ระบบสุขภาพถ้วนหน้าเป็นไปได้หรือไม่ ? : ใครเสนออะไร ชวนอ่านนโยบายสุขภาพยั่งยืน

ระบบสุขภาพถ้วนหน้าเป็นไปได้หรือไม่ ? : ใครเสนออะไร ชวนอ่านนโยบายสุขภาพยั่งยืน

ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันที่ได้เกิดสถานการณ์การแพร่กระจายของโคโรนาไวรัส 2019 ได้สร้างบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ และการตระหนักแก่สังคมถึงความสำคัญของการมีระบบสาธารณสุขทั่วถึง ถ้วนหน้า และมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์นโยบายสวัสดิการพื้นฐานที่ประชาชนคนไทยควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

ในบทความนี้จึงอยากเชิญชวนทุกท่านรับฟังข้อเสนอของภาคประชาชน ร่วมกับพิจารณานโยบายประเด็นระบบสุขภาพยั่งยืนของพรรคการเมืองกว่า 10 พรรคที่กำลังจะเป็นรัฐบาลไทยในอีก 4 ปีข้างหน้า หลังจากวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

นโยบายสวัสดิการดูแลสุขภาพคนไทย

พรรคก้าวไกล

สุขภาพดี มีรางวัล (Health Score)

  • เพิ่มระบบแรงจูงใจประจำปี – เป้าหมายสุขภาพรายบุคคล
  • เป้าหมายสุขภาพรายบุคคล เป็นระบบคะแนนสุขภาพที่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การเลิกสูบบุหรี่ จำนวนก้าวในการเดินต่อวัน ฯลฯ
  • ผลการตรวจสุขภาพประจำปี เช่น เลือด น้ำหนัก BMI
  • การเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์
  • การไม่มีภาวะเจ็บป่วยที่ต้องมาโรงพยาบาล
  • ได้รับคูปองอาหารอินทรีย์/สินค้าสุขภาพ 300 บาท/ปี หรือรางวัลอื่น ๆ ที่จูงใจประชาชนให้รักษาสุขภาพ

ตรวจสุขภาพประจำปีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต พร้อมกับให้ค่าเดินทางสำหรับเดินทางมาตรวจสุขภาพ

ตรวจสุขภาพประจำปี รวมคัดกรองมะเร็ง 6 ชนิดฟรี สำหรับกลุ่มเสี่ยง

  • บรรจุสิทธิคัดกรองมะเร็งที่พบบ่อย 6 ชนิดลงในสิทธิตรวจสุขภาพบัตรทองตามความเสี่ยง ไม่ต้องรอแพทย์สั่ง เพื่อให้เข้าถึงการรักษามะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และมีค่าเดินทางเพื่อจูงใจให้ทุกคนเข้ามาตรวจสุขภาพ
  • ผู้หญิง 40 – 55 ปีที่ไม่มีอาการ ควรได้ตรวจ mammogram ทุก 1 ปี ผู้หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจ mammography ทุก 2 ปี กลุ่มเสี่ยงควรได้รับการตรวจทุกปี
  • เพิ่มสิทธิในการตรวจส่องกล้องให้กับกลุ่มเสี่ยงมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยอายุเริ่มตรวจ นับจากอายุของผู้ที่เป็นมะเร็งในครอบครัว ลบ 10 ปี และตรวจทุก1 – 3 ปี
  • การเจาะเลือดดูค่า AFP และการ ultra-sound ช่องท้องเป็นสิทธิบัตรทอง ปกติไม่จำเป็นต้องคัดกรองทุกคน ยกเว้นกลุ่มที่เป็นไวรัสตับอักเสบที่แพทย์จะต้องให้คัดกรองอยู่แล้ว
  • เพิ่มสิทธิในกลุ่มเสี่ยง เช่น ในภาคอีสานจะมีมะเร็งตับอีกชนิด คือ Cholangiocarcinoma ที่เกิดจากพยาธิใบไม้ในตับที่มาจากปลาน้ำจืด ซึ่งกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ที่กินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เป็นประจำ ควรจะต้องรับการคัดกรองมะเร็งส่วนนี้อย่างสม่ำเสมอ
  • มะเร็งปอด เพิ่มสิทธิในการตรวจ CT ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปอด ได้แก่ กลุ่มที่อายุ 55 ปี ขึ้นไปที่เป็นผู้สูบบุหรี่จัดในอัตรา 30 pack-year เป็นต้นไป รวมถึงกลุ่มเสี่ยงในภูมิภาคมีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 และมลพิษ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอดมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

วัคซีนเพิ่มเติมฟรีในเด็กและผู้ใหญ่

  • โรคไข้หวัดใหญ่
  • โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่กลับมาระบาดสูงอีกครั้ง และพบมากที่สุดในเด็กช่วงอายุ 5-14 ปี การฉีดวัคซีนไข้เลือดออกเดงกี่ ลดความรุนแรงของโรคได้กว่า 80 %
  • โรคพิษสุนัขบ้า การฉีดวัคซีนตั้งแต่เด็กจะช่วยลดจำนวนวัคซีนที่ต้องฉีดกรณีที่พบว่าเสี่ยงได้รับโรคพิษสุนัขบ้าในภายหลัง ซึ่งวัคซีนที่ต้องฉีดหากไม่เคยได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้ามาก่อนมีราคาที่ค่อนข้างสูง
  • โรคอีสุกอีใส โดยฉีดเป็นวัคซีน MMRV ที่รวมเข็มกับวัคซีน คางทูม หัด หัดเยอรมัน หรือ MMR ในวัคซีนจำเป็นเดิม
  • วัคซีนผู้สูงอายุ – เพิ่มวัคซีนปอดอักเสบ
  • โรคปอดอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด สำหรับผู้สูงวัย ฉีดเข็มเดียวแต่ป้องกันได้ตลอดชีวิต โดยอาการปอดบวมและติดเชื้อในกระแสเลือด ถือเป็นสาเหตุในการเสียชีวิตหลักของผู้สูงอายุ

