เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 อาสานักข่าวพลเมือง จับตาเลือกตั้ง 66 ลงพื้นที่สังเกตการณ์การจัดการเลือกตั้ง พบหลายพื้นที่ยังมีปัญหาโดยเฉพาะเรื่องการอำนวยความสะดวกผู้สูงอายุและผู้พิการ ซึ่งมีการรายงานปักพิกัดสะท้อนเสียงของผู้ไปใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน C-site
1.จุดเลือกตั้งล่วงหน้าไม่รองรับผู้สูงอายุและผู้พิการ
พิกัด บริเวณอาคารศูนย์ประสานแผนอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
“ที่นี่มีจำนวนผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต 3 จำนวน 60 คน แต่มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกเขตจำนวน 2,992 คน ถือว่าเยอะเป็นอันดับ 2 รองจากทั้ง 5 เขตเลือกตั้งกลางในจังหวัดพิษณุโลก มีหลายคนที่มาจากเขตใกล้ ๆ เช่น เขต 1 อ.เมืองพิษณุโลก เพราะทราบมาว่ามีคนลงทะเบียนเขต 1 กว่า 10,000 คน จึงมีหลายคนที่เลือกมาเขต 3 เพราะระยะทางห่างกันเพียง 17 กิโลเมตร ลดความแออัด โดยรวมเหตุการณ์เรียบร้อยดี” นายทง อยู่คง ผู้อำนวยการประจำหน่วยเลือกตั้งที่ 3 จ.พิษณุโลก กล่าว
จากสังเกตการณ์ของนักข่าวพลเมืองพบว่า สถานที่เลือกตั้งล่วงหน้าสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุค่อนข้างลำบาก ด้วยอยู่บนชั้น 2 และไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ลิฟท์สำหรับผู้พิการหรือทางลาดเอียง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องช่วยกันหามผู้สูงอายุ ผู้พิการขึ้นไปชั้น 2 เพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้
สิทธิพงษ์ พุ่มจันทร์ รายงาน
พิกัด ศูนย์แสดงสินค้าโอท็อป องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี
บรรยากาศการเลือกตั้งล่วงหน้าครึ่งเช้าเป็นไปด้วยความคึกคัก ประชาชนหนุ่มสาว รวมทั้งคนชรา ผู้พิการตื่นตัวออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าแน่นบางรายต่อแถวยาวนับชั่วโมง การอำนวยความสะดวกผู้พิการไม่ดีเท่าที่ควร
คุณยายพุ่มศรี อายุ 84 ปี ข้าราชการบำนาญ เปิดเผยว่าปกติตนเองอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธ์ แต่ด้วยสุขภาพไม่ดีจึงได้มาอยู่กับลูกชายที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้ประมาณ 1 ปี พอมีการเลือกตั้งจึงได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าแล้วเข้ามาใช้สิทธิ์วันนี้ ซึ่งคนเยอะมากแต่โชคดีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยคอยอำนวยความสะดวกให้ไม่ต้องต่อคิวยาวหากต้องต่อคิวก็ไม่รู้ว่าจะได้ใช้สิทธิ์ตอนไหน ส่วนตัวแล้วคิดว่าก็ไม่ได้ลำบากมากพอทนได้
ส่วนที่อยากเสนอแนะคือการติดป้ายบอกให้ชัดเจนทางเข้าหน่วย จุดบริการต่างๆให้ชัดเจนเพราะคนต่างจังหวัดบางที่ไม่ทราบว่าต้องไปทางไหนอย่างไร ทั้งนี้ตนอยากจะขอเชิญชวนผู้ที่มีสิทธิ์ออกมาใช้สิทธิ์เลือกรัฐบาลมาบริหารประเทศจะเลือกใครก็แล้วแต่เพราะคนเราคิดไม่เหมือนกัน
ขณะที่ นางสุบรรณ อายุ 67 ปี ชาวอำเภอดอนมดแดง ผู้พิการที่ต้องเดินทางมาสถานที่ลงคะแนนระยะทางกว่า 40 กิโลเมตรต้องมานั่งพักเหนื่อยอยู่ริมฟุตบาทเนื่องจากเป็นผู้พิการและมีโรคประจำตัว ไม่สามารถเดินเข้าต่อคิวด้านในด้าน นางสุบรรณเปิดเผยว่า ตนเองเดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าพร้อมกับครอบครัว 4 คน โดยลูกและหลานเดินเข้าไปก่อนตนไปไม่ไหวจึงได้นั่งพักกับพื้นตามที่เห็น ส่วนการมาเลือกตั้งนี้มีคนมารับลงทะเบียนล่วงหน้าให้ที่บ้านตนเองก็ไม่ทราบว่าเป็นใครทราบแต่เพียงว่าให้คนพิการมาลงเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่นี้ตนจึงได้มาพร้อมกับครอบครัว แต่เมื่อมาถึงก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่แนะนำหรืออำนวยความสะดวกเลย
