ปากท้อง ค่าแรง หนี้สิน เศรษฐกิจไทยไปไงต่อ : อ่านนโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมือง vs ประชาชน

ปากท้อง ค่าแรง หนี้สิน เศรษฐกิจไทยไปไงต่อ : อ่านนโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมือง vs ประชาชน

เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาตั้งแต่ก่อนหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จากเดิมเคยหวังว่าภาคอุตสาหกรรมจะเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้ากลับเติบโตช้ากว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ สัดส่วน GDP ลดลงเหลือร้อยละ 36-37 ขณะที่ภาคท่องเที่ยวกลายเป็นหลักพึ่งพิงเศรษฐกิจใหญ่ของไทยแต่ยังมีประเด็นเปราะบางที่ต้องหาทางออก เช่น การพึ่งพิงแรงงานเพื่อนบ้าน

สถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยจะเดินต่อไปอย่างไรหลังเลือกตั้ง 66 ที่กำลังจะถึง ลองอ่านนโยบายด้านเศรษฐกิจจากพรรคการเมืองและภาคประชาชนกันที่รวบรวมมาจากเว็บไซต์ yourpriorities.yrpri.org

นโยบาย ค่าแรงเพื่อชีวิต

พรรคการเมือง

พรรคเพื่อไทย

  • ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งนโยบายนี้ “ไม่ได้ใช้แรงงานเป็นตัวประกัน” แต่เราจะทำให้ เศรษฐกิจโตขึ้น และแบ่งผลกำไรเหล่านี้กลับไปให้ภาคแรงงาน โดยการตกลงร่วมกันของไตรภาคี (นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ) ตามหลัก “ทุนนิยมที่มีหัวใจ” . หลักการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะพิจารณาจาก การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP)ผลิตภาพแรงงาน (Productivity) อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) . เงินเดือนคนจบปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี พ.ศ. 2570 รวมทั้งข้าราชการด้วย

พรรคก้าวไกล

  • ปรับระบบค่าแรงขั้นต่ำให้มีการปรับขึ้นทุกปีตามค่าครองชีพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อให้แรงงานได้ร่วมแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมจากการเติบโตของเศรษฐกิจ และเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนธุรกิจของตัวเองในแต่ละปีได้อย่างแม่นยำมากขึ้น 

    เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้เริ่มต้นที่วันละ 450 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่สมัยที่ค่าแรง 300 บาทต่อวัน ถูกประกาศใช้เมื่อปี 2554 

    แบ่งเบาภาระค่าแรงที่สูงขึ้นสำหรับ SME ในช่วง 6 เดือนแรก โดยการที่รัฐช่วยสมทบค่าประกันสังคมในส่วนของผู้ว่าจ้าง สำหรับแรงงานที่ถูกกระทบโดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ภาคประชาชน

  • ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ออกรายงานเรื่อง “ข้อสังเกตและข้อห่วงใยต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566” โดยวิเคราะห์ในภาพรวมว่า แม้จะมีหลายนโยบายที่มีประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ประชาชนประสบอยู่ แต่ก็ยังมีนโยบายจำนวนน้อยมากที่ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศอย่างแท้จริงในระยะยาว ทั้งในด้านการช่วยทำให้แรงงานมีทักษะที่สูงขึ้น ภาคธุรกิจตลอดจนภาคเกษตรมีผลิตภาพที่สูงขึ้นและภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีนโยบายจำนวนหนึ่งที่น่าจะสร้างปัญหาให้แก่ประเทศในระยะยาว เนื่องจากใช้งบประมาณมากเกินกว่าที่ฐานะทางการคลังของประเทศจะรองรับได้ มีแนวโน้มว่าจะใช้เงินนอกงบประมาณ หรืออาจสร้างบรรทัดฐานหรือวัฒนธรรมซึ่งทำลายวินัยของประชาชนในการชำระเงินกู้ 
  • นโยบายด้านแรงงานของพรรคการเมืองส่วนใหญ่เน้นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งแข่งขันกันว่าพรรคใดจะเสนอค่าจ้างขั้นต่ำได้สูงกว่ากัน และการสร้างงานใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ยังไม่มีนโยบายชัดเจนที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาสำคัญของตลาดแรงงานไทยคือการเพิ่มผลิตภาพแรงงานซึ่งหมายถึงความสามารถของคนงานในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ แม้แต่พรรคการเมืองที่เสนอเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่ได้เสนอหลักคิดที่เชื่อมโยงค่าจ้างขั้นต่ำเข้ากับผลิตภาพแรงงาน นอกจากนี้พรรคการเมืองต่าง ๆ ยังไม่ได้เสนอนโยบายแรงงานต่างด้าวว่าควรมีจำนวนเท่าใดและควรใช้แรงงานต่างด้าวอย่างไร ทั้งที่การมีแรงงานต่างด้าวที่มีค่าแรงต่ำจำนวนมากมีผลทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ไม่มีแรงจูงใจในการปรับตัวเพิ่มผลิตภาพ 

    ผลิตภาพแรงงานมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้คนทำงานได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การเพิ่มผลิตภาพแรงงานสามารถเกิดขึ้นได้จากการที่นายจ้างปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น นำเครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้มากขึ้น ตลอดจนลดความสูญเสียต่างๆ ในการประกอบการ ผลิตภาพแรงงานยังเกิดขึ้นได้จากการที่แรงงานมีทักษะที่สูงขึ้นโดยการได้รับฝึกอบรมที่มีคุณภาพ 

    เรามีข้อเสนอแนะด้านนโยบายแรงงานต่อพรรคการเมืองดังนี้ หนึ่ง ควรกำหนดระดับค่าจ้างขั้นต่ำเป้าหมายที่เหมาะสมที่ทำให้แรงงานมีรายได้สูงขึ้น ในขณะที่นายจ้างยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ พร้อมกับกำหนดระยะเวลาในการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวเช่น 4 ปี โดยมีสูตรการคำนวณในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในแต่ละปีที่ชัดเจนตามผลรวมของ 1. อัตราการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงาน 2. อัตราเงินเฟ้อ และ 3. อัตราการปรับเพิ่มเฉลี่ยในแต่ละปีเพื่อให้ค่าจ้างขั้นต่ำเข้าสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้การพิจารณาองค์ประกอบทั้งหลายควรคำนึงถึงความแตกต่างในแต่ละพื้นที่และอุตสาหกรรมด้วย  

    การใช้สูตรดังกล่าว โดยกำหนดระดับค่าจ้างขั้นต่ำเป้าหมายและระยะเวลาในการปรับไปสู่เป้าหมายดังกล่าวที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับของฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถวางแผนชีวิตและวางแผนธุรกิจของตนได้ โดยลูกจ้างได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่นายจ้างก็ไม่ต้องเป็นห่วงว่าค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 

    สอง พรรคการเมืองควรมีนโยบายสนับสนุนให้ SMEs เพิ่มผลิตภาพด้วยการลดความสูญเสียในการประกอบการ (ดูนโยบายด้าน SMEs ในส่วนที่ 4 ประกอบ) และใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานทักษะต่ำ ตลอดจนมีนโยบายในการฝึกทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยอาจให้คนงานได้รับ “คูปองฝึกทักษะ” (Training Coupon) เพื่อสามารถไปรับการฝึกทักษะที่ต้องการได้จากผู้ให้บริการฝึกอบรมที่มีคุณภาพ  

    สาม พรรคการเมืองควรเสนอนโยบายลดจำนวนแรงงานต่างด้าวลงในระยะยาว โดยควรเหลือเฉพาะแรงงานสำหรับงานที่คนไทยไม่ต้องการทำและไม่สามารถทดแทนด้วยเครื่องจักร โดยควรประกาศแผนให้ชัดเจนว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะลดจำนวนคนงานต่างด้าวเหลือเท่าใด ในอุตสาหกรรมใด และออกมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้อง ทั้งการขึ้นทะเบียน การต่อใบอนุญาตและการให้สิทธิประโยชน์ของแรงงาน เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างทราบถึงแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน 
  • เพิ่มเพดานค่าแรงขั้นต่ำ มีเกณฑ์ในการจัดตั้งบริษัให้เหมาะสมกับการจ่ายเงินเดือนพนักงาน 25,000
  • ในปัจจุบันประเทศไทยเรามีค่าแรงขั้นต่ำที่ต่ำตามชื่อจริงๆโดยที่ทุกอย่างรอบด้านมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นทั้งค่าครองชีพ สวัสดิการ การเดินทางโดยสาร เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น นโยบายเราของเราจะทำการขึ้นค่าแรงเป็น2เท่าจากค่าครองชีพอาทิ ค่าครองชีพขึ้นมา1,000 ค่าแรงก็จะขึ้นมาเพิ่มเป็น20,000 เป็นต้น
  • 1.แรงงานรายชั่วโมงที่ได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด โดยนายจ้างจะอาศัยการที่ลูกจ้างไม่รู้เรื่องกฎหมายแรงงาน 
  • 2.การคุ้มครองแรงงานในกรณีธุรกิจประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ
  • 3.ปัญหาการจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทํางานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด

นโยบาย เด็กจบใหม่

ภาคประชาชน

  • เป็นนโยบายที่ว่าด้วยเรื่องเงินเดือนของนักศึกษา ในปัจจุบันการจบใหม่ของเด็กนักศึกษามีเงินเดือนจบใหม่ที่น้อย ส่งผลถึงการหางานและการดำเนินชีวิตในขั้นตอนต่อไป อยากให้เด็กจบใหม่มีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 20,000บาท เพื่อตรงต่อค่าครองชีพและการใช้จ่ายที่อาจจะเพียงพอ
  • เด็กจบใหม่ในปัจจุบันมีเงินเดือนอยู่ที่15,000ต้องการให้เพิ่มเงินเดือนเด็กจบใหม่เพิ่มเป็น20,000

นโยบาย สร้างงาน สร้างรายได้ ลดช่องว่างทางการเงิน

พรรคการเมือง

พรรคเพื่อไทย

  • ลดช่องว่างรายได้คนไทย ให้ทุกคนมีรายได้เพียงพอ ต่อ ”การดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี” 

    เราจะมีการสำรวจครัวเรือนทั่วทั้งประเทศเพื่อตรวจสอบรายได้และศักยภาพของประชาชนเพื่อให้ครอบครัวได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงพร้อมไปกับการสร้างรายได้ผ่านมาตรการต่างๆ ที่สำคัญคือ นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ Soft Power (OFOS) 

    หากรายได้ของครัวเรือนต่ำกว่า 20,000 บาท/เดือนก็จะได้รับการเติมให้ครบ 20,000 บาท/เดือน จนกระทั่งครอบครัวมีรายได้เพียงพอ 

    ผู้จะรับสิทธิ์จะลงทะเบียนผ่านระบบบนแพลตฟอร์ม Learn to Earn เพื่อเสริมทักษะและหางาน 

    มีการลงทะเบียนและอัพเดตข้อมูลทุก 6 เดือนเพื่อดึงคนเข้าระบบ ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังและทำให้รัฐสามารถเข้าช่วยเหลือได้อย่างแม่นยำ
  • คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จะได้ ‘กระเป๋าเงินดิจิทัล’ (Digital Wallet) 

    กระเป๋าเงินดิจิทัลจะมีอายุการใช้งาน 6 เดือนสำหรับจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุขโดยเฉพาะ ยาเสพติดและการพนัน และไม่สามารถซื้อของบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ 

    เงินดิจิทัลนี้จะใช้จ่ายได้ เฉพาะกับร้านค้าชุมชนและบริการที่ “อยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร”เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชน ส่วนในพื้นที่ห่างใกลจะมีการพิจารณาเป็นกรณีด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน 

    ร้านค้าสามารถนำเงินดิจิทัลมาแลกเป็นเงินบาทได้กับธนาคารในโครงการในภายหลัง 

    เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล ในระยะยาวเพื่อนำประเทศเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางของ FinTech 

    กระเป๋าเงินดิจิทัลคือเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ไม่ใช่คริปโตเคอเรนซี่ ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไปในนั้น เพื่อนโยบายการคลังที่ตรงจุด ไม่มีความเสี่ยง ไม่มีการเก็งกำไร ไม่มีการถูกทุบ ไม่มีการขาดทุน ไม่สามารถแลกเปลี่ยนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นได้ ไม่มีราคาตก-ราคาขึ้น เพราะทุกเหรียญมีค่าเท่าเงินบาทเสมอ รับประกันโดยรัฐบาล 

    กระเป๋าเงินดิจิทัล ใช้ระบบ Blockchain มีความปลอดภัยสูงสุด สูงกว่าระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รู้เส้นทางการเงินทุกธุรกรรม รู้ผู้รับ รู้ผู้จ่าย เป็นระบบที่มีความโปร่งใสสูงสุด ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรม 

    ทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้จ่ายไปจะหมุนเวียนเข้ามาเป็นภาษีของรัฐบาลเพื่อเอา เงินไปสนุบสนุนประชาชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น 

พรรคก้าวไกล

  • ลงทุนปรับปรุงบริการสาธารณะพื้นฐานของประเทศ เช่น ระบบประปา ระบบขนส่งสาธารณะ โดยให้มีการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการภายในประเทศ อาทิ มิเตอร์น้ำอัจฉริยะ รถเมล์ EV ซึ่งมีการผลิตชิ้นส่วนและสินค้าขั้นสุดท้ายภายในประเทศ การลงทุนเหล่านี้จะก่อให้เกิดการจ้างงานตลอดห่วงโซ่การผลิต

  • ส่งเสริมการติดโซล่าเซลล์ตามครัวเรือน และทำระบบ Net Metering เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในครัวเรือนให้ประชาชน และประชาชนสามารถขายไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ โดยจะก่อให้เกิดการจ้างงานด้านการติดตั้งโซล่าร์เซลล์ และการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าให้รองรับระบบ Net Metering 

  • เพิ่มการจ้างงานเกี่ยวกับดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นสวัสดิการดูแลเด็กและผู้สูงอายุในประเทศ ลดภาระประชาชนวัยแรงงาน 

  • ลงทุนเพิ่มพื้นสีเขียว เพิ่มพื้นที่สวนป่า ผ่าน 5 กลไก ได้แก่ สวนป่าปลดหนี้ สวนป่าบำนาญ สวนป่าที่เกษตรกรดูแลเอง การดูแลรักษาป่าชุมชน และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง โดยมีพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น/สวนป่าทั้งสิน 5 ล้านไร่ในเวลา 4 ปี ทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 500,000 ตำแหน่งงาน (หรือ 1 คนต่อ 10 ไร่ โดยประมาณ)
  • รัฐช่วยสมทบค่าประกันสังคมในส่วนของผู้ว่าจ้าง สำหรับแรงงานที่ถูกกระทบโดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ (6 เดือนแรก) เปิดให้ SME นำค่าแรงมาหักค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 2 เท่า (2 ปีแรก)
  • ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล SMEs ให้เหลือ 0-15% ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ SMEs (ช่วงกำไร 3 แสนบาท ถึง 3 ล้านบาท) จาก 15% เป็น 10% ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ SMEs (ช่วงกำไร 3 ล้านบาท ถึง 30 ล้านบาท) จาก 20% เป็น 15% เพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับทุนใหญ่ (ช่วงกำไรเกิน 300 ล้านบาท) จาก 20% เป็น 23%
  • เปิดให้ SMEs หักค่าใช้จ่ายเหมาภาษีบุคคลได้เพิ่มเป็น 90% (จากเดิม 60%)

พรรคพลังประชารัฐ

  • ยกระดับความสามารถผู้ผลิต 5 ล้าน Smart SMEs 1 ล้าน, Smart Farmers 1 ล้าน, Startups 1 ล้าน, Makers และ 1 ล้านค้าปลีกชุมชน
  • ก้าวสู่เกษตรประชารัฐ 4.0 ปรับโครงสร้างภาคเกษตร ด้วยนโยบาย “3 เพิ่ม 3 ลด” นั่นคือ “เพิ่มรายได้ เพิ่มนวัตกรรม เพิ่มทางเลือก” และ “ลดภาระหนี้ ลดความเสี่ยง ลดต้นทุน”
  • ชูเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจแบ่งปัน เพราะจุดแข็งของประเทศไทย ประการหนึ่ง คือ ความคิดสร้างสรรค์และ วัฒนธรรมของความเกื้อกูลแบ่งปัน
  • สร้างเศรษฐกิจชีวภาพ อุตสาหกรรมหมุนเวียน นวัตกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นเศรษฐกิจสำคัญที่ประเทศไทยมีโอกาสแข่งขันในเวทีโลก และตอบโจทย์ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ครอบคลุมถึงการเกษตรและอาหาร การแพทย์และสุขภาพ พลังงานและการท่องเที่ยว
  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต การที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในครั้งนี้ จำเป็นจะต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ เน้นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล โดยเฉพาะ 5G
  • ลดอุปสรรค เพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจ เน้นการปฎิรูประบบราชการ ทำให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง

พรรคประชาธิปัตย์

  • นโยบาย “SME ต้องมีแต้มต่อ 3 แสนล้าน” จึงต้องการยกระดับ ขีดความสามารถของ SME ไทยให้สามารถแข่งขันทั้งตลาดภายใน และ ต่างประเทศ โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ ตลอนจน เพื่อเสริมสร้าง ความมั่งคงให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ทั้งนี้ จะดําเนินมาตรการ เพื่อเป็นแต้มต่อให้กับ SME 3 ประการ คือ 

    แต้มต่อที่ 1 ด้านการผลิต สนับสนุนให้ SME มีการบริหารธุรกิจที่ ทันสมัย บนพื้นฐานของนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการ ดําเนินธุรกิจ สร้างการยอมรับของตลาด และมุ่งปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ยุค ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Transformation) 

    แต้มต่อที่ 2 ด้านการตลาด ผลักดัน SME ให้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดทั้ง ภายใน และต่างประเทศ โดยให้สิทธิพิเศษด้านการตลาดในนิทรรศการที่ เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า และบริการของตนต่อตลาดภายนอกได้ 

