากยังไม่มีนโยบาย และแนวทางการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมอย่างครอบคลุมและปลอดภัย ทำให้ที่ผ่านมามีการนำกัญชาไปใช้ในเชิงนันทนาการอย่างแพร่หลาย อีกทั้งยังทำให้เด็กและกลุ่มเปาะบางเข้าถึงได้ ผิดจากเหตุผลของการออกนโยบายที่บอกว่าต้องการให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์

– 3 ฉากทัศน์ “อนาคตกัญชา” –

ความไม่ชัดเจน ขาดมาตรการควบคุมที่รัดกุมและครอบคลุม ทั้งการปลูก การค้าขาย การครอบครอง และการใช้ประโยชน์นี้ ทำให้เกิดความกังวลต่อ “เสรีภาพ” ที่อาจสร้างความเสียหายของกัญชา 

การเดินหน้านโยบายกัญชาเสรี จึงต้องสร้างสมดุลระหว่าง ‘เสรีภาพของประชาชน’ และ ‘ความปลอดภัยของเด็ก เยาวชน และสังคม’

มาถึงตรงนี้ รายการฟังเสียงประเทศไทยชวนทุกคนร่วมกันมองว่า อนาคตกัญชาแบบไหนที่ทุกคนอยากให้เป็น ผ่านภาพทัศน์ 3 ภาพ

ฉากทัศน์ที่ 1 กัญชา : ยาเสพติดที่ต้องพัฒนาอย่างเท่าทัน

กัญชายังคงอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ มีสภาพบังคับทางกฎหมายที่เข้มข้น แต่เปิดช่องสำหรับการใช้กัญชาทางการแพทย์และการศึกษาวิจัย เพื่อการพัฒนานวัตกรรมให้มากขึ้น

การนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด กระทบกับนโยบายรัฐบาลเดิม และส่งผลอย่างชัดเจนต่อเอกชนผู้ทำการค้าและเกษตรกรที่ลงทุนไปแล้ว ซึ่งรัฐต้องเป็นผู้รับผิดชอบและทำให้เกิดความชัดเจนในการใช้ประโยชน์จากกัญชา ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจปลูกกัญชา ต้องปลูกเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือศึกษาวิจัยและพัฒนาเท่านั้น และต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ

มีการให้บริการกัญชาทางการแพทย์เฉพาะในระบบสาธารณสุข โดยการควบคุมของแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้าน และเพื่อการพัฒนาในอนาคตรัฐต้องสร้างการมีส่วนร่วม ยอมรับองค์ความรู้ของประชาชน เพื่อปลดล็อกการใช้ยาเสพติดทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมาย ขจัด “การผูกขาด” ที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้

ส่วนการจะเปิดเสรีกัญชาอีกครั้งต้องมีกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น ทั้งการปลูก การใช้ประโยชน์ การค้า และการแปรรูป ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมถึงผลดี ผลเสียที่เกิดขึ้น และยังต้องสร้างการยอมรับจากสังคม

ฉากทัศน์ที่ 2 กัญชา : พืชยาสร้างโอกาสที่ชุมชนเข้าถึงได้

กัญชามีกฎหมายเฉพาะ พืชยากัญชาที่เปิดให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ขจัดข้อจำกัดที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพ การป้องกัน บำบัดโรค รักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัย หรือการพัฒนานวัตกรรม 

รัฐสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจกัญชาทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชาที่มีคุณภาพและราคาถูกลง โดยกำหนดเงื่อนไขการควบคุมที่ชัดเจน ไม่ให้เกิดการทำผิดกติกา เช่น ต้องมีการลงทะเบียนผู้ป่วย ผู้ปลูก ผู้ขาย และต้นกัญชา จำกัดจำนวนต้นสำหรับผู้ป่วยที่ปลูกกัญชาเพื่อรักษาตัวเอง จำกัดจำนวนครอบครองกัญชา ผู้ให้บริการกัญชาทางการแพทย์จะต้องผ่านการตรวจสอบ และได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้อง

