เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์: สุนทรียะของหิน

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์: สุนทรียะของหิน

ความทรงจำ ของเรื่องเล่า ‘โอ่งภูเขา’ ในดอยแม่ออกฮูของป้าหอม ความขัดแย้งเรื่องเหมืองหิน และการสูญเสียของนักต่อสู้ สู่การเดินหน้านโยบายในยุค คสช. 

 
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
7 มีนาคม 2559

ไม่ว่าจะเป็นข่าวเกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลใด ๆ ที่ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ในปัจจุบัน ที่พร้อมใช้ ม.44 เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อลดขั้นตอนและกระบวนการดำเนินงานที่ล่าช้าและติดขัดทั้งหลาย หาช่องทางการเปิดประมูลให้เร็วขึ้น โดยผ่อนปรนเงื่อนไขสำหรับโครงการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้มีระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะสั้นได้ 

ภาพความทรงจำที่ผุดขึ้นมาเสมอ ซ้อนทับกันกับภาพการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่เชื่อมต่อภูมิภาคต่าง ๆ โครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อะไรอื่นอีกหลายอย่างตามนโยบายของรัฐและแผนการลงทุนของนักลงทุนเอกชน ก็คือเรื่องเล่า ‘โอ่งภูเขา’ ของป้าหอม

“ในดอยแม่ออกฮูมันเป็นโอ่งภูเขา” ป้าหอม หรือนางหอมหวล บุญเรือง นั่งอยู่ในห้องประชุมแห่งหนึ่งด้านปีกซ้ายชั้นเกือบบนสุดของศาลากลางจังหวัดเชียงราย เริ่มต้นเท้าความเป็นมาให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ฟัง เมื่อครั้งลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าเรื่องร้องเรียนการทำเหมืองหินที่ดอยแม่ออกฮู ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556

ผู้หญิงวัยเลย 60 ตัวผอมเล็ก ผิวคล้ำแดดจากการตรากตรำทำงานหนัก เห็นอาการอ่อนล้าเด่นชัดในดวงตาลึกใต้โหนกแก้มสูง เธอคงเล่าเรื่องนี้ให้ใครต่อใครฟังเป็นร้อยครั้งแล้ว “มันมีลักษณะเป็นตาน้ำไหลออกมาจากโอ่ง ไหลตลอดทั้งปี” 

แต่น่าแปลก เมื่อถ้อยคำเริ่มพรั่งพรูออกมากลับเห็นบุคลิกตรงกันข้าม ความอ่อนล้าจางหายไปจากแววตา กลับเป็นดวงตาที่พุ่งทะลวงผู้มองเธอแทน โดยเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่นคู่กรณีที่มาชี้แจงกับอนุกรรมการด้วยยังนั่งเบือนหน้าหนีไม่สบตา ผสานกับเสียงแจ่มชัดทุกคำ ไม่แผ่วเบาหล่นหายไปในระหว่างประโยค 

“มีผู้ใช้น้ำจากดอยแม่ออกฮูทำการเกษตรพื้นที่พันกว่าไร่ ทุกเดือนเก้าเป็งชาวบ้านจะร่วมใจกันประกอบพิธีถวายช้างเผือก ที่นี่มีปลาและสัตว์น้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดโดยธรรมชาติแห่งเดียวในตำบลผางาม”

เธอใช้เวลาอีกไม่นานนักกับเรื่องเล่าที่พยายามชี้แจงทำความเข้าใจให้อนุกรรมการฯ ภายใต้คณะกรรมการสิทธิฯ ชุดที่ 2 ได้รับทราบปัญหาเพื่อที่จะหาทางแก้ไข ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2545 เธอเล่าเรื่องนี้ให้คณะกรรมการสิทธิฯ ชุดแรกฟังไปแล้วหลายครั้ง และคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดแรกก็มีรายงานตรวจสอบออกมาแล้วด้วยเช่นกัน ข้อเรียกร้องของเธอก็คือให้หยุดสัมปทานทำเหมืองหินที่ดอยแม่ออกฮูเสีย เพื่อรักษาโอ่งภูเขาเอาไว้ให้กับชาวบ้านได้มีน้ำทำนา มีปูปลาได้กิน แต่นักการเมืองท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหารของตำบลผางามที่มาชี้แจงต่ออนุกรรมการฯ ในครั้งนั้นด้วยก็ยังคงยืนกรานที่จะให้เหมืองหินดำเนินกิจการต่อไปได้ 