    แต้มต่อที่ 3 จัดตั้งกองทุน 3 แสนล้านบาท เพื่อให้กลุ่ม SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน สําหรับการพัฒนา ต่อเติม ขยายกิจการ ตลอดจนการเพิ่มทุนธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้กับประเทศ ต่อไปได้ 

พรรคชาติไทยพัฒนา

  • ยึดถือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พรรคชาติไทยพัฒนาจะส่งเสริมหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน พึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยการส่งเสริม และพัฒนาในองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการต่อยอดให้การนำไปใช้ โดยมีหลักการ และเครื่องมือที่มีความชัดเจนประสานสร้างความเข้าใจในหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความเข้าใจ และแผนดำเนินการ สนับสนุน และส่งเสริมธุรกิจทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ เพื่อให้ธุรกิจนั้นมีเสถียรภาพ เป็นหลักประกันในเรื่องความมั่นคงของกิจการ
  • รักษาเสถียรภาพการเงิน พรรคชาติไทยพัฒนาเชื่อมั่นว่าในการดูแลรักษาเสถียรภาพทางการเงินอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศให้ความสำคัญต่อการใช้มาตรการทางการเงิน ทั้งในด้านเสถียรภาพของระดับราคาและเสถียรภาพของฐานะการเงินของประเทศควบคู่กับการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราที่เหมาะสม และในทิศทางที่สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจสังคมของแต่ละท้องถิ่น 
  • รักษาวินัยการคลัง พรรคชาติไทยพัฒนาตระหนักว่าการรักษาเสถียรภาพทางการคลัง และการพัฒนาเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น มีพันธกิจหลัก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ประชาชน โดยรวมของประเทศอย่างเท่าเทียมกัน จึงมุ่งมั่นให้ความสำคัญต่อการรักษาวินัยทางการคลัง เพื่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง เพื่อมุ่งสร้างโอกาส และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในสังคมโดยจะเน้นดำเนินมาตรการการคลัง เพื่อประชาชน เพื่อกระจายรายได้ กระจายโอกาสและกระจายอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากร และการคลังไปสู่ท้องถิ่น และชุมชนอัน จะนำมาซึ่งความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจชุมชน 
  • ปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรม พรรคชาติไทยพัฒนาให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชุมชนด้วยการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และลดต้นทุนการผลิตอำนวยความสะดวกทางการค้า ตลอดจนพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่และขยายตลาดในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ตรงต่อตลาดแรงงานอุตสาหกรรม แก้ไขกฎระเบียบ และปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันของอุตสาหกรรมนั้น ๆ สร้างตราสัญลักษณ์ของไทย รวมทั้งปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้จูงใจทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศ 
  • นอกจากนี้พรรคชาติไทยพัฒนาจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนี้ จะสร้างความเชื่อมั่น และสร้างภาพลักษณ์ด้วยการปรับปรุงคุณภาพ และมาตรฐานสินค้าให้ทัดเทียมและล้ำหน้าในระดับสากลด้วยการกระตุ้นให้เอกชนลงทุนด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีรวม ทั้งมีการรับรองมาตรฐานที่สากลยอมรับ 
  • สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมพรรคชาติไทยพัฒนามุ่งมั่นสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อมให้มีความเป็นมืออาชีพพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมทั้งปรับปรุงมาตรฐาน การปล่อยสินเชื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและเหมาะสมปรับปรุง และพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ตลอดจนสร้างช่องทางการตลาดให้ผู้ซื้อ/คู่ค้าสามารถเข้าถึงสินค้าที่ผลิตจากผู้ผลิตผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อมได้มากขึ้น ด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐ และภาคเอกชน 
  • บริหารจัดการการส่งออกแบบครบวงจร พรรคชาติไทยพัฒนาจะพัฒนาระบบโลจิสติกส์ปรับปรุงระบบ และลดขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกทั้งระบบ เพื่อให้การส่งออกเป็นไปด้วยความรวดเร็วตรงต่อเวลามีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ส่งออก ด้วยการเชื่อมโยงระบบขนส่งให้มีความสอดคล้องกันทั้งระบบลดขั้นตอนทางเอกสารโดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้มากขึ้น เช่น ระบบการตรวจร่วมจุดเดียวระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ประสานความร่วมมือกับประเทศคู่ค้า เพื่อลดขั้นตอนทางเอกสาร และการตรวจสอบสินค้า รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ส่งออกผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานสอดคล้องกับกฎระเบียบมาตรฐานของประเทศคู่ค้าตลอดจนพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความ 
    สะดวกต่อการขนส่ง ช่วยปกป้องสินค้าระหว่างการขนส่งรวมทั้งช่วยรักษาให้สินค้ามีระยะเวลาคุณภาพดียาวนานขึ้น 

พรรคไทยสร้างไทย

  • เพื่อเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ SMEs ไทย ประกอบกับในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา SMEs ไทย ต้องประสบกับปัญหาจากผลกระทบอย่างหนักของเศรษฐกิจถดถอยอันเป็นผลมาจากโควิด-19 จึงเห็นสมควรที่จะออกมาตรการมาช่วยเหลือ SMEs โดยให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล SMEs เป็นเวลา 3 ปี อ่านเพิ่มเติม

พรรคเสรีรวมไทย

  • สนับสนุนและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนามย่อม โดยมุ่งสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีความเข้มแข็ง และให้เข้าถึงแหล่มทุนได้อย่างทั่วถึง สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ปรับปรุบและพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐาน รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดจนสร้างช่องทางการตลาดให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น

พรรครวมไทยสร้างชาติ

  • ให้ที่ทำกินผู้ยากไร้ถ้วนหน้า

ภาคประชาชน

  • ส่งเสริมอาชีพอย่างจริงจัง เนื่องจากพิษเศรษฐกิจหลังโควิด19 ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ตกงาน หรือรายได้น้อยกว่ารายจ่าย นโยบายนี้จะช่วยในการพัฒนาสายอาชีพที่มีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ของประชาชน ที่ให้มีการทำงานเพื่อเพิ่มรายได้ของครัวเรือน โดยมีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนในประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจในการส่งเสริมพัฒนาสายอาชีพของตน
  • 1. สร้างการกระจายรายได้ไปทั่วภูมิภาคในประเทศ ด้วยการสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อแก้ไขปัญหายากจน และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น 2. เก็บภาษีผู้ที่มีรายได้สูงอย่างชัดเจน และเก็บภาษีคนจนให้น้อยลง สร้างระบบในการตรวจสอบผู้ที่หลบเลี่ยงภาษี
  • มีปัญหาคนยากจน คนยากไร้เพิ่มมากขึ้นทุกวัน มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยการลงไปสำรวจพื้นที่ว่าชุมชนต่างๆประสบปัญหาอะไรบ้าง ให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายากจน มีการให้ทุนกับประชาชนในการตั้งตัวหางานทำ ให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ว่าสามารถเอาทรัพยากรอะไรมาใช้ในการหารายได้ให้กับตนเองได้บ้าง คอยช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนตลอดเวลา ไม่ละเลยประชาชน ช่วยหางานให้ประชาชนทำ
  • กองทุนสนับสนุนการลงทุนคนที่สนใจทำธุรกิจแต่ไม่มีทุนสามารถไปกู้ยืมได้ แต่ดอกเบี้ยต่ำหรือไม่มีดอกเบี้ย

นโยบาย ราคาพืชผลการเกษตร

พรรคการเมือง

พรรคไทยสร้างไทย

  • ศูนย์เกษตรเศรษฐกิจประจำจังหวัด Agriculture Economic Center (AEC) 1. พัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรในทุกมิติ 2. ยกระดับราคาสินค้าเกษตร ด้วยการบริหารนโยบายด้านการผลิตผลผลิตการเกษตร ที่สมดุลย์ ทั้งอุปสงค์ และอุปทาน demand & supply 3. ทำหน้าที่เป็นศูนย์วิจัย พัฒนาพื้นที่ดินการผลิต ผลิตภัณฑ์เกษตรสมัยใหม่ ที่เหมาะสมกับพื่นที่ดิน ฤดูการการผลิต 4. เป็นศูนย์ระบบการเกษตรโลจิสติกส์ System Marketing Logistics
  • สินค้าเกษตรราคาดี รับซื้อและประกันราคาพืชเศรษกิจหลัก เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน . ปรับโครงสร้างการผลิต บริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตร (Zoning) โดยปรับระบบการใช้ที่ดินเพื่อผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับอุปสงค์ – อุปทาน (Demand – Supply) เพื่อยกระดับราคา เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร . พัฒนาแหล่งน้ำ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงการกักเก็บน้ำตามลำน้ำ . ขจัดข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ

พรรคประชาธิปัตย์

  • เป็นมาตรการสนับสนุนชาวนาตามโครงการสนับสนุนค่า บริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ หรือ ไม่เกิน 30,000 บาท ต่อ ครัวเรือน เพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้พี่น้องเกษตรกรชาวนาทั่วประเทศ และเพื่อเป็นขวัญและกําลังใจในการประกอบอาชีพ สามารถพัฒนา ตัวเอง ยกระดับคุณภาพชีวิต และครอบครัวให้ดีขึ้น
  • เป็นมาตรการให้หลักประกันรายได้กับเกษตรกรด้วยการ “จ่ายเงินส่วนต่าง” ในยามที่ราคาพืชผลการเกษตรจํานวน 5 ชนิด ได้แก่ “ข้าว มัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด” มีความตกต่ำ นโยบาย ประกันรายได้ “จ่ายเงินส่วนต่าง” ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกกว่า 95 ล้านไร่ ทั่วทุก ภูมิภาคของประเทศไทย มีพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกพืชทั้ง 5 ชนิด กว่า 8.16 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็น 1. ข้าว 4.69 ล้าน ครัวเรือน 2. มันสําปะหลัง 0.76 ล้าน ครัวเรือน 3. ยางพารา 1.88 ล้าน ครัวเรือน 4. ปาล์มน้ํามัน 0.38 ล้าน ครัวเรือน 5. ข้าวโพด 0.45 ล้าน ครัวเรือน
  • นโยบาย “3 ล้านบาท ต่อยอดเกษตร แปลงใหญ่” สนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ําไป จนถึงปลายน้ํา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตร ซึ่งแนวคิดฯ นี้ ส่งผลสําคัญ อย่างน้อย 3 ประการ คือ (1) เป็นการลดต้นทุนการผลิต (2) มีการจัดหาตลาดรองรับ สินค้าเกษตรไว้ล่วงหน้า และ (3) สร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร เพิ่มอํานาจต่อรองในระบบตลาด 

พรรคภูมิใจไทย

  • นโยบาย “ เกษตรร่ำรวย” ด้วย Contract Farming จะนำมาใช้กับ 4 ชนิด ที่มีการกำหนดราคารับซื้อล่วงหน้า ในตลาดโลก ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และ ปาล์มน้ำมัน และจะขยายไปสู่พืช หรือ ผลผลิตการเกษตรชนิดอื่นๆ ต่อไป เช่น ข้าวโพด มะพร้าว ลำไย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ ของประเทศไทย 

    เกษตรร่ำรวย ด้วย Contract Farming ที่นำเสนอนี้ เป็นนโยบายที่ทำได้จริง หากพรรคภูมิใจไทย ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนให้ไปจัดตั้งรัฐบาล จะทำทันที ปัจจุบันนี้ เกษตรกรที่ทำเกษตรแบบ Contract farming กับภาคเอกชน สามารถขายผลผลิตได้ราคาที่มีกำไร เพื่อให้เกษตรกรทุกรายมีโอกาสเข้าสู่ระบบนี้ เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร และมีกำไร อย่างยั่งยืน 

    พรรคภูมิใจไทย จึงมีนโยบายให้รัฐบาล เข้ามาสนับสนุน และจัดทำนโยบาย เกษตรร่ำรวย ด้วย Contract Farming เพื่อให้เกษตรกรทุกราย มีสัญญาซื้อขายผลผลิต ล่วงหน้า เป็นหลักประกันต่อไปนี้ เกษตรกรต้องรู้ราคาก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย เสียหายมีประกัน เพื่อการทำเกษตรมีกำไร ไม่ขาดทุน ลดปัญหานี้สิน อันเป็นการแก้ปัญหาของเกษตรกร ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป  

    พรรคภูมิใจไทย จึงมีนโยบายให้รัฐบาล เข้ามาสนับสนุน และจัดทำนโยบาย เกษตรร่ำรวย ด้วย Contract Farming เพื่อให้เกษตรกรทุกราย มีสัญญาซื้อขายผลผลิต ล่วงหน้า เป็นหลักประกัน  

    ต่อไปนี้ เกษตรกรต้องรู้ราคาก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย เสียหายมีประกัน เพื่อการทำเกษตรมีกำไร ไม่ขาดทุน ลดปัญหานี้สิน อันเป็นการแก้ปัญหาของเกษตรกร ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป 

พรรคชาติไทยพัฒนา

  • ผลักดันเกษตรกรสมัยใหม่ขายคาร์บอนเครดิต – แจกพันธุ์ข้าวฟรี 60 ล้านไร่ – สนับสนุนเงินทุนเพาะปลูกไร่ละ 1,000บาท (ข้าวและพืชเศรษฐกิจ) – ขยายเขตไฟฟ้าการเกษตรทั่วประเทศ ค่าไฟหน่วยละ 2 บาท – บาดาลทุกตำบล น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน – งบฯท้องถิ่น 10 ล้านบาท พัฒนาระบบกำจัดขยะ ระบบไฟฟ้าธรรมชาติ แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม – สร้างงาน สร้างรายได้ แก่ผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ 3,000 บาท

พรรคพลังประชารัฐ

  • ยกระดับ Smart SMEs, Smart Farmers, Startups, Makers และค้าปลีกชุมชน – เกษตรประชารัฐ 4.0 ด้วยนโยบาย 3 เพิ่ม 3 ลด คือ เพิ่มรายได้ ,เพิ่มนวัตกรรม, เพิ่มทางเลือก, และลดภาระหนี้, ลดความเสี่ยง, ลดต้นทุน – ท่องเที่ยวชุมชนผ่านโคงการ ‘บัตรประชารัฐ’ เพิ่มวงเงิน 700 บาท/เดือน – เศรษฐกิจชีวภาพ อุตสาหกรรมหมุนเวียน นวัตกรรมสีเขียว (BCG Model) – พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล 5G 

พรรคก้าวไกล

  • (กระดุม 5 เม็ดเปลี่ยนชีวิตเกษตรกรไทย) – เม็ด 1 ที่ดิน : ปฏิรูปที่ดิน คืนประชาชน 10 ล้านไร่ – เม็ด 2 หนี้สิน : ปลดหนี้เกษตรกร – เม็ด 3 ต้นทุน :ลดต้นทุน น้ำ ปุ๋ย เครื่องจักร – เม็ด 4 นวัตกรรม : สร้างนวัตกรรม เพิ่มมูลค่า – เม็ด 5 ต่อยอด: หารายได้ต่อยอดเกษตรกร 

พรรคเพื่อไทย

  • ใช้ตลาดนำนวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้ ด้วยการใช้ – เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ – ใช้ AIเป็นผู้ช่วยเกษตรกร – แปลงสินทรัพย์ดิจิทัล (NFT) เพื่อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า – ทลายการผูกขาดสุรา เบียร์ ไวน์

พรรคเสรีรวมไทย

  • ส่งเสริมการเกษตรและพัฒนาชนบทยั่งยืน สนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรด้วยการใช้พื้นที่การเกษตรให้เหมาะสมกับประเภทพืชเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยอุตสาหกรรมการเกษตร โดยนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมทันสมัยในการผลิต การพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นจะก่อตั้งตลาดกลาง เพื่อการค้าส่งและค้าปลีกด้านการเกษตรในทุกภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มหรือเป็นระบบสหกรณ์ หรือรูปแบบอื่น ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง

พรรครวมไทยสร้างชาติ

  • เกษตรร่ำรวย รัฐสนับสนุนสุดยอดสายพันธุ์และการตลาด น้ำ น้ำมัน(เขียว) ปุ๋ย ทุน ราคาถูก
  • เกษตรกรเก็บเกี่ยว 2,000 บาท/ไร่ (ไม่เกิน 5 ไร่) 10,000 บาท/ฤดูเก็บเกี่ยว

ภาคประชาชน

  • ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)เสนอว่าแม้ว่าแทบทุกพรรคการเมืองจะมีนโยบายด้านการเกษตร แต่ดูเหมือนว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญต่อนโยบายนี้น้อยกว่านโยบายด้านสวัสดิการ นโยบายด้านการเกษตรของพรรคการเมืองครอบคลุม 5 เรื่องใหญ่ ได้แก่ (ก) การประกันรายได้ การอุดหนุนชาวนาและชาวประมง ที่เป็นนโยบายของพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินไม่ต่ำกว่า 4.57 แสนล้านบาท (ข) การถือครองที่ดินและสิทธิทำกินบนที่ดินของพรรคการเมือง 4 พรรค (ค) การใช้เทคโนโลยีการเกษตรของพรรคการเมือง 2 พรรค (ง) นโยบายด้านสินเชื่อและการพักชำระหนี้ของพรรคการเมือง 3 พรรค และ (จ) การจัดการน้ำ ของ 3 พรรค 

    กล่าวโดยภาพรวม นโยบายของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาหลักของภาคเกษตรไทยซึ่งประกอบไปด้วยการที่เกษตรกรมีอายุสูงขึ้น ผลผลิตมีมูลค่าเพิ่มต่ำ การผลิตใช้ทรัพยากรต่างๆ เช่น น้ำและที่ดินมาก ซึ่งทำให้จะต้องปรับตัวอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ในอนาคตภาคเกษตรยังจะได้รับแรงกดดันให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

    ในส่วนของนโยบายให้เงินอุดหนุนเกษตรกร แม้ว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของเกษตรกรที่เกิดจากภาวะราคาพืชผลตกต่ำและวิกฤตน้ำท่วมน้ำแล้งได้ แต่ผลการวิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศพบว่า การอุดหนุนโดยไม่มีเงื่อนไขมักทำลายแรงจูงใจของเกษตรกรในการปรับตัว โดยเฉพาะทำให้ไม่หันมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มผลิตภาพในการผลิต ประหยัดการใช้ทรัพยากร และลดปัญหาการสร้างก๊าซเรือนกระจก 

