เลือกตั้ง 66 : เสียงพลเมือง … เมื่อพลังการสื่อสารอยู่ในมือคุณ

เลือกตั้ง 66 : เสียงพลเมือง … เมื่อพลังการสื่อสารอยู่ในมือคุณ

“เราได้สื่อสารจากสิ่งเล็ก ๆ ขึ้นไป ชาวบ้านเขาก็สนใจ เขาก็อยากให้มีคะแนนเสียงของเขาไปเลือกนายก ผู้แทน…”  ณัฐวุฒิ ธิสา นักข่าวพลเมืองสภาเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ  หนึ่งในอาสาสมัครจับตาเลือกตั้ง เล่าถึงความรู้สึกหลังร่วมทำหน้าที่อย่างแข็งขันตลอดในวันประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ร่วมกับเครือข่ายนักข่าวพลเมืองทั่วประเทศ และเครือข่ายนักข่าวพลเมืองในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ร่วมปักหมุดรายงานผ่าน Application C-site นับร้อยพิกัดจากทั่วประเทศ

จับตา คูหาใกล้บ้าน

“เลือกตั้งใหญ่ 14 พ.ค.66 เพื่อให้การเลือกตั้งโปร่งใส ชวนจับตา คูหาใกล้บ้านกับ C-Site ThaiPBS” นอกจากบอกเล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันทั่วประเทศในการออกมาใช้สิทธิใช้เสียงตามระบอบประชาธิปไตย ในหน้าประวัติศาสตร์เพื่อกำหนดทิศทางอนาคตของไทยทั้งประเทศ  นักข่าวพลเมืองและอาสาสมัครที่ร่วมจับตาเลือกตั้งครั้งนี้ ยังมีภารกิจร่วมยืนยันให้กระบวนการเลือกตั้งครั้งนี้ โปร่งใส และเป็นไปตามกระบวนการให้มากที่สุด ผ่านการมีส่วนร่วมของพลเมืองผ่านการสื่อสาร

145 หมุด คือ เหตุการณ์จากพิกัดข่าวทั่วอีสานที่สื่อสารกันเป็นระยะผ่านช่องแพลตฟอร์มออนไลน กลุ่ม  นักข่าวพลเมืองอีสาน จำนวน 80 กว่าคน ทั่วทั้ง 20 จังหวัดทั่วภาคอีสานกันอย่างคึกคัก ตั้งแต่ก่อนเปิดหีบลงคะแนนไปจนถึงรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการในค่ำคืนเดียวกัน กระทั่งรุ่งเช้าอีกวัน ภายใต้ความร่วมมือและปฏิบัติการที่เคียงบ่าเคียงไหล่กันกับนักข่าวพลเมืองในทุกพื้นที่ทั่วประเทศทุกภูมิภาค

เพราะพลังการสื่อสารอยู่ในมือคุณ

“ประทับใจ ยังไม่เคยทำเรื่องนี้มาก่อน แล้วโชคดีที่ผู้ใหญ่บ้าน ลูกหลานให้ความร่วมมือร่วมกัน เราเองก็เมื่อก่อนเป็นกรรมการ รอบนี้มาเป็นผู้สื่อข่าวไปด้วย ทางชาวบ้านก็ตื่นเต้น…” ณัฐวุฒิ ธิสา นักข่าวพลเมืองสภาเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ หนึ่งในอาสาสมัครเล่าถึงความประทับใจหลังร่วมรายงานการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา “ประทับใจชาวบ้านที่นี่มีความสามัคคีเหนียวแน่นกัน มองว่าสิ่งเล็ก ๆ ที่เขาอยากจะให้เห็นว่าการเลือกตั้ง คือในชุมชน เพราะเราได้สื่อสารจากสิ่งเล็ก ๆ ขึ้นไป ชาวบ้านเขาก็สนใจ เขาก็อยากให้มีคะแนนเสียงของเขา ไปเลือกนายก ผู้แทน แต่ก่อนถ้าไม่มีนักข่าวพลเมืองอยู่ในพื้นที่ ส่วนใหญ่ก็ไปหาผู้ว่าฯ เครือข่ายใหญ่ ๆ แต่ว่าหมู่บ้านเล็ก ๆ เป็นหมู่บ้านที่สามัคคีกัน พูดง่าย ๆ ก็ประทับใจออกสื่อได้เร็ว ก็ถือว่าให้ช่องทางกับชาวบ้านรับสื่อในการสื่อสาร”

“ขอบคุณที่มีพื้นที่ให้นำเสนอข่าวสารต่าง ๆ โดยเฉพาะข่าวการเมือง…” ดนัย สุคันธชาติ นักข่าวพลเมือง จ.นครราชสีมา เล่าถึงความประทับใจในอีกบทบาทที่ให้ประสบการณ์เพิ่มเติมจาก “สตริงเกอร์”หรือ “ผู้สื่อข่าวพิเศษ” ที่ร่วมเป็นนักข่าวพลเมืองในช่วงสถานการณ์เลือกตั้ง โดยย้ำว่าเป็นประสบการณ์พิเศษของเขาเช่นกัน     “…เป็นประสบการณ์แรกของผมที่ได้มีโอกาสเข้ามาทำนำเสนอข่าวของการเมือง  ผมก็เป็นนักข่าวพื้นที่ เป็นนักข่าวพิเศษ เป็นสตริงเกอร์หลายช่องครับ  แต่ประสบการณ์แบบนี้ไม่มี  ผมดีใจมากที่ได้มีประสบการณ์เข้าไปเรียนรู้กับไทยพีบีเอส เพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่ทำแยกแขนงต่าง ๆ ผมพยายามที่จะเข้าประชุมบ่อย ๆ มันทำให้เราได้มีทัศนคติเกี่ยวกับการนำเสนอข่าว ส่วนบรรยากาศการเลือกตั้ง ในพื้นที่อำเภอปากช่องก็ตื่นตัว โดยเฉพาะวัยรุ่น การผิดพลาดเกี่ยวกับการลงคะแนนน้อยกว่าทุกปี”

เช่นเดียวกับ วารินทร์ ทวีกันย์ นักข่าวพลเมือง จ.ยโสธร ที่ย้ำว่าต้นทุนการทำงานร่วมกับชุมชนในบทบาทของสมาคมชาวยโสธรมีส่วนสำคัญให้สามารถสื่อสารได้อย่าง เข้าใจ เข้าถึง กับชุมชนในการทำบทบาทนักข่าวพลเมือง

“จริง ๆ ก็รายงานครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รายงานเลือกตั้ง ด้วยความคุ้นเคยกับคนในพื้นที่อยู่แล้ว เวลาลงพื้นทีไปทำข่าวก็คุ้นเคย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเห็นปัญหาการเลือกตั้งครั้งนี้หลายหน่วยเลย คือความเข้าใจของเจ้าหน้าที่เรื่องการถ่ายภาพ เจ้าหน้าที่ที่ประจำหน่วยหลายคน หรือบางครั้งที่เป็นหัวหน้าหน่วยยังสับสนตรงนี้ คิดว่าน่าจะสับสนมาจากครั้งก่อน ครั้งนี้ไม่ได้มีการทำความเข้าใจชัด ๆจาก กกต. จากส่วนกลางลงมาที่หัวหน้าอำเภอถึงหน่วย เข้าใจว่าเขากลัว เขากังวล”

นักข่าวพลเมืองจากชุมชนท้องถิ่นสู่สาธารณะ

“เสียงประชาชน เลือกอนาคตประเทศไทย” จากปรากฏการณ์ที่มีภาคประชาชนจากหลายกลุ่ม หลายอาชีพ  หันมาจับกล้องสวมบทบาททำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์และสื่อสารในวงกว้างผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในวันสำคัญ การเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นปรากฏการณ์สำคัญของการเมืองไทยรวมถึงในนักสื่อสารสาธารณะ รวมถึง “นักข่าวพลเมือง” ที่บอกเล่าเรื่องราวในท้องถิ่นของตน

จากนี้ แม้การลงคะแนนในคูหาเลือกตั้งจะผ่านพ้น แต่ยังมีโจทย์ทางสังคมบนความคาดหวังถึงนโยบายสาธารณะและสถานการณ์ทางสังคมที่ยังต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง

“เราเป็นคนรุ่นเก่าอายุ 60 กว่าแล้ว ปัจจุบันเหมือนเราอาศัยยุคเขาอยู่ มากกว่าที่เขาจะมาเรียนรู้กับคนรุ่นเก่า  คนรุ่นเก่าต้องเรียนร่วมกับคนรุ่นใหม่ เพราะว่าอาศัยเขาอยู่ การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้มองเห็นว่าคนตื่นตัว…” อนุสรณ์ นิลโฉม นักข่าวพลเมือง จ.เลย เล่าถึงมุมมองการแลกเปลี่ยนระหว่างวัยของคนในสังคมรวมถึงการรายงานข่าวพลเมือง

“คือมุมมองของผมนะครับ เราเป็นคนรุ่นเก่าอายุ 60 กว่าแล้ว ปัจจุบันเหมือนเราอาศัยยุคเขาอยู่ มากกว่าที่เขาจะมาเรียนรู้กับคนรุ่นเก่า  คนรุ่นเก่าต้องเรียนร่วมกับคนรุ่นใหม่ เพราะว่าอาศัยเขาอยู่ การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้มองเห็นว่าคนตื่นตัว แม้จะมีข้อผิดพลาด หรืออาจจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าคนรุ่นใหม่ มองแต่สื่อหรือเชื่อแต่สื่อ ผมคิดว่าถ้าเขาไม่ได้เรียนรู้มันก็จะไม่ได้มีการพัฒนา ต้องให้โอกาสเขาเรียนรู้เพื่อให้เกิดการพัฒนา มันจะผิดจะถูกยังไงก็ให้เป็นโอกาสของเขา แล้วอย่างหนึ่งถ้าเรามองการเลือกตั้งครั้งนี้ มีบัตรเสียส่วนหนึ่งเราไปถามผู้รับบัตร ส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุที่กาถูกกาผิด อย่างเช่น เรื่องของการกาพรรค มันมีจำนวนมาก ความผิดพลาดมีโอกาสสูง  คิดว่าจะต้องเป็นบทเรียนที่จะทำเสนอในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เกิดการพัฒนา เพราะเราไม่เคยมีการสาธิตการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อให้รู้ข้อดีข้อเสีย บริบทมันต่างกัน อันนี้เป็นบทเรียนจากที่เราเห็น”

นอกจากข้อเสนอให้มีการสาธิตการให้ความรู้เกี่ยวกับการจำลองการเลือกตั้งแล้ว การทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าสังเกตการณ์ จับตาสถานการณ์เลือกตั้งครั้งนี้ ยังได้เห็นการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการให้ความร่วมมือมากกว่าปีผ่านมา

“รอบนี้ถือว่าดีกว่าปี 62 ในการสื่อสาร เจ้าหน้าที่ต้อนรับดีกว่าปี 62  เขาก็ไม่รู้ว่าเราคือใคร เราไม่มีบัตรนักข่าว แต่รอบนี้เรามีเสื้อแสดงเจตนารมณ์ชัดเจน…” จักรพันธ์ จันทร์ปัญญา นักข่าวพลเมือง จ.อุดรธานี เล่าถึงบรรยากาศหลังจอที่เขามีส่วนร่วมรายงานบรรยากาศเลือกตั้ง จากหน่วยเลือกตั้งในชุมชน ถึงการแสดงตัวตอนของนักข่าวพลเมือง “เรามาที่จะจับตาเลือกตั้งโดยเฉพาะเลย ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้อนรับให้ความร่วมมือให้สังเกตการณ์ได้เลย  ดีกว่าเดิม ซึ่งเราลงพื้นที่ไป การทำงาน ของ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งดีขึ้นเยอะเลย อย่างเช่น อะไรที่คิดว่าไม่ถูกต้อง ในช่วงเช้า ที่ผมลงไปเทศบาล 7 มันมีป้ายที่มันบังอยู่ เขาก็แก้ไขทันที เพราะว่าเขารู้ว่ามีคนมาดู และสื่อสารออกไป ก็ทำให้ถูกต้อง คิดว่าสังคมเปลี่ยนไปเยอะ เจ้าหน้าที่ให้ความร่วมมือ แค่เราเป็นนักข่าวพลเมือง สื่อสารโดยไม่ต้องบอกว่ามาจากไทยพีบีเอส แต่ว่าทุกคนเข้าใจว่าการสื่อสารอยู่ในมือของทุกคน รอบนี้ดีรู้สึกว่านอกจากได้ใช้สิทธิเป็นพลเมือง ยังมีโอกาศช่วยประชาธิปไตยเดินไปข้างหน้า คือการจับตาความไม่ถูกต้องในสังคม รอบนี้พัฒนา และผมก็ได้พัฒนาขึ้นครับ”

เครือข่ายสื่อสาธารณะ พื้นที่สื่อสารของคนท้องถิ่น

นอกจากการสื่อสารในแพลตฟอร์มส่วนตัวของบุคคล ทั้ง บัญชีเฟจบุ๊ก กลุ่มไลน์ข่าว ไลน์กลุ่มครอบครัว การขยายประเด็นและสถานการณ์ข้อมูลข่าวสารจากพื้นที่ไปสู่วงกว้างขึ้น เป็นอีกความร่วมมือของเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น ภายใต้การทำงานร่วมกันของกองบรรณาธิการไทอีสานPBS อุบลคอนเนค เมอเมิงสะเร็น Kalasin PBS อยู่ดีมีแฮงและ ThaiPBS ผ่านกอง บก.ดิจิทัลออนไลน์ และเชื่อมต่อจากภูมิภาคสู่ส่วนกลางเพื่อรายงานเหตุการณ์ในพื้นที่ และมี สุมาลี สุวรรณกร ทำหน้าที่ดำเนินรายการออนไลน์ในพื้นที่เชื่อมต่อและขยายประเด็นจากนักข่าวพลเมืองอีสาน ซึ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงพลังพลเมืองที่ต้องการกระจายอำนาจการมีส่วนร่วมกับสื่อสาธารณะในแนวราบ ภายใต้ความเชื่อ “พลังการสื่อสารอยู่ในมือคุณ”

“มองเห็นพลังอย่างน่าสนใจมาก เป็นมิติใหม่ในวงการสื่อ เห็นความตื่นตัว ความตั้งใจ ความตื่นเต้น ความกระตือรือร้น การเตรียมพร้อมของนักข่าวพลเมือง บางคนไม่เคยมีประสบการณ์ในการรายงานสดมาก่อน ก็พยายามศึกษาเรียนนรู้ ลองผิดลองถูก ทุกมีใจร่วมด้วยเต็มร้อย แม้จะติดขัดบ้างก็ไม่ได้ท้อ ไม่ได้ตกใจ แต่ผ่านและลื่นไหลเป็นอย่างดี มันเหมือนเราสมัยที่เป็นนักข่าวใหม่ ๆ ที่ตั้งใจแบบนี้เลย แต่ที่สำคัญที่สุด พวกเขาทุกคนทำแบบจิตอาสา ไม่ได้มองเรื่องสินจ้างรางวัล แต่หวังผลในการนำเสนอข้อมูล การบอกเล่าและการตรวจสอบ นี่คือจุดแข็งของการทำงานครั้งนี้” สุมาลี สุวรรณกร หนึ่งในทีมกอง บก.อีสาน ข่าวพลเมือง ร่วมจับตาการเลือกตั้ง เล่าถึงพลังของการสื่อสารและโอาสในการพัฒนาท้องถิ่นอีสาน

สุมาลี สุวรรณกร

“เห็นโอกาสมาก ๆ ในการที่นักข่าวพลเมืองจะยกโทรศัพท์มือถือมาบันทึกเหตุการณ์ ถ่ายภาพ ถ่ายคลิป บอกเล่า รายงานสิ่งที่พวกเขาเห็นให้เป็นเรื่องราวผ่านออนไลน์ ทั้งเรื่องดี ๆ ที่อยากจะนำเสนอ และเรื่องไม่ดีที่อยากจะตรวจสอบ เพราะนี่คือพลังพลเมือง พลังสื่อภาคประชาชนที่จะสามารถขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ก่อนหน้านี้หน้าที่รายงานข่าวเรามองว่าเป็นหน้าที่ของคนที่มีอาชีพสื่อมวลชน แต่ตอนนี้เราเห็นพลังสื่อภาคพลเมืองแล้ว มองว่ามีพลังมาก เพราะหากเทียนเล่มเล็ก ๆ ช่วยกันส่องสว่าง แม้อาจจะไม่สว่างเท่าดวงไฟ แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนมองเห็นและเป็นแสงสว่างให้พื้นที่ที่กำลังมืดมิดได้อยากปลุกพลังสื่อพลเมืองให้ตื่นตัวกันเยอะ ๆ เพื่อนำเสนอเรื่องราวของตัวเอง เมื่อใดที่คนตื่นตัวลุกขึ้นมามีปากเสียง เมื่อนั้นการแก้ปัญหา การมองเห็นก็จะเกิดขึ้นเช่นกัน พลังสื่อคือพลังประชาชนค่ะ”

อัปเดตความเคลื่อนไหวและเหตุการณ์ใกล้ตัว

สื่อสังคมออนไลน์ และดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อรูปแบบ วิธีการ วิธีทำ และการสื่อสารของพลเมืองในยุคปัจจุบัน Application C-site คืออีกเครื่องมือของ ThaiPBS ที่มุ่งหวังให้เป็นพื้นที่สื่อสาร “อัปเดตความเคลื่อนไหวและเหตุการณ์ใกล้ตัว” จากทุกพิกัดจากทุกภูมิภาคทุกพื้นที่ ซึ่ง เสียงพลเมือง ได้ยืนยันถึงการมีส่วนร่วมและอำนาจการสื่อสารที่มีในมือผ่านการร่วมจับตาการเลือกตั้งที่ผ่านมากับ พลังการสื่อสารที่อยู่ในมือคุณ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