เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์: จดหมายชาตินิยมเหมืองทอง

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์: จดหมายชาตินิยมเหมืองทอง

20161605213801.jpg

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
14 พฤษภาคม 2559

นับว่าเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายอย่างยิ่งที่รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 สั่งให้หยุดดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ในสิ้นปีนี้ และให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศด้วย สร้างความฮือฮา ตื่นตกใจให้กับทั้งฝ่ายผู้ประกอบการเหมืองและฝ่ายคัดค้านการทำเหมือง

เนื้อหาของมติคณะรัฐมนตรีที่ปรากฎอยู่ในเอกสารข่าวของกระทรวงอุตสาหกรรม และหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/16885 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 สอดรับกัน โดยแบ่งเป็นข้อ ๆ ดังนี้

1. ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรด้วย

2. ในกรณีของบริษัทอัคราฯ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพนักงาน และเพื่อเตรียมการเลิกประกอบกิจการ จึงเห็นควรให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมไปจนถึงสิ้นปี 2559 เพื่อให้สามารถนำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ พร้อมทั้งให้บริษัทอัคราฯ เร่งดำเนินการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต

3. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนและบรรเทาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังสิ้นสุดการประกอบกิจการเหมืองแร่และโลหกรรมของบริษัทอัคราฯ โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำกับดูแลการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุขดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และกระทรวงแรงงานดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ

ส่วนเอกสารข่าวของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ขยายความเข้าใจต่อผลที่จะเกิดขึ้นจากมติ ครม. ดังกล่าวในส่วนของพื้นที่อื่น ๆ ดังนี้

1. ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ ซึ่งปัจจุบันมีคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ จาก 12 บริษัท ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิจิตร จันทบุรี ระยอง พิษณุโลก ลพบุรี สระบุรี สระแก้ว นครสวรรค์และสตูล จำนวน 177 แปลง พื้นที่ประมาณ 1,539,644 ไร่

2. ยุติการอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งปัจจุบันมีคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำเพียงบริษัทเดียว คือ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่จังหวัดเลย จำนวน 107 แปลง พื้นที่ประมาณ 28,780 ไร่

3. ยุติการอนุญาตคำขอต่ออายุประทานบัตร ซึ่งปัจจุบันมีคำขอต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำเพียงบริษัทเดียว คือ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 1 แปลง พื้นที่ 93 ไร่

ทั้งหมดคือเอกสารที่เกี่ยวกับมติ ครม. เท่าที่มีอยู่ในตอนนี้ โดยเฉพาะหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/16885 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนังสือแจ้งมติ ครม. อย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่ยังขาดเอกสารที่เกี่ยวข้องสองชิ้นที่ทำให้หนังสือแจ้งมติ ครม. อย่างเป็นทางการยังไม่สมบูรณ์ คือ เอกสารรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการแก้ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ของกระทรวงอุตสาหกรรม และเอกสารมติการประชุมเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2559 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องเอามาดูประกอบว่ารายละเอียดที่ ครม. มีมติรับทราบตามเอกสารสองชิ้นนั้นมีเนื้อหาลงรายละเอียดอย่างไรบ้าง

แต่ด้วยกระแสข่าวและความคิดเห็นต่าง ๆ ในโลกของการสื่อสารออนไลน์ที่พากันชื่นชมการตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้มีแนวทางที่ผิดเพี้ยนและไม่ถูกต้องพอสมควร อาทิ การขุดคุ้ยว่าเหมืองทองแห่งนี้ ‘เปิดโดยรัฐบาลทักษิณ ปิดโดยรัฐบาลประยุทธ์’ เพื่อที่จะเปรียบเทียบ เยินยอ ตอกย้ำและผลิตความคิดให้แก่สังคมว่ารัฐบาลเผด็จการทหารที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหารดีกว่า และมีคุณธรรมกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยที่ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้ง ด้วยการเอาภาพแผ่นป้ายหินสีดำบนตัวหนังสือสีทองที่จารึกชื่อของทักษิณ ชินวัตรในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดเหมืองทองคำในวันที่ 12 ธันวาคม 2544 ที่ติดอยู่บนก้อนหินในเขตเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ มาแสดงอยู่ในช่องทางสื่อสารออนไลน์ต่าง ๆ นั้น เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ไม่ครบถ้วนและถูกต้อง

