ครม.ได้เห็นชอบอนุมัติแผน 5 ปี (2566-2570) แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ ในพื้นที่ 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ใช้งบ 7,718 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะอุดหนุนการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ไม่เกินครัวเรือนละ 160,000 บาท และสินเชื่อไม่เกิน 250,000/ครัวเรือน ด้าน พอช.เดินหน้านำร่อง 939 ครอบครัว ใน 6 จังหวัด เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด สร้างระบบการทำงานและจัดการร่วมระหว่างชุมชน ท้องถิ่น ภาคี มีกลไกร่วมกันในระดับท้องถิ่น และการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน
ขอนแก่น/ ล่าสุด(วันที่ 9-10 พฤษภาคม 2566) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดสัมมนาเครือข่ายชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ เพื่อหนุนเสริมการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมทางรถไฟภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำโดย นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการ พอช. เจตนา วุฒิญาณ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการกรรมสิทธิ์ที่ดิน1 (การรถไฟแห่งประเทศไทย) หน่วยงานภารรัฐที่เกี่ยวข้อง มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัม 4 ภาค กป.อพช.ภาคอีสาน เครือข่ายคนไร้บ้านขอนแก่น เครือข่ายริมรางภาคอิสาน เครือข่ายบ้านมั่นคงภาคอีสาน เข้าร่วม จำนวน 120 คน ณ หอประชุมยอดขวัญเมืองศิลา เทศบาลเมืองศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น
นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า จากที่ ครม.มีมติเห็นชอบแผนงานการแก้ไขปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อยในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย พอช.ได้จัดทีมเดินหน้าในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวชุมชนริมทางรถไฟ ดำเนินการนำร่องใน 6 พื้นที่เร่งด่วน ได้แก่ 1.ชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวีที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จำนวน 306 ครอบครัว 2.ชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดฉะเชิงเทรา 43 ครอบครัว 3.ชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดพิษณุโลก 30 ครอบครัว 4.ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง จ.นครราชสีมา 166 ครอบครัว 5.ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง จ.ขอนแก่น 169 ครอบครัว และชุมชนริมทางรถใน จ.ตรัง 225 ครอบครัว รวมทั้งหมด 939 ครอบครัว โดย พอช.จะสนับสนุนตามกระบวนการโครงการบ้านมั่นคง ให้ชาวชุมชนที่เดือดร้อนรวมกลุ่มกันจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาของตนเอง จัดตั้งเป็นสหกรณ์เพื่อบริหารจัดการโครงการ เช่าที่ดินจาก รฟท. หรือจัดหาที่ดินแปลงใหม่ ส่วนพอช.ก็จะสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชุมชน
นายเจตนา วุฒิญาณ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการกรรมสิทธิ์ที่ดิน1 (การรถไฟแห่งประเทศไทย) กล่าวว่า โครงการรถไฟระบบทางคู่เส้นทางในพื้นที่ภาคตะวันอกเฉียงเหนือ ซึ่งผ่าน จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย เชื่อมต่อประเทศ ลาว จีน เวียดนาม รองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต บางส่วนได้สร้างเสร็จแล้ว บางส่วนกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง ในส่วนรถไฟความเร็วสูง ที่มีความเร่งด่วนคือเส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งดำเนินการก่อสร้างแล้ว ได้แก่ เส้นนครราชสีมา-หนองคาย ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี พี่น้องชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินการรถไฟฯ ถ้าสมัครใจเข้าร่วมและดำเนินการตามโครงการบ้านมั่นคง จะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล รูปแบบที่อยู่อาศัยมีความมั่นคง มีการจัดรูปจัดแปลงวางผังให้เป็นระเบียบ การรถไฟฯ ก็จัดหาที่ดินให้ รัฐบาลก็ให้การสนับสนุนผ่าน พอช. แต่พื้นที่รองรับชุมชน ควรเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย มีระยะการร่นตามกฎหมาย ซึ่งตามแนวทางบ้านมั่นคงที่ พอช. เสนอ รัฐบาลมองว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมควรจะเป็นในการดูแลผู้ได้รับผลกกระทบ และการรถไฟฯ ให้เช่าที่ดินระยะยาว 30 ปี