สุชัย เจริญมุขยนันท รายงาน
2.มีการประชาสัมพันธ์น้อยเกินไป
บรรยากาศการเลือกตั้งล่วงหน้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้ง 5 เขต เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้ากว่าสองหมื่นคนทยอยกันเดินทางไปใช้สิทธิทั้งวัน ในหน่วยเลือกตั้งกลางทั้ง 5 เขต ได้แก่
เขต 1 ห้างเซ็นทรัล สาขาอยุธยา อ พระนครศรีอยุธยา
เขต 2 โรงเรียนวัดอินกัลยา อ.บางปะหัน
เขต 3 โรงเรียนวิเชียรกลิ่นสุคนธ์อุปถัมภ์ อ.วังน้อย
เขต 4 โรงเรียนบางปะอินราชานุเคราะห์ 1 อ บางปะอิน
เขต 5 วัดบ้านแพน อ.เสนา
โดยประชาชนมีข้อเสนอแนะในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ ที่มีน้อยมาก ๆ ทั้งการลงทะเบียน และสถานที่เลือกตั้งกลาง
ทั้งนี้พบว่ามีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า แต่ไม่ได้กดยืนยัน ทำให้ไม่มีรายชื่อที่หน่วยเลือกตั้งกลางเป็นจำนวนมาก
ขณะที่มีผู้ลงทะเบียนล่วงหน้าในเขตหลายคน เดินทางไปเลือกตั้งผิดที่ เนื่องจากสถานที่เลือกตั้งกลางสำหรับผู้เลือกตั้งล่วงหน้าในเขต จัดเตรียมไว้ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอของแต่ละเขต ซึ่งอยู่คนละจุดกับสถานที่เลือกตั้งกลางสำหรับผู้เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต
เขต 1 ห้องประชุม อำเภอพระนครศรีอยุธยา
เขต 2 ห้องประชุมอำเภอบางปะหัน
เขต 3 ห้องประชุมอำเภอวังน้อย
เขต 4 โรงเรียนบางปะอิน(วัดเซ)
เขต 5 ห้องประชุมอำเภอเสนา
มีข้อสังเกตว่าหน้าห้องประชุมแต่ละแห่ง ไม่มีป้ายไวนิลประชาสัมพันธ์ ว่าเป็นจุดเลือกตั้งกลางในเขต บางแห่งมีเพียงกระดาษ A4 เขียนแปะเอาไว้หน้าห้องประชุมว่าเป็นจุดเลือกตั้งเท่านั้น
เช่นเดียวกับประชาชนอีกจำนวนหนึ่งในเขตที่เข้าใจผิดว่าสามารถมาเลือกตั้งล่วงหน้าก่อนได้ โดยไม่รู้ว่าต้องลงทะเบียนมาก่อน
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งและอาสาสมัครต่างช่วยกันอำนวยความสะดวกประชาชนอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การตรวจสอบรายชื่อ เซ็นชื่อรับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบและซองจดหมาย กาบัตรลงคะแนน และให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องก่อนปิดผนึกซองเพื่อส่งไปยังเขตเลือกตั้งในจังหวัดต่างๆ
สำหรับการสังเกตการเลือกตั้ง เป็นไปอย่างเงียบเหงา ที่หอประชุมอำเภอพระนครศรีอยุธยามีผู้แทนพรรคการเมืองเพียง 1 รายมาสังเกตการเลือกตั้ง ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเอาไว้ 117 ราย
สันติ โฉมยงค์ รายงาน
3.แอป Smart Vote ระบุสถานที่ไม่ตรงกับที่อำเภอจัดไว้
ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าสิชลวุ่น แอปฯ กกต.ระบุสถานที่ชัดเจนคืออำเภอเก่า แต่ไปถึงแล้วผู้ใช้สิทธิพบว่าต้องไปใช้สิทธิที่อำเภอใหม่ ซึ่งห่างกันเกือบ 6 กิโลเมตร
นักข่าวพลเมือง ศูนย์ข่าวทะเลใต้รายงานจากหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับการเปิดเผยจาก นายนัฐกฤต ด่านวัชระกุล วิศวกรกองแบบแผน กระทรวงสาธารณสุข ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ว่าตั้งแต่เวลาเช้า 08.00 น. ซึ่งเป็นเวลาเปิดหีบให้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ตนพร้อมภรรยาซึ่งมีภูมิลำเนาในจังหวัดนนทบุรี แต่รับราชการอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าผ่านแอพพลิเคชั่น Smart Vote ซึ่งระบุให้มาใช้สิทธิ ณ ที่ว่าการอำเภอสิชลหลังเก่า เมื่อไปถึงได้มีผู้มาใช้สิทธิหลายรายทยอยกันมาที่ว่าการอำเภอสิชล(หลังเก่า) ข้างเทศบาลตำบลสิชลตามที่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในเอกสารลงทะเบียนล่วงหน้าจากแอพพลิเคชั่น Smart Vote ของ กกต. ระบุสถานที่ลงคะแนนใช้สิทธิล่วงหน้าคืออาคารที่ว่าการอำเภอหลังเก่า แต่เมื่อชาวบ้านไปถึงกลับพบเพียงกระดาษเขียนและพิมพ์หลายแผ่นแปะไว้ตามเสา ประตู หน้าต่างอาคารที่ว่าการอำเภอหลังเก่าแจ้งให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ณ ที่ว่าการอำเภอใหม่ซึ่งอยู่ห่างไปถึง 6 กิโลเมตร ผู้ใช้สิทธิหลายคนซึ่งไม่สะดวกกับการเดินทาง แต่ไม่ต้องการเสียสิทธิการเลือกตั้งจึงต้องไปเดินหาเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งไม่มีวินอยู่แถวนั้น และต้องจ่ายค่าเดินทางไปกลับเป็นเงินกว่า 100 บาท เป็นความยุ่งยากในการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ที่ กกต.หรือเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องนำไปพิจารณาแก้ไขก่อนถึงวันเลือกตั้งจริง 14 พ.ค. นี้
ศูนย์ข่าวทะเลใต้ รายงาน
4.การเลือกตั้งมีการจ่าหน้าซองจดหมาย เขียนผิดจังหวัด
พิกัด ลานอเนกประสงค์ ที่ว่าการอำเภอแม่สอด เป็นหน่วยกลางในการใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าเขต 2 อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ และ อำเภออุ้มผาง มีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าอย่างคึกคัก โดยหลายท่านเดินทางมาจากต่างจังหวัดมีเหตุเนื่องจากว่าไม่สามารถออกมาใช้สิทธิ์ในวันมาเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมได้ บางส่วน เป็น เจ้าหน้าที่รัฐ และ ผู้ที่มาทำงานในพื้นที่แม่สอด จึงมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าทำให้บรรยากาศคึกคัก ซึ่งทางเขตนี้มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าโดยประมาณ 2,000 กว่ารายชื่อ โดยเวลาผ่านไปประมาณครึ่งวัน จากการประเมินสถานการณ์คาดว่าวันนี้มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ ไปแล้วกว่า 1,000 คน โดยสภาพการจราจรโดยรอบ ถือว่าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้การอำนวยความสะดวก และมีทีมเจ้าหน้าที่จากโรงเรียนสรรพวิทยาคม คณะครู และข้าราชการในสังกัดภายในพื้นที่อำเภอแม่สอด อำนวยความสะดวกในการจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้
ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลในการเลือกตั้งในครั้งนี้คือ การจ่าหน้าซองจดหมาย มีการเขียนผิดจังหวัด การหย่อนกล่อง เข้าเขตพื้นที่ในจังหวัดที่ตัวเอง มีสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้นเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง อีกหนึ่งหน่วย ว่าจะมีความผิดพลาด อะไร ที่ส่อไปทางผิดกฏหมายเลือกตั้ง หรือไม่
อดิศรา เจแปน ขัดต๋า รายงาน
5.จุดเลือกตั้งขาดการอำนวยความสะดวก
พิกัด โรงเรียนราชประชาสมาสัย ต.ลัดหลวง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งจากจังหวัดต่าง ๆมาใช้สิทธิ์ที่เขต 6 โรงเรียนราชประชาสมาสัย ฝ่ายมัธยม อย่างคึกคักหนาตา
ในพื้นที่มีการอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้สิทธิ์ด้วยอาสาสมัครในพื้นที่ แต่มีจุดสังเกตที่ต่างจากกรุงเทพมหานครอยู่ 2 ข้อคือ 1. ไม่มี QR Code แสกนเพื่ออำนวยความสะดวก 2. ไม่มีการลำดับหมายเลขตามหน่วยเลือกตั้งชุดต่าง ๆ ทำให้ไม่ทราบจำนวนที่ชัดเจน นอกจากจะสอบถามจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขต
เขตการเลือกตั้งที่ 6 โรงเรียนราชประชาสมาสัย มีหน่วยหรือชุดการเลือกตั้งจำนวน 19 หน่วย คาดการณ์ว่าสามารถรองรับผู้มาใช้สิทธิ์ได้กว่า 8,000 คน
Prem Jirapong รายงาน
ทั้งนี้ มีการรายงานจากเครือข่ายประชาชนสมุทรปราการสังเกตการเลือกตั้ง 66 เสนอข้อเรียกร้องต่อประชาชนฝ่ายต่าง ๆ 3 ข้อ
1. ขอให้ กกต. ทำหน้าที่อย่างโปร่งใส เป็นธรรม เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งต่อสาธารณะโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแบ่งเขตเลือกตั้ง การเปิดเผยผลคะแนนรายหน่วยผ่านระบบออนไลน์ สนับสนุน ให้ความสำคัญ และร่วมมือกับประชาชนทุกฝ่ายที่ต้องการเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง
และร่วมมือกับประชาชนทุกฝ่ายที่ต้องการมี ส่วนร่วมในการรณรงค์เลือกตั้ง ประชาธิปไตยและเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง
2. ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยในช่วงก่อนวันเลือกตั้งนับต่อจากนี้ไป เช่น คุ้มครองให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่โดยไม่ถูกคุกคาม ให้
พรรคการเมืองใช้พื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในความดูแลของรัฐเพื่อรณรงค์การเลือกตั้ง คุ้มครองให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่โดยไม่ถูกคุกคาม ให้พรรคการเมืองใช้พื้นที่
และสิ่งอำนวยความสะดวกที่อยู่ในความดูแลของรัฐอย่างเท่าเทียม ในการหาเสียงเลือกตั้ง และควบคุมมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใด ๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
3. ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนในทุกเขตเลือกตั้งเข้าร่วมการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึงโดยลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครฯ หรือส่งข้อมูลความผิดปกติหรือสถานการณ์การเลือกตั้งในเขตของตนเองทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังวันเลือกตั้ง แก่ “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566″ผ่านทางเว็บไซต์ Vote62.com
การเลือกตั้งต้องเป็นของประชาชน ต้องไม่เป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมืองที่ไร้ความหมายต่อประชาชนอีกต่อไป
ธนพัต รายงาน
สำหรับผู้มาใช้สิทธิล่วงหน้า วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง สรุปจำนวนผู้มาใช้สิทธินอกเขตเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้ง และ ณ ที่เลือกตั้งกลาง สำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ
ผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ก่อนวันเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง
ผู้ลงทะเบียน จำนวน 60,786 คน
ผู้มาใช้สิทธิ 57,362 คน
คิดเป็นร้อยละ 94.37 โดยประมาณ
ผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ก่อนวันเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง
ผู้ลงทะเบียน จำนวน 2,222,380 คน
ผู้มาใช้สิทธิ จำนวน 2,030,628 คน
คิดเป็นร้อยละ 91.37 โดยประมาณ
ผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ก่อนวันเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลาง สำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 2,356 คน
ผู้มาใช้สิทธิล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง จำนวน 1,372 คน
ผู้มาใช้สิทธิล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง จำนวน 752 คน
รวมจำนวน 2,124 คน
คิดเป็นร้อยละ 90.15 โดยประมาณ