ปลูกป่า คืนชีพภูเขา ฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ จ.เลย โดยประชาชน

ปลูกป่า คืนชีพภูเขา ฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ จ.เลย โดยประชาชน

ภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง

เมื่อวันที่ 11  มิถุนายน 2566 เวลาตั้งแต่ 08.00 – 12.00 น. ชาวบ้านกลุ่มฅนรักบ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ในตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย พร้อมด้วยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง คณะครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยผูก  ประชาชนในหมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำร้าง และประชาชนในพื้นที่ตำบลเขาหลวง นอกจากนี้ยังมีองค์การส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแรดแกรม (Radical Grandma Collective (RadGram) อาจารย์สาขาการเมืองและการปกครองระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงอาจารย์และนักศึกษาจากสาขาจิตวิทยาชุมชน มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ โลเวล (University of Massachusetts Lowell) สหรัฐอเมริกา รวมแล้วในราว 100 คน ทำกิจกรรม “ปลูกป่าคืนชีพภูเขา”​

ภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง

บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักและสนุกสนาน ผสมผสานกันหลายช่วงวัย เมื่อแต่ละคนได้นำพันธุ์ไม้ท้องถิ่นจำนวนกว่า 5,000 ต้น และเมล็ดพันธุ์ไม้พื้นบ้านที่ชาวบ้านช่วยกันเก็บรวบรวมอีกไม่น้อยกว่า 5,000 เมล็ด พร้อมด้วยอุปกรณ์สำหรับการปลูก อาทิ จอบ เสียม พร้า หรือแม้กระทั่งหนังสติ๊ก เพื่อออกมาทำกิจกรรม ที่เรียกว่า “ปลูกป่าคืนชีพภูเขา”​ หรือการฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยการร่วมกันปลูกป่าในพื้นที่รอบๆ หมู่บ้าน และบริเวณรอบพื้นที่เหมืองแร่ทองคำที่ถูกทิ้งร้างบริเวณ​ “ภูซำป่าบอน” ซึ่งมีความเสื่อมโทรมจากการทำเหมืองแร่ และมีสภาพถูกทิ้งร้างมานาน

“รู้สึกว่าวันเวลาที่เราเฝ้ารอมานานมาถึงเสียที”  ระนอง กองแสง หรือแม่รส อายุ 62 ปี สมาชิกกลุ่มฅนรักบ้านเกิด กล่าวด้วยความตื้นตัน

แม่รส ยังกล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ชาวบ้านรอคอยมานานตลอดเวลาการต่อสู้กับเหมือง การไปศาลกว่า 27 คดี  ถูกทำร้ายกลางหมู่บ้าน ที่ต่อสู้ก็เพื่อให้ “ปิดเหมืองและฟื้นฟู”  และสู้ในศาลจนศาลพิพากษาให้ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยที่ชุมชนต้องมีส่วนร่วมแต่ไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการอะไรหลังจากศาลตัดสินมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี

“ดีใจที่วันฟื้นฟูมาถึง ซึ่งวันนี้เราได้รวมตัวกันด้วยความหวังเมื่อชักชวนพี่น้องในชุมชนมาร่วมปลูกต้นไม้ เพื่อที่จะขอให้ทุกคนมาร่วมและคนนับร้อยคนในวันนี้มาร่วมด้วยความตื่นเต้น เพราะเรามีความหวังเหมือนกันว่าต้นไม้จะโตขึ้น หวังว่า4-5ปี ข้างหน้าจะร่มรื่นเป็นป่าไม้ ทำให้บนนี้มีร่มเงา มีนกหนู มีหนู สัตว์ป่ามาอาศัยโดยไม่ต้องรอ” แม่รสอธิบายย้ำ

ภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง

สมาชิกกลุ่มฅนรักบ้านเกิด พร้อมบอกว่า แม้ว่าแผนการฟื้นฟูของรัฐบาลตามคำสั่งศาลยังไม่เกิดขึ้น และปล่อยให้เราอยู่กับมลพิษปนเปื้อนอย่างไม่ใยดีมาเป็นเวลานาน จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการอะไรเลย แต่วันนี้ก็ภูมิใจที่มีคนข้างนอก มีนักศึกษาต่างประเทศเห็นความสำคัญ ตลอดจนนายกอบต.  ผอ.โรงเรียน รวมถึงเด็กๆ นักเรียนในหมู่บ้านของเราเองได้ออกมาร่วมกัน ทำให้รู้สึกสุขใจ สมกับที่เราหวังไว้ได้เริ่มต้นแล้ว

“เราจะฟื้นคืนชีวิตภูเขากลับมาให้ได้ จะปลูกต้นไม้ไปเรื่อยๆ ซึ่งหากมีแขกหรือใครมาเยี่ยม เราก็จะชวนให้ไปร่วมปลูกป่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราเลือกจะปลูกป่าบน ‘ภูซำป่าบอน’ เพราะเป็นภูเขาแรกที่เราสูญเสียไปเพราะเหมืองแร่ และเป็นภูเขาที่สำคัญกับชีวิตคนในชุมชนมาก เราเคยใกล้ชิดพึ่งพาหาอาหารตลอดเวลา เคยได้ไปหาอยู่หากิน จึงคิดว่าคงจะดีที่ได้ลงมือฟื้นฟูแม้มันจะเพียงน้อยนิดเราก็ดีใจที่เราได้ทำเสียที”

ส่วน ลาริสา ไกสเอส (Larissa Gaias) อาจารย์สาขาจิตวิทยาชุมชน มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ โลเวล (University of Massachusetts Lowell) กล่าวว่า ตนเดินทางมาหมู่บ้านเพื่อพานักศึกษาที่เรียนจิตวิทยาชุมชนมาเรียนรู้ปัญหา และการต่อสู้กับเหมืองแร่ทองคำในชุมชน พอดีกับที่ชุมชนจัดกิจกรรมปลูกป่าฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่

ลาริสา ระบุว่า นอกจากจะเป็นกิจกรรมฟื้นฟูธรรมชาติและความสัมพันธ์ของคนในชุมชนด้วย มันเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ที่วันนี้ได้เห็นผู้เข้าร่วมหลากหลายคนในชุมชน ชาวบ้านที่หลากหลายทั้งครู นักเรียน อาจารย์มหาวิทยาลัย  องค์การบริหารส่วนตำบล ได้มาร่วม

เท่าที่ได้ศึกษาชุมชนรอบเหมืองทองได้ประสบปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือมีบาดแผลร่วมกัน แต่ละคนเคยนอนไม่หลับเพราะเสียงระเบิดเหมืองแร่  ลำบากจากการต่อสู้คดีความ ถูกทำร้ายละเมิดกระทำรุนแรงต่อร่างกายจิตใจ พวกเขาต้องผ่านความทุกข์ทรมานทั้งกับตัวแต่ละคน และที่เขาเผชิญร่วมกันในกลุ่ม

ภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง

ลาริสา ยังกล่าวด้วยว่า การต่อสู้ที่ยาวนานทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งกับคนข้างนอกและคนในชุมชนเอง มันทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันเอง คนถูกแบ่งแยกออกจากกัน กิจกรรมเกี่ยวกับการฟื้นฟูภูเขาที่ถูกทำลายเพราะเหมืองในวันนี้นับเป็นกิจกรรมที่ชุมชนได้ร่วมกันสร้างชุมชนขึ้นมาใหม่

“เมื่อผู้คนในชุมชนเห็นภูเขาว่างเปล่าที่มีพิษภัยมานานเกินไป การปลูกป่าครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการเติมความหวังในภูเขาที่ถูกพรากไปเพราะเหมืองแร่ขโมยไป  ไม่ใช่เพียงเรื่องการปลูกต้นไม้แต่เป็นเรื่องของการปลูกความหวังใหม่ร่วมกันด้วย” ลาริสากล่าว

ในส่วนของ นุชประวี  สุริ อายุ 12 ปี ชาวบ้านนาหนองบงบอกว่า พ่อแม่และทุกคนในหมู่บ้านของหนูสู้กับเหมืองหนูเกิดมาก็เห็นว่าภูเขาลูกนี้มันหายไปแต่ได้ยินว่ามันเคยมีภูเขาบนนั้น วันนี้พ่อแม่ชวนมาปลูกต้นไม้ เพื่อนๆ จากโรงเรียนบ้านห้วยผูก ก็มาร่วมปลูกป่ากับเราด้วย