ย้อนหลังไปในช่วงเวลาที่อนุกรรมการฯ ภายใต้คณะกรรมการสิทธิฯ ชุดแรกลงพื้นที่เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2545 อีก 2 สัปดาห์ต่อมา บุญยงค์ อินต๊ะวงศ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านร่องห้า ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ที่ร่วมกับป้าหอมและชาวบ้านหลายร้อยคนลุกขึ้นมาคัดค้านการระเบิดและย่อยหินที่ดอยแม่ออกฮูถูกคนร้ายยิงด้วยอาวุธปืนลูกซองเสียชีวิตคาบ้านพักเมื่อคืนวันที่ 20 ธันวาคม 2545

ความหวั่นเกรงต่ออิทธิพลทำให้ไม่มีพยานยืนยันเพื่อจับตัวคนยิงมาลงโทษ จนเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบันคนร้ายก็ยังลอยนวล

20160903020147.jpg

ภาพถ่ายพื้นที่ดอยแม่ออกฮู เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2547 โดย สุนี ไชยรส 
ที่มา: https://picasaweb.google.com/104605778647654799487/yFXEFE#5595656983278312226

แม้อนุกรรมการฯ ภายใต้คณะกรรมการสิทธิฯ ชุดแรกจะออกรายงานตรวจสอบและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาที่สำคัญ คือ 1.ให้ กพร. กำกับดูแลผู้ได้รับประทานบัตรระเบิดหินบริเวณดอยแม่ออกฮูดำเนินการเฉพาะในขอบเขตที่ได้รับประทานบัตร หากมีผลกระทบใดต่อแหล่งน้ำในถ้ำใต้ภูเขาต้องหยุดประกอบการทันที และไม่อนุญาตการต่ออายุประทานบัตรที่จะหมดอายุลงในวันที่ 12 สิงหาคม 2559 ของบริษัท เวียงชัยผางามก่อสร้าง จำกัด รวมทั้งกำหนดเป็นนโยบายไม่อนุญาตให้ทำเหมืองแร่ไม่ว่าประเภทใด ณ บริเวณดอยแม่ออกฮูต่อไป

2.ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยุติการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของผู้ประกอบการทุกแปลงบริเวณดอยแม่ออกฮู และดำเนินการประกาศให้ดอยแม่ออกฮูเป็นเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม 

แต่การระเบิดและย่อยหินที่นั่นก็ยังคงดำเนินต่อไป 

เจ้าหน้าที่รัฐ-ราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายเพิกเฉยกับความเดือดร้อนและความตายของชาวบ้าน จากผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อแหล่งน้ำสำคัญสำหรับทำการเกษตรของชุมชนที่อยู่ในถ้ำใต้ดอยแม่ออกฮู รวมทั้งเสียงดังจากเครื่องจักรและรถขนหินผ่านเข้าออกชุมชนและฝุ่นละอองที่ฟุ้งกระจายเข้มข้น ทั้งสร้างความเดือดร้อนรำคาญและเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วย และความขัดแย้งรุนแรงจนนำมาซึ่งการสังหารบุญยงค์ อินต๊ะวงศ์เพื่อปิดปากชาวบ้านที่เหลือให้เงียบ

ณ เวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุญยงค์ อินต๊ะวงศ์ หรือเรื่องของป้าหอมและชาวบ้านที่นั่นอีกหลายร้อยชีวิต ก็ได้เงียบหายไปพร้อมกับการยังคงระเบิดและย่อยหินอยู่ที่นั่น คู่กรณีไม่ว่าจะเป็น บริษัท เวียงชัยผางามก่อสร้าง จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดเชียงรายธนะวงศ์ ยังอยู่ครบ รวมทั้งในละแวกตำบลเดียวกันยังมีอีก 2 บริษัทที่ได้สัมปทานหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างเช่นเดียวกันกับ 2 ผู้ประกอบการแรก ได้แก่ บริษัท เชียงรายแลนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด และบริษัท หาญเจริญเอนเตอร์ไพรส์เชียงราย จำกัด

สิบกว่าปีหลังการตายของบุญยงค์ อินต๊ะวงศ์ อนุกรรมการฯ ภายใต้คณะกรรมการสิทธิฯ ชุดที่ 2 ก็ได้มาพบป้าหอมที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามและตรวจสอบความคืบหน้าในกรณีร้องเรียนดังกล่าว

