พีมูฟส่งสัญญาณ 1 เดือนมาตามงาน ‘รัฐบาล’ แก้ความเหลื่อมล้ำ-ปัญหาที่ดินคนจน

พีมูฟส่งสัญญาณ 1 เดือนมาตามงาน ‘รัฐบาล’ แก้ความเหลื่อมล้ำ-ปัญหาที่ดินคนจน

ทวงคืนความสุข ‘พีมูฟ’ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ทวงถามการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ-ที่ดินทำกิน ชี้ 4 ปี รัฐบาล คสช.ไม่สามารถแก้ปัญหาใด ๆ ได้ กลับเกิดปัญหาเพิ่มขึ้นมากว่าเดิม ร้องให้เห็นรูปธรรมภายใน 30 วัน

 

30 มี.ค. 2561 ชาวบ้านขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ (P-Move) จากทั่วประเทศเดินทางมารวมตัวกันที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กพร. ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย รวมทั้งติดตามนโยบายเพื่อการแก้ปัญหาที่ประชาชนได้เสนอไว้เป็นกลไกใน อาทิ โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน และการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม

พร้อมเรียกร้องให้นายกฯ มีคำสั่งเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเจรจากับตัวแทนพีมูฟ เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากนโยบายที่ไม่เป็นธรรม

กลุ่มพีมูฟระบุด้วยว่า ในห่วงเวลา 4 ปี กับการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. ประเด็นการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินไม่คืบหน้า ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ทั้งถูกไล่รื้อ จับกุม ถูกดำเนินคดี และถูกกำจัดสิทธิเสรีภาพในการเรียกร้อง หากรัฐบาลยังคงเพิกเฉย

ทั้งนี้ พีมูฟจะรวมตัวครั้งใหญ่มายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้าพบกับหัวหน้าคณะ คสช.ภายในต้นเดือนพฤษภาคม นี้

สำหรับหนังสือถึงนายก เรื่องการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม มีรายละเอียดดังนี้

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เป็นกลุ่มประชาชนที่ประสบปัญหาจากความเดือดร้อนในเรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และนโยบายต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อประชาชน เช่น แผนแม่บททวงคืนผืนป่า รวมทั้งนโยบายที่ภาคประชาชนได้เสนอไว้เป็นกลไกในการแก้ปัญหา คือ นโยบายการจัดการทรัพยากรที่ดินโดยชุมชน , นโยบายธนาคารที่ดิน , นโยบายกองทุนยุติธรรม และ นโยบายการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม

จากที่รัฐบาลได้เข้ามาบริหารและแก้ไขปัญหาของประเทศ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาขบวนการปราชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ตามคำสั่งที่ 216/2557 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และแก้ไขนโยบายต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชาวชุมชน เป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปี แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาใด ๆ ได้ กลับเกิดปัญหาเพิ่มขึ้นมากว่าเดิม ดังนั้นขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อให้เกิดการดำเนินงานการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของ ขปส. ดังต่อไปนี้

1. ให้รัฐบาลสั่งการไปยังสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) (องค์กรมหาชน) เพื่อให้ปรับปรุงการดำเนินงานของสถาบันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2. ให้รัฐบาลเร่งผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน เพื่อให้เกิดการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ในรูปแบบที่เป็นองค์กร เพื่อเป็นช่องทางในการเข้าถึงที่ดินของคนจนและเกษตรกรรายย่อยอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ขปส. คัดค้านแนวคิดของกระทรวงการคลัง ที่ผลักดันให้มีการจัดตั้งธนาคารที่ดินขึ้นภายใต้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.)