แว่นตาฟรีถึง 18 ปี สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่มีปัญหาทางสายตา อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

เพิ่มยอดบริจาคอวัยวะเชิงรุก ถามทุกครั้งที่ทำบัตรประจำตัวประชาชน กำหนดให้เพิ่มคำถามเรื่อง “การบริจาคอวัยวะ” ทุกครั้งที่ทำบัตรประจำตัวประชาชน และบันทึกข้อมูลลงในชิปบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบเมื่อผู้บริจาคอวัยวะเสียชีวิต


พรรคพลังประชารัฐ

สังคมประชารัฐสีขาว สังคมจะสงบสุข เข้มแข็ง แบ่งปันได้ ต้องเป็นสังคมประชารัฐสีขาว ที่ “ปลอดภัย ปลอดโรค ปลอดยา”

เด็กอายุ 0-6 ปี ต้องเติบโตอย่างมีคุณภาพ ต้องได้รับการดูแลโภชนาการอาหารครบถ้วน


พรรคไทยชนะ

นโยบาย “ชนะเจ็บ” ป้องกันก่อนเกิดโรคและรักษาก่อนป่วยหนัก ปรับปรุงสวัสดิการสังคมเช่น โครงการสุขภาพดีมีรางวัล,ลดปริมาณสารพิษ,สร้างสนามกีฬาแบบ Skylane


พรรครวมพลัง

สร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกและป้องกันการเกิดโรค เน้นการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกและป้องกันการเกิดโรคมากกว่าการรักษา มุ่งสร้างเสริมสุขภาวะและยกระดับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บของคนในชนบทและเมืองเล็กเป็นพิเศษ


พรรคครูไทยเพื่อประชาชน

ควบคุมการโฆษณาสินค้าบางประเภทที่ให้โทษต่อสุขภาพ เพิ่มมาตรการการควบคุมการโฆษณาสินค้าบางประเภทที่ให้โทษต่อสุขภาพและร่างกายของประชาชน

สนับสนุนและส่งเสริมการให้บริการด้านการสาธารณสุขและสาธารณูปโภคอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

นโยบายกระจายอำนาจเพื่อสาธารณสุขทั่วถึง

พรรคก้าวไกล

ยกระดับ รพ. สต. และศูนย์สาธารณสุขชุมชน Primary Care Unit (PCU)

  • การสร้างเสริมสุขภาพ
  • การติดตามโรคเรื้อรัง
  • การช่วยเหลือผู้ป่วยเร่งด่วน
  • การลดภาระในโรงพยาบาลใหญ่

เวียนแพทย์จากโรงพยาบาลอำเภอ มาปฏิบัติงานใน รพ.สต. ตามรอบที่กำหนดหรือติดตั้งระบบ Telemedicine ในกรณีที่แพทย์ไม่เพียงพอ

ปลดล็อกระบบการแพทย์ออนไลน์ Telemedicine พัฒนาระบบ Telemedicine สำหรับการพบแพทย์ ตามนัดหมายหรือในกรณีฉุกเฉิน แก้ประกาศแพทยสภา เรื่อง มาตรฐานการตรวจรักษา เพื่อให้สามารถทำ telemed โดยไม่ต้องตรวจร่างกายได้

ส่งต่อ-หาเตียงแบบไร้รอยต่อ ด้วยศูนย์รวมเตียง-ระบบเชื่อมข้อมูลสุขภาพ เชื่อมต่อข้อมูลด้านสาธารณสุขของแต่ละโรงพยาบาล ให้สามารถเรียกดูเวชระเบียนคนไข้ได้จากทุกที่เมื่อได้รับอนุญาตจากคนไข้ในฐานะเจ้าของข้อมูล เพื่อความสะดวกในการส่งต่อผู้ป่วย

ทำระบบรวมเตียงส่วนกลาง / Central Referral Centre โดยอาจเริ่มจากการนำเอาจำนวนเตียงว่าง 10-20% ของแต่ละโรงพยาบาลมาแชร์ข้อมูลกับส่วนกลางเพื่อให้รู้ว่าโรงพยาบาลไหนมีเตียงว่างบ้าง

พรรคภูมิใจไทย

เครื่องฉายรังสีรักษามะเร็ง ฟรี ทุกจังหวัด ศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ

ติดตั้งเครื่องฉายรังสีรักษามะเร็ง ให้โรงพยาบาลทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 เครื่อง เป็นอย่างน้อย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 22 จังหวัด ต้องมีให้ครบทุกจังหวัด ภายใน 4 ปี และต้องรักษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว มีโอกาสหายจากอาการป่วยได้มากที่สุด และ ครอบครัวไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายการเดินทาง และค่าที่พัก เมื่อต้องติดตามไปดูแลผู้ป่วยหากต้องไปรักษาในโรงพยาบาลที่ห่างไกลบ้าน