แต่การประชุมในวันนั้นไม่มีข้อสรุปใดๆ เพราะคณะกรรมการสิทธิฯ มีอำนาจหน้าที่เพียงแค่ทำรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ชี้ให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิที่ส่งผลเสียหายต่อธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐ-ราชการและบริษัทเอกชนต่าง ๆ แล้วส่งรายงานต่อให้รัฐบาลและหน่วยงานราชการต่าง ๆ นำไปพิจารณาปฏิบัติและสั่งการ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่สั่งการหน่วยงานราชการใด ๆ โดยตรงได้ 

หลังจากเลิกประชุม บุคลิกของป้าหอมก็เปลี่ยนกลับไปเป็นเหมือนเดิม เดินออกจากห้องประชุมไปด้วยแววตาอ่อนล้าเหมือนตอนเริ่มต้นเข้ามา คนที่อ่อนล้าแค่ท่าเดินก็เห็นชัดว่าอ่อนล้า แค่แกว่งแขนระหว่างเดินก็หมดเรี่ยวแรงไม่กระฉับกระเฉง

อีกหลายพื้นที่ของประเทศ หลายครั้งหลายหนที่การต่อสู้ของชาวบ้านต่อสัมปทานระเบิดและย่อยหินมักนำมาซึ่งความสูญเสียถึงชีวิต 

ครูประเวียน บุญหนัก เลขาธิการสมัชชาเกษตรรายย่อยภาคอีสาน เขต 4 ผู้นำการคัดค้านเหมืองหินและโรงโม่หินที่ภูผาน้อยของบริษัท สุรัตน์การศิลา จำกัด ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย ถูกยิงเสียชีวิตที่หน้าที่ว่าการอำเภอวังสะพุง จ.เลย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2538 

นายทองม้วน คำแจ่ม กำนัน ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ผู้นำการคัดค้านสัมปทานโรงโม่หินที่บริเวณผายา ผาจันได ณ ท้องที่ปกครองของเขา ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2542พร้อม ๆ กันอีกคน นายสม หอมพรหมา ชาวบ้านวังหินซา ถูกยิงเสียชีวิตพร้อมกำนันทองม้วน 

นายพิทักษ์ โตนวุธ อดีตประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ปรึกษาชาวบ้านลุ่มน้ำชมพู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ที่ร่วมคัดค้านการระเบิดหินและโรงโม่หินที่เทือกเขาผาแดงรังกายกับชาวบ้าน ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2544

และอีกหลายพื้นที่ของประเทศที่คนเล็กคนน้อยลุกขึ้นมาต่อสู้การระเบิดและย่อยหินยังถูกคุกคามต่อเนื่อง ท่ามกลางอันตราย แต่เจตจำนงในการมีชีวิตนั้นสูงส่ง ถึงแม้จะถูกคุกคามอย่างต่อเนื่องก็ยังคงต่อสู้คัดค้านอยู่ ด้วยเป้าหมายที่เรียบง่ายและชัดเจน ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน ก็เพียงแค่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี ดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี กินอิ่ม นอนอุ่น สงบสุข 

นับตั้งแต่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2538 กำหนดให้มีแผนปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนการระเบิดและย่อยหินไปเป็นเทคโนโลยีการทำเหมืองหิน และกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศกฎกระทรวง ฉบับที่ 77 (พ.ศ. 2539) รองรับเพื่อกำหนดให้หินทุกชนิดเป็นแร่ชนิดหินประดับ หรือแร่ชนิดหินอุตสาหกรรม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2539 ส่งผลให้กิจกรรมการระเบิดและย่อยหินตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมที่ดิน เปลี่ยนมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กพร. ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 แทน 

และตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวกำหนดให้ต้องทำการประกาศแหล่งหินเพื่อการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมในแต่ละพื้นที่ด้วย ปัจจุบันรัฐได้ประกาศกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรมไปแล้วกว่า 10 ครั้ง มีจำนวนแหล่งหินใน 53 จังหวัดทั่วประเทศถูกประกาศไปแล้ว 327 แหล่ง บนพื้นที่ 145,911 ไร่ ปริมาณสำรอง 9,417 ล้านเมตริกตัน [1]

ไม่ว่านโยบายของรัฐจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยอ้างความจำเป็นของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น จึงทำให้การลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้างประเภทต่าง ๆ ขยายตัวมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 ในยุครัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ที่ประกาศเดินหน้าเร่งรัดผลักดันรถไฟทางคู่หลายเส้นทางหลายพันกิโลเมตร และระบบขนส่งเชื่อมโยงอื่น ๆ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ด้วยงบประมาณที่สูงกว่าเดิมอีกครึ่งหนึ่ง สำหรับโครงการในแบบที่แทบลอกเลียนมาจากโครงการยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือ จาก 2 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 3 ล้านล้านบาทเป็นอย่างต่ำ อันเป็นผลให้ความต้องการใช้หินซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการก่อสร้างจะเพิ่มสูงขึ้นมาก 