3. ให้รัฐบาลดำเนินการส่งมอบพื้นที่โฉนดชุมชนที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ในทันที ทั้งนี้ ได้รับสิทธิในการบริหารจัดการที่ดินร่วมกันโดยทันที

4. ให้รัฐบาลผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า (ฉบับประชาชน) ให้เป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้เป็นมาตรการในการแก้ปัญหาการกระจุกตัวที่ดิน เพื่อผลักดันให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

5. ให้รัฐบาลยุติแผนแม่บททวงคืนผืนป่าในทันที เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนจนและเกษตรกรรายย่อย ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ คสช. ที่ต้องการดำเนินการกับนายทุน อีกทั้ง ยังเป็นการขัดคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ซึ่งให้การคุ้มครองประชาชนผู้ยากไร้ โดยเสนอให้รัฐบาลผลักดันการแก้ไขกฎหมายนโยบายเพื่อรองรับสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรของชุมชนโดยเร็ว

6. ให้รัฐบาลสั่งการเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดหาที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรบ้านวังตะเคียน อ.แม่สอด จ.ตาก ทั้ง 6 ราย ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายเขตเศรษฐกิจแม่สอด ทดแทนการจ่ายเงินเยียวยา โดยทันที

7. สั่งการให้หน่วยงานและกลไกที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาของ ขปส. เร่งรัดการดำเนินการให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้เกิดรูปธรรม ภายใน 30 วัน

 

 

 แถลงการณ์

๔ ปีของรัฐบาลกับการทิ้งคนจนและเกษตรกรไว้ข้างหลัง รัฐบาลต้องหยุดสร้างความเหลื่อมล้ำ

นับเป็นเวลากว่า ๔ ปี ที่รัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศ โดยอ้างว่าจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ขจัดคอรัปชัน และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม “คืนความสุขให้ประชาชน” สร้างความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยจะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” รัฐบาลได้ลงนามขานรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งจะใช้เป็นทิศทางการพัฒนาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๗๓ ครอบคลุมระยะเวลา ๑๕ ปี โดยประกอบไปด้วย ๑๗ เป้าหมาย อาทิ ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส. หรือ พีมูฟ) ในฐานะเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายและการพัฒนาของรัฐ ได้มีการผลักดันมาตรการแนวทางและรูปธรรมให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม ตลอดจนการรับรองสิทธิชุมชนอย่างมั่นคง และยั่งยืนมาอย่างยาวนานต่อทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลจากการรัฐประหาร พบว่านโยบายและการปฏิบัติงานของรัฐไม่ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง มิหนำซ้ำทำให้ยิ่งเกิดภาวะรวยกระจุกจนกระจายมากยิ่งขึ้น โดยประเทศไทยถูกจัดอับดับเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกอันดับที่ ๓ ของโลก โดยคนรวยเพียง ๑% สามารถครอบครองทรัพย์สินและความมั่นคั่งมากถึง ๕๘% โดยมีรูปธรรมที่เกิดขึ้น คือ

๑. มีการบังคับใช้กฎหมายเอาผิดกับคนจนเป็นหลัก

กรณีนโยบายทวงคืนผืนป่าได้ส่งผลให้มีการยึดที่ดินในเขตป่าจากชุมชนดั้งเดิมจำนวนมาก แม้จะมีคำสั่ง คสช. ที่ ๖๖/๒๕๕๗ ระบุว่าไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ยากไร้ แต่ในทางปฏิบัติได้ส่งผลให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนจำนวนมากต้องสูญเสียที่ดิน สูญเสียบ้าน บ้านแตกสาแหรกขาด ต้องเปลี่ยนจากอาชีพเกษตรกรรมเป็นแรงงานรับจ้าง มีหนี้สินท่วมท้น ลูกหลานต้องหยุดเรียนหนังสือ บางคนต้องติดคุก เกิดภาวะเครียด ทำให้บางคนต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลประสาท อาทิ กรณีห้วยน้ำหิน ต.สถาน อ.นาน้อย จ.น่าน มีชาวบ้านถูกดำเนินคดี จำนวน ๒๙๘ คน ส่งผลให้เกิดความเครียดจนเสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตก จำนวน ๓ คน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ได้ปรากฏข่าวสารทางสาธารณะหลายกรณีถึงการงดเว้นการบังคับใช้กฎหมายกับส่วนราชการ และเอกชน อาทิ การอนุญาตให้ส่วนราชการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า การไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่มีการออกโดยมิชอบ การละเว้นการบังคับใช้กฎหมายเอาผิดคนรวยที่บุกรุกป่าและล่าสัตว์ป่า