จัดตั้งศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ ภายใน 4 ปีเพื่อให้ผู้ป่วยโรคไตทุกคน เข้าถึงการรักษาได้เร็ว และ ทั่วถึง เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยและครอบครัว

พรรคเพื่อไทย

กรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลประจำเขตครบทั้ง 50 เขต

พรรคแรงงานสร้าง ชาติ

ตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม เริ่มต้นใน 4 ภาคซึ่งมีอุตสาหกรรมหนาแน่น ผู้ประกันต้นและญาติของผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้ทันที

พรรครวมพลัง

ยกระดับโรงพยาบาลตำบลให้ทำหน้าที่ส่งเสริมและป้องกันโรคเชิงรุกได้ทุกโรค จัดให้มีแพทย์และพยาบาลประจำโรงพยาบาลตำบลอย่างพอเพียง

พัฒนาขีดความมสามารถในการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลประจำอำเภอให้เทียบเท่าโรงพยาบาลประจำจังหวัด เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลศูนย์

พรรคครูไทยเพื่อประชาชน

เพิ่มมาตรการการให้บริการของโรงพยาบาลของรัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและจัดให้มีแพทย์และพยาบาลเพียงพอกับโรงพยาบาลทุกแห่งในต่างจังหวัด

ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนให้มีความเป็นธรรม ควบคุมการคิดค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนให้มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

นโยบายสวัสดิการรักษาพยาบาลถ้วนหน้า

พรรคก้าวไกล

ทบทวนสิทธิประโยชน์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพ และกองทุนประกันสังคม

ทบทวนบัญชียาหลักในระบบและสิทธิประโยชน์ในกองทุนสุขภาพให้เท่าทันกับวิทยาการทางแพทย์

ประกันสังคมถ้วนหน้า เจ็บป่วยได้เงินชดเชย-ค่าเดินทางหาหมอ

นำประชาชนวัยแรงงานทุกคนที่ยังไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม (แรงงานนอกระบบ) เข้ามาสู่ระบบประกันสังคมถ้วนหน้า ด้วยการสมทบวันละ 1 บาท โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากการเพิ่มงบประมาณจากการสมทบของภาครัฐ

หากจำเป็นต้องลาพบแพทย์: ได้รับค่าชดเชยรายได้ 200 บาทต่อวัน และได้ค่าเดินทางพบแพทย์ 100 บาทต่อวัน

หากลาคลอด: ได้รับเงินชดเชยรายได้ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 6 เดือน

หากจำเป็นต้องหยุดงาน (เช่น หยุดตามประกาศของรัฐบาล): ได้รับเงินชดเชยรายได้ 200 บาทต่อวัน ไม่เกิน 25 วันต่อปี

หากเสียชีวิต: ได้รับค่าฌาปนกิจสงเคราะห์ 10,000 บาท

ยกเว้นเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับประชาชนที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ โดยรัฐจะสมทบฝ่ายเดียว

พรรคเพื่อไทย

บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทั่วไทย

บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทั่วไทย นัดคิวออนไลน์ ไม่ต้องรอคิวนานๆ ตรวจเลือดคลินิกใกล้บ้าน เจอหมออีกวันได้เลย

พรรคประชาธิปัตย์

ตรวจสุขภาพ ฟรี รักษา ฟรี บัตรประชาชนใบเดียว

นโยบาย “ตรวจสุขภาพ ฟรี รักษา ฟรี บัตรประชาชนใบ เดียว” จึงเป็นการต่อยอด และพัฒนานโยบายเดิมที่ประสบความสําเร็จใน อดีตต่อไป ภายใต้หลักคิด การพัฒนาระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ เท่า เทียม ทั่วถึง และมุ่งขยายสิทธิการรักษาฟรีให้ครอบคลุมประชาชน โดยเฉพาะ กลุ่มเปราะปรางในสังคม

พรรคพลังประชารัฐ

หลักประกันสุขภาพที่คุ้มครองและครอบคลุมประชาชนทุกคน

พรรคไทยสร้างไทย

30 บาท พลัส สร้างสุขภาพให้แข็งแรงก่อนป่วย

พัฒนาต่อยอดคุณภาพโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ด้วยนโยบาย 30 บาท พลัส ให้มีคุณภาพการรักษาพยาบาลที่ดีผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ในรูปของแอปมือถือ (Mobile Application) โดยคนไข้สามารถเลือกโรงพยาบาลได้เอง นัดหมอและคุยกับหมอผ่านแอป ไม่ต้องเสียเวลาไปเข้าคิวที่โรงพยาบาล จ่ายยาส่งตรงถึงบ้านภายในเวลาอันรวดเร็ว และในกรณีฉุกเฉินจะมีรถพยาบาลเคลื่อนที่เร็วไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที เนื่องจากมีการบันทึกโลเคชันของผู้ป่วยที่มีโรคร้ายแรงไว้ในแอปก่อนหน้าแล้ว

พรรคพลังสังคมใหม่

บัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรีทุกโรคได้ทั่วไทยทุกๆ โรงพยาบาลของรัฐ