ในผนังห้องประชุมเล็ก ๆ ที่ใช้สำหรับต้อนรับแขกเหรื่อที่มาดูงานกิจการเหมืองทองคำของอัคราฯ ที่สำนักงานในเขตเหมืองแร่นั้น มีภาพ ๆ หนึ่งเป็นก้อนทองคำขนาดใหญ่ที่ระบุว่าได้มอบให้แก่นายทหารคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้นำการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2534 น่าเสียดายที่ไม่ได้ถ่ายรูปออกมา จึงจำไม่ได้ว่านายทหารคนนั้นชื่อนามสกุลว่าอะไร

เหตุการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับช่วงเวลาของการที่รัฐบาลสมัยนั้นมีนโยบายส่งเสริมการให้สัมปทานการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำแก่เอกชนทั้งในและต่างประเทศ จึงส่งผลให้มีการให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ 2 แห่งในประเทศไทยในเวลาต่อมา คือ เหมืองแร่ทองคำชาตรีของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอนของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย

สิ่งที่ควรบันทึกให้ถูกต้องเกี่ยวกับเหมืองทองคำทั้ง 2 แห่งก็คือมีการทำงานร่วมกันมาหลายรัฐบาล เริ่มตั้งแต่รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ในปี 2527 โดยกรมทรัพยากรธรณี[[1]]ได้ดำเนินการสำรวจแร่ทองคำและพบพื้นที่ศักยภาพของแร่ทองคำ 2 บริเวณใหญ่ คือ บริเวณขอบที่ราบสูงโคราชในท้องที่จังหวัดเลย หนองคาย เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี และระยอง และบริเวณท้องที่จังหวัดเชียงราย ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย และตาก ส่วนบริเวณอื่น ๆ ที่พบทองคำอยู่ด้วย อาทิ บ้านป่าร่อน อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บริเวณแหล่งโต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส บริเวณบ้านบ่อทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี และมักพบปะปนอยู่ในลานแร่ดีบุกแถบจังหวัดกาญจนบุรี ภูเก็ต และพังงา เป็นต้น

ผลจากการค้นพบศักยภาพของแร่ทองคำดังกล่าว คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกเปรมได้มีมติเห็นชอบ ‘นโยบายว่าด้วยการสำรวจและพัฒนาแร่ทองคำ’ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมทรัพยากรธรณีเสนอมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530 เพื่อส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุนในการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำได้ใน 2 กรณี คือ (1) ภาครัฐเปิดประมูลพื้นที่เป็นกรณีพิเศษนอกเหนือไปจากบทบัญญัติของกฎหมายแร่ โดยใช้การมีมติคณะรัฐมนตรีจากอำนาจฝ่ายบริหารให้กำหนดพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอสิทธิสัมปทานโดยทำเป็นสัญญาผูกมัดให้เอกชนได้รับทั้งสิทธิสัมปทานการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในคราวเดียวกัน (2) เอกชนขอสิทธิสำรวจโดยตรงด้วยการขออาชญาบัตรพิเศษก่อน ต่อเมื่อพบแร่ทองคำในเชิงพาณิชย์จึงค่อยขอสิทธิทำเหมืองแร่โดยขอประทานบัตรในภายหลัง เป็นลำดับขั้นตอนตามที่ระบุไว้ในกฎหมายแร่

ผลจากนโยบายฯดังกล่าวในยุครัฐบาลพลเอกเปรมทำให้ประสบความสำเร็จพบแหล่งแร่ทองคำในเชิงพาณิชย์ 2 แห่ง ได้แก่

(1) แหล่งแร่ทองคำที่ภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในพื้นที่โครงการขนาดใหญ่ที่เปิดประมูล

(2) แหล่งแร่ทองคำในพื้นที่รอยต่อของจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ในพื้นที่ที่ส่งเสริมให้เอกชนขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่       