๒. นโยบายทวงคืนผืนป่าไม่ครอบคลุมที่ดินเอกชนที่หมดสัญญาเช่า

ในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าจากประมาณ ๓๓% เป็น ๔๐% หรือประมาณ ๒๖ ล้านไร่ แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้มีมาตรการยึดคืนที่ดินจากเอกชน และส่วนราชการ เช่น กรณีที่ดินหมดสัญญาเช่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งในกรณีภาคใต้ได้ทยอยหมดอายุสัมปทานตั้งแต่ประมาณ ๒๐ ปีที่ผ่านมา เอกชนสามารถเก็บเกี่ยวพืชผลอาสินในที่ดินดังกล่าวต่อโดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่าจนถึงปัจจุบัน

๓. มีการทำลายป่าอย่างถูกกฎหมาย โดยการเพิกถอนพื้นที่ป่าเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรม การอนุญาตให้ทำธุรกิจในป่า เช่น เหมืองแร่ การปลูกป่าเศรษฐกิจ การอนุญาตให้ส่วนราชการสร้างอาคารในป่า

รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าจากประมาณ ๓๓% เป็น ๔๐% หรือประมาณ ๒๖ ล้านไร่ แต่ในทางปฏิบัติประเทศไทยต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไปจากการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินปฏิรูป และที่สาธารณะอื่น ๆ เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ในหลายจังหวัด และพื้นที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกจากนั้น มีการอนุญาตให้ส่วนราชการนำที่ราชพัสดุ ซึ่งมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ไปสร้างบ้านพัก ทั้งนี้ จะส่งผลให้มีการยึดที่ดินชาวบ้านในพื้นที่ทับซ้อนเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก เพื่อมาชดเชยพื้นที่ป่าที่สูญเสียไป

๔. มีนโยบายให้ชาวต่างชาติเช่าที่ดิน ๙๙ ปี ในขณะที่ที่ดินมีการกระจุกตัว คนไทยจำนวนมากเข้าไม่ถึงการถือครองที่ดิน

ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินสูง โดยคนไทยจำนวนมากเข้าไม่ถึงที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ ในส่วนกลุ่มคนที่ถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ก็มีความเหลื่อมล้ำกัน โดยคนไทย ๑๐% ถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์มากถึง ๖๐% ในจำนวนนี้มีเอกชนรายหนึ่งถือครองที่ดินมากถึง ๖.๓ แสนไร่ มีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่ถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์มากที่สุด และน้อยที่สุด ถึง ๓๒๕.๗ เท่า ผู้ถือครองที่ดินตั้งแต่ ๑ ตารางวา ถึง ๑ ไร่ มีสัดส่วนรวมกัน ๕๐.๑% หรือเกือบ ๘ ล้านคน และ ๑.๘% หรือ ๒.๘๕ แสนคนถือครองที่ดินไม่เกิน ๑๐ ตารางวาเท่านั้น

อีกทั้ง มีการเปิดเผยจากผู้ตรวจการแผ่นดินว่าที่ดิน ๑ ใน ๓ ของไทย ประมาณ ๑๐๐ ล้านไร่ ถูกถือครองโดยนายทุนชาวต่างชาติ ผ่านช่องโหว่ทางกฎหมาย (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ๑๒ มี.ค. ๒๕๕๕) แต่รัฐบาลไม่ได้มีมาตรการที่ชัดเจนในการลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน และมีนโยบายเอื้อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน เช่น การขยายสิทธิการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติ จำนวน ๙๙ ปี

๕. มีการเพิกเฉยต่อมาตรการ แนวทาง และรูปธรรมให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม ตลอดจนการรับรองสิทธิชุมชนอย่างมั่นคง และยั่งยืน ดังจะเห็นได้จาก