พรรคเสรีรวมไทย

บัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรีทั่วไทย

พรรคพลังธรรมใหม่

หมอประจำตัวทั่วไทย คนไทยทุกคนจะมีหมอประจำตัวภายใน 4 ปี ดูแลดุจญาติมิตรทางออนไลน์

พรรคแนวทางใหม่

บัตรทองพรีเมี่ยม รักษาฟรีตรวจสุขภาพฟรี ทุกโรงพยาบาล

พรรคพลังปวงชนไทย

เพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาล 30 % โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

พรรคไทยเป็นหนึ่ง

บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกโรงพยาบาลรัฐ

นโยบายดูแลใจ


พรรคก้าวไกล

ตรวจสุขภาพประจำปี ต้องมีตรวจสุขภาพจิตด้วย

กำหนดให้มีการตรวจสุขภาพจิตฟรี รวมเข้าไปในแพคเกจของการตรวจสุขภาพประจำปีตามสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชน

ดูแลสุขภาพจิตครบวงจร เพิ่มบุคลากร-ขยายบัญชียา-ใช้เทคโนโลยี

  • เพิ่มบุคลากรด้านสุขภาพจิต (เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา)
  • ทบทวนบัญชียาหลักในระบบให้เท่าทันกับวิทยาการทางแพทย์
  • พัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตรูปแบบใหม่ (เช่น การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) แพลตฟอร์มสุขภาพจิต)

คลินิกเยาวชน ปรึกษาได้ ไม่ต้องรายงานผู้ปกครอง-โรงเรียน

จัดตั้งคลินิกเยาวชน เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการดูแลปัญหาด้านสุขภาพจิตให้เยาวชนโดยไม่จำเป็นต้องรายงานกับผู้ปกครองหรือโรงเรียน (ที่บางครั้งเป็นสาเหตุของปัญหา) และทำหน้าที่คัดกรองเบื้องต้นก่อนส่งต่อ

สร้างสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตที่ดี

  • ลดปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่เกิดจนแก่ เช่น
  • การมีสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็งสำหรับเด็กเล็ก พ่อแม่มือใหม่ได้รับการเสริมทักษะและการเตรียม- – – ความพร้อมทางสภาพจิตใจสำหรับการเลี้ยงดูลูก
  • การออกแบบระบบการศึกษาที่ไม่สร้างแรงกดดันเกินเหตุสำหรับนักเรียน (เช่น จำนวนชั่วโมงเรียนที่เหมาะสม ไม่มีอำนาจนิยมในโรงเรียน)
  • สภาพแวดล้อมและรูปแบบความสัมพันธ์ในชีวิตการทำงานที่เหมาะสม (เช่น สภาพการทำงานที่ปลอดภัย การเงินที่มั่นคง เวลาพักผ่อนที่เพียงพอ)
  • การเพิ่มพื้นที่สาธารณะที่คนสามารถแลกเปลี่ยน รับฟัง หรือผ่อนคลาย (เช่น กิจกรรมดนตรีในสวน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การมีพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันสำหรับผู้สูงวัย)

การพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมที่ทั่วถึงและถ้วนหน้า เพื่อเป็นตาข่ายรองรับความไม่แน่นอนในชีวิตรูปแบบต่างๆ

การยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม และลดการเลือกปฏิบัติ ที่เสี่ยงจะเพิ่มความเครียดและความรู้สึกไม่เป็นธรรม

สร้างแนวหน้าสุขภาพจิต ช่วยดูแล-บำบัด-ฟื้นฟูสุขภาพจิตของคนใกล้ตัว

ยกระดับให้คนทุกคนในสังคมมาร่วมเป็น “แนวหน้าสุขภาพจิต” ที่มาช่วยสร้างเสริม ดูแล บำบัด และฟื้นฟูสุขภาพจิตของคนใกล้ตัวตามระดับความเชี่ยวชาญของตน ตั้งแต่

บุคลากรในครอบครัว (เช่น พ่อแม่ผู้ปกครองที่ดูแลลูก คู่สมรส ลูกหลานที่ช่วยดูแลผู้สูงอายุ)

บุคลากรในโรงเรียน (เช่น นักจิตวิทยาประจำกลุ่มโรงเรียนที่ให้คำปรึกษา คุณครูที่ได้รับการเพิ่มทักษะในการดูแลสุขภาพจิตของผู้เรียน เพื่อนนักเรียนที่ช่วยดูแลกันและกัน)

บุคลากรในสถานประกอบการ (เช่น เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน หรือ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล)

อบรมประชาชนทุกกลุ่มด้วยทักษะขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพจิต เช่น

ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต

การเสริมทักษะการรับฟัง การสร้างกำลังใจ และการให้คำปรึกษา

การพัฒนาและปรับปรุงเครื่องมือประเมินความเสี่ยงพื้นฐาน ที่ทุกคนเข้าถึงและนำไปใช้งานต่อได้ (เช่น แบบทดสอบ 9 ข้อ สำหรับคัดกรองอาการซึมเศร้า)

พรรคเพื่อไทย

Mental Health สุขภาพจิตคนไทยจะไม่ถูกละเลย มีการให้คำปรึกษาจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิก ทั้งที่โรงพยาบาลและผ่านระบบ Telemedicine

นโยบายคนไข้มั่นใจ เมื่อหมอไทยไม่ต้องเสี่ยง

พรรคก้าวไกล

ลดความแออัดในโรงพยาบาล – ห้องฉุกเฉิน (ER) กันไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน

การสงวนการตรวจในห้องฉุกเฉิน (ER) ไว้สำหรับอาการฉุกเฉิน ในกรณีผู้ป่วยอาการไม่ฉุกเฉินต้องรับบัตรคิว เพื่อมาตรวจในวันพรุ่งนี้

ลดชั่วโมงการทำงานบุคลากรทางการแพทย์

กำหนดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ไม่เกิน 60 ชั่วโมง/สัปดาห์

กำหนดให้ได้พัก 8 ชั่วโมง หลังจากทำงานมาแล้วติดกัน 24 ชั่วโมง

กำหนดให้ได้พัก หากทำงาน 24.00-08.00 น. (เวรดึก)

ควบคุมมาตรฐานที่พักบุคลากรทางการแพทย์ (ปลอดภัย อยู่ในรั้วโรงพยาบาล)

ลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวกับการแพทย์ (เช่น เอกสารที่ไม่จำเป็น)

เปิดข้อมูลการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อการจัดตารางการทำงานที่เหมาะสม และเพื่อการตรวจสอบ

ค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์เป็นธรรม

ปรับอัตราค่าตอบแทนสำหรับการทำงานในช่วงนอกเวลา

วางเกณฑ์ที่คำนึงถึงหลัก “ทำมากได้มาก” – ค่าตอบแทนแปรผันตามชิ้นงาน

พัฒนา อสม. เฉพาะทาง

พัฒนาระบบแนวหน้าสุขภาพ (ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพแบบเฉพาะงาน) โดยการจ้างงานแบบ part-time ให้ค่าตอบแทนตามชิ้นงาน (เช่น นักโภชนาการ นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด นักรังสีวิทยา นักพยาธิวิทยา) และแนวหน้าสุขภาพท้องถิ่น (หรือ Local Health Vanguard) ที่พัฒนาต่อยอดมาจาก อสม. ผ่านการฝึกอบรมและได้รับมาตรฐาน เพื่อช่วยภารกิจต่างๆ ของระบบสุขภาพในชุมชน

จัดระบบผลตอบแทนที่เป็นธรรมตามรายชิ้นงาน-ตามผลงาน (ไม่ใช่เงินเดือน แต่จูงใจ/มั่นคงพอที่จะดำเนินการ เป็นอาชีพได้)

เปลี่ยนอาสากู้ชีพเป็นอาชีพ มีทุนพัฒนาทักษะ-สวัสดิการ

เพิ่มศักยภาพของระบบอาสากู้ชีพให้ได้รับประกาศนียบัตรเฉพาะด้าน

ตั้งเป้าให้มี Paramedic หรือนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์

ระดับปริญญาตรี อย่างน้อยทุกตำบล

ระดับประกาศนียบัตร อย่างน้อย 1 คน ในทุกทีมอาสากู้ชีพ

ภาครัฐอุดหนุนเงินให้กับมูลนิธิเพื่อเป็นทุนการศึกษาด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้กับอาสาสมัคร

เพิ่มงบประมาณ/ข้อกำหนดของท้องถิ่นในการจ้างนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ในรูปแบบต่างๆ ที่ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและมั่นคง (เช่น จ้างเป็นบุคลากรประจำ จ้างเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในพื้นที่) โดยมีข้อตกลงการปฏิบัติงานชัดเจน

พรรคเพื่อไทย

รักษาและจ่ายยาออนไลน์ ลดภาระของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์

พรรคพลังประชารัฐ

บ้านพักและสวัสดิการรักษาพยาบาล

พรรคเพื่อไทรวมพลัง

ยกระดับ อสม. ให้เป็นผู้ช่วยแพทย์แผนไทยประจำหมู่บ้าน

พรรคครูไทยเพื่อประชาชน

ปรับโครงสร้างการให้การบริการของด้านบริการต่าง ๆ ของสารธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การรักษาโรคต่าง ๆ โดยผ่านข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ การเก็บสำรองยาชนิดต่าง ๆ ไว้ที่ศูนย์ของจังหวัดเป็นต้น

อนามัยตำบล อำเภอ และโรงพยาบาลทุกจังหวัดให้มีการบริการที่ดีและทั่วถึงเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง

นโยบายสุขภาพผู้ป่วยหนัก ผู้สูงวัย ผู้พิการทุพพลภาพและผู้ป่วยติดเตียง

พรรคก้าวไกล

กองทุนดูแลผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยติดเตียง งบประมาณเฉลี่ย 9,000 บาท/คน/เดือน

พัฒนาให้ระบบสุขภาพสุขภาพปฐมภูมิดูแลเรื่องการฟื้นฟูที่บ้าน/ชุมชนได้ ผ่านการดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

พัฒนาระบบกองทุนดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว งบประมาณ 9,000 บาท/คน/เดือน (นโยบายสวัสดิการ) ผ่านการดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ธนาคารอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน

จัดตั้งธนาคารอุปกรณ์ให้ยืมอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (เช่น เครื่องปั๊มออกซิเจน เครื่องให้ยาชั่วคราว) โดยให้เทศบาลหรืออบต. เป็นผู้บริหารจัดการธนาคารอุปกรณ์ โดยเป็นผู้จัดซื้ออุปกรณ์ให้ประชาชนยืม หรือรับบริจาคจากประชาชนหรือภาคเอกชนที่ประสงค์จะสนับสนุนอุปกรณ์