จึงส่งผลให้บริษัทอัคราฯ เปิดดำเนินการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินในแหล่งชาตรี เมื่อปี 2543 ในรัฐบาลชวน หลีกภัย และชาตรีเหนือ เมื่อปี 2551 ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช รวมพื้นที่ทั้ง 2 แหล่งประมาณ 5,463 ไร่

และส่งผลให้ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด และบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทำ ‘สัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่ 4 พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง’ กับรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุนโดยกรมทรัพยากรธรณีเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 ซึ่งเป็นสัญญาให้สิทธิผูกขาดในการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ขนาดใหญ่มากถึง 545 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 340,615 ไร่

ส่งผลให้บริษัททุ่งคำสามารถยื่นขอประทานบัตรจับจองพื้นที่ขนาดใหญ่ได้จำนวน 112 แปลง ประมาณ 33,600 ไร่ เมื่อปี 2538 ในรัฐบาลชวน หลีกภัย โดยได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำแล้ว 6 แปลง บนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน คือ ประทานบัตรที่ 26968/15574, 26969/15575, 26970/15576, 26971/15558, 26972/15559 และ 26973/15560 พื้นที่ประมาณ 1,291 ไร่ ระหว่างปี 2545-2546 ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นเหมืองแร่ที่กำลังดำเนินการและก่อปัญหาผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมอยู่ในขณะนี้

แนวทางที่ผิดเพี้ยนและไม่ถูกต้องอีกเรื่องหนึ่งก็คือจดหมายขอบคุณพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ของศาสตราจารย์ระพี สาคริก เนื้อหาในจดหมายพรรณาถึงบทบาทของตัวเองที่เป็นคนทำจดหมายถึงประยุทธ์ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2557 เพื่อขอความช่วยเหลือให้ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนรอบเหมืองทองอัคราฯ ชื่นชมการตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีที่ช่วยเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และรักษาทองคำอันเป็นสมบัติชิ้นสำคัญของชาติไทยไว้ให้ลูกหลานไทยในอนาคต สมกับเป็นผู้นำชายชาติทหารที่ทำงานรับใช้แผ่นดิน จนนำมาสู่การมีมติ ครม. ปิดเหมืองทองเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559

จดหมายดังกล่าวถึงแม้ดูเหมือนไม่มีอะไร หรือเป็นประเด็นเล็กนิดเดียวที่อาจไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง แต่ที่ต้องหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงก็เพราะแนวทางที่ผิดเพี้ยนและไม่ถูกต้องเช่นนี้เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งต่อการเขียนประวัติศาสตร์ประชาชนเพื่อบันทึกความทรงจำของผู้คนเอาไว้บอกเล่าให้คนรุ่นต่อจากนี้ได้รับรู้

จดหมายดังกล่าวเป็นการเลือกที่จะจดจำประวัติศาสตร์แบบที่ทำให้ลืมใบหน้าของประชาชนผู้ทุกข์ยากที่เป็นได้แค่ ‘วัตถุศึกษา’ ให้กับผู้มีการศึกษาทั้งหลายที่ได้ทำการเก็บข้อมูลและตัวอย่างสารพิษในร่างกาย เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ในบางแง่มุมที่ทำให้ประชาชนที่ต่อสู้คัดค้านกับเหมืองทองแห่งนี้มาไม่ต่ำกว่า 10 ปีถูกลืมเลือนไปโดยง่ายเมื่อกาลเวลาผ่านไป เป็นประวัติศาสตร์ในแนวผู้มีบุญญาบารมีบันดาลให้ แต่ความเหน็ดเหนื่อยและเจ็บปวดร้าวรานในชีวิตของประชาชนคนเล็กคนน้อยรอบเหมืองไม่มีพื้นที่ให้ถูกบันทึกไว้

