เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ชี้ข้อท้าทายในการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมของ คสช.ที่จะทำให้แล้วเสร็จใน 3 เดือน และขบวนการประชาชนที่ลงทุนลงแรงผลักดันให้รัฐยกเลิกการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ต้องแก้มาตราที่เป็นหัวใจ คือมาตรา 23 โดยเปลี่ยนบทบัญญัติจาก “ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ” ให้ “ปิโตรเลียมของเป็นของประชาชน”
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
4 มีนาคม 2558
ความคลุมเครือที่กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดของขบวนการประชาชนที่ต่อสู้เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมและกฎหมายภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเพื่อเปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตก็คือ การเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตจะสามารถเปลี่ยนนิยาม “ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ” ได้หรือไม่ ทั้งนี้ ฝ่ายนำของขบวนการประชาชนที่ต่อสู้เรียกร้องให้ยกเลิกการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ได้ปล่อยให้แนวร่วมชนชั้นกลางและชนชั้นนำในกรุงเทพฯ เข้ามายึดกุมความคิดและควบคุมการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนไว้แทบหมดสิ้นแล้ว ซึ่งแนวร่วมชนชั้นเหล่านั้นมีเป้าหมายเพียงแค่การแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อเปลี่ยนจากระบบสัมปทานไปเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตเท่านั้นพอ เพราะสิ่งที่ต้องการก็คือ “ผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับมากขึ้นจากระบบแบ่งปันผลผลิต” นอกจากนั้น พวกเขามีความคิดและมุมมองเช่นเดียวกับรัฐ
ดังนั้น เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียม การรักษานิยามความหมายให้ปิโตรเลียมเป็นของรัฐจะเป็นหลักประกันได้ดีที่สุดว่า รัฐสามารถมีอำนาจบีบบังคับให้ประชาชนเปิดทางเพื่อขนเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการขุดเจาะสำรวจ ผลิต วางท่อขนส่ง และก่อสร้างโรงแยกก๊าซบนที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของประชาชนเอง รวมทั้งที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันด้วย เพื่อข่มขู่บังคับให้มีพลังการต่อต้านขัดขืนจากประชาชนให้น้อยที่สุด
นอกจากประเด็นเรื่องปิโตรเลียมเป็นของรัฐ ยังมีสารัตถะอื่นของกฎหมายปิโตรเลียมที่จะได้นำมากล่าวไว้ด้วยในบทความนี้
ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ
“มาตรา 23 ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ ผู้ใดสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในที่ใดไม่ว่าที่นั้นเป็นของตนเองหรือของบุคคลอื่น ต้องได้รับสัมปทาน
การขอสัมปทานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง แบบสัมปทานให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”
มาตรา 23 ถือว่าเป็นหัวใจของกฎหมายปิโตรเลียม หรือพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งสามารถอธิบายระบบกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมได้ชัดเจนที่สุดว่าใครคือเจ้าของทรัพยากรนี้ แม้ปิโตรเลียมจะอยู่ใต้ถุนบ้านของเราก็ไม่ถือว่าปิโตรเลียมนั้นเป็นสิทธิและทรัพย์สมบัติของเจ้าของที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นที่ดินมีกรรมสิทธิ์หรือมีเพียงสิทธิครอบครองก็ตาม และถึงแม้จะแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อเปลี่ยนจากระบบสัมปทานไปเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตก็ไม่ได้หมายความว่าปิโตรเลียมจะไม่เป็นของรัฐอีกต่อไปแล้ว