เจ็บ-ป่วยติดเตียง มีระบบดูแล

สร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผ่านการสมทบเงินจากเงินผู้สูงวัยเข้าสู่กองทุนดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเป็นงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงภายในท้องถิ่น รวมถึงการจ้างงานผู้ดูแล

จัดสรรงบประมาณโดยเฉลี่ยในการดูแลผู้สูงอายุหรือคนพิการที่ติดบ้าน-ติดเตียง ที่ประมาณ 9,000 บาท/คน/เดือน ซึ่งประกอบด้วย งบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ (ประมาณ 1,500 บาท/คน/เดือน) และการจ้างผู้ดูแลผู้สูงอายุมืออาชีพ (ประมาณ 7,500 บาท/คน/เดือน) โดยมีอัตราผู้ดูแลโดยเฉลี่ย 1 คน ต่อ ผู้ป่วย 2 คน

ลาไปบอกลา – เพิ่มสิทธิวันลาดูแลพ่อ-แม่ที่ป่วยระยะสุดท้าย

เพิ่มสวัสดิการวันลาสำหรับแรงงาน เพื่อดูแลพ่อแม่ที่ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยการเพิ่มไปในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

ตายดี – สิทธิยุติชีวิตตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี สำหรับคนที่ป่วยจากโรคทางกายที่รักษาไม่ได้

อนุญาตให้บุคคลที่ป่วยจากโรคทางกายที่รักษาไม่ได้ มีสิทธิเข้าสู่กระบวนการยุติชีวิตตนเองอย่างมีศักดิ์ศรีโดยความช่วยเหลือจากแพทย์ โดยผู้ทำต้องมีสติและได้รับการรับรองโดยจิตแพทย์ว่าไม่มีอาการป่วยทางสุขภาพจิต

ศูนย์ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในชุมชน อย่างน้อยอำเภอละหนึ่งแห่ง

พัฒนาศูนย์ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในชุมชน อย่างน้อยอำเภอละหนึ่งแห่ง

พัฒนาหลักสูตรการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ทั้งสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับผู้ดูแลมืออาชีพ สำหรับอาสาสมัครในชุมชน และสำหรับครอบครัวของผู้ป่วย

ยกระดับสถานบริการสาธารณสุขแบบปฐมภูมิ พัฒนา อสม. ให้ทำหน้าที่บางอย่าง (เช่น ดูแลผู้ป่วย NCD ได้) โดยมีค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น

เปิดให้ประชาชนวางแผนล่วงหน้า (Advanced Care Plan) เพื่อยินยอมเข้ารับการรักษาแบบประคับประคอง

พรรคเพื่อไทย

ส่งเสริมให้มีสถานชีวาภิบาล ไร้กังวลสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ร่วมมือทั้งภาครัฐ และ เอกชน สนับสนุนงบประมาณโดย สปสช.

พรรครวมไทยสร้างชาติ

1 อำเภอ (เขต) 1 โรงพยาบาลวิสาหกิจเพื่อสังคม 1 ศูนย์ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยโรคร้ายแรงระยะสุดท้าย

พรรคแรงงานสร้างชาติ

ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้ทุพลภาพ ได้ 2,000 บาทต่เดือน

นโยบายสุขภาพสตรี

พรรคก้าวไกล

ยุติการตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ รับยาฟรี ทุก รพ.สต.

คุ้มครองสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ สำหรับบุคคลที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ให้สามารถรับยายุติการตั้งครรภ์ได้ที่ รพ.สต. ทุกแห่งทั่วประเทศ

โดยขั้นตอนของการขอรับยาคือ ให้ผู้หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และต้องการยุติการตั้งครรภ์ สามารถเข้ามาพบแพทย์ที่ รพ.สต. ใกล้บ้าน (ทั้งในรูปแบบ Telemedicine และพบแพทย์โดยตรง) เพื่อทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อจ่ายยายุติการตั้งครรภ์ต่อไป

มีการให้คำปรึกษาหลังจากการยุติการตั้งครรภ์ฟรี เพื่อตรวจสอบและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้หญิงที่เข้ารับการยุติการตั้งครรภ์

ผ้าอนามัยไม่เก็บ VAT แจกฟรีในโรงเรียน

ยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในสินค้าหมวดหมู่ผ้าอนามัยและของใช้สิ้นเปลืองสำหรับวัยเจริญพันธุ์

แจกผ้าอนามัยฟรีในสถานศึกษาและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัยและความจนประจำเดือน (Period Poverty) โดยเฉพาะสำหรับผู้มีประจำเดือนในวัย 10-25 ปี

สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้

ขยายสิทธิลาคลอดจากปัจจุบัน (98 วัน) เพิ่มเป็น 180 วัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลขององค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่กำหนดให้บุตรควรได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด

แรงงานในระบบประกันสังคมที่มีผู้ว่าจ้าง จะได้รับค่าตอบแทนทั้ง 180 วัน โดยจะเป็นการร่วมกันรับผิดชอบระหว่างผู้ว่าจ้างและกองทุนประกันสังคม

แรงงานที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และถูกนำเข้ามาเป็นแรงงานที่ไม่มีผู้ว่าจ้างในระบบประกันสังคมถ้วนหน้า จะได้รับเงินสนับสนุนในการลาคลอด 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 6 เดือน

พ่อแม่สามารถแบ่งวันลาได้ตามความสะดวก หรือใช้ร่วมกัน เช่น แม่ลา 5 เดือน พ่อใช้อีก 1 เดือน เพื่อช่วยแบ่งเบาการทำหน้าที่และร่วมกันดูแลลูกในช่วง 1 เดือนแรก

ศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อน-เด็กก่อนวัยเรียนใกล้บ้าน ห้องปั๊มนมในที่ทำงาน

เพิ่มงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อส่งเสริมการดูแลเด็กช่วงปฐมวัยตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น

เด็กอ่อนอายุ 0-2 ปี ที่ปัจจุบันขาดการดูแลจากรัฐ อปท. จัดการงบประมาณได้ตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อนเอง พัฒนาศูนย์เด็กเล็กเดิมให้ดูแลเด็กอ่อนเพิ่มได้

เด็กก่อนวัยเรียน 2-6 ปี อปท. สามารถนำงบไปพัฒนาศูนย์ที่มีอยู่แล้วได้ตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น เพิ่มจำนวนผู้ดูแลเด็กให้มากเพียงพอ ปรับปรุงศูนย์ให้มีมาตรฐาน (เช่น ห้องน้ำที่มีสุขอนามัย เก้าอี้ โต๊ะ เครื่องใช้ที่มีขนาดเหมาะสมกับเด็ก ปรับปรุงห้องเรียนที่ปูพื้นยาง เครื่องเล่นหุ้มนวมลบเหลี่ยมเสาที่ป้องกันอุบัติเหตุ)

หากในท้องถิ่นนั้นมีศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อน-เด็กเล็กเอกชนที่มีคุณภาพอยู่แล้ว หรือการลงทุนเพิ่มในศูนย์เดิมยังไม่ตอบโจทย์คนในพื้นที่ อปท.มีอิสระที่จะเลือกอุดหนุนงบประมาณให้สถานเลี้ยงเด็กเอกชน หรือนำไปเป็นเงินรายหัวเพิ่มเติมให้ครอบครัวเด็กได้

ใช้กลไกของ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน กำหนดให้อาคารสำนักงานและสถานประกอบการขนาดใหญ่จำเป็นต้องจัดให้มีสถานที่เลี้ยงดูเด็กเล็กและสิ่งที่เกี่ยวข้อง (เช่น ห้องปั๊มนม) ในหรือใกล้อาคารสำนักงานหรือสถานประกอบการ เพื่อความสะดวกต่อการดูแลบุตรของพ่อแม่

พรรคเพื่อไทย

ระดมฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรีให้เด็กหญิงอายุตั้งแต่ 9-11 ปีทุกคน และผู้หญิงที่ยังไม่เคยรับเชื้อ HPV ลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกมากกว่าครึ่งป้องกันมะเร็งท่อน้ำดี-มะเร็งตับ ตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ในตับและไวรัสตับอักเสบซี รับยา รักษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

การฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดฟรีสำหรับผู้หญิงทุกคน

พรรคเพื่อไทยได้เห็นถึงความสำคัญของสุภาวะในเพศหญิงและมีแนวทางลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากกามดลูก ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันให้กับผู้หญิงทุกคนที่ยังไม่ติดเชื้อ HPV ให้แก่ผู้หญิงทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

พรรคแรงงานสร้างชาติ

จัดสวัสดิการสุขภาพหญิงแจกผ้าอนามัยฟรี

พรรคสามัญชน

ท้องคุณภาพ

ฝากครรภ์เบิกได้ทุกสิทธิ ฟรีทุกสิทธิ ดดยไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน เนื่องจากปัจจุบันการฝากครรภ์ แม้ว่าจะไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับสิทธิ UC (30 บาท) แต่สำหรับสิทธิอื่นๆต้องมีการสำรองจ่ายก่อน ทำให้หลายครั้งผู้ตั้งครรภ์ก็พลาดโอกาสในการคัดกรองโรคและบำรุงครรภ์

คลอดคุณภาพ ฟรีทุกสิทธิการรักษา

แท้งปลอดภัย ฟรี มีคุณภาพ

  • เพิ่มสถานที่ให้บริการ 1 แห่งต่อ 1 จังหวัด
  • ปรับปรุงระบบเบิกจ่ายสปสช.เพื่อให้สถานบริการเบิกได้โดยง่าย
  • เบิกได้ทุกสิทธิไม่ว่าจะ 30 บาท ประกันสังคม ข้าราชการ กรมบัญชีกลาง ฯลฯ

วัคซีนฟรีถ้วนหน้า สวัสดิการผ้าอนามัย

  • เพิ่มวัคซีน hpv ในชุดสิทธิประโยชน์ของทุกสิธิการรักษา
  • อุดหนุนค่าผ้าอนามัยโดยงดเว้นภาษี และเพิ่มจุดแจกผ้าอนามัยคุณภาพ

รวมข้อเสนอภาคประชาชน

กระจายอำนาจสู่สาธารณสุขยั่งยืน

ข้อเสนอภาคประชาชน ณ เวทีรายการฟังเสียงประเทศไทย ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่

ระบบสาธารณสุขเหลื่อมล้ำกระจุกตัวเมืองหลัก

การให้บริการสาธารณสุขในภาคเหนือมีความครอบคลุมมากขึ้น แต่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำ ระหว่างพื้นที่ โดยสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรกระจุกตัวในจังหวัดที่เป็นเมืองศูนย์กลางและเมืองหลัก

