ภาพวาดเหตุการณ์ยุติสงครามระหว่าง พคท.ที่ จ.น่านกับฝ่ายทหาร แสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ทหารทุ่งช้าง ริมทางหลวงหมาลขเลข 101
ระหว่างสงครามประชาชนกับอำนาจรัฐเมื่อ 40-50 ปีก่อน จังหวัดน่านเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการสู้รบกันอย่างดุเดือด ‘บ้านห้วยโก๋น’ อ.ทุ่งช้าง ใกล้ชายแดนประเทศลาว เป็นสมรภูมิหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายได้สละชีพหลั่งเลือดชโลมดิน…
ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพภาคที่ 3 บันทึกเหตุการณ์สู้รบครั้งสำคัญตอนหนึ่งว่า….”ครั้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2514 ได้มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ประมาณ 200 คน วางกำลังหวังจะเข้าตีฐานทหารไทยซึ่งมีกำลังเพียง 64 นาย จนเวลาประมาณ 05.20 น. กำลังของทหารไทยที่มีขีดความสามารถปกป้องฐานเหลือน้อย จึงได้ทำการร้องขอยิงปืนใหญ่ชนวนแตกอากาศเหนือบริเวณฐาน ทำให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก…
เหตุการณ์ครั้งนั้น ทหารไทยผู้กล้า จำนวน 17 นาย ได้เสียชีวิต และมีทหารบาดเจ็บอีก 31 นาย ส่วนผู้ก่อการร้าย เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 30 คน และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก….”
เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า-การท่องเที่ยว
ไม่ไกลจากสมรภูมิบ้านห้วยโก๋น อ.ทุ่งช้าง มากนัก ‘สำนัก 708’ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซุกซ่อนตัวอยู่ในหุบเขา ‘ภูพยัคฆ์’ (ขณะนั้นภูพยัคฆ์ขึ้นอยู่กับบ้านน้ำรี ต.ขุนน่าน อ.บ่อเกลือ) ที่นี่ถือเป็นศูนย์บัญชาการของ พคท. มีผู้นำคนสำคัญหลายคนของ พคท.อาศัยอยู่ที่นี่
ด้วยชัยภูมิที่เหมาะสม มีแนวภูเขาสูงของประเทศลาวเป็นปราการธรรมชาติโอบล้อมถึง 3 ด้าน สำนัก 708 (ตั้งชื่อตามวันเสียงปืนแตกครั้งแรก 7 สิงหาคม พ.ศ.2508) ภูพยัคฆ์จึงตั้งมั่นอยู่เรื่อยมา เป็นฐานบัญชาการของ พคท.สู้รบกับอำนาจรัฐไทยยาวนานหลายปี
จนเมื่อสถานการณ์สงครามเย็นของโลกเปลี่ยนไป ประกอบกับการนำนโยบาย ‘66/2523’ หรือ “การเมืองนำการทหาร” ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มาใช้ ทำให้ พคท.ได้รับผลกระทบ บรรดานักศึกษา ปัญญาชน ตลอดจนมวลชนต่างวางอาวุธ ทยอยคืนจากป่าสู่เมือง ราวปี 2525 การสู้รบในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศจึงยุติลง
ที่จังหวัดน่าน มวลชนและนักรบ พคท.ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวม้ง ลัวะ วางปืนและหันมาจับจอบเสียม ปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด น้ำเต้า ฟัก แฟง ฯลฯ หาเลี้ยงปากท้องและครอบครัว
ที่ชายแดนบ้านห้วยโก๋น เป็นพื้นที่ติดต่อกับเมืองเงิน แขวงไซยะบุลีของลาว แต่เดิมถือเป็นหลังพิงของ พคท. สภาพพื้นที่เป็นป่าเขาและภูเขาสูง สภาพเส้นทางเป็นดินลูกรัง ต้องใช้ช้างหรือเดินเท้าข้ามแดนด้วยความยากลำบาก เมื่อสงครามยุติจึงมีการปรับปรุงเส้นทาง เป็นถนนลาดยาง และเปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวรเพื่อค้าขายระหว่างไทย-ลาวในปี 2537
ขณะที่ตำบลห้วยโก๋น อ.ทุ่งช้าง และตำบลขุนน่าน อ.บ่อเกลือ ในปี 2539 ทางราชการได้จัดตั้งขึ้นเป็นอำเภอเฉลิมพรระเกียรติ เนื่องในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ครองราชย์ครบ 50 ปี