    นโยบายที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่พรรคการเมืองนำมาหาเสียงคือ การแก้ปัญหาความขัดแย้งในที่ดินทำกินกับรัฐ ซึ่งเกิดจากการมีกฎหมายประกาศเขตป่าอนุรักษ์หรือป่าอุทยานทับซ้อนกับที่ดินของเกษตรกร ทั้งที่เกษตรกรจำนวนมากอาศัยทำกินมาก่อน อย่างไรก็ตามรัฐบาลที่ผ่านมาทุกชุดยังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ได้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะใช้นโยบายป่าชุมชนและโฉนดชุมชน 

    นอกจากนี้นโยบายการแจกที่ดินทำกินให้เกษตรกรที่เสนอกันขึ้นมาจะไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้อีกต่อไป เพราะนับตั้งแต่ประเทศไทยมีกฎหมายปฏิรูปที่ดิน (สปก.) มาตั้งแต่ปี 2518 รัฐบาลได้แจกที่ดินให้เกษตรกรถึง 36.4ล้านไร่ (หรือ 24.4 % ของที่ดินการเกษตร) ทำให้ไทยเป็นประเทศที่แจกที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรมากที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ก็ถึงทางตันจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นคือ การจำกัดสิทธิของเกษตรกรไม่ให้ใช้ที่ดิน สปก. ในกิจกรรมที่ไม่ใช่การเกษตร คุณภาพของที่ดินไม่เหมาะต่อการเกษตร การที่เกษตรกรนำที่ดินที่ได้รับแจกไปขาย และการที่ลูกหลานของเกษตรกรไม่ต้องการทำอาชีพเกษตรอีกต่อไป 

    ในส่วนของปัญหาหนี้สิน สาเหตุสำคัญที่ทำให้ครัวเรือนเกษตรกรร้อยละ 90 มีหนี้สินสูงเกิดจากการมีรายได้ไม่เพียงพอและไม่แน่นอน การไม่สามารถควบคุมการใช้จ่าย การขาดความรู้ทางการเงินและการที่สถาบันการเงินขาดข้อมูลด้านการเงินของเกษตรกร ทำให้การทำสัญญาการชำระเงินไม่สอดคล้องกับกระแสเงินสดของเกษตรกร นอกจากนี้ การมีนโยบายพักชำระหนี้อย่างต่อเนื่องยังทำให้มีการปล่อยสินเชื่อใหม่ในขณะที่ยังไม่ได้จัดการกับหนี้เดิมอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินพอกพูนมากขึ้น การแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรจึงไม่ใช่สามารถทำได้โดยพักชำระหนี้ที่เคยทำมาในอดีต หรือยกเลิกการแบล็คลิสต์ของเครดิตบูโร ซึ่งจะส่งผลเสียอย่างมากต่อระบบการเงินของประเทศ 

    เราจึงมีข้อเสนอว่าพรรคการเมืองควรหันมาให้ความสนใจมากขึ้นในการคิดค้นนโยบายช่วยเหลือให้เกษตรกรเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าเพิ่มในการผลิต และลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระยะยาว นอกจากนี้พรรคการเมืองควรคิดค้นนวัตกรรมทางนโยบายในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในที่ดินทำกินกับรัฐ การขยายสิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาที่ดิน การสนับสนุนให้เกษตรกรยากจนเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นนอกภาคเกษตร การปรับโครงสร้างหนี้และการให้สินเชื่อที่สอดคล้องกับศักยภาพและกระแสรายได้ของเกษตรกร รวมทั้งการปรับปรุงเงื่อนไขสัญญากู้ยืมให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของเกษตรกร ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาฐานข้อมูลสินเชื่อเกษตรกรที่ครอบคลุม  
  • สนับสนุนการเกษตรมากขึ้นมีราคาขั้นต่ำรับประกันราคาพืชผลทางการเกษตร ลดการนำเข้าจากต่างประเทศและเพิ่มการผลิตในประเทศ เพิ่มการบริโภคทางการเกษตรของประเทศ เชิญชวนบริโภคของจากการเกษตร ไทยผลิตไทยใช้
  • ให้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรกรในชุมชน โดยให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ สนับสนุนชุมชนที่อยู่ห่างไกลเพื่อที่จะให้ลดความเสี่ยงในการทำการเกษตรและเกษตรกรก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูล งานวิจัยและเทคโนโลยีใหม่ ๆ

นโยบาย หนี้สิน พักชำระหนี้

พรรคการเมือง

พรรคก้าวไกล

  • ผ่อนปรนภาระหนี้สินให้กับลูกหนี้บุคคลธนาคารรัฐ ที่จ่ายดี จ่ายตรงเวลาเกินกว่า 12 งวด ด้วยการลดดอกเบี้ย 10 % โดยรัฐบาลจะเป็นผู้อุดหนุนงบประมาณชดเชยการลดดอกเบี้ย
  • ส่งเสริมให้ธนาคารนำข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลในการชำระค่าสาธารณูปโภค (เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า) คำนวณเครดิตของลูกหนี้ เพื่อให้ธนาคารประเมินความเสี่ยงได้ดีขึ้น ลูกหนี้ที่ประวัติดีจะได้ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่าเดิม
  • ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยใช้กลไกของสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับตำรวจ อัยการ สรรพากรและดีเอสไอ ในการเจรจากับเจ้าหนี้ นิรโทษกรรมเจ้าหน้าหนี้นอกระบบที่ยินยอมปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นธรรม วางวงเงินสำหรับปรับโครงสร้างหนี้นอกระบบ (Refinance) 1 หมื่นล้านบาท
  • ดำเนินการให้มีการเจรจากับเจ้าหนี้ที่จะให้กรมบัญชีกลางหักเงินเดือนต้องรับเงื่อนไขปรับดอกเบี้ยให้ไม่เกิน MLR -1% และเจรจาเจ้าหนี้ทุกรายให้สุดท้ายจัดการหักหนี้บัญชีเงินเดือนข้าราชการไม่เกิน 70 % ของเงินเดือน

พรรคไทยสร้างไทย

  • แก้หนี้ 
    – กองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย (แก้หนี้เสียที่เกิดจากโควิด – พักหนี้ 3 ปี/ ฟรีดอกเบี้ย 2 ปี) 
    – กองทุนเครดิตประชาชน (ล้างหนี้นอกระบบ – กู้ 5,000-50,000 บาท/ ดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน) 
  • เติมทุน 
    กองทุนที่ 1 – กองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยที่มีหนี้เสีย ให้สามารถฟื้นกลับมาประกอบธุรกิจได้ตามปกติ โดยกองทุนฯ จะเข้าไปเจรจากับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ และช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการชำระดอกเบี้ยผิดนัดให้บางส่วน 

    กองทุนที่ 2 – กองทุนเครดิตประชาชน เพื่อช่วยคนตัวเล็กกว่า 10 ล้านคน ล้างหนี้นอกระบบ เพื่อสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้เป็นที่พึ่งของประชาชนคนตัวเล็กที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบปกติของธนาคารหรือสถาบันการเงินได้ ช่วยให้คนตัวเล็กตั้งตัวได้ เป็นสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกันดอกเบี้ยตํ่า ไม่เกินร้อยละ 1 ต่อเดือน วงเงินกู้ตั้งแต่ 5,000 บาท จนถึง 50,000 บาท เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่โดยรวมของประชาชนคนตัวเล็ก และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องมาจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทำให้สามารถลืมตาอ้าปากใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรี 

    กองทุนที่ 3 – กองทุนสร้างไทย แหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน เพื่อผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดเข้าไม่ถึงแหล่งทุนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ซึ่งประกอบด้วย 5 กองทุนย่อย ได้แก่ กองทุน SMEs กองทุน Startup กองทุนวิสาหกิจชุมชน กองทุนการท่องเที่ยว และกองทุน Venture Capital 
  • ลดรายจ่าย 
    -ปรับโครงสร้างค่าน้ำมัน/ค่าแก๊ส กำหนดเพดานค่าการกลั่น ให้เป็นธรรมกับคนไทย 
    -ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า รื้อสัญญาทาส ค่าไฟต้องไม่เกิน 3.50 บาท 
    -ไม่เก็บภาษีคนตัวเล็กที่มีรายได้สุทธิไม่เกิน 300,000 บาท/ต่อปี หรือรายได้ไม่เกิน 40,000/ เดือน 
    -ไม่เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล SMEs เป็นเวลา 3 ปี 
    -ติด Solar House – เงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ 1% ผ่อนยาว 8 ปี ขายไฟให้รัฐได้ทุกเดือน 
  • ขจัดอุปสรรค 
    -พักการอนุมัติ/อนุญาต 1,400 ฉบับ เป็นเวลา 3-5 ปี เพื่อให้คนไทยลุกขึ้นมาทำมาหากินได้ทันที เช่น การขอ-อนุญาต อย. (ไทยสร้างไทย เสนอกฎหมายเข้าสภาแล้ว) 
    -รื้อระบบรัฐราชการและอำนาจนิยม ด้วยการสร้างระบบให้ประชาชนร้องเรียน มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการให้คะแนนการทำงาน และการบริการประชาชนของเจ้าหน้าที่ และใช้ในการประเมินการให้ความดีความชอบ รวมถึงการลงโทษ 

