เหมืองแร่ เมืองเลย V2: ข้อสังเกตต่อสถานการณ์ มติ ครม.ลักลั่น ‘ปิด/ไม่ปิด’ เหมืองทอง

เหมืองแร่ เมืองเลย V2: ข้อสังเกตต่อสถานการณ์ มติ ครม.ลักลั่น ‘ปิด/ไม่ปิด’ เหมืองทอง

20161306223558.png

บทวิเคราะห์จากทีม เหมืองแร่ เมืองเลย V2

เมื่อมติ ครม. ปิดเหมืองทองวันที่ 10 พ.ค. 2559 ถูกยกเลิกด้วยมติ ครม. วันที่ 7 มิ.ย. 2559 ท่ามกลางความสับสนว่าตกลงคำสั่งปิดเหมืองทองยังมีผลอยู่ไหม? อะไรคือที่มาของการเปลี่ยนมติเช่นนี้? และที่สุดแล้วจะมีผลต่อชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ที่สู้เหมืองทองอยู่อย่างไร?

วางใจได้แค่ไหนกับ รายงานข่าวการให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ (12 มิ.ย.) ของ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งกล่าวไปในแนวเดียวกันยืนยันว่าจะปิดเหมืองทองภายในปีนี้ (2559) แน่นอน และการตั้งคำถามของประชาชนเกิดจากความเข้าใจต่อมติ ครม. ใหม่เท่านั้น 

ในขณะที่ นายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่าการปิดเหมืองทองภายในสิ้นปีนี้ เป็นมติของ 4 กระทรวง (ที่มา: http://www.posttoday.com/biz/gov/437033) 

สอดคลองกับการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในวันนี้ (13 มิ.ย. 2559) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า “จำเป็นต้องมีการเขียนในส่วนของเรื่องการดำเนินการตามกฎหมาย เพราะมติ ครม.ในวันดังกล่าวเป็นการรับทราบและเห็นชอบในหลักการ ซึ่งก็ต้องมีการดำเนินการตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่าใช้อำนาจของ ครม. ซึ่งจะมีต่อผลทางธุรกิจ อย่างไรก็ตามมติ ครม.ในวันดังกล่าวว่าอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น เพราะต้องมองประเด็นในเรื่องของการลงทุนด้วย อย่างไรก็ตามวันนี้ถ้ายังไม่ชัดเจนก็ยังเปิดไม่ได้เท่านั้นเอง” (ที่มา: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1465803549) 

ภายใต้สถานการณ์นี้ มีข้อสังเกตที่สังคมยังต้องร่วมกันเรียกร้องความชัดเจนต่อไป กล่าวคือ

1) แม้จะยืนยันความตั้งใจปิดเหมืองทองภายในสิ้นปีนี้ แต่ความแตกต่างในข้อความระหว่างมติ ครม. ใหม่ (7 มิ.ย. 2559) และมติเดิม (10 พ.ค. 2559) คือ ในมติใหม่ได้ตัดข้อความว่า “ทั้งนี้ ภายหลังสิ้นปี 2559 ภาครัฐจะไม่มีการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำอีกต่อไป” ออกไป นั่นหมายความว่าการปิดเหมืองทองเป็นเรื่องชั่วคราว?

2) ข้อความที่เปลี่ยนแปลงระหว่างมติ ครม. ทั้งสอง ในแง่ลดการระบุชื่อกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และการให้สัมภาษณ์ของโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรมว่าเป็นมติของ 4 กระทรวง สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี ว่า ครม. เพียง “รับทราบและเห็นชอบโดยหลักการ แต่ไม่ได้ใช้อำนาจซึ่งจะมีผลต่อธุรกิจ” นี่คือความพยายามลดความรับผิดชอบในระดับ ครม./รัฐบาล ซึ่งอาจเกี่ยวพันกับการกลัวบริษัทฯ ฟ้องดำเนินคดี ใช่หรือไม่? – อย่างไรก็ตาม ครม./รัฐบาล ควรกล้าร่วมรับผิดชอบโดยการหนุนมติของ 4 กระทรวงให้ชัดเจน

3) เอกสารซึ่งใช้ประกอบการตัดสินใจของ 4 กระทรวง และ ครม. ควรนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใสและความเข้าใจร่วมกันของทุกฝ่าย เช่น วีดิทัศน์ รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการแก้ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ของกระทรวงอุตสาหกรรม และมติการประชุมเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2559 ของรัฐมนตรีทั้ง 4 กระทรวง เป็นต้น

4) ไม่ว่าใครจะออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าจะปิดเหมืองทองแน่นอนภายในสิ้นปีนี้ สิ่งที่จะลดความเคลือบแคลงของประชาชน คือรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องโปร่งใส‬ ออกมาชี้แจงแผนการดำเนินงานและขั้นตอนต่างๆ ที่จะนำไปสู่การปิดเหมืองทองอย่างมีประสิทธิภาพต่อสาธารณะ และให้ประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงมีส่วนในการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานดังกล่าวของรัฐ

‪‎มีเพียงหนทางนี้เท่านั้นที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจว่าไม่ได้ถูกหลอก‬

20161306223614.png

 

อ่านบทวิเคราะห์: มติ ครม. ยกเลิก มติ ครม. ปิดเหมืองทอง – ใครล้อเล่นอะไรกับใคร?

โพสต์โดย เหมืองแร่ เมืองเลย V2 เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน 2016

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