ในปี 2546 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่ป่าต้นน้ำบริเวณภูพยัคฆ์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดอยภูคาและป่าผาแดง ตำบลขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ ทอดพระเนตรเห็นพื้นที่ป่าต้นน้ำกลายสภาพเป็นพื้นที่ทำไร่ของชาวม้ง (อดีตนักรบและมวลชนของพคท.) จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง ‘สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริภูพยัคฆ์’ ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 10,000 ไร่
ปัจจุบันสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริภูพยัคฆ์ เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรแผนใหม่ และการเกษตรยั่งยืน รวมถึงการทำการเกษตรปลอดสารพิษและครบวงจร ตั้งแต่การปลูก แปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกหม่อนผลสดหรือมัลเบอร์รี่ และกาแฟภูพยัคฆ์ มีคำขวัญว่า “เที่ยวภูพยัคฆ์ กินผักปลอดสาร ชมตำนานผู้กล้า ชิมกาแฟรสเลิศ พิชิตยอดภู”
ส่วน ‘สำนัก 708’ อดีตศูนย์บัญชาการ พคท.ที่ภูพยัคฆ์ บ้านน้ำรี ต.ขุนน่าน ปัจจุบันเป็นสถานที่จัดตั้ง ‘อนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์’ เพื่อจัดแสดงแหล่งประวัติศาสตร์ทางการเมือง มีบ้านพักของอดีตผู้นำ พคท. อุโมงค์หลบภัยทางอากาศ ฯลฯ ทุกปีจะมีการจัดงานรำลึกการต่อสู้ของวีรชน
เช่นเดียวกับกองทัพภาคที่ 3 ได้จัดตั้ง ‘อนุสรณ์สถานยุทธภูมิบ้านห้วยโก๋น’ เป็นพิพิธภัณฑ์ทหารกลางแจ้ง เพื่อรำลึกถึง 17 ทหารกล้าที่พลีชีพจากเหตุการณ์สู้รบในปี 2514 นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์วีรกรรม พลเรือน ตำรวจ ทหาร และพิพิธภัณฑ์ทหารทุ่งช้าง ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 101 น่าน-ทุ่งช้าง
ถนนสู่ชายแดน…เสียงจาก ‘คนบ้านปางหก’
บ้านปางหก ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ (เดิมขึ้นอยู่กับ อ.ทุ่งช้าง) ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 101 เส้นทางที่จะไปชายแดนห้วยโก๋น-เมืองเงิน และเข้าสู่หลวงพระบาง ประเทศลาว อยู่ห่างจากชายแดนประมาณ 17 กิโลเมตร มี 92 ครัวเรือน ประมาณ 300 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด และทำนา พื้นที่เกือบทั้งอำเภออยู่ในเขตป่าไม้ กรมป่าไม้ดูแล
ปริญญา ท้าวคาม แกนนำชาวบ้านปางหก และสมาชิก อบต.ห้วยโก๋น บอกว่า บ้านปางหกและหมู่บ้านต่างๆ ในตำบลห้วยโก๋น ในอดีตเคยเป็นพื้นที่สู้รบระหว่างทหารกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ประมาณปี 2510 มีการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ มีการปลุกระดมชาวบ้านให้เข้าร่วมต่อสู้ แต่ชาวบ้านเกิดความกลัวว่าจะถูกทางการปราบปรามจับกุม จึงพากันอพยพครอบครัวไปอยู่ที่อื่น ปล่อยให้หมู่บ้านทิ้งร้าง พอถึงปี 2520 เหตุการณ์เริ่มสงบ ชาวบ้านจึงอพยพกลับมาอยู่ที่เดิม
“แต่ตอนนี้ มีการเปิดการค้าชายแดน มีรถขนส่งสินค้าข้ามแดนไทย–ลาว ทำให้ถนนคับแคบ เพราะเป็นถนน 2 เลน และเป็นเส้นทางขึ้นเขา กรมทางหลวงจึงจะขยายถนนให้เป็น 4 เลน เพื่อให้รถวิ่งได้สะดวก รวดเร็ว แต่ก็จะทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ เพราะชาวบ้านปลูกบ้านอยู่ริมถนน จะต้องโดนเวนที่ดินคืน ยังไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน เพราะที่ห้วยโก๋น พื้นที่ส่วนใหญ่ก็เป็นป่าเขา”
