โซลาร์เซลล์ :อนาคตพลังงานที่พึ่งตนเองได้

โซลาร์เซลล์ :อนาคตพลังงานที่พึ่งตนเองได้

สถานการณ์พลังงานและสัดส่วนของก๊าซธรรมชาติที่ลดลง ส่งผลกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ตอนนี้กระแสที่กำลังมาแรงการใช้พลังงานในราคาที่เข้าถึงได้ หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนแสงอาทิตย์บนหลังคาเป็นพลังงานไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์  ซึ่งข้อมูลปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ปี พ.ศ. 2564  ประเทศไทยผลิตได้ 4,298  กิกะวัตต์ อันดับสองในกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากประเทศเวียดนาม

สำหรับในพื้นที่ ภาคใต้เริ่มเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในภาคธุรกิจท่องเที่ยว ภาคเกษตร โรงพยาบาล รวมถึงภาคครัวเรือน แม้ว่าปัจจุบันการติดตั้งโซล่าเซลล์จะทำได้ง่ายมากขึ้น  แต่ก็มีข้อจำกัดทั้งต้นทุน องค์ความรู้ และช่าง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงพลังงานชนิดนี้ได้อย่างทั่วถึง  ซึ่งโจทย์สำคัญที่มองควบคู่นโยบายของรัฐ คือจะทำอย่างไรที่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงการใช้พลังงานที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

นี่คือโจทย์ที่รายการฟังเสียงประเทศไทย ออกเดินทางไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในภาคใต้ มองภาพอนาคตและโอกาส การพึ่งพาตัวเองด้านพลังงานจาก “โซลาร์เซลล์” ในอีก 5 ปีข้างหน้า  ผ่านข้อความสั้น ๆ นี่เป็นเพียงข้อความบางส่วน ที่อยากจะบอกเล่าถึงความหวังที่อยากเห็น

ชวนมาทำความเข้าใจเรื่องราวของพลังงานโซลาร์เซล์

ไฟฟ้า เป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศทั่วโลก ปัจจุบันเราใช้พลังงานจากฟอสซิล ถ่านหิน น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าซึ่งตอนนี้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ส่งผลต่อค่าไฟของแต่ละบ้านที่มีการคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

สถานการณ์นี้เกิดขึ้นกับทั่วโลกที่เริ่มตระหนักถึงความไม่ยั่งยืนของแหล่งพลังงานที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เริ่มวางแผนเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนและลดสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิลลงเรื่อย ๆ

หากย้อนไปก่อนหน้านี้เราได้เปลี่ยนผ่านด้านพลังงานมาแล้วหลายครั้งยุคเริ่มแรกสุดหลายร้อยปีก่อนพลังงาน มาจากฟืน ซึ่งเป็นชีวมวลดั้งเดิม ก่อนที่จะเริ่มเปลี่ยนมาใช้ถ่านหิน 

หลังจากนั้นอีกไม่ถึง 100 ปี มนุษย์จึงเริ่มการพึ่งพาน้ำมัน และเริ่มใช้ก๊าซธรรมชาติจนล่าสุด ทำให้เกิดกระแสการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานครั้งสำคัญของโลก มาสู่การใช้แหล่งเชื้อเพลิงพลังงานคาร์บอนต่ำ

และพลังงานหมุนเวียน พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดการปลดปล่อยของก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน

ทั่วโลกได้นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า จาก 5 ประเภทที่มาจากธรรมชาติ ได้แก่ น้ำ ลม แสงอาทิตย์ ชีวภาพ และใต้พิภพ 

ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานปีพ.ศ. 2564  ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 209,717 กิกะวัตต์ จากไฟฟ้านำเข้าและพลังงานหมุนเวียนมีปริมาณเพิ่มขึ้น ในขณะที่การผลิตจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินลิกไนต์และน้ำมันลดลง

โดยปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ปี พ.ศ. 2564  ประเทศไทยผลิตได้ 4,298  กิกะวัตต์ อันดับสองในกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากประเทศเวียดนาม

ในปัจจุบันการติดโซลาร์  มี 3 ระบบ  คือ ระบบออนกริด , ระบบออฟกริด เเละระบบไฮบริด

  • เเบ่งเป็นสองส่วนหลักๆ
  • โซล่าเซลล์สำหรับบ้านและที่พักอาศัย ซึ่งมีตั้งแต่ขนาด 1 – 12 กิโลวัตต์
  • โซล่าเซลล์สำหรับโรงงานและธรุกิจอุตสาหกรรม  เพื่อใช้สำหรับการผลิตและเครื่องจักรต่างๆ
  • และเริ่มเห็นนวัตกรรมการนำเทคโนโลยี  นำพลังงานจาก โซลาร์เซลล์มาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับภาคใต้ ศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เฉพาะแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และสภาพอากาศที่มีแดดสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 4ชั่วโมงต่อวัน

ข้อมูลจากผู้ประกอบการภาคใต้โซลาเซลล์ พบว่า ยอดการจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในช่วง  2 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 10 เท่าต่อเดือน ส่วนใหญ่ติดตั้งใช้เอง ในภาคเกษตร ครัวเรือน โรงงานมีการติดตั้งมากขึ้นอย่างต่อเนื่องกระจายในหลายจุดทั่วภาคใต้  เช่น

  • เครือข่ายคนกินแดดชายแดนใต้ หน่วยเรียนรู้โซลาร์เซลล์ระดับครัวเรือนและภาคเกษตรกรรม
  • โรงพยาบาลจะนะจ.สงขลา ต้นแบบการใช้พลังงานหมุนเวียน 
  • วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ โซลาร์รูฟท็อป แหล่งบ่มเพาะแรงงานและผู้ประกอบการในตลาดโซลาร์เซลล์
  • อาสาช่างโซลาร์เก็บตะวัน ศูนย์บ่มเพาะช่างโซลาเซลล์ชุมชนท้องถิ่นกระจายตัวให้ความรู้กับผู้ที่สนใจทัในภาคใต้
  • ล่าสุดสำหรับเทรนด์การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ที่ผู้ประกอบการโรงแรมภาคใต้ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนมาช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าและน้ำมัน  เช่น  เรือหางยาวโซลาร์เซลล์ ทุ่งหยีเพ็ง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่  พาชมยามเย็นด้วยเรือโซลาร์เซลล์

ประเทศไทยมีแหล่งบ่มเพาะจากสถาบันการศึกษาทั้ง  วิทยาลัยทั้งการอาชีพ เทคนิคอาชีวะ

ผลิตบุคลากรช่างเทคนิคสู่การเป็นผู้ประกอบการในตลาดธุรกิจประกอบไฟฟ้าโซลาเซลล์จำนวนมาก  เกิดอาชีพใหม่ที่ต่อยอดมาจากความรู้ความสามารถที่มีอยู่ เช่น วิศวกรรมติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ วิศวกรรมควบคุมการผลิตไฟฟ้า บำรุงรักษา

สำหรับภาคใต้วิทยาลัยเทคนิคและอาชีวะศึกษามีจำนวนกว่า 17 แห่ง

จุดเปลี่ยนและข้อท้าทายสำคัญสู่ระยะเปลี่ยนผ่านพลังงาน 

  • แหล่งพลังงานหมุนเวียนจากหลายประเทศมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สัดส่วนของก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มลดลงและต้นทุนสูง ทำให้ทั่วโลกเริ่มหันเข้าหาพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ซึ่งเป็๋นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและต้นทุนที่ต้องจ่าย
  • สำหรับประเทศไทยวางเป้าหมายประกาศในที่ประชุม COP26 ลดก๊าซเรือนกระจกน้อยละ  25  ภายในปี 2573  โดยแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2561-2580 หรือ (PDP2018) ที่ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50  

ยกระดับการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ระบบไมโครกริด  ปลดล็อกกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้า เพื่อรองรับการผลิตเองใช้เอง (Prosumer) มากขึ้น  ซึ่งปัจจุบันกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องยังคงซับซ้อน ทำให้กลายเป็นข้อจำกัดสำหรับคนทั่วไป

  • การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์และพลังงาน สามารถคาดการณ์ผลผลิตไฟฟ้าแบบ real-time สามารถปรับแผนได้ทันที  ลดข้อจำกัดการผลิตไฟฟ้าจากสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน ซึ่งทั้งหมดนี้อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตลาด รูปแบบธุรกิจพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว 
  • ข้อท้าทายจากนโยบายพลังงานจากรัฐในการเข้าถึงพลังงานทางเลือกได้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ยังเป็นโจทย์สำคัญในการรับมือกับความท้าทายในอนาคต

และจากข้อมูลทางทีมงานรายการเลยลองประมวลภาพความน่าจะเป็น จึงอยากชวนผู้อ่าน และผู้ชมคิดถึงภาพอนาคตของพลังงานทางเลือกโซลาร์เซล์ในอีกประมาณ  5 ปีข้างหน้า ทีมงานลองประมวลมา 3 แบบ เพื่อคนในวงสนทนา และผู้อ่านทุกคนร่วมกันมองว่าอนาคตของพวกเขาจะเป็นไปในทิศทางใด ?

ฉากทัศน์ที่ 1 ประเทศจีน  อุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์

จีนเป็นประเทศที่มีประชากรและการปล่อยคาร์บอนสูงสุดในโลก จีนตั้งเป้าลดการใช้พลังงานฟอสซิล และเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดทั่วประเทศให้ได้ถึง 35% ภายในปี 2573 รัฐบาลจีนลงทุนงบประมาณมหาศาลด้านโซลาร์เซลล์เพื่อนำใช้ในภาคธุรกิจและภาคเกษตรซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ  โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เสนอเงินอุดหนุนจำนวนมากแก่ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ สนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ  ทำการจัดตั้งโรงงานผลิตในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น

จีนพยายามใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ในทุกหนแห่งที่มีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นตามหลังคาบ้านเรือนของประชาชน พื้นที่ในชนบทที่ว่างเปล่า ฟาร์มโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ และเสาไฟฟ้าเกือบทุกสายในเส้นทางหลักทั้งในเมืองและชนบท  รวมถึงฟาร์มโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ในแปลงเกษตร   และสนับสนุนค่าอุปกรณ์ในการใช้พลังงานทดแทนให้ครัวเรือน

ที่ผ่านมารัฐบาลจีนสนับสนุนให้หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษาวิจัย พัฒนาทักษะแรงงานให้สามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ รวมถึงให้ทุนพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ กับวัสดุหลากหลายชนิดมีราคาถูกพอที่จะสามารถติดตั้งบนหลังคาและสามารถผลิตไฟฟ้าในสภาพอากาศที่หลากหลายขึ้น ปัจจุบันสามารถผลิตอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้เองและส่งออกผลิตภัณฑ์ไปสู่ 80 ประเทศทั่วโลก ในราคาที่ไม่แพงและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งทั้งหมดนี้แม้ว่าจะใช้เวลาไม่เยอะมาก แต่ก็ใช้เงินทุนมหาศาล

ภาพอนาคตที่ 2: ประเทศอินเดีย โมเดลสนับสนุนคนละครึ่ง

อินเดียเป็นประเทศที่มีปริมาณสำรองถ่านหินมากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก แต่ปัจจุบันกลับมีถ่านหินไม่เพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้าใช้ในประเทศ

รัฐบาลอินเดีย ได้ร่างแผนพลังงานใหม่ ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ โดยสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ติดตั้งบนหลังคาไม่ว่าจะเป็นบ้าน สถานศึกษา อาคารพาณิชย์ และโรงงาน โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลแห่งรัฐรับค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 และครึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้านที่ต้องลงทุนเอง

อินเดียเป็นประเทศที่มีต้นทุนการติดตั้งพลังงานจาก “โซลาร์เซลล์” ในราคาไม่สูงนัก ค่าแรงถูก มีบุคลากรเชี่ยวชาญในด้านไอทีและเทคโนโลยีจำนวนมาก จึงทำให้รัฐบาลหรือภาคเอกชนไม่จำเป็นต้องนำเข้า แรงงานที่มีทักษะสูงจากต่างประเทศ แต่ข้อจำกัดยังต้องพึ่งพาการนำเข้า “แผงโซลาร์เซลล์” ราคาถูกจากประเทศจีน