สนับสนุนการนำกัญชา มาใช้ในการศึกษาวิจัย การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ดูแลสุขภาพ ตามวิถีชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสในการดูแลสุขภาพของตนเอง และส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชา ทั้งในด้านการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทย องค์ความรู้แพทย์แผนปัจจุบัน และอุตสาหกรรมอื่น ๆ 

เปิดโอกาสทดลองทำ ศูนย์ให้บริการความรู้และรักษาพยาบาลได้ เฉพาะพื้นที่หรือชุมชนที่มีการทำประชามติแล้ว ส่วนการใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการยังคงมีความผิดตามกฎหมาย

ฉากทัศน์ที่ 3 กัญชา : พืชเศรษฐกิจสร้างรายได้

กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด และมีกฎหมายเฉพาะที่ใช้กำกับควบคุมอย่างเท่าทัน เช่นเดียวกับสุราและยาสูบ โดยเปิดให้คนทุกระดับเข้าถึงได้ 

ส่งเสริม “พืชกัญชา” ในฐานะพืชเศรษฐกิจ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่มีคุณภาพ โดยการศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาสายพันธุ์ เพื่อประโยชน์ทั้งกัญชาในทางการแพทย์ การสันทนาการ และการค้าเชิงพาณิชย์

รัฐกำหนดคุณสมบัติการให้อนุญาตปลูก และแปรรูปเพื่อการค้า รวมทั้งนำเข้าและส่งออก โดยมีมาตรการป้องกันการผูกขาด ไม่ให้ซ้ำรอยธุรกิจสุรา และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นผู้รับจดแจ้งขึ้นทะเบียนการปลูก ปลดล็อกการใช้งาน โดยมีเครื่องมือทางภาษีในการควบคุมและพัฒนากัญชาในพื้นที่

ทั้งนี้ มีเพียง 69 จาก 193 ประเทศในโลกที่ปลดล็อกกัญชา หลายประเทศกัญชายังเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย ดังนั้น ต้องวางแผนพัฒนาตลาดกัญชาอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมกัญชาไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกด้านผลกระทบ กฎหมายต้องควบคุมจริงจังกับการใช้กัญชาในพื้นที่สาธารณะ อายุของผู้ใช้ การขาย และการโฆษณากัญชา เพื่อให้การใช้เพื่อสันทนาการอยู่ภายใต้กฎหมาย และป้องกันกลุ่มเด็กและเยาวชน ร่วมทั้งสังคมในภาพรวม โดยต้องมีการให้ความรู้สร้างความเท่าทันของสังคมต่อผลกระทบของกัญชา

– 4 มุมมอง อนาคตกัญชาเพื่อประชาชน –

หลังจากได้อ่านชุดข้อมูลที่มาที่ไปของกัญชาเสรี และภาวะสุญญากาศที่เกิดขึ้นไปแล้ว ชวนทุกท่านมอง อนาคตของกัญชากันต่อกับวิทยากรทั้ง 4 ท่าน

000

ช่อขวัญ คิตตี้ ช่อผกา นักผลักดันกฎหมายกัญชาอิสระและเจ้าของแบรนด์ “ช่อผกา” มองเรื่องนี้ว่า 

“…มันไม่มีเสรีกัญชา กัญชาควรที่จะอยู่ภายใต้การควบคุม แต่กฎและเกณฑ์พวกนี้ควรที่จะมาด้วยความต้องการทางสังคมเอง ไม่ควรที่จะวนกลับไปเป็นยาเสพติด เพราะว่าอนาคตของกัญชาทั่วโลกจะเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะต่างจากแอลกอฮอล์หรือยาสูบ ประเทศที่จะไม่เปิดให้ถูกกฎหมายยังไงก็อาจต้องมีบางทางสักอย่างให้คนสามารถเข้าถึงได้ไม่ว่าจะเป็นเหมือนดูไบแอลกอฮอล์ผิดกฎหมายแต่ที่โรงแรมทำไมถึงขายได้ น่าจะเป็นอะไรอย่างนี้ไป”

000

ศิวสรรค์ ขอบใจกลาง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวหอมมะลิบ้านหนองโดน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ มองว่า 

“ผมไม่เห็นด้วย (การนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด) เพราะว่ากัญชา ณ ปัจจุบันต้องการกฎหมายสักหนึ่งฉบับที่จะควบคุมเขา ให้มีกรอบของเขา แต่ภาษาไทยของเราเป็นภาษาที่แปลตรงตัว การที่จะทำสิ่งใดแล้วไปนิยามว่ายาเสพติด ปิดโอกาสสำหรับคนที่ปลูก คนที่ต้องการพัฒนาตนเอง รวมทั้งฟาร์มต่าง ๆ ซึ่งถ้าถามผมในสถานการณ์ปัจจุบันร้านจำหน่ายช่อดอกเขายินดีถ้ากฎหมายมันนิ่ง เขาพร้อมที่จะปฏิบัติตาม พร้อมที่จะรับกับกฎระเบียบที่มี…หากคำว่ายาเสพติดมาตีกรอบ บางสิ่งที่จะเป็นโอกาสอาจตายไปแต่ในทางกลับกันเรื่องของการมีกฎเกณฑ์ มีระเบียบควบคุมที่ชัดเจน ผมเห็นด้วย”

000

ดร. นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ จาก Centre for Addiction and Mental Health (CAMH) ประเทศแคนาดา ให้ความเห็นว่า 

“ผมเปรียบเทียบสั้นนิดเดียวเพื่อให้เข้าใจง่ายเวลาเราพูดว่า กัญชามีประโยชน์และโทษเหมือนทะเล ทะเลมีประโยชน์คือคนไปเล่นแล้วมีความสนุกสนานแต่มีโทษคือจมน้ำตาย เราเป็นพ่อแม่จูงเด็กอยู่บนฝั่งแล้วเราไปเจอทะเลดีจังเลยน่าสนุกแล้วก็โยนเด็กลงไป โดยที่เด็กว่ายน้ำไม่เป็น เด็กอาจจมน้ำได้ เราต้องการห่วงยางซึ่งคือกฎหมายควบคุมกัญชาที่เหมาะสม แต่ตอนนี้เราไม่มีห่วงยาง ปัญหาของการออกนโยบายรอบนี้คือแทนที่เราจะทำห่วงยางให้เสร็จก่อนแล้วให้เด็กลงทะเลพร้อมห่วงยาง เราโยนเด็กลงไปเลยแล้วเราก็บอกว่ารีบออกกฎหมาย รีบรับรองกฎหมาย โดยที่กฎหมายอยู่บนการให้กัญชาเพื่อสันทนาการไม่ใช่กัญชาเพื่อการแพทย์ การออกกฎหมายต้องมาถกให้ดีว่ากัญชาประเทศไทยต้องการกัญชาทางการแพทย์หรือเพื่อสันทนาการ ตอนนี้เราจะปล่อยให้เด็กจมน้ำก่อนไปหรือยังไง ฉะนั้นต้องเอาเด็กขึ้นมาก่อนเป็นการชั่วคราวไม่ใช่เป็นการถาวร”

000

ไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า 

“UN มีอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด เขากำหนดว่ากัญชาใช้ได้สองวัตถุประสงค์เท่านั้นคือเพื่อทางการแพทย์และศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ไม่สนับสนุนให้นำกัญชามาใช้เป็นพืชเศรษฐกิจ การที่บอกว่าเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ สหประชาชาติไม่ยอมรับ ผมยืนยันได้ว่าประเทศไหนยอมรับด้วยแม้แต่สหรัฐอเมริกา…กัญชายังถือเป็นยาเสพติดอยู่ในอนุสัญญาเดี่ยว มีบางท่านให้ข้อมูลผิดกับประชาชนว่ากัญชาปลดล็อคไปแล้ว จริงๆปลดออกจากบัญชี 4 เท่านั้นคือบัญชีที่อยู่ในลำดับเดียวกับเฮโรอีนแต่ในบัญชีที่ 1 ยังคงอยู่”


ดูการสนทนาแบบเต็ม ๆ ได้ที่ 


– ชวนโหวตฉากทัศน์อนาคตกัญชาเพื่อประชาชน –

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