พรรคภูมิใจไทย

  • ให้คนไทยทุกคนที่บรรลุนิติภาวะอายุ 20 ปีขึ้นไป มีวงเงินกู้ฉุกเฉินคนละ 50,000 บาท เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินของชีวิตตัวเองและครอบครัว หรือใช้เป็นทุนประกอบอาชีพ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ตัวเอง รวมไปถึงใช้เป็นเงินปิดวงจรหนี้นอกระบบของตัวเองได้  

    โดยการจัดหาแหล่งเงินมาจัดทำโครงการเงินกู้ฉุกเฉินให้แก่ประชาชนคนละ 50,000 บาท ผ่อนชำระคืนวันละ 150 บาท เป็นเวลา 365 วัน คิดเป็นเงินต้นรวมดอกเบี้ย 54,750 บาท 

    ซึ่งเป็นอัตราที่เชื่อว่าผู้กู้สามารถผ่อนชำระได้ และทำให้ทุกคนมีเงินทุนประกอบอาชีพเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ รวมถึงหยุดปัญหาหนี้นอกระบบของตนเองได้อีกทางหนึ่ง 

ภาคประชาชน

  • เอาหนี้เสียเข้าระบบให้ถูกกฎหมายเเละมีเสรี เพื่อให้มีรายได้หมุนเวียนจะส่งเสริมให้ประเทศมีGDPที่ดีขึ้น ชาวไทยจะใช้หนี้ดอกเบี้ยได้ถูกลง
  • สถานการณ์ปัญหาหนี้ในเวลานี้ ลูกหนี้ขาดความรู้การเงินส่วนบุคคล ขาดคำแนะนำจากเจ้าหนี้ ขาดผู้ช่วยเหลือยามจำเป็น ขณะที่เจ้าหนี้ภาพลักษณ์ไม่ดีมากนักจากภาคประชาชน ส่วนสังคมโดยรวมขาดหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบแท้จริง ขาดการร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ขาดผู้ที่สามารถช่วยเหลือได้แบบองค์รวม โดยหน่วยงานกำกับดูแลมีขอบเขตการทำงานที่จำกัด 

    สำหรับนโยบายนี้เน้นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อแก้หนี้จนข้ามรุ่น จนดักดาน โดยนโยบายต้นน้ำแก้ด้วย การสร้างบิ๊กเครดิตเดต้า ข้อมูลบุคคล เจ้าหนี้ สถาบันการเงิน เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนปล่อยสินเชื่อ มีกฎหมายผลักดันส่งเสริมให้สินเชื่อที่รับผิดชอบให้เกิดขึ้นจริง แก้หนี้ดักดาน ทำให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ แต่ต้องเหลือเงินพอดำรงชีวิต ในส่วนของหนี้เสียต้องมีกระบวนการจัดตั้งบูรณาการแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ มีสถาบันบริหารหนี้ระดับชุมชน แก้หนี้ออนไลน์ด้วยแอป​ฯหมอเงิน เชื่อมต่อเครือข่ายเพื่อสร้างแหล่งเงินทุนให้เข้าถึงได้ มีหมอหนี้ส่วนตัว เจรจาไกล่เกลี่ย ให้คำปรึกษา สร้างแผนฟื้นฟูหนี้ 

นโยบาย เศรษฐกิจท่องเที่ยว

พรรคการเมือง

พรรคเพื่อไทย

  • ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางด้านการแพทย์และสุขภาพมุ่งทำให้ประเทศไทยเป็น “Wellness Destination” ของเอเชีย เพื่อดึงดูดเม็ดเงินและความรู้ พัฒนาและเพิ่มทรัพยากรทางบุคคลากรทางการแพทย์เพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขให้เพียงพอและทันสมัย สนับสนุนอุตสหกรรมอาหารเกษตรเพื่อสุขภาพ สมุนไพรและแพทย์ทางเลือก

พรรคไทยสร้างไทย

  • อาหารคุณภาพและเกษตรแปรรูป -เป้าหมายเป็นครัวโลกแห่งอนาคต อันดับการส่งออกอาหารเลื่อนขึ้นจากอันดับ 11 เป็นอันดับ 10 ของโลก -เพิ่มส่วนแบ่งอาหารของไทยในตลาดโลก จาก 2.5% เป็น 5% ในปี 2570 . ท่องเที่ยว World Class Destination -เที่ยวสนุก “12 เดือน 12 Events ทั่วไทย” -ยกระดับ Duty Free Shop สู่สากล “Thailand Shopping Paradise” . Global Wellbeing Hub -มูลค่าตลาดทั่วโลกประมาณ 150 ล้านล้านบาท -เป้าหมาย 1% เท่ากับ 1.5 ล้านล้านบาท

พรรคพลังประชารัฐ

  • กระจายรายได้ กระจายโอกาส ด้วยการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ สร้างเส้นทางเชื่อมโยงชุมชนสู่ชุมชน

พรรคชาติไทยพัฒนา

  • ส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้ พรรคชาติไทยพัฒนาจะส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศเพื่อการสร้างงานสร้างรายได้ และความเป็นอยู่ดีกินดีของประชาชน โดยจะสนับสนุนให้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ควบคู่ไปกับการรักษาแหล่งท่องเที่ยวเดิม โดยคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งนี้ จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของชุมชน และให้มีความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและหวงแหนในทรัพยากรทางธรรมชาติ และ ประวัติศาสตร์ของชุมชนนอกจากนี้ จะส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ เช่น พื้นที่จังหวัดกลุ่มอารยธรรมภาคเหนือ และพื้นที่จังหวัดเชื่อมโยงทางภาคใต้ตอนบนกลุ่มจังหวัดลุ่มแม่น้ำภาคกลาง และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก และภาคอีสาน เป็นต้น ตลอดจนเร่งรัดให้มีการพัฒนามาตรฐานการบริการด้านการท่องเที่ยวของไทย และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศโดยจะสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐ และเอกชนร่วมมือกันในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะสนับสนุน และเร่งรัดการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆในด้านกฎระเบียบ เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่นักลงทุนจากทั้งใน และต่างประเทศ ตลอดจนเร่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยวของไทย เพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจ การค้าเสรีในภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน 

พรรคภูมิใจไทย

  • รายได้ดี 4 ปี 6 ล้านล้านบาท เพิ่มจํานวนนักท่องเที่ยวสู่ 80 ล้านคน เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว สู่ 6 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570 

    สร้างงานดี งานดี 10 ล้านตําแหน่ง เพิ่มอัตราการจ้างงาน สร้างแรงจูงใจ พัฒนาศักยภาพแรงงาน 

    กองทุนท่องเที่ยว ชุมชนดี แหล่งท่องเที่ยวดี และผู้ประกอบการดี ด้วยกองทุน ท่องเที่ยว  

    1) เงินทุนสนับสนุนการปรับปรุง – พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้สามารถ ดึงดูด และรองรับนักท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม ตลอดจนการวางระบบ บริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน สร้างรายได้สู่ประชาชนเจ้าของแหล่งในระยะยาว  

    2) เงินทุนสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพชุมชนท่องเที่ยวสู่มาตรฐานระดับ สากล เพิ่มขีดความสามารถในการกระตุ้นจํานวนวันพัก และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นตามอัตลักษณ์ของชุมชน สร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน  

    3) เงินทุนสําหรับผู้ประกอบการในการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างความมั่นคงในช่วงเกิดวิกฤตการณ์ ตลอดจนการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่องค์กรที่มีแนวปฏิบัติอย่างยั่งยืนเพื่อลดต้นทุน เพิ่มกําไร และสร้างการยอมรับในระดับโลก  
  • เพิ่มรายได้ในภาคการท่องเที่ยว โดยการเพิ่มระยะเวลาการพํานัก จํานวนการใช้จ่ายต่อคน และ เพิ่มจํานวนนักท่องเที่ยวกลุ่มใช้จ่ายสูง โดยการ 

    1. กระตุ้นการท่องเที่ยวตลาดใหม่ เน้นนักท่องเที่ยวกําลังใช้จ่ายสูง เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ กลุ่มทํางานจากประเทศไทย กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงกีฬา 

    2. เพิ่มและขยายศักยภาพการข้ามแดนทั้งทางบก น้ำ อากาศ โดยการ ขยายสนามบิน การท่องเที่ยวเรือสําราญ การจัดทําจุดผ่านแดน อัจฉริยะ  

    3. สร้างเศรษฐกิจด้วยงานเทศกาล ผ่านงาน Event การประชุมนิทรรศกาล การแข่งขันกีฬารายการระดับโลก งานเทศกาลระดับโลก 

    4. ปั้น Soft Power ไทยสู่การสร้างมูลค่าสูง เพื่อมุ่งสู่เป้าการเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวคุณภาพสูง พร้อมรองรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยว  

