เวทีเสวนาเรื่อง “จุดไฟ ในพายุ” สันติภาพชายแดนใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง

เวทีเสวนาเรื่อง “จุดไฟ ในพายุ” สันติภาพชายแดนใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง  การติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อื่นๆจากทั่วทุกภูมิภาคดูเหมือนจะเงียบหายไป  แต่เมื่อวันที่  17 ธันวาคม 2556  ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  เวทีเสวนาเรื่อง “จุดไฟ  ในพายุ” สันติภาพชายแดนใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ยังมีการพูดคุยเพื่อติดตามและตั้งข้อสังเกตต่อสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้อย่างต่อเนื่อง ผ่านมุมมองของนักวิชาการและคนทำงานในพื้นที่

ประเด็นในงานเสวนาครั้งนี้ มีการแลกเปลี่ยนถึง “สถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับสถานการณ์ทางการเมืองในกรุงเทพมหานครว่ามีผลกระทบอย่างไรต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ”  ซึ่งมีมุมมองการพูดคุยแลกเปลี่ยนที่หลากหลาย รวมถึงจาก อนุสรณ์ อุณโณ

อนุสรณ์ อุณโณ  อาจารย์คณะมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์วิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในวงเสวนา ตั้งข้อสังเกตกับมุมมองของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า “อะไรที่ทำให้คนที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการสันติภาพถึงได้มาสนใจเรื่องราวที่เกิดในกรุงเทพ” 

เรื่องแรก สืบเนื่องจากผลการเลือกตั้งระดับชาติ เมื่อ 3 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา  หลังจากที่อาจารย์ได้ลงพื้นที่ศึกษาและเก็บข้อมูลพบว่า แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะชนะการเลือกตั้งในภาพรวม แต่ในเขตเลือกตั้งที่ 2 ของยะลาพบว่า พรรคเพื่อไทยชนะทั้งตัว สส. และพรรค  แต่ไปแพ้ที่ อ.ยะหา  ทำให้เมื่อรวมผลคะแนนแล้วเขตเลือกตั้งที่ 2 พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนมากกว่าจึงชนะการเลือกตั้งไป

“เพียงแต่อยากจะชี้ให้เห็นว่า คะแนนการเลือกตั้งในระดับหมู่บ้านมันไม่ได้เป็นภาพใหญ่ของภาคใต้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงเข้าใจได้ว่าเหตุใดคนในพื้นที่หรือคนในหมู่บ้านจึงมีความสนใจใคร่รู้ที่จะติดตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ เพราะไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ มันก็จะสัมพันธ์กับพรรคการเมืองที่เขาเลือก

มันมีข้อที่น่าสนใจอีกก็คือว่าถึงแม้ว่าการเลือกเพื่อไทย หรือว่า สส. ตรงนี้มันไม่ได้อยู่บนความภักดีต่อพรรคอย่างเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นที่ภาคเหนือหรือภาคอีสาน  ส่วนใหญ่จะเป็นความนิยมชมชอบส่วนตัวบวกกับเส้นสายความสัมพันธ์ในเชื้อเครือญาติและสมัครพรรคพวก แต่ความน่าสนใจก็คือว่า บรรดาคอการเมืองเขาจะพูดถึงนโยบาย ของการเลือกตั้งเพิ่มมากขึ้น

เรื่องที่ สอง ต่อด้วยการตั้งข้อสังเกตต่อมุมมองความเห็นอกเห็นใจคนเสื้อแดง  โดยอาจารย์อนุสรณ์เล่าว่าประเด็นที่กลุ่มคนเสื้อแดงนำมาพูดนั้น  เป็นประเด็นที่จับใจกลุ่มคนมากกว่า เพราะมีการพูดถึงคนที่ถูกผลักไปอยู่ชายขอบ

“ที่น่าสนใจคือคนเสื้อแดงไม่ได้รับความเป็นธรรมทางด้านการเมืองเป็นหลัก แต่เราพบว่าสิ่งที่คนในพื้นที่ประสบมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มันคือเรื่องความไม่เป็นธรรมทางสังคมและวัฒนธรรมซึ่งมันมีความกว้างกว่า มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมชาติพันธ์และศาสนา ซึ่งเราจะพบความขุ่นข้อง ความคับแค้นใจเกิดขึ้นตลอดเวลาในชีวิตประจำวันของพวกเขา

สิ่งที่พวกเพื่อนซึ่งเป็นคนในพื้นที่เล่าให้ฟังถึงความขัดข้องใจมากในกรณีที่ไม่สามารถที่จะระบุได้ว่าตัวเองมีเชื้อชาติอะไร ในบรรดาเอกสารทางราชการทั้งหมด เช่นใบอนุญาตพกพาอาวุธ เพื่อนผมก็โชว์ให้ดู ซึ่งเคยไปขอเจ้าหน้าที่ มันมีช่องให้กรอก ชื่อ นามสกุล สัญชาติ เชื้อชาติ พอช่องเชื้อชาตินี้ เขาอยากจะกรอกว่ามลายู เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้กรอก เมื่อถามเหตุผลก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมถึงไม่สามารถกรอดเชื้อชาติมลายูได้ และถามต่อไปว่า ทำไมถึงกรอกเชื้อชาติจีนได้ คนจีนได้รับอนุญาตให้กรอกในช่องเชื้อชาติได้ แต่คนมลายูไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่มีคำอธิบายให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับที่มันสมเหตุสมผลพอนี้ ไอ้ชีวิตประจำวันพวกนี้สร้างความคับแค้นขุ่นข้อง ซึ่งมันทำให้เข้ารู้สึกว่าเป็นคนชั้นสองมาตรฐานมันไม่มีสำหรับเขา”

เรื่องที่สาม  ในมุมมองเรื่องกระบวนการสันติภาพ พบว่า ตั้งแต่ปี 2547 มีการก่อเหตุความรุนแรงลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี และเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คนในภาคใต้เฝ้าติดตามข่าวคราว และให้กำลังใจในกระบวนการเจรจาสันติภาพที่มีการริเริ่มผลักดันพูดคุยอย่างเปิดเผยในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

“คนเหล่านี้ตระหนักว่าการพูดคุยอย่างเปิดเผยนี้เป็นการริเริ่มผลักดัน คือถึงแม้ว่าจะมีหลายรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ที่มันปรากฏเป็นรูปธรรมอยู่เช่นนี้ มันเกิดจาการริเริ่มผลักดันของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะเหตุนี้ เมื่อความวุ่นวายทางการเมืองตรงนี้ที่มันเกิดขึ้น อีกฝั่งหนึ่งต้องการจะล้มรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ผลักดันกระบวนการพูดคุยตรงนี้ จึงไม่ประหลาดใจอะไรถ้าเกิดว่าคนเหล่านี้จะเฝ้าติดตามตรงนี้อย่างใกล้ชิด และค่อนข้างที่จะไม่เห็นด้วย หากรัฐบาลนี้จะล้มไปส่งผลให้กระบวนการเจรจาหรือพูดคุยสันติภาพตรงนี้มันลดลงไปด้วย ซึ่งมันก็ชี้ให้เห็นเลยว่าคนเหล่านี้เห็นถึงความสำคัญระหว่างกระบวนการสันติภาพ การเมืองและการเคลื่อนไหวตรงนี้”

อีกข้อสังเกต ที่ อนุสรณ์ อุณโณ  พูดถึง คือ ในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน  ความกังวลของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อผลกระทบเรื่องกระบวนการเจรจาสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่กลับเพิ่มมากขึ้น การติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ไอยดา สนศรี : เรียบเรียง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