มีจำนวนโรงพยาบาล 195 แห่ง และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 2,227 แห่ง และมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรของภาคเหนือมี แนวโน้มดีขึ้น โดยในปี 2562 มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 1 ต่อ1,843 คน ซึ่ง WHO กำหนดอัตราที่เหมาะสมไว้ คือแพทย์ 1 ต่อ 1000 คน

ภาพประกอบจากเพจ The North องศาสเหนือ

นอกจากนี้ข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ได้เก็บรวบรวมข้อมูลสาธารณสุขของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ในปัจจุบันมีกว่า 60 กลุ่ม รวมเป็นประชากรกว่า 6.1 ล้านคน กำลังเผชิญปัญหา ความเสี่ยงด้านสุขภาวะจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ (1) สถานะทางกฎหมาย (2) การไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมและอคติทางชาติพันธุ์ (3) การขาดสิทธิในทรัพยากรและความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ

สรุปประเด็นสำคัญ

  1. กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนหนึ่งไม่มีสถานะทางทะเบียน ทำให้เป็นกลุ่มเปราะบางที่ถูกกีดกันทางสังคม ไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพนอกจากนี้ ในบางกรณียังถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เสมอภาคในการ เข้าถึงบริการสาธารณสุขพื้นฐาน ส่งผลต่อการมีสุขภาวะที่ดี
  2. วิถีการดำรงชีวิตมีความแตกต่างจากสังคมเมืองกลุ่มชาติพันธุ์มีวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็น เอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม ขณะเดียวกันข้อจำกัดทางด้านภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ เป็นอุปสรรคต่อการรับข้อมูลข่าวสารทางด้านสุขภาวะ การสื่อสารเพื่อเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพ ตลอดจนการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนอื่นๆ
  3. การตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ห่างไกล บางส่วนอาศัยในพื้นที่อนุรักษ์ เกาะแก่ง หรือพื้นที่บริเวณชายแดน และมีการอพยพย้ายถิ่นฐาน จึงเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และการเข้าถึง สิทธิและสวัสดิการของรัฐ

สุขภาพใจ

ข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายได้เก็บรวบรวมข้อมูลสุขภาพจิตในชุมชนไว้ดังนี้

  1. การประเมินสุขภาพจิตคนไทยพบว่า มีสัดส่วนผู้มีภาวะเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตาย ในกลุ่มประชากรทั่วไปร้อยละ 14.5 16.8 และ 9.5 ตามลำดับ (Mental Health Check-in, 2565) มีสัดส่วนสูงมากในกลุ่มเด็กและเยาวชนโดยความกังวลใจส่วนใหญ่เป็นเรื่องเชื่อมโยงกับครอบครัว การเรียนและอนาคตของตนเอง ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ส่วนอัตราการฆ่าตัวตาย ในปี พ.ศ.2562-2565 มีแนวโน้มสูงขึ้นจาก 6.64 ต่อแสนประชากร ในปี พ.ศ.2562 เป็น 7.37, 7.38, 7.67 ต่อแสนประชากร ในปี พ.ศ.2563, พ.ศ.2564 และ พ.ศ.2565 (5,004 คน) ตามลำดับ
  2. ปัจจุบันไทยมีบุคลากรด้านสุขภาพจิต รวม 5,946 คน (คิดเป็น 8.99 ต่อแสนประชากร ต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยทั่วโลก) และแต่ละปีจะผลิตบุคลากรด้านสุขภาพจิตได้ 488 คนต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อการ บริการประชาชน
  3. ขณะที่ข้อมูลสัดส่วนความต้องการด้านการดูแลสุขภาพจิต ประชาชนร้อยละ 74 ต้องการความรู้ใน การสร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน, ร้อยละ 20 ต้องการการสนับสนุนและรับ คำปรึกษา และร้อยละ 6 ต้องการรับบริการจากผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทยN

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

  1. มีบุคลากรนักจิตวิทยา ประจำในหน่วยบริการปฐมภูมิ สามารถให้บริการสุขภาพจิต บริการ เสริมสร้างความรอบรู้และให้บริการปรึกษาด้านสุขภาพจิต ส่งต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิต เวช บริการรับยาจิตเวชต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับอสม.และผู้นำชุมชน
  2. ประชาชนในชุมชนได้รับการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตด้วยเครื่องมือคัดกรองด้านต่างๆ ที่เหมาะสม กับช่วงวัย
  3. ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต การส่งต่อเพื่อรักษา และ ฟื้นฟู ได้อย่างทั่วถึงในระดับชุมชน
  4. ป้องกันเหตุรุนแรงในชุมชน อันเกิดจากปัญหาสุขภาพจิต เครียด ซึมเศร้า ติดสารเสพติด/สุรา รวมถึงผู้ป่วยจิตเวชก่อความรุนแรง
  5. สร้างอาชีพให้บุคลากรด้านจิตวิทยา และเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านอาชีพให้ อสม.

ทั้งนี้ข้อเสนอนโยบายเป็นข้อมูลที่ปรากฎเป็นรูปธรรมและ Open Data ส่วนถ้าหากใครมีข้อเสนอและทางออกของแต่ละปัญหาเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ก็สามารถเข้าไปเติมต่อได้ที่ เว็บไซต์ your priorities

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