ทั้งนี้อินเดียมีระบบ Net Metering ช่วยให้ครัวเรือนขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตเกินได้ โดยในช่วงแรกรัฐบาลกลางและเทศบาลจะต้องสนับสนุน  ทั้งงบประมาณและองค์ความรู้รวมถึง  ทุนสนับสนุนให้กับสถาบันเทคโนโลยีและบริษัทวิศวกรรมของรัฐในการพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ประสิทธิภาพสูง ทั้งหมดอยู่ภายใต้นโยบายของรัฐ   

ภาพอนาคตที่ 3: ประเทศเยอรมนี  กระจายอำนาจพลังงานสู่ภาคประชาชน 

แม้ประเทศเยอรมนี จะตั้งอยู่ในโลเกชันที่ไม่อำนวยแดดน้อย แต่ในปีนี้กว่าร้อยละ 50 ของการใช้พลังงานทั้งหมดในประเทศมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ร้อยละ 50  เคล็ดลับของการเติบโตเกิดจากความร่วมมือของสามส่วน รัฐ ธุรกิจ ภาคประชาชนโดยรัฐบาลมีนโยบายที่เปิดกว้างและให้การสนับสนุนเป็นในเรื่องของพลังงานสะอาด  มีมุมมองว่าผู้ที่ทำการติดตั้งโซลาร์เซลล์ถือว่าเป็นผู้ที่มีส่วนลดภาระของประเทศ

ดังนั้นภาครัฐจะให้การสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ ผลักดันในเรื่องของการสนับสนุนให้ประชาชนนั้นสามารถเปลี่ยนบทบาทจากการที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้า ให้กลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า และถ้ามีปริมาณมากพอก็สามารถ “ขายไฟฟ้าให้รัฐ”  โดยใช้พื้นที่ มีบ้าน ตึก หรือพื้นที่ว่างต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงรถ, โรงนา  ติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้หมดทุกที่

เพื่อลดภาระของประเทศในระยะยาวและเป็นการสนับสนุนพลังงานที่สะอาด  ภาครัฐจึงนโยบายที่เปิดกว้างและสนับสนุนให้ภาคประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์มากยิ่งขึ้น โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมาเป็นส่วนลดในการจ่ายภาษี  หรือสามารถเลือกที่จะรับรายได้จากการผลิตโดยที่ “ไม่ต้องเสียภาษี”  และถ้าไม่มีเงินทุนที่เพียงพอต่อการติดตั้ง หลายธนาคารที่พร้อมสนับสนุนเรื่องนี้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

ปัจจุบันตลาดการแข่งขันค่อนข้างสูง ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวจากผู้ผลิตปรับกลยุทธ์ไปสู่นักวิจัยและสร้างนวัตกรรมเต็มตัว

แต่กว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ก็ไม่ง่าย ต้องใช้เวลาเกือบ 20 ปีในการวางแผนผลักดันกฎหมายด้านพลังงาน รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีให้ต้นทุนโซลาร์เซลล์มีราคาต่ำลง เพื่อประชาชนทั่วไปที่สนใจที่จะลงทุนและเข้ามาเป็นเจ้าของพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

สมพร ช่วยอารีย์  นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีกล่าวว่า ในส่วนของโซลาร์เซลล์ คิดว่าแหล่งพลังงานหลักของเราเรียกว่าแหล่งพลังงานปฐมภูมิ คืออันดับแรกมีพลังงานดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์ก็ส่องมาที่โลกก็มีต้นไม้ ถ้าเรามองต้นไม้ก็คือผู้ผลิต ถัดมาก็คือใบไม้รับแสงแดดก็ปรุงอาหารเองได้ ใบไม้คือก็ครัวของต้นไม้ พอเราเห็นแล้ว เราสามารถที่จะเอาแสงมาใช้เลียนแบบต้นไม้นี้ได้ไหม ก็คือเกิดมาเป็นโซลาร์เซลล์