“หนูรู้สึกสนุกมากที่พี่ๆ นักศึกษามาร่วมปลูกต้นไม้ หนูได้ยิงหนังสะติ๊กหว่านเมล็ดต้นมะค่าโมง มะม่วงป่า  กับเพื่อนตัวหนูยิงได้ประมาณ 100 กว่าเมล็ด ปลูกต้นกล้าไม้อีกหลายสิบต้น ที่หนูมาร่วมด้วยเพราะคนอื่นเขามาทำระเบิดภูเขาเราพังหมดแล้ว แต่เราต้องภูเขาของเรากลับมา  หนูคิดว่าการปลูกต้นไม้จะช่วยเราเอาภูเขาของเราคืนมาได้” เด็กหญิงวัย 12 ขวบกล่าวทิ้งท้าย

ภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง

ด้าน นายจิตภณ  ศรีษะบุตร นายก อบต.เขาหลวง ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในเวลาต่อมาว่า ตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนายก อบต. ได้ประมาณหนึ่งปี ก็พอทราบข้อมูลบ้างว่าทางชาวบ้านกลุ่มฅนรักบ้านเกิด จะทำแผนฟื้นฟูในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจาการทำเหมืองแร่ แต่ไม่ทราบว่าแผนมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

เท่าที่ตนทราบ ก็คือทางกลุ่มชาวบ้านได้ดำเนินการและประชุมกับจังหวัด แต่ไม่ทราบว่าแผนตอนนี้ถึงไหน เป็นอย่างไร ทั้งนี้ ในส่วนที่อบต.สามารถดำเนินการได้ หากมีการประสานเข้ามาตนยินดีจะให้ความร่วมมือ

“เราก็เพิ่งทราบในวันไปปลูกว่ามีต้นไม้ประมาณ 5,000 ต้นที่นำมาปลูก แล้วมีแผนจะนำมาปลูกอีก 5,000 ต้น ซึ่งตนก็คุยกับทางกลุ่มชุมชนว่า หากรอบหน้ามีการปลูกต้นไม้อีกก็ให้มาคุยกัน อบต.ยินดีจะช่วย” นายจิตภณ กล่าว

บำเพ็ญ  ไชยรักษ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา

เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยหลังจากที่เหมืองได้เริ่มดำเนินการเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยบริษัททุ่งคำ จำกัด โดยใช้เครื่องจักรขุดเปิดหน้าดิน ระเบิด ลำเลียงการขนย้าย เก็บกองแร่ ทำเกิดการกระจายของฝุ่น มลพิษ เสียงดังจากการแต่งแร่ เกิดกลิ่นเหม็นจากการแยกแร่ เกิดรั่วไหลของสารโลหะหนัก เช่น สารไซยาไนด์ที่ถูกกักเก็บไว้ในบ่อกักเก็บกากแร่ เกิดกระจายโลหะหนัก เช่น สารหนู แมงกานีส เหล็ก ตะกั่ว ปรอท กระจายเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม นอกจากนี้ยังมีการแพร่กระจายสารพิษและโลหะหนัก เช่น โครเมียม นิกเกิล ทองแดง สังกะสี ปรอท ตะกั่ว และสารหนู สู่แหล่งน้ำสาธารณะ ทำให้เกิดการสะสมของสารพิษอยู่ในผลผลิตทางการเกษตร เช่น ในเมล็ดข้าว อ้อย หน่อไม้ ผัก ถั่วชนิดต่างๆ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปลา กุ้ง หอย ปู หนู กบ เขียด ในลำห้วยสาธารณะ ในห่วงโซ่อาหาร ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย และจิตใจ… มีสารไซยาไนด์ปะปนอยู่ในแหล่งน้ำสาธารณะ…ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำอย่างผิดปรกติ พบสารพิษในร่างกาย มีมลพิษทางอากาศ เสียง อันตรายจากการใช้ทางสาธารณะประโยชน์ร่วมกับรถบรรทุก…บ่อกักเก็บกากแร่ โรงประกอบโลหะกรรมหรือโรงแต่งแร่ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ภูซำป่าบอนและภูทับฟ้ากลายเป็นขุมเหมืองร้าง น้ำในขุมเหมืองปนเปื้อนสารพิษและมีสภาพเป็นกรด บริเวณโดยรอบมีกองหินทิ้งขนาดมหึมา และมีบ่อน้ำเสียปนเปื้อนไซยาไนด์เก็บไว้บริเวณบ่อเก็บกักกากแร่ และสารพิษจำนวนมากที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ และทำให้เกิดมลพิษรั่วไหล…แพร่กระจายออกจากแหล่งกำเนิดมลพิษ… ทำให้ประชาชน ได้รับความเสียหายก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย และทรัพย์สินเสียหาย ขาดประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้ศาลพิพากษาให้บริษัทต้องชดใช้ค่าเสียหาย และดำเนินการเยียวยา แก้ไข ฟื้นฟูความเสียหายต่อคน และชุมชน พื้นที่ และแก้ไขฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม…เพราะการประกอบกิจการเหมืองแร่ของจำเลยที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นไปตามกฎหมาย…ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม…ให้กลับสู่สภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ราชการกำหนด ทั้งน้ำและดิน โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วย…” (คำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ สว.(พ)1/2561 นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ ที่ 1 กับพวกรวม 165 คน โจทก์ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จำเลย ศาลจังหวัดเลย, 2561)

ปัจจุบันเหมืองแร่ได้ปิดลงตั้งแต่ปี 2557 หลังจากปิดเหมืองก็มีหลายหน่วยงานเสนอแผนการฟื้นฟู เช่น (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและติดตามตรวจสอบสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ ของบริษัททุ่งคำ จำกัด โดยกรมอุตสาหกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ซึ่งพยายามผลักดันผ่านคณะกรรมการควบคุมมลพิษ โดยยึดข้อเสนอของกรมควบคุมมลพิษ ที่ได้เสนอแผนดำเนินการไว้ 5 แผนย่อยได้แก่ (1) การควบคุม การแพร่ กระจายมลพิษจากแหล่งกำเนิด  (2) การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า (ในส่วนที่พบการปนเปื้อนเกินมาตรฐาน) (3) การถ่ายทอดความรู้ในการจัดการความเสี่ยง (4) การเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม และติดตามผลการดำเนินงานการแก้ปัญหา และ (5) การศึกษาวิจัยเพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน อีกทั้งมีข้อเสนอแนะว่าในส่วนของนโยบาย และกฎระเบียบต่างๆ ควรมีการนำเสนอเป็นแผนยุทธศาสตร์ของการประกอบกิจการเหมืองในภาพรวมทั้งประเทศ โดยเสนอหน่วยงานรับผิดชอบหลัก คือ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานสนับสนุน  อย่างไรก็ตามแผนดังกล่าวมีกรอบแนวคิดการดำเนินงานภายใต้แผนฯ ของกรมควบคุมมลพิษมุ่งเน้นที่ควบคุมการแพร่กระจายมลพิษจากแหล่งกำเนิดโดย (1) สืบหาแหล่งทีมาของมลพิษ และ (2) กำหนดมาตรการจัดการมลพิษนั้นๆ โดยคำนึงถึง เทคโนโลยี ความคุ้มค่า และสุขภาพประชาชนเป็นหลัก (กรมควบคุมมลพิษ, 2560)

แผนนี้ถูกท้วงติงจากชุมชนว่าขาดการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น และชุมชนมีการนำเสนอ “แผนการฟื้นฟูเยียวยาการปนเปื้อนสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชุมชนในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย โดยประชาชน”  ต่อสาธารณะ และหน่วยงานต่างๆ แต่ไม่ได้ไม่มีการตอบสนองหรือยอมรับแผนดังกล่าวนั้นและระบุว่า “แผนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สังคม วัฒนธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชุมชน ในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย (ฉบับปรับปรุง) ปี 2562 ระบุนิยามการฟื้นฟูว่าคือ “กระบวนความร่วมมือที่หลากหลายเพื่อที่จะช่วยจัดการให้ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศที่ถูกทำลาย ปนเปื้อนมลพิษให้ฟื้นคือสภาพที่สามารถทำหน้าทางที่บริการด้านนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และปลอดภัย ประชาชนสามารถพึ่งพิงใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์  ตลอดจนความสัมพันธ์ที่ดีของประชาชน โดยเสริมสร้างให้ประชาชนเห็นคุณค่าของธรรมชาติร่วมกัน รวมทั้งการฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกล่วงละเมิดในระหว่างการดำเนินการทำเหมืองแร่ที่ผ่านมา” (กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด, 2561)

ในแผนประชาชนนี้พิจารณาขอบเขตการฟื้นฟูทั้งในเขตประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำและนอกเขตประทานบัตรตามระบบนิเวศที่มีการปนเปื้อนกระจายตัวออกไป นอกจากนี้ยังระบุขอบเขตทางสังคม วัฒนธรรม การเข้ามาพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ทั้งนี้ระบุพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงรอบเหมืองทองคำ 6 หมู่บ้าน มีประชาชนประมาณ 3,351 คน 780 ครัวเรือน ในตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยกำหนดเป้าหมายการฟื้นฟูว่า“คนปลอดภัย สิ่งแวดล้อมปลอดภัย มีความหลากหลายของอยู่ของกินหนี้สินลด หมดความขัดแย้ง เป็นแหล่งเรียนรู้ ฟื้นฟูชุมชน” และมีวัตถุประสงค์ (1) เยี่ยวยาผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ กำจัดมลพิษและแหล่งกำเนิดมลพิษ (2) ฟื้นฟูป่าไม้, แหล่งน้ำ ความหลากหลายพืชพรรณ แหล่งอาหารตามธรรมชาติให้กลับคืนมาให้คนในชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน (3) เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนในชุมชน พัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของชุมชน และ (4) สร้างแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่แนวคิดการฟื้นฟูระบบนิเวศสังคมโดยชุมชน (กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด, 2561)

          อย่างไรก็ตามยังเป็นข้อถกเถียงที่ไม่อาจจะตกลงกันได้ระหว่างหน่วยงาน ชุมชน สถาบันวิชาการ ยังมีความพยายามต่อรองเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะเนื้อหาและกระบวนการหรือสัดส่วนกรรมการฯ ที่ประชาชนเสนอว่าชุมชนต้องมีสัดส่วนกรรมการร้อยละ 50 ของจำนวนกรรมการในการฟื้นฟู แต่หน่วยงานยังไม่ยอมรับ ส่วนกรรมการที่หน่วยงานเสนอประชาชนก็ไม่ยอมรับ ข้อโต้แย้งเรื่องนี้สะท้อนความขัดแย้งทางความคิดเรื่องการมีส่วนร่วม ซึ่งมีความแตกต่างในการกำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และกระบวนการการดำเนินการฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษ ซึ่งปรากฏในแผนการฟื้นฟูของหน่วยงาน และแผนฟื้นฟูของชุมชน ที่แตกต่างกันจนก่อปัญหาความไม่ไว้วางใจ ไม่ยอมรับ ทำให้การฟื้นฟูไม่สามารถดำเนินการได้ ผลกระทบไม่ได้รับการแก้ไข ยิ่งนานวันยิ่งขยายวงกว้างมีแนวโน้มสูญเสียมากขึ้น

เมื่อการถกเถียงไม่ยุติยังไม่มีการยอมรับสัดส่วนคณะกรรมการฟื้นฟูฝ่ายชุมชนให้มีสัดส่วนเท่ากันกรรมการฝ่ายหน่วยงานรัฐ เพื่อเป็นคณะทำงานในการจัดทำร่างแผนการฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษเหมืองแร่ทองคำร่วมกันกับชุมชน  ทำให้เวลาล่วงเลยไปโดยไม่ดำเนินการใดๆ ในการฟื้นฟูการปนเปื้อนตามคำพิพากษาศาลเลย 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