  • 365 วัน เที่ยวทุกที่ เที่ยวทั้งปี รายได้ดี ไม่มีวันหยุด 

    กําจัด Low Season แก้ปัญหาการกระจุกตัวของ นักท่องเที่ยว สร้างสมดุลของการ ท่องเที่ยวทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย โดยใช้ Event รูปแบบต่าง ๆ ทั้งระดับชาติ และระดับนานาชาติ ดึงดูดการเดินทางท่องเที่ยวให้กระจายตัวไปยังเมืองต่าง ๆโดยเฉพาะในช่วง Low Season จํานวนไม่น้อยกว่า 300 กิจกรรม 

    1. เที่ยวทุกที่ หมายถึง พื้นที่เขตพัฒนาการท่องเที่ยวตาม พ.ร.บ. นโยบายการ ท่องเที่ยวแห่งชาติ ทั้ง 15 เขต และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง รวม 16 จังหวัด ครอบคลุม 77 จังหวัดในประเทศไทย  

    2. เที่ยวทั้งปี หมายถึง ในแต่ละพื้นที่ มีการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวครบตลอด 3 ฤดู  

    3. รายได้ดีไม่มีวันหยุด หมายถึง การจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวใน พื้นที่ต่าง ๆ เหล่านี้ จะทําให้เกิดการเดินทางไปใช้จ่าย และสร้างรายได้ ให้กับพี่น้องประชาชนได้โดยตรงทั้งปี  

  • สร้างเศรษฐกิจ ด้วยงานเทศกาล ปั้นเมือง สร้างงาน วางรากฐาน “ท้องถิ่นเข้มแข็ง” “ดึง” งานระดับโลกมาจัดที่ประเทศไทย “ดัน” งานเทศกาลไทยสู่ระดับโลก  

    การดึงงานกิจกรรมระดับนานาชาติ มาจัดในพื้นที่ศักยภาพ โดยมีการวางแผนการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการจัดงานอย่างเป็นระบบ ก่อให้เกิดการพัฒนาเมือง พัฒนาพื้นที่ เกิดการจ้างงาน และสร้างผล พลอยได้อื่น ๆ อีกมากมายตามแต่ละประเภทของงานกิจจกรรม ตั้งเป้าหมายสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจจากงานเทศกาลไม่น้อยกว่า5,000 ล้าน เช่น 
    – World Football Festival 
    – World Musical Firework 
    – TRI World Series 
    – World Music Festival  

    Wellness Resort of the World รักษา เมืองหลัก พักฟื้น เมืองรอง จุดหมายแห่งการ “รักษา” “พักผ่อน” และ “ฟื้นฟู” ร่างกายและจิตใจ ของประชากรโลก – ก่อนเกิดโควิด-19 จะมีทั้งชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และที่เดินทางมาเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ปีละไม่ต่ำกว่า 3.2 ล้านคน นํารายได้เข้าสู่ประเทศไม่ต่ำกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท ในนักท่องเที่ยว กลุ่มใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวแบบปกติถึง 53%  

    – เพื่อดึงจุดแข็งดังกล่าวมาสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ และสังคม จึง ต้องมีการพัฒนาระบบนิเวศน์โดยรวมโดยอาศัยจุดแข็งด้าน ทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม ให้ไทยเป็น จุดหมายแห่งการ “รักษา” “พักผ่อน” และ “ฟื้นฟู” ร่างกายและจิตใจ ของประชากรโลกสร้างคน สร้างงาน สร้างอาชีพ เช่น 

    1. พัฒนาเมืองรอง เพื่อรองรับการพักฟื้น  

    2. พัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการระดับชุมชนเข้าสู่มาตรฐาน เช่น สมุนไพร การ นวดไทย โค้ชด้านสุขภาพ ผู้ช่วยด้านสุขภาพ ฯลฯ 

    3. ยกระดับองค์ความรู้ทั้งในระดับมืออาชีพ และระดับชุมชน เช่น การพัฒนา หลักสูตร การจัดประชุมวิชาการ, นิทรรศการระดับโลก 

    Low Carbon Destination มุ่งสู่การท่องเที่ยวสมัยใหม่ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และชุมชน  

    เพิ่มพื้นที่ท่องเที่ยวคาร์บอนฯ ต่ำลดโลกร้อน รองรับการท่องเที่ยวสมัยใหม่ ตามแนวเศรษฐกิจ BCG  

    ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ และมีส่วน ร่วมกับกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฯ โดยครอบคลุมทั้งเรื่อง ที่พัก กิน เที่ยว เช่น ปั่นจักรยานท่องเที่ยวแทนการใช้รถยนต์ ทานอาหาร Low Carbon Menu ที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเป็นหลัก และเข้าพักในโรงแรมที่ใส่ใจ สิ่งแวดล้อม สร้างการยอมรับ และสร้างจุดยืนในเวทีโลก ตอบรับการเป็นจุดหมาย ปลายทางท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคํานึงถึงคนรุ่นหลัง 

พรรคเสรีรวมไทย

  • ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และความกินดีอยู่ดีของประชาชน โดยจะสนับสนุนให้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ควบคู่กับการรักษาแหล่งท่องเที่ยวเดิม โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ และการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเร่งรัดให้มีการพัฒนามาตรฐานการบริการ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนให้องค์การของรัฐและเอกชน ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตลอดจนการแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับระบบการค้าเสรี 

พรรคก้าวไกล

  • ส่งเสริมเทศกาลของแต่ละพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ . สนับสนุนเทศกาลและกิจกรรมในระดับสากล (เช่น เทศกาลวิ่ง ปั่นจักรยาน มาราธอน ให้ติดเทรนด์ระดับโลก) 
  • จัดให้มีพิพิธภัณฑ์ในทุกเมืองเพื่อเป็นจุดศูนย์กลางของการสร้างเรื่องเล่าในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พื้นที่ โดยพิพิธภัณฑ์ในแต่ละจังหวัดนั้นจะดูแลและบริหารโดยกลไกของท้องถิ่นเป็นสำคัญโดยภาครัฐส่วนกลางจะจัดสรรงบเพื่อสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวของท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ
  • แก้กฎกระทรวง ตาม พรบ. สำหรับสถานที่พักที่ไม่ใช่โรงแรม ให้เหมาะสมกับแต่ละประเภท ไม่ใช่ยึดมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด เช่น Homestay รับนักท่องเที่ยวได้ไม่เกิน 20 คน โดยมีเจ้าของบ้านพักอยู่ด้วย Camping ไม่มีสิ่งก่อสร้างถาวร Hostel รับนักท่องเที่ยวได้ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยไม่ได้พำนักร่วมกับเจ้าของบ้าน Hotel รับนักท่องเที่ยวได้ตั้งแต่ 40 คนขึ้นไป 
  • แก้ไข พ.ร.บ. โรงแรม ให้ถ่ายโอนอำนาจและหน้าที่ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อลดปัญหาคอขวดและความล่าช้าในการให้อนุญาตประกอบกิจการโรงแรม 
  • แก้ไขกฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร โดยกำหนดมาตรฐานอาคารที่ใช้ทำเป็นที่พักแรมให้ยึดตามประเภทของอาคาร และประเภทของที่พักแรมนั้น ๆ 
  • เปิดให้มี Visa เข้ามาทำงานระยะยาวขึ้นมาอีกประเภท ที่มีระยะสั้นกว่า LTR เดิม (1 ปี แต่สามารถต่อได้ทุกปี) แต่มีเงื่อนไขเรื่องรายได้ผ่อนปรนกว่าเงื่อนไขของ LTR อาทิ ลดจำนวนรายได้ต่อปี ไม่กำหนดวุฒิการศึกษา ไม่กำหนดรายได้ของบริษัทที่ทำให้ด้วย เพื่อให้มีเงื่อนไข Visa ที่สามารถดึงดูด Digital Nomad สู้กับประเทศอื่น ๆ ได้ 
  • สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงความยั่งยืน ผ่านการให้ผลตอบแทนเป็น Carbon Credit แก่ทั้งผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวสายสิ่งแวดล้อมที่มาใช้บริการ 

    ให้แรงจูงใจแก่โรงแรมที่มีเป้าหมาย Net-Zero Carbon โรงแรมที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100 % และโรงแรมที่ลงทุนปรับอาคารเป็นอาคารประหยัดพลังงาน โดยให้การสินเชื่อ Soft loan ดอกเบี้ยต่ำ การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลจากค่าใช้จ่ายที่ลงไปกับการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานและการลดคาร์บอน 

    ผลักดันให้เมืองท่องเที่ยวเป็นเมืองพลังงานหมุนเวียน 100% เช่น กระบี่ สมุย 

    ส่งเสริม Green MICE ตั้งเป้าหมายการเป็นศูนย์กลาง MICE ที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น Net-zero carbon conference, RE100 conference 
  • กำหนดเป็นเป้าหมายการเป็น medical hub ที่สอดคล้องกับเทรนด์ตลาดโลก เช่น บริการรักษาโรคมะเร็งโดยใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย ยกระดับธุรกิจเสริมความงาม 

    ทำ MOU กับบริษัทประกันหรือระบบประกันสุขภาพของประเทศที่มีนักท่องเที่ยวการแพทย์เป้าหมาย 