จากบทเรียนและประสบการณ์ที่สังเกตเห็นในเส้นทางประวัติศาสตร์ของขบวนประชาชนที่ต่อสู้คัดค้านนโยบาย โครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน และกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน มักจะพบเห็นการบันทึกประวัติศาสตร์ในแบบที่คล้ายคลึงกับจดหมายของศาสตราจารย์ระพีอยู่เสมอ ดังกรณีตัวอย่างหนึ่งในพื้นที่ภาคอีสาน ย้อนกลับไปยังปี 2534 ที่ขบวนประชาชนคนทุกข์คนยากในแผ่นดินอีสานต้องรวมตัวกันต่อสู้กับอำนาจรัฐบาลทหารในยุค รสช. หรือคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ต้องเดินเท้าทางไกลจนมาสิ้นสุดที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อกดดันให้รัฐบาลลงมาเจรจาแก้ไขปัญหาการขับไล่ชาวบ้านออกไปจากผืนดินทำกินตามโครงการ คจก. หรือ ‘โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม’

กลุ่มคนเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่อยู่ส่วนบนของขบวนประชาชนในกรุงเทพฯ เลือกที่จะจดจำและบอกเล่าการต่อสู้ของชาวบ้านกับโครงการ คจก. ว่าเป็นเพราะบทบาทของพวกเขาในการติดต่อประสานงานและเจรจาล็อบบี้กับคนในรัฐบาล จึงทำให้รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ตัดสินใจยกเลิกโครงการ คจก.

พวกเขาเลือกที่จะจดจำและบอกเล่าเรื่องราวด้านของพวกเขาให้สาธารณชนฟัง

แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่พูดถึงหยาดเหงื่อแม้สักหยดเดียวท่ามกลางสองเท้าที่ก้าวย่างบนพื้นถนนที่เปลวแดดร้อนระยับที่ขบวนชาวบ้านนับพันชีวิตต้องเดินฝ่าไอระอุด้วยจิตใจที่ร้อนรุ่มจากอารมณ์ความรู้สึกของการจากบ้านมาไกลเพื่อเรียกร้องให้มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินผืนเล็ก ๆ

การกระทำแบบนี้มันส่งผลให้ไม่มีความภูมิใจอย่างเต็มภาคภูมิในขบวนประชาชนแม้สักครั้งในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะพวกที่อยู่ส่วนบนของขบวนประชาชนมักจะตัดตอนด้วยการจารึกบทบาทนำของพวกเขาอยู่เสมอ

โดยปล่อยให้ชาวบ้านยอมรับและศรัทธาในแนวทางความเชื่อที่ว่า เหตุที่เหมืองทองล้มไปได้ไม่ได้เกิดมาจากความเหนื่อยยากที่เกิดจากชีวิตและร่างกายของตนที่ต้องดิ้นรนหาเงินกู้หนี้ยืมสินเพื่อหาค่ารถเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนหลายร้อยฉบับ แต่เกิดจากเทวดาฟ้าดินหรือบทบาทนำของพวกที่อยู่ส่วนบนของขบวนประชาชนดลบันดาลให้

อีกด้านหนึ่งมันเป็นจดหมายที่ลดทอนความรู้และข้อมูลทางวิชาการที่ใช้เวลาเกือบ 2 ปีจนตรวจพบสารพิษและสารโลหะหนักต่าง ๆ มากมายที่ปนเปื้อนค่อนข้างสูงทั้งในร่างกายมนุษย์และสภาพแวดล้อม และมีความเชื่อมสัมพันธ์กันในห่วงโซ่อาหาร จนนำมาสู่การตัดสินใจทางการเมืองโดยมติ ครม.ดังกล่าว โดยมุ่งเน้นเฉพาะอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองของ คสช. เป็นหลักที่สามารถทำให้ปิดเหมืองทองได้ แต่ละเลยที่จะพูดถึงข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจพิสูจน์ของบุคคลากรหลายภาคส่วนที่ร่วมมือกันทำความจริงให้ปรากฎ รวมทั้งตัวชาวบ้านเองที่เป็น ‘วัตถุศึกษา’ ให้กับใครต่อใครทั้งที่เป็นหน่วยงานวิชาการของภาครัฐและสถาบันวิชาการหลากหลายองค์กรที่ร่วมมือกัน

