พอช.จับมือ อปท.เดินหน้าแก้ปัญหาชุมชนริมราง รฟท.ทั่วประเทศ

พอช.จับมือ อปท.เดินหน้าแก้ปัญหาชุมชนริมราง รฟท.ทั่วประเทศ

พอช. / สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เดินหน้าแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทั่วประเทศตาม ‘มติ ครม.14 มีนาคม 2566’  ในพื้นที่  35 จังหวัด  300 ชุมชน  จำนวน  27,084  ครัวเรือน  ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ  โดยจะจัดสัมมนาใหญ่ในเดือนมิถุนายนนี้  เพื่อสร้างความเข้าใจและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น  เช่น อปท. เป็นเจ้าภาพร่วมแก้ปัญหา

          ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม  2566  เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ   ในพื้นที่  35 จังหวัด  300 ชุมชน  จำนวน  27,084  ครัวเรือน  ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ   โดยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’  ดำเนินการในปี 2566-2570  นั้น

พอช.เดินสายสร้างความเข้าใจชาวชุมชนริมรางทั่วประเทศ

นายสยาม  นนท์คำจันทร์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ  พอช. ในฐานะประธาน ‘คณะทำงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง  (พทร.)’ กล่าวว่า  ขณะนี้ พอช.อยู่ในระหว่างการจัดเวทีสร้างความเข้าใจกับผู้แทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟทั่วประเทศ   โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา  ได้จัดสัมมนา ‘เครือข่ายสันรางรถไฟภาคใต้’ ที่จังหวัดสงขลา     มีผู้แทนชุมชนริมราง (สันราง) รถไฟใน 9 จังหวัด  เช่น  ชุมพร  สุราษฎร์ธานี  นครราชศรีธรรมราช  ตรัง  พัทลุง  สงขลา  ฯลฯ  เข้าร่วมประมาณ  100 คน

2
สัมมนาเครือข่ายสันรางรถไฟภาคใต้ที่ จ.สงขลาเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9-10  พฤษภาคม  จัดเวทีสัมมนาที่จังหวัดขอนแก่น  มีผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)และชาวชุมชนเข้าร่วมประมาณ 120 คน  ส่วนภูมิภาคอื่นที่มีจำนวนชุมชนที่ได้รับผลกระทบไม่มาก  เช่น  ภาคเหนือ  ภาคกลางและตะวันตก  พอช.และคณะทำงานแก้ไขปัญหา ฯ  จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชนต่อไป

“นอกจากนี้ภายในเดือนมิถุนายนนี้   พอช.จะจัดเวทีสัมมนาที่กรุงเทพฯ  โดยจะเชิญผู้แทนหน่วยงานในท้องถิ่น  เช่น  อบต.  เทศบาล  ที่มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางประมาณ 135  แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น  การรถไฟแห่งประเทศไทย  เข้าร่วมสัมมนา  เพื่อสร้างความเข้าใจต่อโครงการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง  และเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวชุมชนตามมติคณะรัฐมนตรีร่วมกับ พอช.และภาคีเครือข่าย”  ผู้ช่วย ผอ.พอช. กล่าว

ส่วนรูปแบบในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยนั้น  ผู้ช่วย ผอ.พอช. บอกว่า  จะมีทั้งการปรับปรุง  ก่อสร้างบ้านในที่ดินเดิม (กรณีอาศัยในที่ดินเดิมได้)  หากอยู่อาศัยในที่ดินเดิมไม่ได้  จะต้องขอเช่าที่ดินใหม่จาก รฟท.  เพื่อก่อสร้างบ้าน  หรือจัดหาที่ดินรัฐ  เอกชน  หรือจัดซื้อ-เช่าโครงการที่มีอยู่แล้ว  เช่น  โครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ

ขณะที่ชาวชุมชนที่เดือดร้อนจะต้องรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา  เช่น   จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน  จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน  เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทางบ้านมั่นคงของ พอช.  จัดทำสัญญาซื้อหรือเช่าที่ดิน  ออกแบบวางผังบ้าน-ผังชุมชน  และบริหารโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย

ส่วน พอช. จะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาตามมติ ครม.  โดยจะอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย  เช่น  ช่วยเหลือการก่อสร้างที่อยู่อาศัย   สาธารณูปโภคส่วนกลาง  ไม่เกินครัวเรือนละ 160,000 บาท  และสินเชื่อเพื่อก่อสร้างบ้านหรือซื้อที่ดิน  ไม่เกินครัวเรือนละ 250,000  บาท