๕.๑) ข้อเสนอในการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ภายใต้ “ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า” เพื่อให้เกิดการเก็บภาษีที่ดินตามขนาดการถือครองที่ดิน คนที่มีที่ดินน้อยจ่ายน้อย คนที่มีที่ดินมากและไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงกว่า แล้วนำเงินภาษีเหล่านั้นส่วนหนึ่งมาสนับสนุนการกระจายการถือครองที่ดินสู่คนจน แต่ปัจจุบันรัฐบาล และ สนช. ถ่วงเวลาและบิดเบือนเจตนารมณ์ร่าง พ.ร.บ.ให้กลายเป็นเพียงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  ซึ่งมีผลเพียงแค่ลดภาระงบประมาณที่รัฐบาลส่วนกลางจะต้องอุดหนุนให้แก่การปกครองส่วนท้องถิ่นท้องถิ่น ซ้ำร้ายการงดเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินที่มีมูลค่าไม่เกิน ๕๐ ล้านบาทต่อแปลงทำให้เพดานของการเก็บภาษีสูงขึ้นจนไม่สามารถเก็บภาษีได้จริงในทางปฏิบัติ  นอกจากนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะจัดเก็บภาษีที่ดินทุกประเภท ในอัตราเดียวกัน จนท้ายที่สุดร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับของรัฐบาลน่าจะไม่สามารถนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินได้ในทางปฏิบัติ

๕.๒) การจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อเป็นกลไกและช่องทางให้คนจนและเกษตรกรเข้าถึงที่ดินและที่อยู่อาศัยโดยนำรายได้จากภาษีที่ดิน มาสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคารที่ดิน เพื่อมิให้เป็นภาระด้านงบประมาณ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงที่ดินอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องพึ่งพิงงบประมาณประจำปีของรัฐบาล แต่ปัจจุบันรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังปฏิเสธหลักการสำคัญของการจัดตั้งธนาคารที่ดินที่ผลักดันโดยประชาชน ร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดินที่รัฐบาลกำลังดำเนินการยกร่างและผลักดันอยู่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นเพียงรูปแบบของสถาบันการเงินหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นเพียงจุดผ่านงบประมาณไปยังผู้ประสบปัญหาเพื่อชะลอการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรเฉพาะหน้า และมีเพียงวิธีคิดรัฐราชการเป็นใหญ่ มีลักษณะการบริหารจัดการแบบดังเดิมที่รัฐบาลบังคับว่าไม่ควรที่ธนาคารที่ดินจะต้องพึ่งพางบประมาณประจำปีจากรัฐบาล จนกระทั้งต้องถูกบีบแสวงหากำไร ไม่ต่างไปจากธนาคารของรัฐที่จัดตั้งตามวัตถุประสงค์เฉพาะที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีตัวชี้วัดชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งธนาคารตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ หนำซ้ำยังเป็นกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของประชาชน ซึ่งทั้งนี้คงไม่ต้องกล่าวถึงแนวทางในรูปแบบธนาคารพาณิชย์ที่มีหลักการดำเนินการเพื่อกำไรเป็นสำคัญ

๕.๓) การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในที่ดิน และทรัพยากรป่าไม้ โดยการกระจายอำนาจและรองรับสิทธิชุมชน ในการบริหารร่วมกับรัฐ ในรูปแบบ ”โฉนดชุมชน” หรือกรรมสิทธิ์ร่วม รัฐบาลได้บิดเบือนข้อเสนอ โดยการรวมศูนย์อำนาจกลับไปยังรัฐภายใต้ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. เปลี่ยนจากการรองรับสิทธิชุมชน เป็นเพียงการอนุญาตจากหน่วยงานรัฐตามกฎเกณฑ์ และระเบียบของหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งปัจจุบันพบว่า การจัดการที่ดินตามแบบคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังสร้างความขัดแย้งในชุมชนระหว่างผู้ที่ได้รับที่ดินและไม่ได้รับที่ดินในชุมชนเดียวกัน ตลอดจนกระทั่งข้อครหาเกี่ยวกับโครงการที่รัฐบาลใช้งบประมาณไปแล้วแต่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงจนกระทั้งประชาชนไม่สามารถเข้าไปอยู่อาศัยได้จริง