เป็นเรื่องน่าสนใจตรงที่การจารึกประวัติศาสตร์นั้นมีกระบวนการขั้นตอน ในขั้นตอนเริ่มต้น พวกที่อยู่ส่วนบนของขบวนประชาชนยอมให้กับใคร ๆ ก็ตามในหมู่ของพวกเขาสร้างฉากความโศรกสลดด้วยการเอาชีวิตผู้คนรอบเหมืองที่เจ็บป่วย กำลังจะตายและคนที่ตาย ชีวิตความเป็นอยู่ที่ทุกข์แสนเข็ญถึงขั้นที่ต้องใช้คูปองจากหน่วยงานรัฐในจังหวัดมาใช้ซื้อผักและอาหารปลอดสารพิษโลหะหนัก ผืนดินปลูกอะไรไปก็ไม่งดงาม หรือถึงงดงามก็เต็มไปด้วยสารพิษและโลหะหนักที่เกิดขึ้นจากการทำเหมือง รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมชวนสลดหดหู่มาฉายให้สาธารณชนได้เห็น เพื่อเรียกน้ำตาและความเห็นอกเห็นใจต่อสังคม

แต่พอจะจารึกประวัติศาสตร์กลับหลงลืมพวกเขาเหล่านี้ไป แล้วเลือกที่จะจารึกมันด้วยการชูหางตนเองว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการประสานงานกับผู้มีอำนาจของรัฐ และเชิดชูผู้นำประเทศที่ได้อำนาจมาจากการยึดอำนาจไปจากประชาชนด้วยการรัฐประหาร

มันให้ภาพที่เห็นได้ชัดว่าพวกที่อยู่ส่วนบนของขบวนประชาชนจะฉวยโอกาสอยู่เสมอ และมองตัวเองว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเต็มเปี่ยม ว่าถ้าไม่ใช่ผลงานตัวเองก็คงไม่มีมติ ครม.แบบนี้อย่างแน่นอน แม้จะย่างเข้าสู่วัยชราบั้นปลายชีวิตก็ยังไม่หลงลืมที่จะบันทึกประวัติศาสตร์ในส่วนนี้ไว้

ไม่ว่าจะทำไปด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่มันสะท้อนให้เห็นว่ามันเป็นวิธีคิดที่อยู่ในกมลสันดาน ที่อาจจะทำไปโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่กระทำมันส่งผลเสียหายต่อประวัติศาสตร์อย่างไร เพราะเมื่อเรามองย้อนกลับมาข้างหลังจากอนาคตเราจะไม่เห็นชีวิตคนเจ็บป่วยรอบเหมืองเลย

มันเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ตอกย้ำการมีอยู่ของพวกที่อยู่ส่วนบนของขบวนประชาชนที่เห็นประชาชนเป็นเพียงแค่ ‘วัตถุศึกษา’ เท่านั้น

 

เอกสารแนบ

1. เอกสารข่าวกระทรวงอุตสาหกรรม ‘กระทรวงอุตสาหกรรมยุติเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ให้เวลาเหมืองอัคราฯ ถึงสิ้นปี !’ ดาวน์โหลดข้อมูลจาก http://www.dpim.go.th/dpimnews/article?catid=102&articleid=6859 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559

2. หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/16885 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 ดาวโหลดข้อมูลจากหน้าเฟซบุ๊ก ‘ภัทราพร ตั๊นงาม’ เข้าถึงข้อมูลตามลิงค์นี้ https://web.facebook.com/photo.php?fbid=1143873148967144&set=pcb.1143873198967139&type=3&theater เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559

3. เอกสารข่าวกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ‘กพร. แจงนโยบายยุติสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ ดาวน์โหลดข้อมูลจาก http://www.dpim.go.th/dpimnews/article?catid=102&articleid=6861 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559

4. จดหมายศาสตราจารย์ระพี สาคริก ถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 ดาวน์โหลดข้อมูลจาก http://www.matichon.co.th/news/135078 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559

 


[1] ในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่เปลี่ยนมาอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม  ในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ รักษา สงวน หวงห้าม หรือวิชาการด้านธรณีวิทยาสาขาต่าง ๆ ยังอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมทรัพยากรธรณีเช่นเดิม แต่ย้ายมาสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เมื่อครั้งปฏิรูปกระทรวง ทบวง กรม เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๕

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