ส่วนการระดมแนวทางร่วมของชุมชนริมทางรถไฟ ในการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟรถไฟความเร็วสูง มีดังต่อไปนี้ กำหนดจังหวะก้าวร่วม : ติดตามมติ ครม. ให้รับรองชุมชนทั้งหมดตามที่เสนอ รวมถึงชุมชนที่ตกหล่น สมาชิกที่เพิ่ม/ลดลงหรือไม่ กรณีชุมชนที่จะพัฒนาใหม่ แต่อยู่ในสัญญาเช่าที่ดินเดิม (61 ชุมชน ตามมติบอร์ดรถไฟ ปี 2543) แล้วค้างชำระค่าเช่า หรือยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินไปแล้ว จะดำเนินการอย่างไร กรณีชุมชนที่จะย้ายไปที่ดินใหม่ (ซื้อที่ใหม่ หรือย้ายไปที่ดินรองรับของการรถไฟฯ) จะดำเนินการกับบ้านเดิมอย่างไร จะมีทางเลือกอย่างไรบ้าง แนวทางที่ต้องทำความเข้าใจกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบให้ชัดเจน เพื่อให้ชุมชนได้ตัดสินใจ (1)สถานการณ์ผลกระทบ (2) การปรับสภาพบ้านให้ดีขึ้น (3)ที่อยู่อาศัยไม่เกิน 50 ตารางเมตร (4) ตั้งสหกรณ์เพื่อของเช่าที่ดิน รฟท. การดำเนินงานภายใต้แผนงานโครงการรถไฟฯครั้งนี้ จะดำเนินการกับชุมชนที่อยู่ในที่ดินรถไฟและได้รับผลกระทบเท่านั้น ส่วนชุมชนอื่นๆที่ได้รับผลกระทบให้เสนอขอโครงการบ้านมั่นคงปกติ (เช่น ชุมชนท่ามะนาว) การพิจารณาสิทธิ์กลุ่มเป้าหมาย/ชุมชน ต้องเป็นผู้ที่อยู่อาศัยจริงในพื้นที่ (จัดทำข้อมูล จำนวนครัวเรือน/รายชื่อรายหลังให้ชัดเจน) กรณี บ้านเช่า ถือว่าเป็นกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์ รายชื่อชุมชนต้องตรงกับที่ครม.มีมติเห็นชอบกระบวนการชี้จุดพื้นที่ : ยื่นเช่าที่ดิน : สัญญาเช่าที่ดิน แต่ในส่วนกรณี ชุมชนที่จะย้ายไปหาที่ดินรองรับใหม่ที่ไม่ใช่ที่ดิน รฟท. สามารถดำเนินการได้เลย กำหนดเงื่อนไขการเช่าที่ดินการรถไฟฯ ที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยไม่เกิน 50 ตารางเมตรต่อหลัง ศึกษา ระเบียบ กฎหมาย เอกสารต่าง ๆ ที่สำคัญ เพื่อเจรจาต่อรองกับการรถไฟฯได้ และให้ข้อมูลกับชุมชนประกอบการตัดสินใจได้ชัดเจน
สำหรับแนวทางเพื่อพัฒนาชุมชนในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ของ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) คือ สนับสนุนแนวทางการเช่าที่ดินและการบริหารสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยโครงการบ้านมั่นคง ส่งเสริมให้องค์กรชุมชนเข้มแข็ง มีการจัดตั้งเป็นนิติบุคคลที่เหมาะสม ให้การเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยการเช่าช่วงจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนให้กับองค์กรชุมชนเป็นนิติบุคคลที่เหมาะสมเท่านั้น ให้องค์กรชุมชนที่เป็นนิติบุคคลสามารถขอเช่าที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยตรง ในระยะต่อไป แนวทางปฏิบัติในการบริหารสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และองค์กรชุมชน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สถาบันฯกำหนดแนวทางการดำเนินงานการเช่าที่ดินและการบริหารสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยโครงการบ้านมั่นคง ดังต่อไปนี้เพื่อส่งเสริมให้องค์กรชุมชนเข้มแข็ง มีการจัดตั้งเป็นนิติบุคคลที่เหมาะสม จะทำสัญญาเช่าช่วงที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยกับองค์กรชุมชนที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้น พร้อมทำความเข้าใจกับองค์กรชุมชนที่อาศัยในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยที่มีสัญญาเช่าเดิม และชุมชนได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาระบบราง ในการเตรียมความพร้อมให้เกิดการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อเช่าที่ดินโดยตรงจากการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือเช่าช่วงที่ดินจากสถาบัน ภายในระยะเวลา ๒ ปีหลังจากที่ออกประกาศ อีกทั้งจะประสานแนวทางการปฏิบัติการเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศโดยให้องค์กรชุมชนสามารถเช่าตรงกับการรถไฟแห่งประเทศไทยในนามนิติบุคคล สนับสนุนเป็นกลไกกลางประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชน ในการเตรียมความพร้อมและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาของชุมชน ให้ความรู้การบริหารสัญญาเช่าระหว่างองค์กรชุมชนกับสมาชิก