แกนนำชาวห้วยโก๋นบอกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านจะต้องอพยพ ย้ายบ้านเรือนอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ใช่จากลูกระเบิดหรืออาวุธปืน แต่เป็นความเจริญ เป็น ‘สงครามรูปแบบใหม่’ ที่กำลังจะเกิดขึ้น
ทั้งนี้นับแต่สงครามช่วงชิงอำนาจรัฐยุติลง การค้าชายแดนไทย-ลาวขยายตัว เส้นทางจากจังหวัดแพร่-น่านขยายเป็น 4 เลน และจากน่าน-อ.ทุ่งช้าง-อ.เฉลิมพระเกียรติ-ห้วยโก๋น ระยะทางประมาณ 140 กิโลเมตรกำลังขยายเป็น 4 เลนเช่นกัน (บางช่วงขยายแล้ว) เพื่อให้การเดินทางมีความสะดวก รวดเร็ว ร่นเวลาได้ไม่ต่ำกว่า 3-4 ชั่วโมง โดยเฉพาะช่วงจาก อ.ทุ่งช้าง-อ.เฉลิมพระเกียรติก่อนถึงชายแดนห้วยโก๋น เป็นเส้นทางขึ้น-ลงเขา มีความคับแคบ มีรถยนต์บรรทุกหนาแน่น ไม่สามารถแซงบนภูเขาได้
ขณะที่ข้อมูลจากกรมทางหลวง สำนักงานจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า เส้นทางช่วงที่จะขยายจากอำเภอทุ่งช้าง (เริ่มจากตำบลปอน) ไปยังอำเภอเฉลิมพระเกียรติ-ชายแดนห้วยโก๋น มีระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร เดิมเป็น 2 ช่องทางจราจร จะขยายเป็น 4 ช่องจราจร จะต้องขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ประมาณข้างละ 40 เมตร เพื่อก่อสร้างทาง กองวัสดุ ฯลฯ ถนนที่สร้างใหม่จะมีความกว้างฝั่งละ 12 เมตร บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งประมูลงานได้แล้วในราคาประมาณ 1,600 ล้านบาท ตามแผนงานจะเริ่มก่อสร้างภายในเดือนพฤษภาคมนี้
ตอง ท้าวคาม ชาวบ้านปางหก อายุ 46 ปี บอกว่า บ้านตั้งอยู่ริมถนน ตรงข้ามโรงเรียนปางหก อยู่กัน 6 คน ครอบครัวมีอาชีพปลูกข้าวไร่ มันสำปะหลัง ถ้าสร้างถนนใหม่ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน เพราะยังไม่มีหน่วยงานไหนมาบอก หรือจะรองรับเรื่องที่อยู่อาศัยกันอย่างไรก็ยังไม่รู้
ปริญญา แกนนำชาวบ้าน เสริมว่า กรมทางหลวงเคยมาสำรวจแนวถนนและวัดพื้นที่ริมถนน เอาหมุดมาปักตั้งแต่ปี 2563 แล้ว แต่ตอนนั้นเป็นช่วงโควิดจึงยังไม่ได้ทำ เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการประชุมที่ อบต.ห้วยโก๋น มีนายอำเภอเฉลิมพระเกียรติ มีตัวแทนกรมทางหลวงจังหวัดน่าน และเจ้าหน้าที่ พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน องค์การมหาชน) และตัวแทนชาวบ้านร่วมประชุม
“กรมทางหลวงบอกว่าจะเริ่มทำถนนในเดือนพฤษภาคมนี้ ส่วน พอช.บอกว่าจะช่วยเรื่องงบประมาณทำบ้านพักชั่วคราว งบรื้อย้ายไม่เกินครอบครัวละ 18,000 บาท และจะทำโครงการบ้านมั่นคงต่อไป แต่จะต้องให้กรมทางหลวงทำหนังสือยืนยันมาก่อนว่าจะต้องให้ชาวบ้านรื้อย้ายเพื่อทำถนน และให้ อบต.ห้วยโก๋นและทางอำเภอทำเรื่องขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้เพื่อรองรับชาวบ้าน เพราะที่ดินเกือบทั้งหมดที่ห้วยโก๋นเป็นเขตป่าไม้ ชาวบ้านจึงอยากให้กรมทางหลวงมาสำรวจแนวเขตให้ชัดว่า มีบ้านเรือนที่จะต้องรื้อย้ายจริงกี่หลัง และกรมทางหลวงจะช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง” แกนนำบ้านปางหกบอก
วันนี้เส้นทางการค้าชายแดนไทย–ลาว ที่สามารถเชื่อมโยงสู่เมืองท่องเที่ยวหลวงพระบาง รวมทั้งข้ามไปจีนตอนใต้และเวียดนาม กำลังได้รับการขยายปรับปรุง ซึ่งจะส่งผลให้การค้า การท่องเที่ยวคักคัก เม็ดเงินไหลสะพัดข้ามแดน
ขณะเดียวกัน ชาวบ้านห้วยโก๋นที่ผ่านพ้นสงครามมานานหลายสิบปี…อาจจะต้องเผชิญกับสงครามชีวิตรอบใหม่…อีกครั้ง !!
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์