๕.๔) การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภาคประชาชนเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนยุติธรรมที่เป็นอิสระ เพื่อประโยชน์ ในการเข้าถึงการประกันตัว การแสวงหาข้อเท็จจริงในการต่อสู้คดี แต่ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ที่รัฐบาลประกาศใช้ กลับกลายเป็นกลไกหนึ่งภายใต้กระบวนการยุติธรรม และให้อำนาจคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด พนักงานอัยการ ฯลฯ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน เป็นองค์คณะในการพิจารณา ส่งผลให้ ในหลายกรณีคนจนที่ขอใช้บริการจากกองทุนยุติธรรม ถูกปฏิเสธจากกองทุน เนื่องจากถูกกรรมการกองทุนฯ พิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิด ก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

๖. กลไกการแก้ไขปัญหาร่วมระหว่างรัฐบาลกับภาคประชาชนล้มเหลว และไม่มีประสิทธิภาพ

คณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง และมอบหมายให้นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ ได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และจะจัดประชุมอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในขณะที่กลไกที่เอื้อประโยชน์นายทุน อาทิ คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) คณะกรรมการร่วมรัฐ และเอกชน (กรอ.) ถูกผลักดันและขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง และทำให้กลไกการแก้ไขปัญหาร่วมระหว่างรัฐกับประชาชนมีประสิทธิภาพ ดังนี้

๑.            ให้รัฐบาลสั่งการไปยังสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) (องค์กรมหาชน) เพื่อให้ปรับปรุงการดำเนินงานของสถาบันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

๒.            ให้รัฐบาลเร่งผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน เพื่อให้เกิดการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ในรูปบบที่เป็นองค์กร เพื่อเป็นช่องทางในการเข้าถึงที่ดินของคนจนและเกษตรกรรายย่อยอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ขปส. คัดค้านแนวคิดของกระทรวงการคลัง ที่ผลักดันให้มีการจัดตั้งธนาคารที่ดินขึ้นภายใต้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.)

๓.            ให้รัฐบาลดำเนินการส่งมอบพื้นที่โฉนดชุมชนที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.๒๕๕๓ ในทันที ทั้งนี้ ได้รับสิทธิในการบริหารจัดการที่ดินร่วมกันโดยทันที

๔.            ให้รัฐบาลผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า (ฉบับประชาชน) ให้เป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้เป็นมาตรการในการแก้ปัญหาการกระจุกตัวที่ดิน เพื่อผลักดันให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

๕.            ให้รัฐบาลยุติแผนแม่บททวงคืนผืนป่าในทันที เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนจนและเกษตรกรรายย่อย ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ คสช. ที่ต้องการดำเนินการกับนายทุน อีกทั้ง ยังเป็นการขัดคำสั่ง คสช. ที่ ๖๖/๒๕๕๗ ซึ่งให้การคุ้มครองประชาชนผู้ยากไร้ โดยเสนอให้รัฐบาลผลักดันการแก้ไขกฎหมายนโยบายเพื่อรองรับสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรของชุมชนโดยเร็ว

๖.            ให้รัฐบาลสั่งการเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดหาที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรบ้านวังตะเคียน อ.แม่สอด จ.ตาก ทั้ง ๖ ราย ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายเขตเศรษฐกิจแม่สอด ทดแทนการจ่ายเงินเยียวยา โดยทันที

๗.            สั่งการให้หน่วยงานและกลไกที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาของ ขปส. เร่งรัดการดำเนินการให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้เกิดรูปธรรม ภายใน ๓๐ วัน

ทั้งนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจะติดตามจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

๓๐ มีนาคม ๒๕๖๑

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