ผมสนใจโซลาร์เซลล์มานานมากแล้วตั้งแต่ตอนที่ผมเรียนอยู่ที่เยอรมนี พอเรากลับมารู้สึกว่าเเผงโซลาร์เซลล์ยังหายากเเต่พอที่จะมีแผงมือสองอยู่บ้าง ตอนนั้นก็ราคาสูงมาก พอผ่านมาปี 2556 เราก็พบว่า ถึงเวลาที่จะต้องนำร่องเรื่องนี้แล้วจริงๆก่อนนั้นได้เคลื่อนเรื่องของการจัดการหรือภัยพิบัติ พอจัดการภัยพิบัติเรารู้ว่าน้ำจะท่วมยังไง ฝนจะตกแค่ไหน มันไม่ค่อยท้าทายเท่าไหร่ เลยคิดว่าสิ่งที่อยู่ใกล้พี่น้องประชาชนทุกครัวเรือนก็คือพลังงาน ถ้าจัดการพลังงานได้ ก็จะจัดการภัยพิบัติก็น่าจะได้ เป็นจุดเริ่มต้นเเละขยายผลตลอดมา

เราไม่จำเป็นต้องติดตั้งที่เดียวที่ละเป็นแสน แต่เราค่อยๆทำ ทำแล้วมีความสุขก็ขยายผลต่อขยายต่อไปเรื่อยๆ เริ่มจากหลักพันเป็นหมื่นแล้วก็ขยับไป ให้พอหุงข้าวได้ เปิดพัดลมได้ จัดการแสงสว่างได้

มีคำถามต่อเราจะจัดการทั้งครัวเรือนได้ไหม พอลองไปพบว่าเราก็สามารถจัดการได้ทั้งครัวเรือน อันนี้ก็มีโจทย์ต่ออีกว่าถ้าวันหนึ่งไฟเหลือ เราจะทำอย่างไร เราก็เอาไปสีข้าวก็ขยายผลไปที่ครัวเรือน ซึ่งเทคโนโลยีมันก็ค่อยๆปรับมาเรื่อยๆ เราก็ขยายผลไปเรื่อยๆ หลายคนมาร่วมมือกัน เกิดเป็นเครือข่ายคนกินเดด

ผมคิดว่าพลังงานมันเป็นสิ่งสำคัญ ถ้ามันคิดให้ครบทั้งระบบมันเป็นไปได้ไหม ถ้าครัวเรืองจัดการผลิตไฟฟ้าได้ จัดการน้ำผลิตน้ำได้ จัดการผลิตแก๊สได้ ผลิตอาหารได้ เเละจัดการความรู้ได้ก็จะครบทั้งระบบ ทำให้ชาววบ้านจัดการเรือนตัวเองได้ ก็จะทำให้ชุมชนจัดการตัวเองได้เช่นกัน

เราเริ่มที่ติดตั้งโซลาร์เซลที่ใจก่อน

จำไว้ว่า แดดถึงไหน ไฟถึงนั้น เมื่อไฟถึงไหน การศึกษาก็ถึงนั้น เมื่อการศึกษาถึงไหน กระบวนการเรียนรู้ การยกระดับความเป็นอยู่ของครัวเรือนก็จะดีขึ้น

ผมเลือกฉากทัศน์เยอรมนีมองว่า เป็นต้นแบบ ก่อนหน้านี้เยอรมนีไฟฟ้าหน่วยละ 12 บาท แต่วันนี้ไฟฟ้า หน่วยละ 28 บาท  แต่เยอรมันค่าครองชีพเขาสูงกว่าบ้านเรา ประมาณ 7 เท่า เป็นอัตราที่เขาจ่ายได้ เยอรมันเขามีบริษัทพลังงานมากมาย ประชาชนสามารถซื้อไฟจากบริษัทไหนก็ได้ ตามที่เราชอบนโยบายของบริษัทนั้น

เเต่สิ่งที่น่าสนใจถ้าวันไหนมีลมและมีแดดมาก เวลาไฟเกินเขาพร้อมที่จะส่งออก และเมื่อคุณใช้ไฟในยามที่ไฟเหลือ เขาก็จ่ายเงินให้กับเรา (จ้างให้ใช้) เพื่อควบคุมการบริหารจัดการให้อยู่ได้ เราเคยภูมิในว่าไทยเคยผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซล์ ได้เยอะ แต่ตอนนี้ประเทศเวียนนามแซงเราไปประมาณ 5 เท่าของการผลิตไฟจากโซลาร์เซลล์

อภิชาญ มูลละคร หัวหน้าแผนกวิชาเทคนิคพลังงาน วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่กล่าว่า  ยุคหลังๆตัวโซลาร์เซลล์ถูกลงมาก มองว่าเป็นโอกาสของนักศึกษที่จบออกไปที่สามารถมีอาชีพใหม่ๆ ตัวเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ก็เป็นอีกชนิดหนึ่งที่เราเห็นภาพชัดมาก คือนักศึกษาเองสามารถเอาไปต่อยอดได้ เพราะตอนนี้มีหลายๆแห่งติดต่อมาให้นำเด็กไปช่วยติดตั้งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นโอกาสของเด็กๆ อยากให้พี่น้องประชาชนหรือนักเรียนนักศึกษา นำพลังงานตรงนี้มาใช้

เราสามารถเริ่มจากสิ่งเล็กๆก่อน เราจะเห็นเลยว่าสิ่งที่จะตามมามันจะคุ้มค่า บางคนอาจจะใช้เยอะก็อาจจะต้องลงทุนเยอะ เราใช้น้อยเราลงทุนน้อย มันก็เป็นส่วนที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ส่วนของภาคอุตสาหกรรมตอนนี้เทรนด์ของการพัฒนาประเทศมันไปสอดรับกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งพลังงานทดเเทน โซลาร์เซลล์ มีข้อดีในแง่ของการที่จะนำมาใช้ประโยชน์ลดต้นทุน ซึ่งจับต้องได้เร็ว

ถ้าเป็นเทคโนโลยีอื่นๆอาจมีความซับซ้อน แต่โซลาร์เซลล์มันทำให้เราชีวิตง่ายขึ้น ผมก็เลยคิดว่ามันเป็นโอกาส ที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนตั้งแต่ครัวเรือน เปลี่ยนแนวคิด

อยากเห็นการกำหนดนโยบายที่ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานได้

ธีรภัทร เขมะธีรรัตน์  ผู้ออกแบบและติดตั้งโซลาร์เซลล์กล่าวว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงยุคแรกก็คือโซลาร์ฟาร์ม เราก็พยายามไปศึกษา เพื่อนๆพอมีความรู้ระดับหนึ่ง ก็ไปติดตั้งอยู่ทำอยู่ที่ ภาคเหนือ ภาคกลาง เเละภาคอีสาน แล้วทุกคนก็เป็นคนภาคใต้ ตอนนั้นก็มีมายาคติบางอย่าง ที่มองว่าภาคใต้มันดูไม่เวิร์ค “ฝน 8 แดด 4” ฝนตกมากไม่คุ้ม

เราก็พยายามเก็บข้อมูลการติดตั้งและการผลิตไฟฟ้าได้จริง ดูข้อมูลย้อนหลังซึ่งเป็นข้อมูลออนไลน์ที่เราเอามาแชร์กัน แล้วก็ขับเคลื่อนกัน มีระบบออนกริดระบบหนึ่ง ที่เราไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ กำจัดปัญหาความวุ่นวายเรื่องระบบแบตเตอรี่ไป ซึ่งแต่เดิมมันต้องเก็บแบต มีระบบเก็บกักพลังงานมีความยุ่งยากในการในเชิงการติดตั้ง พอเจอหน้าฝนหลายคนก็ยกเลิก

เรามองว่าระบบออนกริดมันเป็นโอกาส เเละมีเเนวโน้มที่จะเติบโต พอทำได้ประมาณสัก 2-3 ปี ก็มีโครงการขายไฟให้การไฟฟ้า การไฟฟ้าก็เข้ามาสนับสนุนมากขึ้น มันง่ายขึ้นมัน เริ่มเติบโตคนก็เริ่มเข้ามาสนใจมาก

ถ้าพูดถึงโซลาร์เซลล์สมัยก่อนก็คือรัฐต้องสนับสนุนอย่างเดียวครับ เพราะว่าการลงทุนมีมูลค่ามันค่อนข้างสูง

ถ้าพูดถึงในปัจจุบันเรื่องโซล่าเซลล์ ตอนนี้ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อเฉพาะ ผู้ประกอบการเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเป็นชาวบ้านอาจจะมองเห็นว่าทางภาครัฐเเละทางสถาบันการเงิน เขายังไม่ค่อยมีสินเชื่อด้านนี้มาสนับสนุน

หากมองเรื่องงานระบบงานติดตั้งคือความต้องการมีมากกว่าบริษัทหรือว่าผู้ประกอบการ ผมมองว่าอนาคตจะต้องผลักดันช่างรุ่นใหม่ เพื่อมารับติดตั้งหรือว่ามาดูแลบำรุงรักษาระบบ เพราะระบบพวกนี้มันเป็นระบบอุปกรณ์ไฟฟ้ามันต้องมีการดูแลตรวจเช็คตามมาตรฐาน

เป็นไปในอนาคตอ่าผมอยากได้แบบเยอรมันนะครับเพราะว่าดูเยอรมนี แล้ว มันแฟร์กับทุกฝ่ายกับผู้บริโภคแต่ในระยะสั้นเนี่ยผมมองว่าที่น่าจะเกิดเป็น ระบบ Net Meteringหรือ “การวัดไฟฟ้าแบบสุทธิ” คือ ระบบที่อนุญาตให้เจ้าของพื้นที่ที่มีการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน  อาจจะเป็นเหมือนคล้ายๆอินเดียน่าจะเป็นไปแนวทางนี้ครับ

ดิเรก เหมนคร ผู้สนใจเรื่องพลังงานทางเลือกกล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการเกิดโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ก็คือว่าตอนปี 57 มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีการรับฟังความคิดเห็นครั้งนั้น ก็ทำให้เกิดเครือข่ายคำถามว่า ในพื้นที่ของเราก็มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แล้ว จำเป็นที่จะต้องมีอีกหรือ?

ทางเครือข่ายก็มีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลพบปะนักวิชาการต่างๆแล้วก็ผู้ผลิตไฟ เราได้ข้อสรุปว่า ข้อมูลไฟฟ้าสำรองเหลือเฟือ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

เราเห็นว่ามันไม่มีความจำเป็น เมื่อเราไม่เห็นด้วยเราก็ต้องมีทางเลือกให้กับคนที่เราคัดค้าน  เราก็เลยเสนอทางเลือกจากพลังงานอื่น เราเห็นว่าโซลาร์เซลล์มันไปได้ไกลแล้วสามารถที่จะสร้างความมั่นคงได้ เราก็ร่วมมือกับนักวิชาการที่มาให้ข้อมูลให้คำปรึกษา

เราเคยจดจำเวทีเราเจอวาทะกรรม ฝน 8 แดด 4 ไฟฟ้าไม่พอ ลมไม่พอ แดดไม่พอ น้ำไม่พอ  วันนี้เรามานั่งขำ คนที่พูดเพราะวันนี้เขาก็หันมาทำธุรกิจโซลาร์เซลล์ 

วันนี้ทุกสิ่งทุกอย่างมันถูกเปิดเผยความจริงว่าโซล่าเซลล์เป็นไฟฟ้าที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ตอบโจทย์ประเทศไทยได้

และตอนนี้เราก็มีศูนย์พลังงานหมุนเวียน ได้รับการสนับสนุนจากหลายๆหน่วยงาน เป็นศูนย์ศูนย์พลังงานหมุนเวียนชุมชนพึ่งเปิดไป เพื่อเป็นเเหล่งศึกษาเรียนรู็ในชุมชน

เเละจากการที่เราติดตั้งโซลาร์เซลล์ ไฟฟ้าเราเหลือใช้ เเละส่วนนี้ทำให้เกิดสวัสดิการในองค์กร เกิดความสุข

สำหรับผมในฐานะผู้ใช้ แต่ละประเทศมีข้อดีอยู่ที่เหมาะกับบ้านเรา ผมไม่อยากจะฟันธงว่าต้องเยอรมนี จีนหรืออินเดีย แต่ว่าผมอยากได้ทั้ง 3 คือผมมองจีนหมายความว่ารัฐลงทุนทำโซลาร์เซลล์ ผมก็อยากให้รัฐเปลี่ยนนโยบายเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าให้มาเป็นโรงไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์

ส่วนของอินเดียผมมองว่ารัฐช่วยประชาชนคนละครึ่งให้ประชาชนทำแบบง่ายๆสามารถติดตั้งบนหลังคาทั่วไปกันได้สำหรับที่จะใช้ในครัวเรือน

ส่วนของเยอรมนีนี้เป็นสุดยอดเรื่องการกระจายความเป็นธรรม ผมมองว่าเรื่องการผลิตไฟฟ้ามันควรจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิตผู้ใช้บริการ คือให้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในระบบสายส่ง ถ้าไม่พอค่อยไปเอาจากพลังงานฟอสซิล แล้วประชาชนก็มีสิทธิที่จะเลือกซื้อจากพลังงาน

ประเด็นที่สำคัญก็คือเยอรมนีเขาสามารถขายไฟได้ด้วย ซึ่งผมว่าประชาชนจะมีสิทธิ์ที่จะขายไฟเข้าไปในระบบของสายส่งได้เพราะฉะนั้นผมว่า 3 ฉากทัศน์มาปรับรวมกัน ก็จะเป็นประเทศไทยก็น่าจะดีนะ

5 ปีข้างหน้าพลังงานหลักก็จะเป็นพลังงานหมุนเวียน สิ่งที่เราติดคือนโยบายรัฐ ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับ

วีรชัย อินทราช ผู้ประกอบการ โซลาร์เซลล์ ภาคใต้ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและติดตั้งโซลาร์เซลล์มองว่า ในทิศทางของอินเดีย แต่ว่าจริงๆแล้วผมมองสั้นนะ เพราะว่าผมรู้สึกว่าผมจมอยู่กับปัญหา ในภาคใต้ตั้งเเต่ยุคเเรก เราไม่มีช่างมากพอ พอมาวันนี้เกิดช่างในเเต่ละจังหวัด 10-20 ทีม เมื่อก่อนช่างน้อยไม่มีแรงจูงใจที่จะมาติดตั้ง วันนี้ การไฟฟ้าติดตั้งเอง  จากที่เราเป็นช่างอาสา บางสัปดาห์เราต้องไปสำรวจ 40 เเห่ง เจอปัญหาเดียวกันความต้องการมีมากกว่า การมีช่าง

ซึ่งการติดตั้งเพื่อใช้งานเองขนาดไม่ใหญ่ไม่น่ากังวลถึงเรื่องความปลอดภัย เเต่สถาบันการศึกษาน่าจะลงมาผลักดันเรื่องช่างเพราะไม่ใช่เเค่เรื่องความปลอดภัย หรือความรู้เรื่องช่าง แต่ยังต้องรู้เกี่ยวกับการโยธา หรือโครงสร้างของตัวอาคาร ซึ่งจำเป็นในงานที่ขนาดใหญ่ขึ้น ที่ต้องมีงานวิชาการเเละมาตรฐานมารองรับ

เพราะฉะนั้นในมุมผมไม่ได้มองว่าฉากทัศน์มันเป็นเหมือนประเทศใด  แต่ว่าที่ใกล้เคียงบ้านเราก็ ผมมองว่าประชาชนควรติดตั้งได้เอง มีช่างท้องถิ่นเยอะๆ อินเดียรู้สึกว่าใกล้เคียงบ้านเรา ผมก็เลยมองว่าในทิศทางประเทศไทยน่าจะคล้ายอินเดียมากกว่าแต่ก็อยากเห็นเหมือนกันที่บอกว่าผลิตและแลกเปลี่ยนแบบเป็นธรรม อันนี้ก็อยากเห็นให้เกิดขึ้น 

ผมเองมองไปที่ด้านการศึกษาเห็นปัญหา หาช่างยาก ช่างที่เราอยากได้ตามที่เราต้องการ ผมว่าตรงนี้ยังน้อยและยังขาด

คุณผู้อ่านสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและเลือกภาพอนาคตนี้ได้ ที่ลิงก์ด้านล่างนี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