    สนับสนุนให้เกิด Wellness Economy ผ่าน Long Stay visa โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้สูงอายุต่างชาติที่มีรายได้สูง เช่น จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ กายภาพบำบัด จัดตั้งRetirement Center/Facility ตามจังหวัดในภูมิภาคต่าง ๆ โดยสร้างความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจโรงแรม 

ภาคประชาชน

  • ส่งเสริมให้แต่ละจังหวัด จัดทำโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด เพื่อนำรายได้เข้าสู่จังหวัด

นโยบายฟื้นฟูประมงไทย

พรรคการเมือง

พรรคเพื่อไทย

  • ยกเลิก พ.ร.ก. ที่เป็นผลพวงรัฐประหารทันที และบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉบับใหม่ที่ร่วมเขียนโดยพี่น้องชาวประมงตัวจริง เพราะการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ทำให้พี่น้องประชาชนต้องสูญเสียอาชีพ เสียรายได้ เป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท 
  • เร่งเจรจาข้อตกลง IUU (Illegal Unreported and Unregulated fishing) ใหม่โดยตรงกับสหภาพยุโรป (EU) เพื่อแก้ไขและปรับปรุงข้อตกลง โดยเคารพบทบัญญัติของกฎหมายทะเลและแผนปฏิบัติการขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) อย่างเป็นธรรมและโปร่งใส หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจากการสนับสนุนของประชาชน เราจะมีความน่าเชื่อถือในเวทีการเมืองโลก ทำให้การเจรจากับต่างชาติไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป 
  • ปลดล็อกประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก ไม่ต้องขออนุญาต ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียน ให้พี่น้องได้ทำมาหากินอย่างเท่าเทียม จากปัญหาความไม่เป็นธรรมทางกฎหมายที่ผ่านมาทำให้ประมงพื้นบ้านขนาดเล็กเหลืออยู่เพียง 600,000 ครัวเรือน จาก 22 จังหวัดที่มีประมงหล่อเลี้ยงชีวิต พรรคเพื่อไทยจะลดอุปสรรค ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ประกอบอาชีพอย่างเท่าเทียมอีกครั้ง 
  • ฟื้นฟูเศรษฐกิจประมงและทรัพยากรทางทะเล ด้วยการกำหนดทิศทางพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืน คืนโอกาสเรือประมงพาณิชย์ไทยที่หายไปกว่า 52 % และฟื้นศักยภาพทางทะเลไทยที่สูญเสียไป เราจะพัฒนาและอนุรักษ์การประมงไทยให้กลับมามั่นคงในระยะยาว 

พรรคก้าวไกล

  • ปลดล็อกกฎหมาย คืนชีวิตเรือประมงนอกน่านน้ำ ภายใต้กติกาสากล และ ช่วยเจรจาหาประเทศปลายทางอนุญาตให้เรือประมงไทยสามารถทำการประมงนอกน่านน้ำไทยได้ 
  • ขยายพื้นที่เรือประมงพื้นบ้าน – เรือเล็กทำการประมงนอกเขต 3 ไมล์ทะเลได้ (ห้ามเรือใหญ่เข้าเขต 3 ไมล์ทะเลเหมือนเดิม) 
  • เพิ่มสัดส่วนชาวประมงพื้นบ้านในคณะกรรมการประมงจังหวัด เพื่อร่วมกำหนดกติกาทำการประมงภายในเขต 12 ไมล์ทะเล ทั้งขนาดเรือ, ประเภทเครื่องมือ, พื้นที่, ช่วงเวลาหรือฤดูทำประมงว่าช่วงใดทำได้/ไม่ได้ และลด สัดส่วนราชการ ใน คกก.ประมงจังหวัด 
  • การกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการลดปริมาณการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ทั้งการควบคุมเครื่องมือประมง และการควบคุมช่องทางการจำหน่ายสัตว์น้ำวัยอ่อน
  • อำนวยความสะดวกให้ประมงพื้นบ้าน ต่อทะเบียนเรือและใบอนุญาตทำการประมงผ่านมือถือได้สะดวก ไม่ต้องเดินทางซ้ำซ้อน 
  • แถมประกันภัยเรือล่มเอกชนให้ประมงพื้นบ้าน วงเงินประกันไม่เกิน 250,000 บาท/ลำ 
  • เพิ่มการอำนวยความสะดวกบริการภาครัฐให้ชาวประมง ต่อทะเบียนเรือผ่านมือถือได้ ขอใบอนุญาตทำการประมงได้พร้อมกัน ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง ทำเอกสารหลายครั้ง
  • สร้างสวัสดิการรองรับให้พี่น้องชาวประมง ด้วยการจูงใจให้ชาวประมงนำเรือประมงมาขึ้นทะเบียนเรือ/ต่ออายุทะเบียนเรือให้ถูกต้อง โดยรัฐจะแถมประกันภัยเรือล่มเอกชน วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท หรือ 50,000 บาท/ตันกรอส ให้เลย
  • ตัดความซ้ำซ้อนของเอกสารในการใช้แรงงานต่างด้าวในการประมง – เรือประมงในราชอาณาจักรใช้บัตรชมพู หรือ Seabook ทดแทนกันได้ 
  • เปลี่ยนการลงโทษจากเน้นที่ ปรับ/จำคุก เป็น โทษกักเรือ โดยอาจพิจารณาเพิ่มโทษในกรณีที่กระทำผิดซ้ำ ดูที่เจตนาการกระทำผิดควบคู่ในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อเน้นลงโทษเฉพาะเรือประมงที่เจตนาตั้งใจทำผิดกฎหมาย มากกว่า ความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆ
  • ซื้อเรือประมงที่โดนกระทบจาก IUU ทั้ง 3,000 ลำ ซึ่งรัฐบาลประยุทธ์สัญญาไว้แต่ยังไม่ซื้อคืน

พรรคประชาธิปัตย์

  • ข้อเสนอให้แก้ไขบทบัญญัติใน พ.ร.ก.ประมง (1) คลายความเข้มงวดโดยเฉพาะบทลงโทษที่รุนแรง เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจประมงไทย สามารถเดินหน้าต่อไปได้ (2) แก้ไขปัญหาแรงงานในธุรกิจประมง ที่ยังขาดแคลนและถูกจํากัดด้วยเงื่อนไขกฎหมาย (3) การเยียวยาจาก รัฐบาลต่อผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย รวมถึง การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าสัตว์น้ำที่ตกต่ำ เป็นต้น
  • สนับสนุนเงินทุนให้ กลุ่มละ 100,000 บาท ทุกปี สําหรับการพัฒนาศักยภาพของชาวประมงท้องถิ่นให้สอดคล้องกับความต้องการ และสภาพของแต่ละชุมชน โดยสามารถทํากิจกรรมจากเงินทุน สนับสนุนได้เช่น (1) กิจกรรมพัฒนาอาชีพประมง (2) กิจกรรมเพิ่ม ผลผลิตสัตว์น้ำ (3) เพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ และ (4) การถ่ายทอดเทคโนโลยี และเพิ่มทักษะการทําการประมง

ภาคประชาชน

  • ข้อเสนอการปัญหาประมงไทย จากสมาคมประมงแห่งประเทศไทย และเครือข่ายกลุ่มพี่น้องชาวประมง 22 จังหวัด 

    1.ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการประมงทั้งหมดหยุดออกกฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศคำสั่งที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมง 

    2.ให้มีการเสนอแก้ไขกฎหมาย พ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยเร่งด่วนในช่วงการประชุมสภานิติบัญญัติ 

    3.ให้รัฐบาลเร่งซื้อเรือประมงออกนอกระบบคืนโดยเร็ว โดยขอให้รัฐบาลตั้งงบจำนวน 10,000 ล้านบาท ในการนำเรือออกนอกระบบ 

    4.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการช่วยเหลือชาวประมงในโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับชาวประมง 

    5.ขอให้กรมประมง กรมการจัดหางานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการอนุญาตให้ใช้กฎหมายมาตรา 83 แห่ง พ.ร.ก. การประมง ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน 

    6.ขอให้ยกเลิก แก้ไข กฎหมายที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่ส่งผลกระทบให้กับชาวประมง 

    7.เรือขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอส ไม่ควรมีนโยบาย VMS 

    8.ขอให้หยุดการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าสัตว์น้ำของไทย 

    9.ขอให้พิจารณาเพิ่มวันทำประมง 

    10.ขอให้คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรทบทวนแนวทางที่จะบังคับให้บริษัทจำหน่ายน้ำมัน บังคับให้ชาวประมงจ่ายผ่านบัตรฟลีทการ์ด (Fleet Card) ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้ชาวประมง 

    11.ขอให้มีการทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวประมงกรณีที่ถูกบังคับให้ใช้กฎหมายประมงที่ไม่เป็นธรรมโดยตั้งคณะกรรมการพิจารณา 

ทั้งนี้ข้อเสนอนโยบายเป็นข้อมูลที่ปรากฎเป็นรูปธรรมและ Open Data ส่วนถ้าหากใครมีข้อเสนอและทางออกของแต่ละปัญหาเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ก็สามารถเข้าไปเติมต่อได้ที่ เว็บไซต์ Yourpriorities.yrpri.org

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