ทั้งนี้มีชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง  เช่น   รถไฟรางคู่เส้นทางภาคใต้   รถไฟความเร็วสูงภาคอีสาน-เหนือ   ภาคกลางและตะวันตก   รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน  ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา   รวมทั้งหมด   300 ชุมชน  ในพื้นที่  35 จังหวัด   รวม  27,084  ครัวเรือน  ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี  ตั้งแต่ปี 2566-2570 ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ 

โดยในปี 2566   พอช. มี  6 พื้นที่เร่งด่วนที่จะดำเนินการ  รวม 939 ครอบครัว เช่น  ชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวี  กรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน   ประมาณ 400  ครอบครัว  (ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมบริเวณริมบึงมักกะสัน)  ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง  จ.นครราชสีมา  166  ครอบครัว  ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง            จ.ขอนแก่น 169  ครอบครัว  ชุมชนริมทางรถใน จ.ตรัง 225  ครอบครัว  ฯลฯ

3
ชุมชนริมรางรถไฟย่านราชเทวี  กรุงเทพฯ  จะย้ายไปอยู่ริมบึงมักกะสัน

กรณีเร่งด่วน ‘วัดใหม่ยายมอญ’ ถูกฟ้องขับไล่

การรถไฟแห่งประเทศไทยมีแผนพัฒนาระบบรางทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2560  เป็นต้นมา  เช่น  โครงการรถไฟรางคู่สายใต้  เริ่มจากสถานีใน  จ.นครปฐม-หาดใหญ่  จ.สงขลา   รถไฟความเร็วสูง  กรุงเทพฯ-หนองคาย  รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน  ดอนเมือง (กรุงเทพฯ) -สุวรรณภูมิ (สมุทรปราการ) -อู่ตะเภา  (จ.ชลบุรี)   ฯลฯ  รวมทั้งการนำที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์

ขณะเดียวกัน  มีชุมชนผู้มีรายได้น้อยอาศัยอยู่ในที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศ  (ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจาก รฟท.อย่างถูกต้อง)  ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางดังกล่าว   อย่างไรก็ตาม  ที่ผ่านมามีหลายชุมชนที่ชาวบ้านได้รวมตัวกันแก้ไขปัญหาไปแล้วก่อนจะมีมติ ครม. 14 มีนาคม 2566  ออกมา

เช่น  ชุมชนริมทางรถไฟใน อ.หัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์  19 ชุมชน  โดนรื้อย้ายตั้งแต่ปี 2561   แต่ชาวชุมชนส่วนหนึ่งได้รวมตัวกันจัดทำโครงการบ้านมั่นคง ‘หินเหล็กไฟ’   โดยการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ระดมทุนซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้านใหม่ในตำบลหินเหล็กไฟ   อ.หัวหิน   ได้รับการสนับสนุนจาก พอช.  สร้างบ้านใหม่จำนวน 70 ครัวเรือนในที่ดิน 5 ไร่เศษ  สร้างบ้านเสร็จในปี 2565  ปัจจุบันชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้ว  ถือเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.

4
บ้านใหม่ของชาวชุมชนหินเหล็กไฟจากชุมชนบุกรุกที่ดิน รฟท.  เป็นบ้านใหม่ที่มั่นคงสวยงาม

นายสยาม  นนท์คำจันทร์  ประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง  กล่าวว่า  ล่าสุดมีกรณีชุมชน ‘วัดใหม่ยายมอญ’  หรือวัดอมรทายิการาม  เขตบางกอกน้อย   จำนวน 21 ครอบครัว  (เดิมมีประมาณ 40 ครอบครัว)  ซึ่งปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดิน รฟท. มานานหลายสิบปี  ถูกกรมบังคับคดีมีคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง  บ้านเรือนออกจากที่ดิน รฟท. ภายในวันที่  14 พฤษภาคมนี้   และที่ผ่านมา  ชาวบ้านมีความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามแนวทางบ้านมั่นคงของ พอช.  โดยการหาที่ดินแปลงใหม่รองรับ   มีการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ พอช.ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565

“แต่เนื่องจากโครงการบ้านมั่นคงจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ  เช่น  การรวมตัวจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถานของชาวบ้าน   การจัดหาที่ดินแปลงใหม่รองรับ  ดังนั้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา  ชาวบ้านจึงได้ทำหนังสือถึงศาลแพ่งตลิ่งชันเพื่อขอทุเลาการบังคับคดีออกไปก่อน    เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไปภายในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้”  ผช.ผอ.พอช. กล่าว

