ทำไมต้องปฏิรูประบบการเกษตรไทย

ทำไมต้องปฏิรูประบบการเกษตรไทย

สรุปสาระสำคัญ รายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (white paper) เรื่อง “การวิจัยเชิงระบบเพื่อการปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาคการเกษตร” (System research for transformation of agricultural system) จัดทำขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางสนับสนุนการวิจัยเชิงระบบและเชิงประเด็นภายในระบบด้าน ววน. ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ตลอดจนเพื่อการพัฒนาการอุดมศึกษาด้านการเกษตร ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

การพัฒนาการเกษตรที่ผ่านมาขาดสมดุล

ภาพแห่งความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ-สังคม ในภาคเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีความชัดเจนสูงสุดและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ คือ ภาคการเกษตร ซึ่งเห็นได้จากการที่ไทยเป็นประเทศส่งออกอันดับต้น ๆ ของโลก

สำหรับอาหารและเกษตร (อ.ก.) แต่เกษตรกรเป็นผู้มีรายได้ต่ำที่สุด หรือมีหนี้สินสูงกว่าประชากรในภาคอุตสาหกรรมและบริการ

ในเวทีโลก ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราและมันสำปะหลังเป็นอันดับ 1 ขณะที่ น้ำตาล ข้าว ผลิตภัณฑ์ไก่ อยู่ในอันดับ 2-3 และกุ้งเคยอยู่ในอันดับ 2 ในภาพรวมไทยเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรใน 10 อันดับแรกของโลก และมีวิสัยทัศน์การเป็นครัวโลก จึงกล่าวได้ว่า ในระดับมหภาค ประเทศไทยประสบความสำเร็จด้านการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเป็นอย่างดี

ภาพการเกษตรในระดับต้นน้ำกลับตรงข้าม เกษตรกรกลุ่มที่มีรายได้ต่ำที่สุด หรือมีหนี้สินสูงที่สุดเป็นเกษตรกรผู้ปลูกสินค้าเศรษฐกิจหลัก ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวและอ้อย รวมถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของการเลี้ยงไก่ และส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไก่อันดับ 4 ของโลก ในปี 2563 (สำนักการค้าสินค้ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2564) สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำภายในภาคเกษตรเอง เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้เล่นภายในโซ่อุปทานของสินค้าชนิดเดียวกันและระหว่างโซ่อุปทานของสินค้าเกษตรต่างชนิดกัน เช่น ระหว่างมันสำปะหลังกับกุ้งหรือ ทุเรียน เป็นต้น

การเติบโตของการส่งออกสินค้าและบริการร้อยละ 10.4 ขณะที่การผลิตภาคเกษตรเติบโตเพียงร้อยละ 1.4 ในปี 2564 (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2565) ส่วนหนึ่งเป็นผลของความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีในสาขาเกษตร อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่เหมาะสม เช่น การเพาะปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสมและพื้นที่นอกกรรมสิทธิ์ เป็นการเติบโตที่แลกมาจากความเสื่อมโทรมของที่ดิน ความแห้งแล้งและอุทกภัย ทำให้ประเทศไทยมีระดับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศในอันดับที่ 9 (ค่า CRI ranking 2000-2019) นอกจากนี้การบุกรุกพื้นที่ป่าเริ่มส่งผลต่อการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 114 ของ EPI index 2020

ในขณะที่ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 20 ปี กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไทยโดยนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการวางแผนการพัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในทุกสาขาอาชีพและทุกระดับการวางแผนและบริหารจัดการนั้น 

สำหรับภาคการเกษตรซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรเกษตรอย่างเข้มข้น เกษตรกรมีขีดความสามารถจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากร ทุน ความรู้และเทคโนโลยี ในขณะที่ต้องเผชิญกับระบบการผลิตที่มีความหลากหลาย ภายใต้สภาพแวดล้อมแตกต่างและมีความเสี่ยงสูง และเป็นระบบการผลิตที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับหลายภาคส่วน การมีโซ่อุปทานยาวทำให้ยากต่อการเชื่อมโยงและรับประโยชน์อย่างเป็นธรรมจากโซ่อุปทานโลก

ระบบการเกษตร โอกาสและความท้าทาย

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลก (global mega trends) เป็นปัจจัยกำหนดทิศทางการก้าวเดินของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทุกด้านอย่างก้าวกระโดด ภาวะโลกร้อนและความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก การมุ่งสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน โครงสร้างประชากร ลักษณะการจ้างงานแบบใหม่ รวมทั้งการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ล้วนส่งผลต่อรูปแบบการผลิต การบริโภค และระบบโซ่อุปทานของโลกในอนาคต จากความซับซ้อน ความสัมพันธ์และพลวัตของปัจจัยเหล่านี้ โครงสร้างความต้องการและการผลิตอาหารและเกษตรของโลกจะเปลี่ยนไปอย่างยากที่จะพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำในอนาคต

เป็นที่คาดว่าประชากรของโลกในอีก 3 ทศวรรษข้างหน้า (ปี 2050) จะสูงถึง 9.7 พันล้านคน เปรียบเทียบกับปัจจุบัน 7.9 พันล้านคน (Worldometer, 2022) (ปรับจากการคาดการณ์เดิมเมื่อปี 2013 ที่ 9.2 พันล้านคน) (และเพิ่มเป็น 11.2 ล้านคนในปี 2100) มีความต้องการอาหาร 14,882 ล้านตัน (ปี 2050) (Sheikh Mohammad Fakhrul and Zahurul Karim, 2019) นอกจากจำนวนประชากรมีส่วนสำคัญที่สุดในการกำหนดปริมาณความต้องการแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อรายละเอียดของความต้องการอาหารและเกษตร การวางแผนยุทธศาสตร์อาหารและเกษตรต้องคำนึงถึงโครงสร้างประชากร ระดับรายได้ การกระจายรายได้ การตอบสนองต่อราคา การขยายตัวของเมือง และลักษณะการดำเนินชีวิตในภาพรวมของโลก และความแตกต่างระหว่างประเทศ

นอกจากนั้น ความรุนแรงของภัยพิบัติอันสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (climate change) เรียกร้องการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (Towards Sustainability: TS) แทนวิถีปกติ (Business as Usual: BAU) และการแข่งขันแบบมุ่งเป้า (Stratified Societies: SS) ด้วยทิศทาง TS นี้ เกษตรกรจะได้รับราคาที่สูงขึ้นอย่างมากจากการตระหนักถึงคุณค่าของสินค้าที่มีต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

ภาคเกษตรในระบบเศรษฐกิจ

ภายใต้ระบบเศรษฐกิจของประเทศรายได้ปานกลาง ภาคเกษตรมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ลดลง เช่นเดียวกับสัดส่วนของแรงงานเกษตรต่อแรงงานรวมของประเทศ สัดส่วนเหล่านี้จะลดลงต่อไปเมื่อเศรษฐกิจพัฒนาขึ้น ในประเทศรายได้สูง (high income country) ภาคเกษตรมีสัดส่วนใน GDP เฉลี่ยร้อยละ 1.2 (ปี 2020) และมีสัดส่วนแรงงานเกษตรต่อแรงงานของประเทศเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3 แต่มีมูลค่าเพิ่มจากภาคเกษตรสูงขึ้น 

Rice field in Pua district, Nan province.

ปัจจุบันสัดส่วนใน GDP ของภาคเกษตรไทยมีประมาณร้อยละ 8 จากการใช้แรงงานในสัดส่วนร้อยละ 31 ของแรงงานทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศรายได้สูง (ร้อยละ 1.2) ประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (upper-middle income) และประเทศรายได้ปานกลาง (middle income) ที่ค่าเฉลี่ยร้อยละ 21 และ 29 ตามลำดับนั้น สะท้อนให้เห็นผลิตภาพแรงงานเกษตรของไทยที่ต่ำมาก จึงเป็นที่มาของปัญหารายได้เกษตรต่อครัวเรือนที่ต่ำมาก ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายเกษตรและค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ทำให้หนี้สินครัวเรือนเกษตรเพิ่มขึ้นตามมา

ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ภาคเกษตรมีสัดส่วนลดลงเป็นประมาณร้อยละ 8 นั้น รายได้เกษตร (farm income) (รวมรายได้จากกสิกรรม ประมง และป่าไม้) ยังเติบโตและรักษาระดับการเพิ่มขึ้นได้กว่า 1.6 เท่าของปีฐาน (ปี 2548 ซึ่งมีมูลค่า 700,379 ล้านบาท) โดยมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในขณะนั้นเท่ากับร้อยละ 9.20 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2564)

ระดับรายได้เกษตรในภาพรวมของประเทศค่อนข้างมีเสถียรภาพ เนื่องจากภาคเกษตรของไทยมีความหลากหลายสูง แต่รายได้ใน 8 กลุ่ม มีการเติบโตและมีความแปรปรวนแตกต่างกัน เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่อหน่วยต่างกันและผลิตโดยเกษตรกรที่มีและเข้าถึงทรัพยากร รวมถึงศักยภาพการพัฒนาของเกษตรกรที่ต่างกัน จึงมีนัยยะต่อนโยบายการปฏิรูประบบเกษตรที่ซับซ้อนตามมา

ผลไม้และปศุสัตว์เป็นกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มการสร้างรายได้เกษตรที่ดีสำหรับเกษตรกรและประเทศโดยมีดัชนีการสร้างรายได้ (farm income) สูงต่อเนื่องและค่อนข้างมีเสถียรภาพ (สูงถึง 300 และ 200) พืชอาหารและไม้ตัดดอกเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการเติบโตด้วยดัชนีเกิน 200 แต่มีความแปรปรวนปานกลางถึงสูง สำหรับสินค้าอีก 2 กลุ่ม ที่ควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพื่อรักษาความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในอดีต คือ ประมงและพืชผัก เพื่อรองรับพฤติกรรมการบริโภคของโลกในอนาคต

โครงสร้างและการใช้ทรัพยากรของภาคเกษตรไทย

การที่ขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศมีแนวโน้มที่ลดลง และหนี้สินของเกษตรกรสูงขึ้นนั้นสำคัญ เป็นผลลัพธ์จากโครงสร้างเชิงทรัพยากรเกษตรที่เป็นอยู่ ซึ่งส่งผลต่อผลิตภาพและประสิทธิภาพ และความเสี่ยงด้านรายได้เกษตร ภาคเกษตรไทยมีการปรับเปลี่ยนสู่การเกษตรสมัยใหม่มากขึ้น มีผลิตภาพและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่เพียงพอที่จะสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนของภาคการเกษตรโดยเฉพาะระดับต้นน้ำได้ ความเข้าใจในสถานการณ์ภาพรวมของการใช้ทรัพยากรของไทยเองและโดยเปรียบเทียบกับต่างประเทศจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดตำแหน่งเป้าหมายในเวทีโลกและข้อเสนอเชิงนโยบาย

การใช้ที่ดินและทรัพยากรเกษตร

  1. ลักษณะของการผลิตในปัจจุบันเป็นระบบผลิตสินค้าเชิงเดี่ยวเป็นหลักร้อยละ 60 ของครัวเรือนเกษตรปลูกพืชเชิงเดี่ยว และร้อยละ 9 ของครัวเรือนเกษตรมีอาชีพปศุสัตว์เชิงเดี่ยว
  2. การผลิตมีขนาดเล็กโดยเกษตรกรรายย่อยและขนาดไร่นามีแนวโน้มลดลง ขนาดเฉลี่ยของประเทศในปี 2561 เท่ากับ 24.48 ไร่ต่อครัวเรือน ซึ่งลดจาก 25.58 ไร่ ในระยะเวลาเพียง 5 ปี (ปี 2557) ขนาดการผลิตนี้เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มผลิตภาพจากการลงทุนที่ประหยัดจากขนาดการผลิต (economies of scale) ในระดับฟาร์ม ดังนั้นนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยแก้ไขข้อจำกัดนี้

การใช้ทุน

การผลิตในระดับต้นน้ำของสินค้าหลักยังมีลักษณะการใช้ที่ดินและแรงงานเข้มข้น (land/labor-intensive) แม้ที่ผ่านมาได้มีแนวโน้มการใช้ทุนและเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะแทรกเตอร์ที่ส่วนใหญ่เป็นการเช่าหรือจ้าง เครื่องจักรกลเกษตรที่ใช้อยู่ส่วนมากเป็นเครื่องจักรกลแบบดั้งเดิม โดยรวมแล้วการใช้เครื่องจักรกลทันสมัยมีความแตกต่างสูงระหว่างภูมิภาคและชนิดของสินค้าที่ผลิต (Attawanich et al., 2019)

ในระดับนานาชาติ การใช้ทุน (consumption of fixed capital) ของภาคเกษตรไทย มีการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปในอัตราเพิ่มที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ด้วยกัน (จีน มาเลเซีย และเวียดนาม) โดยเปรียบเทียบระหว่าง 4 ประเทศ เวียดนามมีอัตราเพิ่มสูงที่สุด ตามด้วยประเทศจีนและมาเลเซีย และเห็นได้ว่าการใช้ทุนต่อพื้นที่เกษตรของมาเลเซียสูงกว่าไทยมากขึ้น จาก 1.53 เป็น 2.35 (ปี 1996, 2020) สำหรับเวียดนามซึ่งไทยเคยมีการใช้ทุนอย่างสูงกว่าถึง 4.37 เท่า กลับลดลงเหลือเพียง 1.3 เท่า เท่านั้น และด้วยเทคโนโลยีมักมาพร้อมกับการใช้ทุน จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผลักดันให้ขีดความสามารถในการแข่งขันและบทบาทของสินค้าเกษตรหลักของประเทศมาเลเซีย (ปาล์มน้ำมัน) และเวียดนาม (ข้าว ประมง กาแฟ) อยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว

แรงงานภาคเกษตร

โครงสร้างด้านอายุของประชากรเบ้ไปทางสูงวัยและแรงงานเกษตรลดลงเหลือ 2.60 คนต่อครัวเรือน (ปี 2561/62) จาก 3.03 คน (ปี 2557/58) หรือลดลงร้อยละ 64 ในระยะ 4 ปี ด้วยวัยของหัวหน้าครัวเรือนและจำนวนแรงงานอาจไม่เพียงพอสำหรับขนาดฟาร์มเฉลี่ย 24.48ไร่ แต่ขนาดแรงงานนี้อาจเพียงพอหรือสูงไปสำหรับเกษตรกรอายุไม่เกิน 45 ปี (ประมาณร้อยละ 40 ของจำนวนเกษตรกร และ/หรือ การผลิตที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น)

สมาชิกรุ่นใหม่ของครัวเรือนเกษตรส่วนมากมุ่งสู่ภาคการผลิตอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า แต่เกษตรกรรุ่นใหม่มีการศึกษาสูงขึ้น มีความพร้อมในการรับวิชาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมากขึ้น จำนวนเกษตรกรอัจฉริยะซึ่งอยู่ในทะเบียนของกระทรวงเกษตรฯ มี 1.099 ล้านคน และเกษตรกรรุ่นใหม่อัจฉริยะ 0.013 ล้านคน (ปี 2563) หรือร้อยละ 6.7 และ 0.07 ของประชากรเกษตร (การจัดกลุ่มในยุทธศาสตร์ BCG โมเดล ประกอบด้วย เกษตรกรฐานพีระมิด กลาง และยอดพีระมิดในสัดส่วน 70:14:16)

แรงงานจ้างมักเป็นแรงงานต่างด้าว แรงงานชั่วคราว จึงขาดการสะสมความรู้ แต่เหมาะสำหรับการเก็บเกี่ยวไม้ผล กรีดยาง ในขณะที่นวัตกรรมยังไม่พร้อมและเกษตรกรขาดเงินทุนสำหรับเครื่องทุ่นแรง จึงสร้างโอกาสให้แก่อาชีพบริการเกษตรในหลายกิจกรรม

ทรัพยากรน้ำและชลประทาน

การเกษตรของประเทศไทยประกอบด้วย เกษตรน้ำฝนมากกว่าเกษตรชลประทาน และแม้ว่าประเทศไทยมีพื้นที่ชลประทานไม่น้อยเมื่อเปรียบเทียบขนาดของประเทศ 34 แต่การขาดแคลนน้ำยังเป็นปัญหาของภาคเกษตรไทยตลอดมา เนื่องจากการจัดการน้ำและภัยแล้ง (และน้ำท่วม) สัดส่วนของน้ำชลประทานที่ภาคเกษตรได้รับการจัดสรรมีแนวโน้มลดลง เมื่อความต้องการจากภาคครัวเรือน การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมขยายตัว เช่น ปี 2564 (ค.ศ.2021) 5 ภาคเกษตรได้รับการจัดสรรร้อยละ 52.9 ซึ่งต่ำกว่าเฉลี่ยของโลก (ร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำทั้งหมด) ข้อจำกัดของการจัดการระบบชลประทานส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้ที่ดินเกษตรในเขตชลประทานในฤดูแล้ง ซึ่งมีดัชนีความเข้มข้นของการปลูกพืช (cropping intensive index: CI) ที่ต่ำและขาดเสถียรภาพ เช่น ในปี 2564 ดัชนีต่ำมากเพียง 1.077

ในภาพรวมประเทศไทยมีการใช้ทรัพยากรน้ำต่อหัวสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก (2,223 ม3/คน/ปี) ในขณะที่เฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 1,240 ม3/คน/ปี ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดการและการใช้น้ำอย่างไม่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (2560) ได้จัดทำแผนงานการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต โดยมีเป้าหมายในปี 2580 สำหรับภาคเกษตรให้มีการลดปริมาณการให้น้ำ แต่มีการใช้น้ำจากระบบนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ 0.3 ล้านไร่ มีการจัดหาน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน มีระบบกระจายน้ำ การสร้างสระน้ำในไร่นา 0.38 ล้านแห่ง และการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร (1.56 ล้านไร่) เป็นต้น

แผนงานสร้างความมั่นคงของน้ำและการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ยุทธศาสตร์การปฏิรูปภาคเกษตรไทย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเกษตรกรและสร้างความมั่นคงต่ออาชีพเกษตรการบริหารจัดการเชิงธุรกิจ

เกษตรกรรายย่อยเกือบทั้งหมดขาดความเป็นผู้ประกอบการและทักษะการจัดการเชิงธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของฟาร์มประเภทผลิตสินค้าเป็นวัตถุดิบหรือแปรรูปขั้นต้น เกษตรกรที่ผลิตสินค้าเศรษฐกิจพื้นฐาน (สินค้าโภคภัณฑ์) ขาดความรู้ในการใช้ข้อมูล ไม่มีทักษะการวางแผนและการจัดการเพื่อลดต้นทุน หรือเพื่อเพิ่มคุณภาพและหรือสร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนขาดทักษะการจัดการด้านการเงินและการตลาด และการจัดการความเสี่ยง ซึ่งความสามารถด้านการประกอบการ

ทุนทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Capital) และภัยธรรมชาติ

การมีอยู่ของทุนทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นฐานสำคัญโดยไม่ต้องลงทุนสร้าง (แต่มีต้นทุนที่ต้องอนุรักษ์) กล่าวคือ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ และการมีลักษณะภูมิอากาศเขตร้อน ทุนธรรมชาติโดยเปรียบเทียบในปี 2021 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 116 จาก 180 ประเทศ 78 มีคะแนน 40 จาก 100 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (44 คะแนน) และการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ (resource intensity) อยู่อันดับที่ 136 มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (ซึ่งแสดงว่าประเทศไทยใช้ทรัพยากรต่อหน่วยผลผลิตอย่างสิ้นเปลือง)

การใช้ที่ดินเกษตรต่อคน (0.44 : 0.19) และสัดส่วนประชากรที่เผชิญกับความแปรปรวนของอากาศสุดโต่ง (1.72 : 5.25%) ของไทยอยู่ในสถานะที่ดีกว่าเฉลี่ยของโลก แต่สำหรับทรัพยากรน้ำ ประเทศไทยมีน้ำจืดค่อนข้างจำกัด (6,466 : 12,527 ม3/คน/ปี) นอกจากนี้ประเทศไทยอยู่ในลุ่มน้ำที่มีความเครียดน้ำ (water stress) ซึ่งเกิดจากกิจกรรมของภาคเกษตรในขั้นรุนแรง (≥ 75%) (FAO, 2021)

ในด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) ประเทศไทยมีการจัดการที่ดีขึ้นในรอบ 10 ปี มีคะแนนเพิ่มขึ้น 13.2 ทำให้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 84 (ด้วยคะแนน 52.5) อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีระดับความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระดับสูงสุด (สีแดง) เช่นเดียวกันกับทุกประเทศในโลก แต่หากปรับการดำเนินกิจกรรมและการดำเนินชีพจากธุรกิจปกติ (BAU) เป็น TS ความเสี่ยงจะลดลงอยู่ในระดับ 2 (สีส้ม) 

ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยไม่มีข้อได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน แต่กลับมีความเสี่ยง ความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศมากกว่า เป็นเหตุให้ต้นทุนการผลิตเกษตรและอาหารในอนาคตของไทยสูงขึ้นและฉุดรั้งขีดความสามารถในการแข่งขันที่ดีจากปัจจัยอื่น ๆ ให้อยู่ในสถานะเสียเปรียบ ดังนั้นยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบเกษตรไทย ในระยะสั้น คือ สนับสนุนการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยพร้อมใช้ในกระบวนการ BCG และเร่งกระบวนการถ่ายทอดสู่การเพาะปลูก/เพาะเลี้ยงอย่างเข้มข้นขึ้น และในระยะยาว คือ หนุนเสริมงานวิจัยเกษตรและอาหารเพื่อความรู้ใหม่ที่ควบรวมประเด็นการแก้หรือป้องกันปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

Image Name

ก้าวสำคัญระบบการเกษตรไทย จะไปต่ออย่างไรดี ?

ภาคเกษตรของประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องใน 4 ทศวรรษ แต่มีสัดส่วนในมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ลดลงจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 8 ในปัจจุบัน และมีการใช้แรงงานถึงร้อยละ 31 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ครัวเรือนเกษตรมีรายได้นอกภาคเกษตรประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้รวม แต่โดยเฉลี่ยแล้วรายได้ครัวเรือนไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายทำให้มีปัญหาหนี้สินเรื้อรัง และกว่าร้อยละ 30 ของครัวเรือนเกษตรอยู่ใต้เส้นความยากจน เป็นภาพสะท้อนความไม่เสมอภาคด้านรายได้และความไม่มั่นคงของอาชีพเกษตร

ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารและเกษตรอันดับ 10 และ 11 ของโลก และเป็นที่ประจักษ์ว่าไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 – 5 ของผลิตภัณฑ์เกษตรสำคัญหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเศรษฐกิจพื้นฐานหรือสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีมูลค่าต่ำ เช่น มันเส้น แป้งมัน (native starch) ข้าว ยางแผ่นรมควัน น้ำตาล เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น แป้งดัดแปร (modified starch) และผลิตภัณฑ์ชีวเคมี ซึ่งต้องการเทคโนโลยีขั้นสูงและการลงทุนมากเป็นธุรกิจของเอกชนต่างชาติ และสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ส่วนใหญ่อยู่ในมือของธุรกิจขนาดใหญ่

ความสำเร็จของการส่งออก เป็นภาพที่ขัดแย้งกับฐานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกรและความไม่ทั่วถึงด้านความมั่นคงทางอาหารในจังหวัดที่มีความยากจนเรื้อรัง แต่ขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเปรียบเทียบของประเทศไทยเริ่มลดลง เมื่อประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ หลายประเทศมีอัตราการเติบโตของภาคเกษตร (Total Factor Productivity Growth และ Agricultural Value Added Growth) สูงกว่าประเทศไทย

ผลผลิตเพิ่ม (MP) ของการใช้ปัจจัยแรงงานและที่ดินลดลงจนติดลบ ในระยะ 10 ปี เนื่องจากเกษตรกรสูงวัยเพิ่มขึ้น การใช้แรงงานต่างด้าวและการใช้พื้นที่เกษตรที่มีความเหมาะสมต่ำ การเติบโตของผลผลิตจึงได้จากปัจจัยทุน น้ำชลประทาน เป็นหลัก การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจึงต้องการการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ขาดแคลนโดยเฉพาะแหล่งน้ำชลประทาน ซึ่งมีเพียงร้อยละ 22 ของพื้นที่เกษตร ความก้าวหน้าด้าน ววน. และการส่งต่อความรู้สู่เกษตรกรอย่างได้ผล โดยเฉพาะเกษตรกรฐานพีระมิด (ร้อยละ 70 ของเกษตรกรทั้งหมด) ซึ่งไม่มีความพร้อมในการเข้าใจและใช้เทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำ (precision agriculture: PA) แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ได้เร่งการปรับตัวและความพร้อมในด้าน IT แก่ผู้ประกอบการและเกษตรกรให้เร็วขึ้นอย่างชัดเจน

ระบบ/กลไก

ระบบข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการเกษตร (big data) และปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) อยู่ในระหว่างการเร่งพัฒนาโดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพและดำเนินการร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center : NECTEC) ให้สมบูรณ์เพื่อสนองต่อความต้องการในการจัดการการผลิตระดับแปลง ระดับฟาร์ม และการพยากรณ์ผลผลิต การจัดการโลจิสติกส์ตลอดโซ่มูลค่า ตลอดจนการจัดการความเสี่ยงด้านการผลิตและการจัดการ ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดให้สมดุลกับความต้องการของตลาดอย่างทันท่วงทีด้วยข้อมูล real time นอกจากนี้ยังช่วยในการกำหนดพื้นที่การผลิตอย่างเหมาะสมในระดับประเทศเพื่อทดแทนหรือเสริมการใช้ Agro Economic Zone (AEZ) นอกจากข้อมูลความเหมาะสมของพื้นที่และปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่นเดียวกันแล้ว จำเป็นต้องมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันของ Social Accounting Matrix (SAM) เพื่อการวางแผนของ สศก. ด้วย

ความก้าวหน้าทาง ววน. เกษตรขั้นสูงเกิดจากผลงานของสถาบันอุดมศึกษาเกษตร (สอษ.) และหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำหรับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ เน้นการทดลองและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในด้านการผลิตบุคลากรสายเกษตร ที่ผ่านมานั้นสถาบันอุดมศึกษาเกษตรสร้างหลักสูตรตามมาตรฐานการศึกษาตะวันตกจากแบบพิมพ์เขียว จึงขาดความหลากหลายตามความชำนาญและอัตลักษณ์ของแต่ละสถาบัน และมิได้มีแผนการผลิตบัณฑิตตามความต้องการของภาคเกษตร ดังนั้นในระดับประเทศ สถาบันอุดมศึกษาเกษตรควรมีเป้าหมายการสร้างเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ผู้ให้บริการเกษตร และนักวิชาการ ในสัดส่วนที่สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละช่วงเวลา เช่น 35 : 30 : 20 : 25 สำหรับระยะ 5 ปีแรกนี้ เป็นต้น

นโยบายได้เสนอแนะการเสริมบทบาทของ สอษ.ในด้านการวิจัยเข้ากับการเรียนการสอนและบริการวิชาการ โดยบูรณาการภายในและกับหน่วยงานรัฐ เอกชน เกษตรกรเพื่อการพัฒนา ววน. และการจัดการเชิงพื้นที่ (แนวนอน) และแนวตั้งในโซ่มูลค่า ในด้านการยกระดับเกษตรกรไปสู่ยอดพีระมิดด้วยการวิจัยและพัฒนาร่วมกันระหว่าง สอษ. และเกษตรกร ผ่านการจัดองค์กรที่มีโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ชัดเจนจะมีประสิทธิผล เช่น Farmers’ University โดยเกษตรกร (สภาเกษตรกร) เป็นเจ้าของและร่วมการทดลองในพื้นที่ของ สอษ. เป็นต้น

เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงสินเชื่อเกษตรได้ง่ายและค่อนข้างทั่วถึง แหล่งสินเชื่อในระบบที่สำคัญที่สุด คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาสินเชื่อนอกระบบ และเป็นธนาคารเพื่อพัฒนาชนบทด้วยบริการพัฒนาธุรกิจและอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์การพิจารณาวงเงินสินเชื่อควรได้รับการปรับให้เอื้อต่อการเก็บรักษารอราคาขายอย่างแท้จริง และการกำหนดขนาดสินเชื่อควรพิจารณาด้วยหลักเศรษฐศาสตร์ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถลงทุนในการผลิตในระดับที่มีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ (economies efficiency) และมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุดด้วย นอกจากนี้ ธ.ก.ส. และสถาบันการเงินชุมชน (กลุ่มออมทรัพย์) ควรหามาตรการส่งเสริมการออมให้มากขึ้น รวมทั้งพัฒนาความเข้าใจด้านการเงินให้เกษตรกร (financial literacy) และการกระจายความเสี่ยงด้วยการประกันภัยพืชผล ระบบสินเชื่อเกษตรไทยมีลักษณะตั้งรับเป็นหลักโดยเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาตามนโยบายรัฐ ซึ่งควรปรับเพิ่มบทบาทให้เป็นเครื่องมือการพัฒนาเกษตรที่สำคัญในอนาคต

ภาครัฐได้กำหนดยุทธศาสตร์เกษตร 20 ปี พร้อมกับมียุทธศาสตร์และนโยบายที่เสริมการพัฒนาการเกษตรอัจฉริยะหลายแผน เช่น นโยบาย BCG นโยบายการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาค และอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การที่หน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ ต่างถือกฎหมายต่างฉบับทำให้ขาดการบูรณาการกัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีนโยบายที่ขัดแย้งกัน รวมถึงการใช้นโยบายตลาดและราคาเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นเป็นการบั่นทอนประสิทธิภาพและการพึ่งตนเองของเกษตรกร และฉุดรั้งการเติบโตของภาคเกษตรและสร้างปัญหาต่อเนื่องอื่น ๆ ดังบทเรียนของหลายประเทศก้าวหน้าในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ เป็นต้น รายงานนี้ได้เสนอนโยบายสร้างแรงจูงใจโดยการให้ราคาพรีเมียมสำหรับการเพิ่มคุณภาพและการเพิ่มประสิทธิภาพ (ลดต้นทุนต่อหน่วย) รวมถึงโมเดลการบริหารจัดการเพื่อนำมาสู่เป้าหมายเดียวกันนี้

ภาพอนาคตของภาคเกษตรไทย

ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นประโยชน์เชิงเศรษฐกิจด้านอาหาร สุขภาพ พลังงาน และการท่องเที่ยวเกษตรเชิงสร้างสรรค์ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่เผชิญกับความเสี่ยงจากภัยแล้งและปัญหาอื่น ๆ จากภาวะโลกร้อนในขั้นรุนแรงมาก หากประเทศไทยมีการจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบ RCP85 (ใส่ใจต่ำ) จะส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 3-8 องศาเซลเซียส (ปี ค.ศ.2080) และมีผลต่อเนื่องให้ประเทศไทยปลูกพืชครั้งที่ 2 ในพื้นที่เกษตรน้ำฝนได้จำกัดมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนสามารถปลูกพืชได้ถึง 3 ครั้งต่อปี (เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย) การที่ประเทศไทยจะรักษาตำแหน่งการเป็นประเทศส่งออกอันดับต้น ๆ ของโลก จำเป็นอย่างยิ่งที่การผลิตและการบริโภคต้องสอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเลือกแนวทางเพื่อความยั่งยืน (Towards Sustainability) แทนแนวทางปกติ (Business as Usual)

จากสถานะการเกษตรในปัจจุบันประกอบกับทิศทางความต้องการและการผลิตอาหารและเกษตรของโลก ประเทศไทยสามารถรักษาตำแหน่งที่ 6 – 10 ของผู้ส่งออกของโลกได้ในอนาคต รวมทั้งการยกระดับไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าของโลกได้สำหรับมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ยางพารา ทุเรียน ศูนย์กลางระดับภูมิภาคสำหรับน้ำตาล Bio-energy เมล็ดพันธุ์ (sowing seed) ผู้ส่งออกอันดับ 1 ในตลาดอาเซียนสำหรับเนื้อโคคุณภาพ ผลิตภัณฑ์นม สมุนไพรและเครื่องเทศบางชนิด รวมถึงชีวภัณฑ์ในอนาคตด้วย และเป็นศูนย์กลางเกษตรเพื่อความผาสุกแห่งเอเชีย

สถานการณ์ภาคเกษตรของไทยและตำแหน่งในเวทีโลก

สถานการณ์ปัจจุบันในมิติตามเป้าประสงค์ของการปฏิรูประบบเกษตร 4 ประการ แม้จะมีภาพค่อนข้างชัดเจน แต่การวางยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปนั้นต้องการความลึกของปัญหา อุปสรรค และโอกาสเพื่อการจัดสรรทรัพยากร งบประมาณและสรรพกำลังอย่างมีประสิทธิภาพ ประเด็นความมั่นคงทางอาหารเป็นเงื่อนไขความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประเทศ ส่วนขีดความสามารถในการแข่งขันที่เหมาะสมเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อเป้าหมายความสามารถในการพึ่งตนเองทางรายได้และเป้าหมายความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ สองมิติแรกจึงได้รับการขยายความและศึกษาเปรียบเทียบกับต่างประเทศเพื่อชี้ทิศทางเชิงการค้าและเป้าหมายในการผลิตในอนาคต

ความมั่นคงทางอาหาร

 ในฐานะประเทศผู้นำของการส่งออกอาหารโลก ประเทศไทยสามารถพึ่งตนเองได้ในอาหารประเภท ข้าว น้ำตาล มันสำปะหลัง ไข่ไก่ เนื้อไก่ สุกร และกุ้ง แต่ไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ในถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากการจัดอันดับความมั่นคงทางอาหารด้วยดัชนี global food security index ในปี 2019 ไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 52 จาก 113 ประเทศ ด้วยคะแนน 65.1 จาก 100 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก เนื่องจากคะแนนของตัวชี้วัดด้านการมีอยู่ของอาหาร (availability) และด้านคุณภาพและความปลอดภัย (quality and safety) ซึ่งประเมินจากตัวชี้วัด 5 ตัวที่เป็นความท้าทายที่สำคัญของไทย คือ

  1. การเพิ่มสัดส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร
  2. การเพิ่มระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัว (PPP)
  3. การปรับปรุงในด้านการคมนาคมทั้งทางรถไฟ ท่าเรือ ทางอากาศ และการชลประทาน
  4. คุณภาพของโปรตีนที่คนบริโภค
  5. การจัดการปัญหาคอร์รัปชัน

ทั้งนี้เพื่อให้ประชากรในหลายพื้นที่สามารถเข้าถึงอาหารได้ดีขึ้น (ประชากรยากจนเรื้อรังในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่สูงในภาคเหนือ) การมีอยู่ของอาหารและการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย มีความแตกต่างระหว่างพื้นที่ จึงเป็นโจทย์เชิงนโยบายสำหรับการบริหารจัดการ การผลิต และการกระจายจ่ายปันให้เกิดความเท่าเทียมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปรับปรุงปัจจัยในดัชนีชี้วัดที่ (1) และ (4) ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคเกษตรโดยตรง ส่วนดัชนีที่เหลือเป็นปัจจัยระดับมหภาค ซึ่งต้องแก้ไขไปพร้อมกันเพื่อทุกสาขาเศรษฐกิจของประเทศ

ประเทศไทยจะมีผลผลิตเกินการบริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคต เมื่อประเทศไทยเลือกการผลิตตามปรัชญา TS เพื่อความยั่งยืนในระยะยาวซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งแม้จะมีผลผลิตเฉลี่ยต่อคนต่อวันน้อยกว่าวิถีอื่น (BAU และ SS) แต่กลับมีการบริโภคต่อหน่วยสูงกว่า ประเทศไทยจึงมีความมั่นคงทางอาหารในระดับมหภาค อย่างไรก็ตาม การเลือกวิถีธุรกิจ BAU และ SS แม้จะมีโอกาสเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่อาจกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศได้

 จากการเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) หรือ EAP และค่าเฉลี่ยโลก ประเทศไทยมีการบริโภคและการผลิตสูงกว่ากลุ่มเอเชียแปซิฟิก แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก สำหรับการผลิตโปรตีนประเทศไทย มีผลผลิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียแปซิฟิกและค่าเฉลี่ยของโลกในทุกรูปแบบการผลิต

ตำแหน่งของการเกษตรไทยในเวทีโลก – ขีดความสามารถในการแข่งขัน

ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในฐานะประเทศส่งออกอาหารและเกษตรสำคัญของโลก แม้จะไม่มีพื้นที่ปลูก-เพาะเลี้ยงใหญ่เทียบเท่าบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย บราซิล ออสเตรเลีย ฯลฯ แต่ไทยส่งออกอาหารและเกษตรอยู่ในแนวหน้าของโลก อันดับที่ 8-12 และ 6-11 ตามลำดับ สินค้าส่งออกสำคัญ 50 รายการแรกของไทยระหว่างปี 2015-2019อยู่ในอันดับที่ 1-10 รวม 40 ชนิด ส่วน 10 ชนิดที่เหลือ มีอันดับระหว่าง 11-21 ในตลาดโลก รวมถึงสินค้าที่ถูกมองข้าม เช่น เครื่องปรุงรส (#6) (ภาคผนวก ค. ในรายงานระยะที่ 1)

ในระยะ 3-5 ปีที่ผ่านมา สินค้าส่งออกสำคัญของไทยมีตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงไป สินค้าที่รักษาตำแหน่งเดิมได้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (#1) ผลิตภัณฑ์ยางพารา (#1) ทุเรียน (#1) กลุ่มสินค้าที่มีตำแหน่งลดลง ได้แก่ ข้าว กุ้ง และประมง รวมถึงน้ำตาลจากอ้อย (#4 ในปี 2563) อันเป็นผลจากหลายปัจจัย เช่น จากปัจจัยเชิงนโยบาย (ข้าว) การพัฒนาเทคโนโลยีของคู่แข่งขันระดับต้นน้ำ (กุ้ง) และระดับปลายน้ำ (ผลิตภัณฑ์จากอ้อย/น้ำตาล) แต่ในขณะเดียวกันสินค้าที่ประเทศไทยมีส่วนแบ่งเพิ่มในตลาดโลกที่มีอัตราการเติบโตสูง เช่น ผลไม้สด และยางสังเคราะห์ รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษเหลือของอุตสาหกรรมประมง ตามแนวคิด BCG (ภาพที่ 4.2 และรายงานระยะที่ 1: หน้า 326-338)

ขีดความสามารถในการแข่งขัน

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรลำดับที่ 11 ของโลก (ปี 2562) แต่ขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทย มีสัญญาณถดถอยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเห็นได้จากการลดลงของส่วนแบ่งในตลาดโลก จากร้อยละ 2.6 เป็นร้อยละ 2.4 ระหว่างปี 2553-2562 (ค.ศ.2010-2019) (WTO, 2022) ในช่วงเดียวกันประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของมูลค่าเพิ่ม (VAG) ลดลงและต่ำกว่าประเทศเวียดนาม มาเลเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งในตลาดสินค้าเกษตรหลัก และจีนซึ่งเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่ง อัตราการเติบโตของมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยมีความผันผวนมากโดยเปรียบเทียบกับ 3 ประเทศนี้ การที่มูลค่าเพิ่มมีอัตราลดลงเหลือเพียงประมาณร้อยละ 2 ต่อปีนั้น ส่วนสำคัญเกิดจากการเพิ่มของดัชนีผลิตภาพปัจจัยการผลิต (growth of TFP index) ของไทย (ภาพที่ 4.3 และ ภาพที่ 4.4)

 การเติบโตของ TFP ภาคเกษตรไทย ได้มาจากการพัฒนาผลิตภาพด้วยเทคโนโลยี และอีกส่วนหนึ่งได้จากการมีสินค้าที่หลากหลาย ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนของภาคธุรกิจเกษตรโดยได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากยุทธศาสตร์ของภาครัฐ ในช่วงหลังวิกฤตการเงิน (1997) (Lecturque & Wiggins, 2011)

การยกระดับการเติบโตของภาคเกษตรในอนาคตจึงต้องพัฒนาคุณภาพแรงงานโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานควบคู่กับขยายทุนทางกายภาพ การลงทุนในระบบน้ำ ความรู้ในการใช้ปุ๋ย การจัดการคุณภาพอาหารสัตว์ และ/หรือพันธุ์ปศุสัตว์เพื่อให้เกิดอัตราการแลกเนื้อสูงขึ้น และที่สำคัญคือนโยบายและการบริหารจัดการให้เกิดการใช้พื้นที่ตามความเหมาะสม (ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้พื้นที่ความเหมาะสมต่ำ (S3 และ N) และพื้นที่บุกรุกป่า) ทั้งนี้เพื่อเพิ่มผลิตภาพการใช้ที่ดิน ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อก้าวต่อไปจากมุมมองของงานวิจัย

รายงานการวิจัยและข้อเสนอเชิงนโยบาย ประกอบด้วยข้อเสนอระดับมหภาคและระดับรายสินค้า โดยครอบคลุมระบบสนับสนุนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตและการตลาด ตลอดโซ่มูลค่า ได้แก่ ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ระบบข้อมูล ระบบการศึกษา ระบบสินเชื่อเกษตร ระบบโลจิสติกส์ และระบบเชิงสถาบัน (นโยบาย กฎหมาย) ส่วนที่สองวิเคราะห์กรณีศึกษาระบบสินค้าเกษตรเศรษฐกิจหลัก 6 ชนิด (ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาล ยางพาราและประมง) และสินค้าที่มีศักยภาพสูง 3 ชนิด (ทุเรียน แมลงและเมล็ดพันธุ์) 

สถานการณ์เกษตรและอาหารโลก โครงสร้างความต้องการและการผลิตอาหารและเกษตรของโลกจะเปลี่ยนอย่างยากที่จะพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำในอนาคต แต่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (หรือ FAO) ได้ประมาณการว่าอีก 30 ปีข้างหน้า (ปี ค.ศ.2050) ผลผลิตเกษตรของโลกเชิงปริมาณจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.4 ของปี ค.ศ. 2020 เนื่องจากคุณภาพของทรัพยากรลดลง การขาดแคลนน้ำและความเสี่ยงจากภาวะภูมิอากาศโลกและโรคระบาด ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ประเทศต่าง ๆ จะมีการลงทุนอย่างหนักหน่วงขึ้นเพื่อพัฒนา ววน. สำหรับพัฒนาสายพันธุ์พืชและสัตว์ใหม่ ๆ เพื่อชดเชยความเสื่อมถอยของทรัพยากรและหลีกเลี่ยงภาวะผลผลิตคงที่ระดับสูง (plateau) ในปัจจุบัน ประเทศกำลังพัฒนาต่างตื่นตัวและเร่งลงทุนพัฒนาเกษตรแม่นยำ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เป็นต้น 

สถานการณ์ของประเทศไทย ภาคเกษตรของประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องใน 4 ทศวรรษ แต่มีสัดส่วนในมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ลดลงจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 8 ในปัจจุบัน และมีการใช้แรงงานถึงร้อยละ 31 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ครัวเรือนเกษตรมีรายได้นอกภาคเกษตรประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้รวม แต่โดยเฉลี่ยแล้วรายได้ครัวเรือนไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายทำให้มีปัญหาหนี้สินเรื้อรัง และกว่าร้อยละ 30 ของครัวเรือนเกษตรอยู่ใต้เส้นความยากจน เป็นภาพสะท้อนความไม่เสมอภาคด้านรายได้และความไม่มั่นคงของอาชีพเกษตร

ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารและเกษตรอันดับ 10 และ 11 ของโลก และเป็นที่ประจักษ์ว่าไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 – 5 ของผลิตภัณฑ์เกษตรสำคัญหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเศรษฐกิจพื้นฐานหรือสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีมูลค่าต่ำ เช่น มันเส้น แป้งมัน (native starch) ข้าว ยางแผ่นรมควัน น้ำตาล เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น แป้งดัดแปร (modified starch) และผลิตภัณฑ์ชีวเคมี ซึ่งต้องการเทคโนโลยีขั้นสูงและการลงทุนมากเป็นธุรกิจของเอกชนต่างชาติ และสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ส่วนใหญ่อยู่ในมือของธุรกิจขนาดใหญ่ ความสำเร็จของการส่งออก เป็นภาพที่ขัดแย้งกับฐานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกรและความไม่ทั่วถึงด้านความมั่นคงทางอาหารในจังหวัดที่มีความยากจนเรื้อรัง แต่ขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเปรียบเทียบของประเทศไทยเริ่มลดลง เมื่อประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ หลายประเทศมีอัตราการเติบโตของภาคเกษตร (Total Factor Productivity Growth และ Agricultural Value Added Growth) สูงกว่าประเทศไทย 

ภาพอนาคตของภาคเกษตรไทย ในมิติต่าง ๆ ปี 2580 

จากสถานะการเกษตรในปัจจุบันประกอบกับทิศทางความต้องการและการผลิตอาหารและเกษตรของโลก ประเทศไทยสามารถรักษาตำแหน่งที่ 6 – 10 ของผู้ส่งออกของโลกได้ในอนาคต รวมทั้งการยกระดับไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าของโลกได้สำหรับมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ยางพารา ทุเรียน ศูนย์กลางระดับภูมิภาคสำหรับน้ำตาล Bio-energy เมล็ดพันธุ์ (sowing seed) ผู้ส่งออกอันดับ 1 ในตลาดอาเซียนสำหรับเนื้อโคคุณภาพ ผลิตภัณฑ์นม สมุนไพรและเครื่องเทศบางชนิด รวมถึงชีวภัณฑ์ในอนาคตด้วย และเป็นศูนย์กลางเกษตรเพื่อความผาสุกแห่งเอเชีย โดยมีโครงสร้างภาคเกษตรในอนาคต ดังต่อไปนี้  

รายได้   

  • สัดส่วนรายได้เกษตรใน GDP 5-8% เกษตรกรมีรายได้ 340,000 บาท/คน/ปี 

ทรัพยากรมนุษย์

  • การศึกษาของประชากรเกษตร: ปวส. อนุปริญญา ปริญญาตรี และมี mindset การประกอบการ 
  • องค์ประกอบของอาชีพเกษตร: เกษตรกร (20-35%) ธุรกิจเกษตร (20-30%) บริการเกษตร (10-25%) นักวิชาการ (10-25%) 

สินค้า   

  • องค์ประกอบของสินค้าเกษตรส่งออก ลด primary → intermediate → final products โดยใช้สัดส่วนมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในมูลค่าส่งออกรวมเปลี่ยนจาก 9.14 และ 7.8 ให้เข้าใกล้ 5.0 และ 10.0 
  • องค์ประกอบเกษตรกรรม ลดพืชไร่ (ปศุสัตว์ บางชนิด) → พืชสวน สมุนไพร โปรตีนพืช ประมง วนเกษตร ผลิตภัณฑ์จากจุลชีพและบริการเกษตร 

ทรัพยากรเกษตร

  • แหล่งน้ำชลประทานหลวง 50 ล้านไร่ ธนาคารน้ำใต้ดิน แหล่งน้ำขนาดเล็กเต็มพื้นที่ 
  • การใช้ที่ดินสำหรับพืชแต่ละชนิด เฉพาะความเหมาะสมระดับ S1 และ S2 

เทคโนโลยี

  • การเกษตรไทยอยู่บนฐานเทคโนโลยี IoT และ biotechnology เป็นหลักทั งในระบบปิดและระบบเปิด และขับเคลื่อนด้วย food technology, BCG 
  • ความก้าวหน้า ววน. ในสินค้าเกษตรหลักเป็นอันดับ 1 ของ ASEAN

สถาบัน

  • เกษตรกรร้อยละ 80 เป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรกร เครือข่ายสหกรณ์ หรือสมาคม โดยมีการเป็นสมาชิกของสถาบันเป็นค่านิยมของการเกษตรยุคใหม่ 
  • นโยบายรัฐทุกองค์ประกอบในโซ่มูลค่าได้รับการกำกับโดยกระทรวงเดียวตามกฎหมาย เพื่อประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคล่องตัว (โอนย้ายส่วนราชการข้ามกระทรวง) 

ระบบโครงสร้างพื้นฐาน

  • โซ่มูลค่าของสินค้ามีการบูรณาการแนวตั้ง (vertical integration) เพื่อ fair trade อย่างน้อยร้อยละ 50 ของภาพรวม 
  • นโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรพึ่งตนเองมากกว่านโยบายแก้ปัญหาระยะสั้น 
  • เกษตรกรมากกว่าร้อยละ 50 มีประกันภัยพืชผล – ประมง

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงระบบ

ข้อเสนอแนะระบบข้อมูลเพื่อเกษตรอัจฉริยะ

  1. ควรมีการใช้นโยบายเชิงระบบทั้งแนวราบ (เชิงพื้นที่) และแนวดิ่ง (ตลอดห่วงโซ่มูลค่า) โดยทดลองการใช้ระบบชานชลาข้อมูล (data platform) และมอบหมายให้ อว. สร้างสนามทดลอง (sandbox) ร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องตามยุทธศาสตร์ (agenda) และเป้าหมายภารกิจพื้นที่ (area) มีระบบ/กลไก (peopleware-software-hardware) ในการบูรณาการระบบจัดเก็บและใช้ข้อมูล/เนื้อหาตามหลักธรรมาภิบาลข้อมูล 
  2. ประเทศต้องการการลงทุนใน ววน. อีกมาก เพื่อสร้างระบบใช้ข้อมูลเพื่อการทำความเข้าใจ-คาดการณ์-ร่วมตัดสินใจ จัดการทรัพยากรเกษตรในระดับแปลง ในระดับฟาร์ม จนถึงการวางแผนระดับเขตการปกครอง เขตลุ่มน้ำ ภูมิภาค และประเทศ 
  3. เสริมหน่วยในภูมิภาคฯ สร้างระบบข้อมูลเพื่อตอบโจทย์เฉพาะด้านในเชิงลึกและบูรณาการระหว่างภูมิภาคในลักษณะโครงการทดลอง (sandbox) เช่น ใน 8 เขตของกรมวิชาการเกษตรเพื่อเผยแพร่ผลงานแทนระบบอนาล็อก (analog) และเพื่อประโยชน์การวางแผนระดับรายสินค้า 
  4. หน่วยผลิตบุคลากร ต้องปรับให้มีการสร้างคนอย่างเป็นระบบและมีพลวัต 
  5. พัฒนาฐานข้อมูลตรงเวลา (real-time database) เพื่อลดความเสี่ยงในด้านการผลิต ด้านการจัดการโลจิสติกส์ ด้านการจัดการการค้า และเพื่อการจัดท้าระบบเตือนภัย การมีฐานข้อมูลที่ดีช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้กับระบบเกษตรทุกภาคส่วน 

ข้อเสนอแนะระบบกฎหมาย ระเบียบ ระบบการเมือง สถาบันและนโยบายการเกษตร 

  1. ใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญในส่วนการปฏิรูปประเทศ และพระราชบัญญัติการจัดท้ายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 เพื่อปฏิรูประบบการจัดทำนโยบายการเกษตร ที่มิใช่กลไกในระบบปกติ โดยบูรณาการนโยบายที่เกิดจากการจัดทำโดยคณะกรรมการตามกฎหมายชุดต่าง ๆ 
  2. นโยบายทางการเกษตรที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการตามกฎหมาย และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้นำแผนไปสู่การปฏิบัติ มีการจัดสรรงบประมาณและงบผูกพันที่หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐดำเนินการอยู่ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคหรือขัดแย้งกับการปรับเปลี่ยนนโยบายการเกษตรให้เป็นการเกษตรสมัยใหม่ และเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายเดิมที่ล้าสมัย 
  3. รัฐบาลร่วมกับรัฐสภาภายใต้การปฏิรูปประเทศและการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ต้องจัดทำยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกฎหมายเพื่อสนับสนุนนโยบายระบบการเกษตรสมัยใหม่ 
  4. ปฏิรูปองค์กร ระบบการบริหารราชการและข้าราชการ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำนโยบายการเกษตรสมัยใหม่ไปสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบของราชการสมัยใหม่
  5. ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตทางการเกษตร โดยการวางแผนการทำการเกษตรที่เหมาะสมตามศักยภาพของที่ดินและปัจจัยการผลิตอื่น ๆ โดยคำนึงถึงกลไกตลาด แทนการแทรกแซงโดยนโยบายราคา 
  6. ปฏิรูประบบการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อสร้างนิสัยและค่านิยมการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนแทนการพึ่งพานโยบายแทรกแซงตลาด (moral hazard) ด้วยระบบสร้างแรงจูงใจด้วยรางวัลการทำดี เป็นการตอบแทนผลของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนต่อหน่วยและ/หรือการเพิ่มคุณภาพสินค้าโดยให้เป็นค่าพรีเมียม ส้าหรับระยะแรกใช้เวลา 3-5 ปี จากงบประมาณเพื่อแทรกแซงราคาต่าง ๆ 

ข้อเสนอแนะระบบโลจิสติกส์เกษตร

ระยะปัจจุบัน (quick win) 

  1. ภาครัฐควรเร่งให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ ให้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ สามารถจัดหาและประสานงาน และจัดหลักสูตรอบรมระยะสั้นแก่เกษตรกร ผู้นำกลุ่มเกษตรกรเกษตรแปลงใหญ่ ผู้จัดการสหกรณ์และผู้ประกอบการ ให้สามารถจัดการโลจิสติกส์บนฐานเทคโนโลยีและข้อมูลที่แม่นยำ
  2. มีมาตรการสนับสนุนและอุดหนุนการลงทุนใน hardware และ software ที่จำเป็นแก่กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ สหกรณ์ และผู้ประกอบการ และส่งเสริมการจัดการโลจิสติกส์ด้วยระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) 
  3. ส่งเสริมการน้าเข้าเทคโนโลยีที่เหมาะสมผ่านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยมีเงื่อนไขการถ่ายทอดความรู้ 

ระยะสั้น-ปานกลาง-ยาว

  1. เร่งสร้างความรู้ ด้วยงานวิจัยให้เกิดความรู้เชิงลึกและจำเพาะ เหมาะกับบริบทระบบการเกษตรของประเทศอย่างจริงจังและเพียงพอ สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการวิจัยพัฒนา (R&D) การจดสิทธิบัตร และการน้าไปใช้เชิงธุรกิจ รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เพื่อถ่ายทอดความรู้ควบคู่กับการด้าเนินธุรกิจ 
  2. การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาโดยพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์อย่างครอบคลุม และบูรณาการระหว่างศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และสร้างแขนงทางเลือกที่หลากหลาย และควรเป็นศูนย์กลางการศึกษาระบบโลจิสติกส์เกษตรของอาเซียน 
  3. ให้ความสำคัญสูงต่อการเชื่อมโยงโครงข่ายจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ดังเช่น ระบบธุรกิจ โดยเกษตรข้อตกลงอย่างเกื้อกูล (patronized contract farming)  ระบบธุรกิจแบบมีส่วนร่วม (inclusive business model) หน้าที่เช่นเดียวกับเกษตรพันธะสัญญา แต่แทนที่จะเป็นภาคเอกชน จะเป็นคณะกรรมการซึ่งอาจมีเอกชนร่วมกับเกษตรและตัวแทนระหว่างภาครัฐ  การปรับใช้ฐานข้อมูล Agri-Map และจัดทำระบบคลังข้อมูล (big data) การส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนสร้างเครื่องจักร เครื่องมือ สำหรับระดับฟาร์ม และระดับกลางน้ำอย่างง่ายและเทคโนโลยีดิจิทัล (IoT) หุ่นยนต์ ในราคาเหมาะสมเพื่อทดแทนการนำเข้าและเพื่อส่งออก เป็นต้น

ข้อเสนอแนะระบบการเงินและการประกันภัยพืชผล

  1. พัฒนาความรู้ด้านการเงินที่จำเป็น (financial literacy) ให้เกษตรกรอย่างทั่วถึง เพื่อเข้าใจสถานะทางการเงินของธุรกิจฟาร์ม และยกระดับความรู้ทางการเงินให้แก่เกษตรกรอัจฉริยะ 
  2. สนับสนุนและส่งเสริมการออมและการลงทุนเกษตร ดังเช่น การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์การออมเพื่อส่งเสริมการออมและการลงทุนให้สอดคล้องกับระบบการผลิตและพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือนเกษตร  การหาแนวทางกระตุ้นการออมของเกษตรกรรายย่อย เช่น การออมในกลุ่มออมทรัพย์ควรใช้ปริมาณเงินออมเป็นเกณฑ์หนึ่งในการกำหนดวงเงินกู้
  3. เสริมประสิทธิภาพการกู้ยืมและการให้สินเชื่อ ดังเช่น การพิจารณาขนาดเงินกู้ให้เพียงพอต่อการผลิตที่เกษตรกรจะใช้ในแต่ละฤดูการผลิตโดยใช้ข้อมูลเกษตร (big data) พยากรณ์ระดับการตอบสนองของผลผลิตต่อปัจจัยการผลิต และคาดการณ์ราคาผลผลิตและราคาปัจจัยการผลิตที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละปี  การขยายระยะเวลาสินเชื่อ (ในทางปฏิบัติ) ให้เกษตรกรมีความยืดหยุ่นในการ รอจำหน่ายผลิตผลเมื่อราคาตลาดสูงขึ้น   ธ.ก.ส. ควรเน้นการให้สินเชื่อผ่านองค์กร หรือ กลุ่มเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรอัจฉริยะ ซึ่งมีการบูรณาการในโซ่อุปทาน ทำให้การใช้สินเชื่ออยู่บนฐานความรู้และการจัดการความเสี่ยงที่ดีกว่าสินเชื่อรายบุคคล การจัดรูปแบบการให้สินเชื่อที่เหมาะสมกับสมรรถนะของเกษตรกรสำหรับเกษตรกรที่มีผลิตภาพการผลิตที่ต่ำ หรือผลิตพืช/สัตว์ที่มีราคาตลาดต่ำ มักมีแนวโน้มความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ การเพิ่มบทบาทสถาบันการเงินประชาชน ซึ่งเป็นที่พึ่งของเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลนั้นควรมีบทบาทในการให้สินเชื่อเพื่อการผลิตเพิ่มขึ้น
  4. การปรับปรุงและขยายการประกันภัยพืชผล ดังเช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการประเมินค่าความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ให้มีระบบการจ่ายค่าชดเชยที่ทั่วถึงและรวดเร็ว เพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจและเกิดการยอมรับที่จะซื้อประกัน  การให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประกันภัยพืชผล ข้อดี ข้อเสีย ผลประโยชน์ที่จะได้รับอย่างถูกต้องและครบถ้วน ปราศจากจุดประสงค์แอบแฝงในเชิงพาณิชย์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีรูปแบบหลากหลาย และมีความครอบคลุมสินค้ามากขึ้น เช่น การประกันภัยในโค กระบือและประมงเพาะเลี้ยง (กุ้ง/ปลา/หอย/สาหร่าย ฯลฯ) 

ข้อเสนอแนะระบบการวางแผนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม

  1. ข้อเสนอแนะในภาพรวม คือ เร่งสร้างความพร้อมของข้อมูลและผลวิเคราะห์อย่างครอบคลุมเชิงระบบ เป็นปัจจุบัน และพร้อมใช้สำหรับการตัดสินใจและวางแผนทุกระดับ (เกษตรกรถึงผู้วางนโยบาย) 
  2. สร้างเครือข่ายงาน (consortium) ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (พด. GISTDA และ สศก.) ร่วมกับสถาบันการศึกษา พร้อมจัดงบประมาณเพื่อเก็บหรือรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ระดับพื้นที่และจังหวัด ข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศ รวมถึงการวิเคราะห์ผลสำหรับพืชเศรษฐกิจหลักอย่างครบถ้วนเป็นลำดับแรก และพืชเศรษฐกิจรอง รวมถึงพื้นที่เหมาะสมส้าหรับปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในลำดับต่อไป 
  3. ปรับแก้ระเบียบ กฎหมาย เพื่อเอื้อต่อการใช้พื้นที่นอกเอกสารสิทธิ์ ให้เป็นทางเลือกแก่เกษตรกร และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น การใช้พื้นที่สำหรับวนเกษตร เป็นต้น 
  4. ข้อเสนอแนะเชิงเทคนิค ดังเช่น การเพิ่มการแปลภาพถ่ายดาวเทียมราย 2 สัปดาห์ของทุกพืชเศรษฐกิจ เพื่อเป็นประโยชน์ในด้านการติดตามการใช้ที่ดินสำหรับการปลูกพืชให้เหมาะสมกับศักยภาพของที่ดิน ในด้านการประมาณการผลผลิตจากพื้นที่ปลูกพืชแต่ละชนิด ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการวางแผนเพิ่มหรือลดพื้นที่ปลูกในแต่ละฤดูกาล  ข้อมูลแผนที่ชั้นความเหมาะสมของที่ดินเชิงกายภาพ ควรจะปรับปรุงให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน  กรณีตัวอย่างจังหวัดน่าน การสนับสนุนเกษตรกรที่ปลูกกาแฟหรือไผ่ซางหม่น ซึ่งรุกล้ำเข้าไปในเขตป่าสงวนหรือป่าอนุรักษ์ ให้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกรในพื้นที่โดยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) นอกจากจะแก้ปัญหาการขาดเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินแล้ว ยังเป็นช่องทางให้หน่วยงานรัฐสามารถเข้าไปดำเนินกิจกรรม เพื่อส่งเสริมเกษตรกรในการปลูกพืชทดแทนที่มีศักยภาพร่วมกับหน่วยงานภายนอก 

ข้อเสนอแนะเชิงระบบวิจัย

  1. กำหนดทิศทางพัฒนา ววน. โดยมีผู้ใช้เป็นเป้าหมาย เพื่อได้ ววน. ที่มีความเหมาะสมและเพียงพอสำหรับเกษตรกรที่มีความก้าวหน้าต่างกัน (ยอด/กลาง/ฐานพีระมิด) 
  2. การสนับสนุนการพัฒนา ววน. อย่างครอบคลุม และเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน ตามระดับของ ววน. เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับเกษตรอัจฉริยะ กระทรวง อว. ควรเป็นหน่วยงานหลัก (สวทช. และมหาวิทยาลัยวิจัย ทั้งนี้ สามารถมีบุคลากรของหน่วยงาน/มหาวิทยาลัยอื่นเป็นเครือข่าย หรือนวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากความหลากหลายทางชีวภาพและอัตลักษณ์ท้องถิ่น ควรมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ อว. (มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น) เป็นหน่วยงานหลัก เป็นต้น 
  3. การสนับสนุนการพัฒนาพันธุ์พืชและเมล็ดพันธุ์พืช รวมถึงการพัฒนาพันธุ์จากความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (เช่น National Genes Bank เป็นต้น) โดยเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวง อว. สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และภาคเอกชน ส่วนการปรับปรุงพันธุ์ควรสนับสนุนงานวิจัยผ่านสถาบันอุดมศึกษา สวทช. และภาคเอกชน โดยมี สอวช. ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ กำหนดทิศทางและอำนวยความสะดวก 
  4. การกำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาการเกษตรของประเทศที่ชัดเจน เป็นหลักการที่ทุกภาคส่วนรับรู้ได้ร่วมกัน เช่น นโยบายเกษตรอินทรีย์ นโยบายการแทรกแซงกลไกตลาด นโยบายการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการผลิตพืช (เช่น พืชดัดแปรพันธุกรรม) นโยบายเรื่องการจัดการพันธุ์ข้าว (เช่น เรื่องการใช้พันธุ์ข้าวลูกผสม) การสร้างตลาดในประเทศเพื่อรองรับผลิตผลส่วนเกิน (เช่น ยางพารา) เป็นต้น และเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการวิจัยและพัฒนา ววน. ควรมีกลไกและมาตรการรองรับอย่างเหมาะสม 
  5. การสนับสนุนทุนวิจัยให้เกิดการเติมช่องว่างความต้องการ ววน.ในทุกระดับ (ห้องปฏิบัติการ-เทคโนโลยี-นวัตกรรม) และสามารถเชื่อมร้อยกันได้ในโซ่มูลค่า 
  6. การกำหนดระบบการเข้าถึงและใช้ผลงานวิจัยและพัฒนาโดยนักวิชาการเพื่อต่อยอดงานวิจัยและเน้นการพัฒนาความรู้และนำไปใช้โดยเกษตรกรมีส่วนร่วมในการวิจัยทดลองเรียนรู้ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาเกษตรและพันธมิตร (เกษตรกร สภาเกษตรกร ฯลฯ) อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีสถาบันของเกษตรกรด้านวิจัยและพัฒนา เช่น “มหาวิทยาลัยของเกษตรกร” (Farmers’ University) ซึ่งเป็นกลยุทธการยกระดับอาชีพเกษตรสู่เกษตรอัจฉริยะไปพร้อมกัน 
  7. การสนับสนุนงานวิจัยเชิงสถาบันเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบและอุปสรรค ปรับปรุงบทบาทของหน่วยงาน/นโยบายระหว่างการปฏิรูประบบเกษตร เช่น ผลสัมฤทธิ์และบทบาทใหม่ของ ธ.ก.ส. หรือของ สอษ. เป็นต้น 

ข้อเสนอแนะเพื่อเสริมบทบาทของการอุดมศึกษาเกษตร

  1. ความชัดเจนของนโยบายของการอุดมศึกษา การมีกลไกและข้อมูลเพื่อสร้างความต่อเนื่องของระบบการศึกษา วิจัยและบริหารวิชาการที่สอดคล้องกับ “นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา พ.ศ. 2563-2570” โดยจัดทำแผนแม่บทการอุดมศึกษาเกษตรศตวรรษที่ 21เป็นต้น 
  2. นโยบายการศึกษาที่เน้นสร้างบัณฑิตคุณภาพสูงมากกว่าปริมาณเพื่อให้สอดคล้องกับการลดลงของอัตราเพิ่มประชากร โดยจัดการศึกษาผ่านการวิจัยและปฏิบัติใน 3 ด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมตามพันธกิจของแต่ละกลุ่ม สอษ. 
  3. นโยบายยกแพลตฟอร์ม สอษ. สู่สถาบันอุดมศึกษาเกษตรให้เทียบเคียงได้ กับสถาบันเกษตรระดับโลกโดยเน้นภาระงานวิจัย (เชิงลึกและเชิงบูรณาการ) ต่อภาระงานสอน ไม่ต่้ากว่า 60:40 พร้อมกับจัดงบประมาณและระบบประเมินผลงานอย่างสอดคล้อง 
  4. การสนับสนุนหลักสูตรแนวใหม่นอกกรอบที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงความต้องการในบริบทของประเทศไทย ทั้งความต้องการระยะสั้นและอนาคตได้อย่างรวดเร็ว (demand-driven) และเพื่อสร้างบัณฑิตในสาขาขาดแคลน และมีความจ้าเป็นให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูประบบเกษตรไทย เช่น สาขาประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สาขาภูมิสถาปัตย์ฐานวิทยาศาสตร์เกษตรทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อวางแผนการใช้แผ่นดินและทรัพยากรที่เหมาะสมสำหรับปัจจุบันและอนาคต ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของภาคการผลิตเกษตร และหลักสูตรซึ่งตอบสนองนโยบาย BCG เป็นต้น 
  5. แผนบุคลากรด้านเกษตรใน สอษ. ระดับประเทศ พร้อมมาตรการและกลไกเพื่อสร้างและพัฒนาคณาจารย์และนักวิชาการเกษตรระดับแนวหน้าอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เช่น การสร้างแรงจูงใจให้ผู้มีคุณสมบัติเด่นเข้าสู่ตำแหน่งงานใน สอษ. และดึงดูดผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศในสาขาขาดแคลน หรือผู้นำด้านวิทยาศาสตร์เกษตรเป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะมากขึ้น 
  6. จัดระบบการประเมินผลงานและการตอบแทนที่มีประสิทธิผลต่อการจูงใจให้บุคลากรรับภาระกิจและส่งมอบผลงานให้ สอษ. ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของแผนระยะสั้น-ระยะยาว และควรทบทวนหลักเกณฑ์การประเมินให้สอดคล้องกับพันธกิจปัจจุบัน และพันธกิจใหม่ ๆ อย่างเหมาะสมและชัดเจน 
  7. จัดทำนโยบายและกลไกสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนเข้าสู่ภาคเกษตรเป็นวาระเร่งด่วน  เช่น ระบบจูงใจเยาวชนโดยเฉพาะผู้มีผลการเรียนดีเข้าศึกษาในสาขาเกษตรให้ได้จำนวนที่เกิดการเกษตรอัจฉริยะ ระบบจูงใจบัณฑิตที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีการจัดการและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่อาชีพเกษตรอัจฉริยะ  ระบบจูงใจผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. ในสาขาเกษตรและที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อยอด วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการจัดการเพื่อเป็นเกษตรกรอัจฉริยะเป็นหลัก 
  8. บูรณาการนโยบายระดับกระทรวงจัดทำแผนงานวิจัยทั้งระดับวิทยาศาสตร์เกษตร เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเชื่อมโยงแนวราบเชิงพื้นที่ และแนวดิ่งตามโซ่อุปทาน รวมถึงระบบงบประมาณ และระบบติดตามประเมินผลในเชิงพื้นที่ 
  9. ในด้านการยกระดับเกษตรกรไปสู่ยอดพีระมิดด้วยการวิจัยและพัฒนาร่วมกันระหว่างสอษ.และเกษตรกรผ่านการจัดองค์กรทีมีโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ชัดเจนจะมีประสิทธิผล เช่น Farmers’ University โดยเกษตรกร (สภาเกษตรกร) เป็นเจ้าของและร่วมการทดลองในพื นที่ของ สอษ. เป็นต้น ดังกล่าวแล้วในระบบ ววน. 

เอกสารอ้างอิง

รายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (White Paper) การวิจัยเชิงระบบเพื่อการปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาคการเกษตรไทย (System Research for Transformation of Agricultural System), 2565, ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร.อารี วิบูลย์พงศ์.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