อย่างไรก็ตาม นโยบายการประกาศกำหนดแหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างของรัฐมีความผิดพลาดอย่างยิ่ง ตรงที่การกำหนดแหล่งหินเพื่อการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมหลายพื้นที่ได้ทับซ้อนลงไปในพื้นที่ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร พื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ที่สาธารณประโยชน์ ป่าชุมชนใช้สอย แหล่งท่องเที่ยว แหล่งโบราณวัตถุ โบราณสถาน แหล่งอนุรักษ์ด้านศิลปวัฒนธรรมและโบราณคดีของชุมชนท้องถิ่น ไม่เว้นแม้กระทั่งแหล่งธรณีวิทยา
และชีวธรณีวิทยาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ เพื่อการศึกษาย้อนอดีตสู่กำเนิดโลกและสิ่งมีชีวิตในอดีต ก็ยังถูกกำหนดเป็นแหล่งหินเพื่อการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมซ้อนทับลงไป

ท่ามกลางนโยบายและโครงการพัฒนาในยุครัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ที่ถาโถมเข้าใส่ ความพยายามที่จะลดกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาในส่วนของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และกระบวนการประเมินหรือวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA ) ให้มีระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะสั้นได้ เพื่อทำให้การเปิดประมูลรวดเร็วขึ้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้กระทำอย่างโจ่งแจ้งและรวบรัดไม่ฟังเสียงประชาชน ด้วยการประกาศใช้ ม.44 

แต่พอเห็นกระแสสังคมไม่ตอบรับจึงเปลี่ยนรูปแบบการใช้ ม.44 ให้นุ่มนวลขึ้น โดยจำแลง ม.44 เป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 เรื่อง มาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) โดยเห็นชอบผ่อนปรนเงื่อนไขศึกษาความเป็นไปได้และศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโครงการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ จากระยะเวลา 1 ปี 10 เดือน เหลือ 9 เดือนแทน โดยอ้างว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจในการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติตามมาตรา 18 (8) แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 

ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ ที่แต่เดิมหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องศึกษา พิจารณาและอนุมัติ/อนุญาตตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดไว้ เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การจัดซื้อจัดจ้าง ฯลฯ ตามลำดับก่อนหลัง แต่มติ ครม.ดังกล่าวสามารถให้หน่วยงานต่าง ๆ ศึกษา พิจารณาและอนุมัติ/อนุญาตตามขั้นตอนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตัวเองไปพร้อม ๆ กันได้เลย ไม่ต้องรอลำดับก่อนหลังอีกต่อไป

ต่างกันมากกับรัฐบาลชุดที่แล้วที่ภาคประชาสังคมออกมาคัดค้านโจมตีโครงการเงินกู้เพื่อการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการเงินกู้เพื่อการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 ล้านล้านบาท กันอย่างเอิกเกริก ข้อโจมตีหนึ่งต่อรัฐบาลชุดที่แล้วเกี่ยวกับโครงการเงินกู้เพื่อการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ก็คือการออกแบบวิธีการประมูลแบบลัดขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด คือ หาผู้ชนะการประมูลก่อนแล้วจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ย้อนหลัง 

แต่กับรัฐบาลนี้พวกเขาเลือกที่จะปิดปากตัวเอง

ท่ามกลางบรรยากาศความหวาดกลัวในยุครัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. คนที่ปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของตัวเองได้ดีที่สุดคือพวกประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และปัญญาชนผู้มีการศึกษาทั้งหลาย ซึ่งมีพฤติกรรมที่ชอบอยู่ส่วนบนของขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชน รอเหยียบย่ำซ้ำเติมคนอื่น และฉกฉวยผลประโยชน์เฉพาะหน้า 

และเรายังเห็นดวงตาแห่งความเอื้ออาทรของคนทุกข์คนยาก คนเล็กคนน้อยในแผ่นดิน ที่ยืนหยัดต่อสู้เพียงแค่ว่าภูเขาลูกนั้นมันคือวิถีชีวิต คือสิ่งจรรโลงใจ คือความสุข ที่พร้อมจะยอมแลกชีวิตเพื่อปกป้องมัน

============

[1] ข้อมูลเข้าถึงได้ที่ http://mis.dpim.go.th/sourcestone-service_public/sourcestone_data/index.html (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) คัดลอกเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559

                

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