‘พอช.’ ชี้แจงข่าว กรณีสมาชิกสหกรณ์สหกรณ์บริการเคหสถานชุมชนร่วมใจพัฒนาตลาดเก่า จำกัด เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงย่านบางบัวทอง จ.นนทบุรี ตั้งแต่ปี 2563 แต่ได้อยู่บ้านสังกะสีเหมือนแค้มป์คนงาน โดยยืนยันว่าเป็นบ้านพักชั่วคราวสำหรับผู้เดือดร้อน หากสร้างบ้านเสร็จก็จะได้อยู่บ้านจริง แต่สหกรณ์มีปัญหาปิดงบบัญชีไม่ลงตั้งแต่ปลายปี 2563 เงินสดขาดบัญชี เมื่อสมาชิกลาออกจึงไม่ได้เงินคืน โดย พอช.จะตั้งคณะทำงานติดตามแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้เดือดร้อน และฟื้นฟูแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านเพื่อเดินหน้าสร้างบ้านให้มั่นคงต่อไป
ตามที่มีข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ชาวบ้านจำนวน 35 รายที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงกับสหกรณ์บริการเคหสถานชุมชนร่วมใจพัฒนาตลาดเก่า จำกัด โครงการตั้งอยู่ที่ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ได้นำหลักฐานเข้าขอความช่วยเหลือกับนายเกียรติคุณ ต้นยาง ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล เขต 7 จังหวัดนนทบุรี ประธานชมรมทนายความจิตอาสา
โดยชาวบ้านร้องเรียนว่า หลังซื้อบ้านโครงการมั่นคง ส่งเงินไปแล้วหลักแสน กลับได้บ้านสังกะสี ยิ่งกว่าแคมป์คนงาน ผนังมีรู ผุพัง ช่วงหน้าฝนสังกะสีปลิวหลุดเสียหาย ฝนตกต้องคอยรองน้ำ ต้องเปลี่ยนปลั๊กไฟหลายจุดเพราะไม่ได้มาตรฐาน เคยมีชาวบ้านถูกไฟดูด ต้องอยู่ท่ามกลางสัตว์มีพิษ ทั้งงูเห่า และตะขาบ ชาวบ้านหลายคนทนไม่ไหวต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่บางครอบครัวกลับต้องทนอยู่เพราะไม่มีเงินไปซื้อบ้านนั้น
พอช.ชี้แจงข่าวชาวบ้านร้องเรียน
วันนี้ (13 มิถุนายน) นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และโฆษกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ชี้แจงกรณีข่าวที่เกิดขึ้นว่า โครงการดังกล่าวดำเนินการ โดย ‘สหกรณ์บริการเคหสถานชุมชนร่วมใจพัฒนาตลาดเก่า จำกัด’ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของผู้ถูกไฟไหม้ไล่รื้อจากที่ดินเอกชน และผู้เดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยในบริเวณตลาดบางบัวทอง จัดตั้งเป็นสหกรณ์เพื่อพัฒนาโครงการบ้านมั่นคง ซึ่ง พอช.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัยของชุมชนที่มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบททั่วประเทศ
กรณีสหกรณ์บริการเคหสถานชุมชนร่วมใจพัฒนาตลาดเก่า จำกัด นั้น สหกรณ์ได้รับอนุมัติสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินจาก พอช. จำนวน 13,097,000 บาท และต่อมาได้รับอนุมัติงบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค จำนวน 4,590,000 บาท งบอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย จำนวน 3,060,000 บาท งบบริหารจัดการปรับปรุงชุมชน จำนวน 114,750 บาท รวมทั้งหมด 20,861750 บาท โดยสหกรณ์ฯ ได้ซื้อที่ดินจากเอกชน เลขที่ 59263 เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา ที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เพื่อเตรียมก่อสร้างบ้านแฝด ขนาด 4×7 ตารางเมตร (14 ตารางวา) ราคาหลังละ 390,000 บาท
“เนื่องจากสมาชิกในโครงการถูกไล่รื้อออกจากที่ดินเดิม และได้รับความเดือนร้อน เพื่อเป็นการลดภาระความเดือดร้อนของสมาชิก สหกรณ์ฯ จึงได้มีการเสนอของบประมาณโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราวกรณีไฟไหม้ไล่รื้อ จาก พอช. เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 จำนวน 35 หลัง วงเงิน 630,000 บาท (หลังละ 18,000 บาท) และบ้านพักที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชนว่า ชาวบ้านซื้อบ้านมั่นคง ส่งเงินไปแล้วหลักแสนบาท แต่กลับได้บ้านสังกะสี ยิ่งกว่าแคมป์คนงานนั้น ทาง พอช.ขอชี้แจงว่า เป็นเพียงบ้านพักชั่วคราว เพื่อให้สมาชิกบ้านมั่นคงที่มีความเดือดร้อนได้อยู่อาศัยก่อน ไม่ต้องเสียค่าเช่า เมื่อก่อสร้างบ้านมั่นคงเสร็จแล้ว ชาวบ้านจึงจะย้ายเข้าอยู่บ้านจริง ไม่ใช่บ้านสังกะสีตามที่ปรากฏเป็นข่าว” นายสยาม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. ชี้แจงข้อเท็จจริง
เผยสหกรณ์ฯ เจอปัญหาปิดบัญชีไม่ได้
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. ชี้แจงต่อไปว่า หลังจากสหกรณ์จัดซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้านพักชั่วคราว จำนวน 35 หลังแล้ว ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สหกรณ์ฯ ประสบปัญหาจากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้การรวบรวมกลุ่มสมาชิกในการประชุมปรึกษาหารือการดำเนินโครงการไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้สมาชิกขาดการติดต่อกับสหกรณ์ฯ ประกอบกับสหกรณ์ฯ ประสบปัญหาด้านการจัดการภายใน ไม่สามารถปิดปีบัญชีได้ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย พอช. ได้ลงพื้นที่ติดตามคลี่คลายปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนนทบุรี สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์นนทบุรี และสมาชิกผู้เดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง และพบว่า สหกรณ์มีเงินสดขาดบัญชี มีสมาชิกลาออกแต่ไม่ได้รับเงินคืน
“อย่างไรก็ตาม พอช. ร่วมกับเครือข่ายที่อยู่อาศัยจังหวัดนนทบุรี จัดประชุมสมาชิกผู้เดือดร้อน เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหา โดยได้ติดตามข้อเท็จจริงกับประธานกรรมการสหกรณ์ฯ ชุดเดิม และสมาชิก ทั้งนี้ในการประชุมสมาชิกสหกรณ์ ฯ ได้มีข้อสรุปในการดำเนินการทางกฎหมายกับประธานกรรมการชุดเดิม โดยสมาชิกได้มีการติดตามขอเอกสารต่าง ๆ จากประธานกรรมการชุดเดิมเพื่อนำไปจัดทำข้อมูลในการดำเนินโครงการต่อไป” ผช.ผอ.พอช.ชี้แจงการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา
พอช.ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาช่วยผู้เดือดร้อน
ผู้ช่วย ผอ.พอช. กล่าวต่อไปว่า จากประเด็นข่าวความเดือดร้อนดังกล่าวของชาวบ้าน พอช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ติดตามการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด โดยมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน คือ 1.ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานติดตามแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ประกอบด้วย ผู้แทน พอช. เครือข่ายที่อยู่อาศัยจังหวัดนนทบุรี ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์จังหวัดนนทบุรี และผู้แทนสำนักงานตรวจบัญชีจังหวัดนนทบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาแนวทางในการดำเนินโครงการบ้านมั่นคง 2.ฟื้นฟูและหาแนวทางในการดำเนินการให้สมาชิกผู้เดือดร้อนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และ 3.ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านพักชั่วคราวให้มีสภาพที่เหมาะสมกับอยู่อาศัย
“ขอเรียนว่า บ้านสังกะสีเป็นบ้านพักชั่วคราว ไม่ใช่บ้านจริง ซึ่งในวันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายนนี้ พอช.จะเดินทางไปพื้นที่เพื่อคลี่คลายปัญหา ส่วนเรื่องคดีความต้องปล่อยไปตามกระบวนการทางกฎหมาย โดย พอช.จะไปฟื้นฟูกลุ่มออมทรัพย์เป็นหลัก เพื่อให้พี่น้องที่เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยสามารถเดินหน้าบ้านมั่นคงต่อไปได้ แม้ว่าสหกรณ์จะถูกยุบไปแล้วก็ตาม” ผช.ผอ.พอช. กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา
เส้นทางสู่บ้านมั่นคง
โครงการบ้านมั่นคงเป็นโครงการที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนให้ชุมชนผู้มีรายได้น้อย มีความเดือดร้อนหรือไม่มีความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัย อยู่ในที่ดินบุกรุก ที่ดินเช่า ฯลฯ รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2546 โดย พอช.สนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่มสร้างบ้าน สนับสนุนสินเชื่อระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำ และอุดหนุนงบสาธารณูปโภค งบก่อสร้างบ้านบางส่วน
โครงการบ้านมั่นคงมีรูปแบบการดำเนินงานที่หลากหลายตามสภาพปัญหาและบริบทของชุมชนแต่ละแห่ง เช่น ปรับปรุงบ้านในที่ดินเดิม จัดหาที่ดินใหม่เพื่อก่อสร้างบ้าน สร้างชุมชนใหม่ โดยชาวชุมชนที่เดือดร้อนจะต้องรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา เช่น จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อบริหารโครงการ ผ่อนชำระสินเชื่อกับ พอช.
มีหลักการที่สำคัญ คือ “ชุมชนที่เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และภาคีที่เกี่ยวข้องเป็นหน่วยงานสนับสนุน” โดยมีกระบวนการดำเนินการที่สำคัญ คือ
- การชี้แจงสร้างความเข้าใจในหลักการพัฒนาที่อยู่อาศัย ภายใต้ “โครงการบ้านมั่นคง” ที่ชุมชนเป็นเจ้าของโครงการ ตัดสินใจเลือกรูปแบบในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของตนเอง ผสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กับชาวชุมชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน 2. จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นการรวมคน รวมทุน สร้างฐานการเงินของชุมชน เรียนรู้ระบบการจัดการการเงินร่วมกัน (หลังจากนั้นจึงจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล เพื่อทำนิติกรรม บริหารโครงการ)
- การจัดตั้งคณะกรรมการสหกรณ์ฯ ขึ้นมาดำเนินงาน โดยแบ่งหน้าที่ ความรับผิดชอบ 4. สำรวจข้อมูลชุมชน ความเดือดร้อน ความต้องการ เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนงาน 5. การจัดระบบสิทธิในที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นข้อตกลงของชุมชนและสร้างความเป็นธรรม
- ร่วมกันออกแบบ ทำผังชุมชน แบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ส่วนกลาง ออกแบบบ้านตามความต้องการ โดยมีสถาปนิกชุมชนจาก พอช. เป็นพี่เลี้ยง 7. เสนอแผนงานโครงการ งบประมาณ และสินเชื่อที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการกับ พอช.
- ดำเนินการก่อสร้างบ้าน และสาธารณูปโภคตามแผนงาน โดยการบริหารงานของชุมชนหรือสหกรณ์เคหสถานที่จัดตั้งขึ้น เช่น การจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้าง หรือก่อสร้างเองบางส่วน
- พัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว จะมีแผนพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมอาชีพ สร้างแหล่งอาหารในชุมชน การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม สันทนาการ กิจกรรมเด็กและเยาวชน จัดสวัสดิการให้สมาชิก ผู้สูงอายุ ฯลฯ
ปัจจุบัน พอช.สนับสนุนการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศแล้วกว่า 1,000 โครงการ รวมกว่า 200,000 ครอบครัว โดยมีเป้าหมายตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เพื่อให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงจำนวน 1 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