“อยากยุ่งเรื่องเพื่อน” 4 คำนี้อาจฟังดูเป็นมุขตลกขำขัน และเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ร่วมสนทนา แต่ทว่าเป็นถ้อยคำที่แฝงไว้ด้วยความหมายลึกซึ้ง
อยาก คือ การกระทำที่ต้องมาจากแรงบันดาลใจและศรัทธาในอะไรบางอย่าง สำหรับแกนนำชุมชนตะลุบันแล้ว ความยาก คือความศรัทธาในความดี ศรัทธาในพระเจ้าของพี่น้องมุสลิม คือความเชื่อเรื่องการทำดีได้ดีของคนพุทธ แม้จะแตกต่างในเรื่องความเชื่อ ความศรัทธาแต่จุดร่วมคือความปรารถนาดีต่อเพื่อนในชุมชน
ยุ่ง คือ งาน การลงมือทำ ค้นหาปัญหาของชุมชนอย่างถึงแก่นว่าอะไรคือปัญหา โดยการทำข้อมูลชุมชนอย่างละเอียด นำมาสู่การวางแผนการทำงาน หาวิธีแก้
เรื่อง คือ ประเด็นงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนครบทุกมิติ เช่น เรื่องบ้าน เรื่องสวัสดิการ เรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องอาชีพ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการพัฒนาศักยภาพคนทำงาน
เพื่อน คือ คนในชุมชน เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมทำงานที่เป็นภาคีเครือข่ายการพัฒนาทุกมิติ ทุกหน่วยงานที่ถูกเกี่ยวร้อยเข้ามาเป็นขบวนการร่วมกันแก้ไขปัญหา
วันที่ 4 พฤษภาคม 2566 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร ร่วมกับ ทีมเจ้าหน้าที่สำนักงานภาคใต้ เจ้าหน้าที่สำนักงานภาคกลางและตะวันตก ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิด แนวทางการทำงาน เรียนรู้การทำงานจากพื้นที่ภายใต้โครงการถอดองค์ความรู้การพัฒนาตำบลเข้มแข็ง ประจำปี 2566 ในมิติของ “คนมีคุณภาพ” ณ ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยมี รศ.ดร.สุภาวดี ขุนทองจันทร์ จากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการกระบวนการถอดองค์ความรู้ เพื่อค้นหาสิ่งที่เป็นแรงผลักดัน วิธีการทำงาน กลไกที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของแกนนำชุมชนตำบลตะลุบัน
การทำงานพัฒนาชุมชนของตะลุบันเกิดจากการรวมตัวของแกนนำจากชุมชนย่อยๆ จากหน่วยงานภาครัฐ จากเทศบาลตะลุบัน ที่มีความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรม บริบทของสังคมเมือง กึ่งเมืองกึ่งชนบทและชนบท คนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ร่วมกันทำงานโดยมีเป้าหมายเพื่อสมาชิกในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “แค่เห็นรอยยิ้มจากการได้ช่วยเหลือกันก็อิ่มเอมใจ” คือคำบอกเล่าธรรมดาๆ จากแกนนำหลายคน ที่ทำให้คนฟังยิ้มตามไปด้วย
แต่กว่าจะสามารถทำงานประสานกันอย่างลงตัวนั้นล้วนผ่าฟันอุปสรรคอย่างหนักหน่วงและยาวนาน 5-6 ปี เช่น กองทุนสวัสดิการซึ่งได้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2551 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จจนต้องหยุดชะงัก การรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่นั้นยากยิ่งกว่าการเริ่มต้นจากศูนย์ เพราะถูกตราหน้าว่าเป็นโครงการที่ล้มเหลว “ตั้งอีกก็ล้มอีก” เป็นคำพูดตรงๆ จากความไม่เชื่อมั่น เมื่อไปรับสมัครสมาชิก
ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญ แกนนำจึงทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เมื่อสมาชิกเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต่างได้รับเงินช่วยเหลือทันที เมื่อมีภัยพิบัติในชุมชน กองทุนสวัสดิการคือหน่วยงานแรกที่ไปถึงและให้ความช่วยเหลือ เมื่อเห็นว่ากองทุนสวัสดิการให้จริง ช่วยเหลือจริง คนจึงเริ่มเชื่อมั่นมากขึ้น จนปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 4000 คนและได้รับรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นระดับชาติ ‘ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิด ศ.ดร.ป๋วย’ ปี 2565 ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ดินทำกิน
ใช้กองทุนสวัสดิการขับเคลื่อนงานด้านที่อยู่อาศัย นำโครงการบ้านมั่นคง บ้านพอเพียง ไปช่วยเหลือคนในชุมชนที่มีที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคง เมื่อคนเกิดความเชื่อมั่น มีการรวมกลุ่มกันโดยอาศัยกลไกเรื่องบ้าน เรื่องสวัสดิการวันละบาทแล้ว แกนนำจึงต่อยอดโครงการต่างๆ ให้กับชุมชน ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานในจังหวัดปัตตานีหลายโครงการ ทำงานสอดประสานกับขบวนจังหวัดปัตตานีอย่างต่อเนื่อง
หลักการทำงานของแกนนำตะลุบัน คือ ใช้ระบบชวนมาทำงาน ให้บทบาทและความสำคัญกับคนทำงาน ศึกษากฎระเบียบอย่างละเอียดและแม่นยำ แบ่งงานกันทำ มีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน มีข้อตกลงร่วมกัน มีการมองภาพใหญ่และการบริหารระดับย่อย พัฒนาศักยภาพของแกนนำอยู่ตลอดเวลา เช่น การเข้าร่วมอบรม เรียนรู้การทำงานพัฒนาชุมชนในทุกมิติ นำเครื่องมือจากการอบรมมาใช้ในการทำงาน เช่น จัดทำข้อมูลชุมชน ธรรมนูญสุขภาพ นโยบายสาธารณะ วางแผนการทำงานล่วงหน้า มองเป้าหมายในอนาคต ทำให้โครงการที่นำไปเสนอกับหน่วยงานอื่นๆ ได้รับการสนับสนุน เพราะเป็นการพัฒนาทั้งระบบและต่อเนื่องไม่มุ่งทำกิจกรรมย่อยที่ไม่มีผลต่อเนื่อง
วิธีการทำงานภายใต้แนวคิดที่เฉียบคมเหล่านี้นำมาสู่การวางแผน “ตะลุบัน ปันสุข” สร้างสวัสดิการ สร้างความมั่นคงชีวิต โดยมี 6 โครงการคือ
- สวัสดิการ เกิด-ตาย 13 เรื่อง
- บ้านคนจน (บ้านปันสุข)
- โรงเรียนพัฒนาชีวิต
- ไฟแนนซ์อาชีพ
- ธนาคารเครื่องมืออาชีพ
- ท่องเที่ยวชุมชน
ทุกโครงการเกิดจากการนำข้อมูลของชุมชนที่ช่วยกันจัดเก็บ ปรุงปรังให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลามาใช้
เช่น โครงการธนาคารอาชีพ เกิดจากการสำรวจข้อมูลของชุมชน พบว่ามีคนจำนวนมากเป็นลูกจ้างในกิจการต่างๆ เช่น ช่างซ่อม ช่างไฟ ช่างแอร์ สิ่งที่เขาต้องการคือการยกระดับตัวเองจากลูกจ้างมาเป็นเจ้าของกิจการ แต่ไม่มีเงินลงทุน ทางแกนนำจึงกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้สามารถมีกิจการเป็นของตนเองได้ จึงเกิดแนวคิดเรื่องธนาคารอาชีพขึ้นมา ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการวางแผนการทำงาน
สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการทำงานของแกนนำไม่ทำแบบแยกส่วน งานสำคัญในขบวนจังหวัดปัตตานีคือ งานสภาองค์กรชุมชน กับงานสวัสดิการชุมชน ทั้งสองงานนี้ถูกผนวกเข้าด้วยกัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน คิดให้มากกว่าข้อบังคับเบื้องต้น ใช้งานเรื่องบ้านมั่นคงซึ่งเป็นงานที่สำคัญของสภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือเคลื่อนงาน รวมกับงานสวัสดิการ ภายใต้แนวคิดว่าเมื่อคนมีบ้านที่มั่นคงแล้ว ต้องมีรายได้ ต้องมีอาชีพ
ฝันเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ของของคนทำงานแกนนำชุมชนตะลุบัน คือ “คนตะลุบันอยู่ดีกินดี พัฒนาคุณภาพชีวิต เปลี่ยนจากการสงเคราะห์เป็นการมีส่วนร่วมในการพัฒนา”
สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร