ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาพชุมชน อบต.ดวนใหญ่ จ.ศรีษะเกษ ดึงอีก 8 อทป.เซ็นต์ MOU ร่วมเป็นเครือข่ายเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้โครงการสานพลังภาคีเครือข่ายท้องถิ่นน่าอยู่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
25 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องสุขวิช รังสิตพล ชั้น 3 โรงแรมศรีพฤทธาลัย ราชภัฏสัมมนาคาร อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ นางจันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชนพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายประกาศิต กายะสิทธิ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. องค์การบริหารส่วนตำบลดวนใหญ่ ในฐานะ “ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน” และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย 8 อปท. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนงาน ภายใต้โครงการสานพลังภาคีเครือข่ายท้องถิ่นน่าอยู่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
นายสิทธิชัย วิลัยเลิศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดวนใหญ่ อำเภอวังหิน จังหวัดศรีษะเกษ ในฐานะศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน เปิดเผยว่า อบต.ดวนใหญ่ ทำงานกับ สสส. ตั้งแต่ปี 2558 โดยขับเคลื่อนการทำงานในประเด็นการดูแลสุขภาพมาตลอด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอาหารปลอดภัย และประเด็นผู้สูงอายุ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายขึ้นในชุมชน นอกจากนี้ยังเล่าต่อว่าการดูแลสุขภาพเชิงรุกเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นการทำงานในพื้นที่ให้ประชาชนตื่นตัว และยังเป็นการทำงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือในการทำงานด้วยกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน และหลังจากนี้เราต้องทำงานร่วมกับ 8 อปท. ที่จะเป็นการเสริมสร้างสุขภาพด้วยกัน โดยมีรูปแบบการทำงาน 3 ระยะ คือสั้น กลาง ยาว โดยเฉพาะเรื่องการลดโรคพยาธิใบไม้ในตับที่ อบต.ดวนใหญ่ให้ความสำคัญลำดับแรก โดยมีภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อ.วังหิน และพื้นที่ใกล้เคียงร่วมสนับสนุน
นายสิทธิชัย ยังกล่าวต่ออีกว่า “ตอนนี้เราพร้อมทำหน้าที่เป็น “ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน” เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย 8 อปท. ได้แก่ อบต.ศรีสำราญ เทศบาลบุสูง อ.วังหิน , เทศบาลตำบลสิ อบต.ห้วยจันทร์ อ.ขุนหาญ , อบต.บึงมะลู อ.กันทรลักษ์ , อบต.ผักแพว อ.กันทรารมย์ , อบต.อีเซ อบต.เสียว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะทำงานร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันในมิติสุขภาพ 5 ประเด็นหลัก คือ การพัฒนารูปแบบการควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีแบบมีส่วนร่วม การยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ การสร้างโอกาสด้านอาชีพเพื่อลดจำนวนผู้ว่างงาน ผู้ด้อยโอกาส การสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัย และหมู่บ้านจัดการตนเอง”
โดยเหตุผลที่ต้องขับเคลื่อนใน 5 ประเด็นหลักที่ว่า เนื่องจากในปี 2565 ที่ผ่านมา ชาวศรีษะเกษเสียชีวิตเพราะมะเร็งท่อน้ำดีมากกว่า 300 คน คิดเฉลี่ยเท่ากับเสียชีวิต 1 คน/วัน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากโรคพยาธิใบไม่ในตับ จึงเห็นว่าเป็นประเด็นที่ต้องเร่งรีบแก้ไขร่วมกัน ประเด็นการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุนั้น ก็เพื่อให้เกิดการดูแลผู้สูงอายุแบบยั่งยืนเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย เป็นต้น
“การทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย ทั้ง 8 อปท. จะต้องทำงานกับประเด็นท้าทายในชุมชนของตนเองมากกว่าที่เราชวน เพราะหลังจากเขาใช้เครื่องมือสำรวจข้อมูล พบต้นทุนในพื้นที่ จะทำให้ทราบว่าพื้นที่ของตัวเองมีประเด็นใดที่ต้องขับเคลื่อน พื้นที่ต่างกันความท้าทายของทำงานก็ต่างกันไปด้วย แต่ไม่ว่าจะอย่างไรเราก็ยังเป็นพี่เลี้ยงดูให้ตลอด” นายกอบต.ดวนใหญ่ กล่าว
ทางด้าน นางจันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวหนุนเสริมการทำงานในฐานะ“ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน” ว่า เพราะอบต.ดวนใหญ่ ทำงานจากฐานข้อมูลที่มีอยู่จริง ทำให้รู้ว่า มีศักยภาพอะไรและจะต่อยอดในเรื่องอะไรต่อไปได้อย่างรวดเร็ว เช่น ให้คนที่กลับบ้านช่วงโควิด-19 มีอาชีพเลี้ยงกบ และส่งเสริมให้ทำตลาดขายกบด้วย หรือส่งเสริมให้ทำเกษตรอินทรีย์ และก็เอาเกษตรอินทรีย์เข้ามาเป็นอาหารในโฮมสเตย์ รวมทั้งการทำโฮมสเตย์ของเขาก็ต่อยอดเป็นโฮมสเตย์ที่ได้มาตรฐานระดับชาติและระดับเอเชีย
“ต้องยอมรับว่า ที่นี่เขาทำงานร่วมกันและต่อยอดได้ในทุกประเด็นที่ทำ จึงคิดว่า เขามีความพร้อมมากที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับอีก 8 อปท.เครือข่าย เมื่อรวมกันเป็น 1+8 อนาคตเราจะได้เห็นว่าเขาจะทำงานร่วมกันในประเด็นไหนเพราะเชื่อว่าหลังจาก 8 อปท.เครือข่าย เก็บข้อมูลในพื้นที่ของตัวเองแล้ว จะต้องมีสิ่งที่ดีหรือศักยภาพเด่นที่น่าสนใจ ที่จะนำมาร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนต่อไปให้เราได้เห็นกัน” ทพญ.จันทนา กล่าว
ด้าน นายประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) กล่าวว่า สสส. ได้ทำหน้าที่เข้ามาหนุนเสริม สนับสนุนองค์กรหลักๆในพื้นที่เพื่อพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณาการ โดยการนำชุดความรู้ต่างๆ เข้ามาเป็นเครื่องมือให้ชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนไปด้วยกัน การใช้ข้อมูลเพื่อสำรวจดูทุนเดิมในชุมชนของตนเองว่า มีอะไรอยู่บ้าง มีปัญหาอะไร เพื่อจะได้ช่วยกันจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตรงตามความต้องการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการแก้ไขอย่างสัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม
“อบต.ดวนใหญ่ ซึ่งทำงานร่วมกับ สสส ตั้งแต่ปี 2558 เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ผ่านกระบวนการดังกล่าว และสามารถจัดการชุมชนของตัวเองได้อย่างดีมีความเข้มแข็ง จึงเกิดการขยายผลชักชวนเพื่อนอีก 8 อปท. มาร่วมกันเป็นเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ด้วยกัน เป็นการสานพลังและส่งต่อพลังของชุมชนท้องถิ่น ให้ขยายวงกว้างออกไปเป็นเครือข่ายที่สามารถโยงใยคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พร้อมหนุนเสริมการขับเคลื่อนสู่สุขภาวะชุมชนอย่างยั่งยืน” รองผู้จัดการ สสส.กล่าว