ทั้งนี้ชาวชุมชนวัดใหม่ยายมอญรวม  26 คน  ถูกผู้เช่าที่ดิน รฟท. และ รฟท. เป็นโจทย์ร่วม  ฟ้องต่อศาลแพ่งตลิ่งชันในปี 2561 และ 2562  เพื่อนำที่ดินมาพัฒนาเป็นตลาด  ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2565  ศาลแพ่งมีคำสั่งถึงที่สุดให้ชาวบ้านรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป  ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนยอมรื้อย้าย  จนเหลืออีก 17 ราย   ชาวบ้านจึงได้ร้องต่อศาลแพ่งตลิ่งชันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา  เพื่อขอทุเลาการบังคับคดี  และเตรียมแก้ไขปัญหาตามแนวทางบ้านมั่นคงต่อไป

5
นายสยาม  นนท์คำจันทร์  (นั่งกลาง)  ร่วมประชุมกับชาววัดใหม่ยายมอญ

เส้นทางการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.

          ในปี 2541  การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีนโยบายจะนำที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศมาให้เอกชนเช่าทำธุรกิจ  ชาวชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค  เพื่อขอเช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกต้องจาก รฟท.  เนื่องจากกลัวถูกไล่รื้อชุมชน  เพราะชุมชนส่วนใหญ่ปลูกสร้างบ้านโดยไม่ได้เช่าที่ดิน รฟท.

การเรียกร้องของชุมชนในที่ดิน รฟท.ยังดำเนินต่อเนื่องนับจากปี 2541  จนถึงเดือนกันยายน 2543   มีการชุมนุมที่หน้ากระทรวงคมนาคม  มีชาวชุมชนทั่วประเทศมาแสดงพลังกว่า 2,000 คน  ใช้เวลา 3 วัน   ในที่สุดคณะกรรมการบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย  หรือ ‘บอร์ด รฟท.’ ได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543  เห็นชอบข้อตกลงตามที่กระทรวงคมนาคมเจรจากับผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค  คือ

1.ชุมชนที่อยู่นอกเขตทางรถไฟ 40 เมตร  หรือที่ดิน รฟท.ที่เลิกใช้  หรือยังไม่มีแผนใช้ประโยชน์  ให้ชุมชนเช่าอยู่อาศัยระยะยาว 30 ปี  

2.ที่ดินที่อยู่ในเขตทางรถไฟรัศมี 40 เมตรจากกึ่งกลางรางรถไฟ  ชุมชนสามารถเช่าได้ครั้งละ 3 ปี  และต่อสัญญาเช่าได้ครั้งละ 3 ปี  หาก รฟท.จะใช้ประโยชน์จะต้องหาที่ดินรองรับในรัศมี 5 กิโลเมตร 

3.กรณีชุมชนอยู่ในที่ดิน รฟท.รัศมี 20 เมตร  หาก รฟท.เห็นว่าไม่เหมาะสมในการให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยระยะยาว  ให้ รฟท.จัดหาที่ดินรองรับในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม  ฯลฯ

6

หลังจากมติบอร์ด รฟท.มีผล  ชุมชนในที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศ  เช่น  กรุงเทพฯ  เชียงใหม่   ตรัง  สงขลา  ฯลฯ  รวม 61 ชุมชนได้ทยอยทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ  และพัฒนาที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2547  (อัตราค่าเช่าตารางเมตรละ 20 บาทต่อปี)  โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยและงบประมาณบางส่วนตามโครงการบ้านมั่นคง

จนเมื่อ รฟท.มีโครงการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2560   ทำให้มีชุมชนที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น   ผลการสำรวจข้อมูลพบว่า  มีชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ  ในพื้นที่  35 จังหวัด  300 ชุมชน จำนวน  27,084  ครัวเรือน   โดยที่ผ่านมามีหลายชุมชนโดนไล่รื้อแล้ว

นับแต่นั้น  เครือข่ายริมรางรถไฟและสลัม 4 ภาคจึงเคลื่อนไหวร่วมกับ ‘ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม’ (ขปส.) หรือ P-M0ve ผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาจนประสบความสำเร็จ   โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมาเห็นชอบแผนการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางดังกล่าว  ขณะที่เครือข่ายริมรางรถไฟฯ ยืนยันให้ รฟท. นำมติบอร์ด รฟท. 13 กันยายน 2543  มาใช้ในการจัดหาที่ดินรองรับชาวชุมชน

7
การชุมนุมเรียกร้องของเครือข่ายชุมชนริมรางรถไฟที่หน้ากระทรวงคมนาคม  เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