เพราะมันเป็นคนละประเด็นกัน ไม่ได้แปรผันตามกันดังที่ตัวแทนบางท่านของขบวนการประชาชนออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณะด้วยความเข้าใจผิดในทำนองว่า การเปลี่ยนไปใช้เป็นระบบแบ่งปันผลผลิตจะทำให้ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นของประชาชน แต่ตัวแทนบางท่านก็ให้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณะว่า การเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตในกิจการปิโตรเลียมจะทำให้รัฐมีรายได้มากขึ้น และถึงแม้จะอธิบายขยายความเพิ่มเติมอย่างไรก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่ารายได้ที่รัฐได้เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตเป็นส่วนเดียวกันกับผลประโยชน์หรือรายได้ของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายและโครงการพัฒนาปิโตรเลียมหรือไม่ อย่างไร
รวมทั้งสิ่งที่ยังครอบงำอยู่ นั่นคืออำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม หากยังคงอยู่ภายใต้หลักการปิโตรเลียมเป็นของรัฐก็ไม่มีทางที่จะถ่ายเทหรือเปลี่ยนมือมาสู่ประชาชนได้อย่างแน่นอน
เพราะการบัญญัติหรือกำหนดให้ปิโตรเลียมเป็นของรัฐจะเป็นหลักในการตีความกฎหมายในเชิงปกป้องการกระทำของรัฐเป็นหลัก หน่วยงานรัฐจะบริหารจัดการปิโตรเลียมอย่างไรก็ได้เพื่อให้เกิดประโยชน์และรายได้เข้าสู่รัฐ นำไปสู่การดำเนินการตัดสินใจอนุมัติ/อนุญาตโครงการต่างๆ โดยไม่เห็นความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ละเลยไม่ถามความเห็นและรับฟังประชาชนผู้อาจได้รับผลกระทบก่อน เพราะคิดว่าตนคือรัฐ และรัฐเป็นเจ้าของปิโตรเลียม ทั้งที่จริงแล้วรัฐเป็นเพียงผู้ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนทั้งหมดให้ทำหน้าที่บริหารจัดการแทนเท่านั้น
ต่างจากกฎหมายน้ำหรือกฎหมายทรัพยากรน้ำที่ย้อนหลังไปในช่วงเริ่มต้นของทศวรรษ 2540 ขบวนการประชาชนได้รวมพลังคัดค้านธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียหรือเอดีบีที่บังคับให้รัฐไทยต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจและออกกฎหมายหลายฉบับ รวมทั้งกฎหมายน้ำด้วย ซึ่งเป็นเงื่อนไขเพื่อแลกกับการกู้เงินนำมาฟื้นฟูประเทศจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่ต้องบัญญัติให้ “น้ำเป็นของรัฐ”
การต่อสู้คัดค้านกฎหมายน้ำเป็นเวลาหลายปีต่อมากับองค์กรการเงินระหว่างประเทศและกับหน่วยงานราชการของไทยเองจนล่วงเลยเข้าสู่ทศวรรษ 2550 รัฐและราชการไทยจึงยอมตัดบทบัญญัติคำว่า “น้ำเป็นของรัฐ” ออกจากร่างกฎหมายน้ำ
ในส่วนของทรัพยากรแร่ก็มีปัญหาคล้ายคลึงกัน ในต้นปี 2552 ได้มีการเสนอ ‘ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยแร่ พ.ศ. …’ โดยบัญญัติให้ “แร่เป็นของรัฐ” เช่นเดียวกัน จนล่วงถึงปลายปี 2553 กระทรวงอุตสาหกรรมก็ขอถอนร่างฯ ดังกล่าวออกในชั้นการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพราะเห็นว่าร่างฯ ดังกล่าวมีหลายขั้นตอนไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะหลักการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียยังไม่ชัดเจน และมีผลกระทบต่อสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญฯ 2550 ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นโต้งแย้งที่สำคัญ
ต่อมา ร่างกฎหมายแร่ฉบับต่อจากนั้น โดยเฉพาะฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ได้ตัดบทบัญญัติคำว่า “แร่เป็นของรัฐ” ทิ้งไป
อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศต้องอยู่บนหลักการว่าเป็นของปวงชนชาวไทยทุกคน และเมื่อมีกรณีที่ประชาชนอาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายหรือโครงการพัฒนา หรืออาจมีผลต่อสมบัติส่วนรวม รัฐต้องย้อนกลับมาถามความคิดเห็นจากประชาชนก่อน การบัญญัติให้ปิโตรเลียมเป็นของปวงชนชาวไทยทุกคนจะทำให้เห็นเจตนารมณ์ในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ได้ชัดเจนขึ้นว่า ต้องเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนทุกคน มิใช่เพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด
ดังนั้นแล้ว ข้อท้าทายในการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมตามบัญชาของรัฐเผด็จการทหาร คสช. ที่จะทำให้แล้วเสร็จภายในสามเดือน นับแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2558 และเป็นหมุดหมายที่ดีที่สุดของขบวนการประชาชนที่อุตสาหะลงทุนทั้งแรงกายแรงใจเพื่อผลักดันให้รัฐยกเลิกการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ก็คือ ต้องแก้ตรงมาตราที่เป็นหัวใจ นั่นคือมาตรา 23 โดยต้องเปลี่ยนบทบัญญัติจาก “ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ” ให้ “ปิโตรเลียมของเป็นของประชาชน” รวมทั้งต้องให้ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นสิทธิและทรัพย์สมบัติติดที่ดินของผู้เป็นเจ้าของที่ดิน ทั้งโดยมีกรรมสิทธิ์หรือมีเพียงแค่สิทธิถือครองก็ตาม
ตรงจุดนี้เท่านั้น ถึงจะเป็นหลักประกันว่าการเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตจะเป็นระบบที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของรัฐและผู้รับสัมปทาน ส่วนรัฐก็ให้มีหน้าที่ปกติในการอนุมัติ/อนุญาตให้เกิดการแบ่งปันผลผลิต โดยสร้างกติกาที่เคารพสิทธิและทรัพยากรปิโตรเลียมที่ติดที่ดินของบุคคลและสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ
พื้นที่เกาะที่อยู่ในเขตแปลงสำรวจ
“มาตรา 28 ในการให้สัมปทาน ให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำหนดเขตพื้นที่แปลงสำรวจโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เขตพื้นที่แปลงสำรวจที่มิใช่อยู่ในทะเล ให้กำหนดพื้นที่ได้ไม่เกินแปลงละสี่พันตารางกิโลเมตร
เขตพื้นที่แปลงสำรวจในทะเล ให้รวมถึงพื้นที่เกาะที่อยู่ในเขตแปลงสำรวจนั้นด้วย”
นี่คือมาตรา 28 ที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นการแก้ไขครั้งล่าสุด ที่แปลงสำรวจบนบกสามารถขอสัมปทานได้ไม่เกินแปลงละสี่พันตารางกิโลเมตร แต่ไม่ระบุให้จำกัดจำนวนแปลง ส่วนการขอสัมปทานแปลงสำรวจในทะเลไม่กำหนดขนาดพื้นที่เอาไว้ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการสำรวจในทะเลห่างไกลและมีน้ำลึกที่ต้องลงทุนด้วยความเสี่ยงสูง จึงเปิดโอกาสให้ขอได้ขนาดใหญ่มากๆ
แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือการยกพลขึ้นเกาะที่อยู่ในเขตแปลงสำรวจของผู้รับสัมปทาน (ถ้ามีเกาะที่ใหญ่โตพอที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้) จะทำให้ผู้รับสัมปทานซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนข้ามชาติสามารถมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้โดยปริยายหรือไม่ หรือสามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้โดยรัฐต้องประกาศใช้กฎหมายเวนคืนที่ดินตามมาตรา 65, 67 และ 68[1] ของกฎหมายปิโตรเลียมเพื่ออำนวยความสะดวกหรือเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับสัมปทานให้ถึงที่สุดได้อีกด้วยหรือไม่
คณะกรรมการปิโตรเลียม
มาตรา 15 ของกฎหมายปิโตรเลียมกำหนดองค์ประกอบคณะกรรมการปิโตรเลียมไว้ 15 คน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำ โดยปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมสรรพากร เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ทรงคุณวุฒิอีกห้าคนเป็นกรรมการ
ข้อสงสัยในประเด็นแรกก็คือกรรมการในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิที่ถูกกำหนดว่าจะต้องไม่เป็นข้าราชการในส่วนราชการที่มีกรรมการโดยตำแหน่งสังกัดอยู่ ซึ่งสามารถตีความในขอบเขตกว้างมาก ตัวอย่างเช่น ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงพลังงานแต่ไม่ได้สังกัดสำนักงานนโยบายพลังงานซึ่งอยู่ในส่วนราชการที่มีกรรมการโดยตำแหน่งอยู่แล้วหนึ่งตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวก็สามารถเป็นกรรมการปิโตรเลียมได้ใช่หรือไม่ ดังนั้นแล้ว ถ้านับรวมผู้ทรงคุณวุฒิตามความเข้าใจนี้ก็แสดงว่าคณะกรรมการปิโตรเลียมทั้ง 15 คน เป็นข้าราชการประจำทั้งหมด หาผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นอิสระจากระบบราชการไม่ได้เลยแม้สักคนเดียว
แต่ถ้าไม่ได้เป็นไปตามข้อสงสัยดังที่กล่าวมา ก็ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง กล่าวคือ มาตรา 16/1 (6) ได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ทรงคุณวุฒิเอาไว้ว่าต้องไม่เป็นกรรมการ หรือผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคลหรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจหรือดำเนินกิจการด้านปิโตรเลียม และไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอื่นใดที่มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ขัดแย้งกับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการ
คำถามก็คือ ทำไมกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเฉพาะกรรมการที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น ซึ่งเป็นการกำหนดที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เนื่องจากว่า กรรมการปิโตรเลียมที่มาจากส่วนราชการเองล้วนเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์โดยตรงในทางนโยบายและโครงการพัฒนาปิโตรเลียมที่หน่วยงานตนเองผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งต้องถือว่าเป็นการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพโดยเอาตำแหน่งไปพัวพันกับส่วนได้ส่วนเสียกับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่หน่วยงานตนเองผลักดันเข้ามาโดยตรง หรือมีผลประโยชน์สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่สองตำแหน่ง ระหว่างตำแหน่งข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่หน่วยงานตนเองผลักดันให้เกิดขึ้น กับตำแหน่งกรรมการปิโตรเลียมที่ต้องไปนั่งเพื่อสนับสนุนให้สัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่หน่วยงานตนเองชงเรื่องเข้ามาเพื่อให้ผ่านความเห็นชอบดำเนินโครงการให้ได้
ดังนั้นแล้ว รูปแบบของคณะกรรมการปิโตรเลียมควรเป็นอิสระจากการกำกับควบคุมจากรัฐพอสมควร เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนในทางนโยบายที่จะเกิดขึ้นได้
บทลงโทษ
1. ในกรณีพื้นที่สัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกที่นามูล-ดูนสาด ซึ่งเป็นเขตรอยต่อของ อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ กับ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ที่ประชาชนในนามกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาดต่อต้านการขนอุปกรณ์และเครื่องจักรสำหรับหลุมขุดเจาะสำรวจของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ที่เป็นผู้ได้รับสัมปทาน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 สดๆ ร้อนๆ ที่ผ่านมา เนื่องจากว่าไม่ปฏิบัติตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ที่ระบุว่าบริษัทหรือรวมทั้งส่วนราชการต้องแจ้งการขนเครื่องจักรและอุปกรณ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบก่อนล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน แต่กลับขนมาโดยไม่แจ้ง
ตามมาตรา 12[2] ของกฎหมายปิโตรเลียมระบุว่า ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามสัมปทานและการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน หรือทำให้รัฐต้องกระทำการเพื่อบำบัดปัดป้องความเสียหาย ผู้รับสัมปทานต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายและค่าใช้จ่ายในการบำบัดปัดป้องความเสียหายดังกล่าวตามจำนวนที่รัฐมนตรีกำหนด ซึ่งมีปัญหาให้ต้องตีความว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามสัมปทานของกฎหมายปิโตรเลียมครอบคลุมหรือคุ้มครองถึงการไม่ปฏิบัติตาม EIA ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างไร หรือการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม EIA ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามสัมปทานที่ออกโดยกฎหมายปิโตรเลียมหรือไม่ อย่างไร
2. มาตรา 74[3] ระบุว่าการประกอบกิจการปิโตรเลียมในทะเล ผู้รับสัมปทานต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในทะเล และต่อกิจกรรมอื่น เช่น การเดินเรือ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น แต่บทลงโทษในมาตรา 107[4] ปรับเพียงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งเป็นการระวางโทษที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับผลกระทบที่ผู้รับสัมปทานทำให้เกิดขึ้น
3. เช่นเดียวกับข้อ 2. ที่กำหนดโทษอ่อนมากไม่สอดคล้องกับความเสียหายที่ผู้รับสัมปทานก่อขึ้น ในมาตรา 75[5] กรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่บำบัดปัดป้องความโสโครกจากน้ำมันและโคลนหรือสิ่งอื่นใดจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม โดนปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทตามมาตรา 108[6] เท่านั้น
……………………………………..
เชิงอรรถ
[1] มาตรา 65 เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม ให้คณะกรรมการมีอำนาจอนุญาตให้ผู้รับสัมปทานถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้เท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ แม้ว่าจะเกินกำหนดที่พึงจะมีได้ตามกฎหมายอื่น
ผู้รับสัมปทานโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้มาตามวรรคหนึ่งได้เมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ
การอนุญาตของคณะกรรมการตามมาตรานี้ให้อธิบดีแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับสัมปทานทราบ
มาตรา 67 ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานมีความจำเป็นต้องเข้าไปในที่ดินที่บุคคลใดเป็นเจ้าของหรือมีสิทธิครอบครองเพื่อสำรวจปิโตรเลียม ให้ขออนุญาตเจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินนั้นก่อน
ถ้าเจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามวรรคหนึ่งไม่อนุญาต และพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องเข้าไปสำรวจปิโตรเลียมในที่ดินนั้นและการไม่อนุญาตนั้นไม่มีเหตุอันสมควรเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้เจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินนั้นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันว่าจะเข้าไปสำรวจปิโตรเลียมในที่ดินนั้นแล้ว ให้ผู้รับสัมปทานเข้าไปสำรวจปิโตรเลียมในที่ดินนั้นในความควบคุมดูแลของพนักงานเจ้าหน้าที่ได้
ถ้าการเข้าไปในที่ดินตามวรรคสองเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่นใดในที่ดินนั้นมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากผู้รับสัมปทาน และถ้าไม่สามารถตกลงกันถึงจำนวนค่าเสียหายได้ ให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย โดยนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ
มาตรา 68 เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในกิจการปิโตรเลียม ให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
[2] มาตรา 12 ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามสัมปทานหรือพระราชบัญญัตินี้ และการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน หรือทำให้ทบวงการเมืองใดต้องกระทำการเพื่อบำบัดปัดป้องความเสียหายเช่นว่านั้น ผู้รับสัมปทานต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายและค่าใช้จ่ายในการบำบัดปัดป้องความเสียหายดังกล่าวตามจำนวนที่รัฐมนตรีกำหนด แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับสัมปทานเพราะการละเมิดนั้น
[3] มาตรา 74 ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในทะเล ผู้รับสัมปทานต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนโดยปราศจากเหตุอันสมควรต่อการเดินเรือ การเดินอากาศ การอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในทะเล หรือการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และต้องไม่ทำการอันเป็นการกีดขวางต่อการวางสายเคเบิลหรือท่อใต้น้ำ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่สายเคเบิลหรือท่อใต้น้ำ
[4] มาตรา 107 ผู้รับสัมปทานผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 74 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 77 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
[5] มาตรา 75 ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม ผู้รับสัมปทานต้องป้องกันโดยมาตรการอันเหมาะสมตามวิธีการปฏิบัติงานปิโตรเลียมที่ดีเพื่อมิให้ที่ใดโสโครกด้วยน้ำมัน โคลน หรือสิ่งอื่นใด
ในกรณีที่ที่ใดเกิดความโสโครกด้วยน้ำมัน โคลน หรือสิ่งอื่นใดเนื่องจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมโดยผู้รับสัมปทาน ผู้รับสัมปทานต้องบำบัดปัดป้องความโสโครกนั้นโดยเร็วที่สุด
ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่ดำเนินการหรือดำเนินการตามวรรคสองล่าช้า หรือหากไม่ดำเนินการทันทีอาจก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติหรือบุคคลอื่นที่อธิบดีมอบหมายอาจเข้าดำเนินการบำบัดปัดป้องความโสโครกนั้นแทนหรือร่วมกับผู้รับสัมปทานโดยผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวทั้งหมด
[6] มาตรา 108 ผู้รับสัมปทานผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 75 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท