ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ในประเด็นเรื่องที่ดิน

ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ในประเด็นเรื่องที่ดิน

สภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง ปักหมุดสื่อสารเล่าเรื่องจากการทำงานที่ผ่านมา ในประเด็นเรื่องที่ดินพร้อมทั้งฝากถึงพรรคการเมืองหรือรัฐบาลชุดใหม่

พบว่ามีเกษตรกรที่ต้องการความช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกินจำนวนมาก และยังพบปัญหาเรื่องที่ดินหลุดมืออันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการประกอบการเกษตรที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสม และผลกระทบจากการค้าเสรี ทำให้ที่ดินของเกษตรกรที่เป็นถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และยึดทรัพย์ขายทอดตลาด สะท้อนให้เห็นว่า มีการนำพื้นที่เพื่อทำการเกษตรไปใช้ประโยชน์เพื่อเก็งกำไรของนายทุน และที่ดินส่วนใหญ่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อค้ำประกันการกู้ยืมเพื่อไปประกอบธุรกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ที่เน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีการเปิดการลงทุนอย่างเสรีทาง ด้านอุตสาหกรรม ด้านการท่องเที่ยว ด้านการบริการ และอื่น ๆ อันเป็นผลทำให้เกิดกระบวนการครอบครองที่ดินขนาดใหญ่และเกิดกระบวนการเก็งกำไรในที่ดินค่อนข้างมาก แรงกดดันทางเศรษฐกิจเหล่านี้ทำให้นโยบายและกลไกรัฐหลายเรื่องที่มีอยู่สามารถบิดเบือนได้ ทั้งการออกโฉนด และการจัดสรรที่ดิน พลังทางเศรษฐกิจผลักดันให้กลุ่มทุนสามารถขยายอำนาจในการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดินค่อนข้างมหาศาล

การกระจายการถือครองที่ดินในประเทศไทย

พบว่าที่ดินที่มีการครอบครองโดยประชาชนทั่วไปมีประมาณ 120 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ที่ดินกว่า ร้อยละ 90 กระจุกตัวอยู่ในมือคนเพียง ร้อยละ 10 หรือประมาณ 6 ล้านคน ทั้งนี้มีที่ดินที่มีการถือครองในประเทศไทยที่ถูกปล่อยทิ้งรกร้างว่างเปล่าถึง ร้อยละ 70 ของที่ดินใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ เพราะเกิดจากการซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร หรือมีปัญหาการบริหารจัดการที่ดินของผู้ถือครอง นับเป็นมูลค่าที่เสียหายทางเศรษฐกิจ ลักษณะการถือครองที่ดินแบบกระจุกตัว และการนำที่ดินไปใช้แบบผิดประเภท ได้นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งและความเหลื่อมล้าในการใช้ที่ดิน

ประเทศไทยมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 320.70 ล้านไร่ การใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมมีเนื้อที่ประมาณ 177.69 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 55.41 ของเนื้อที่ประเทศ รองลงมา คือ พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง พื้นที่เบ็ดเตล็ด และพื้นที่น้ำ ตามลำดับ

ประเทศไทยมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 320.70 ล้านไร่ การใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมมีเนื้อที่ประมาณ 177.69 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 55.41 ของเนื้อที่ประเทศ รองลงมา คือ พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง พื้นที่เบ็ดเตล็ด และพื้นที่น้ำ ตามลำดับ

โดยการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน พ.ศ.2558 – 2559 กับ พ.ศ.2553 – 2556 พบว่าประเภทการใช้ที่ดินที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง และพื้นที่น้ำ ในขณะที่ ประเภทการใช้ที่ดินที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อที่ลดลง ได้แก่ พื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่เบ็ดเตล็ด อย่างไรก็ตาม พบว่า พื้นที่นาข้าว นาร้าง ไม้ผล สถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และพื้นที่ป่า เปลี่ยนแปลงไปเป็นพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง และพื้นที่เกษตรกรรม จำพวกพืชไร่ ไม้ยืนต้น และไร่หมุนเวียนเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่า พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง และพื้นที่น้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่เบ็ดเตล็ดมีแนวโน้มลดลง

จังหวัดลำปางตั้งอยู่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพฯ ตามทางหลวงแผ่นดินสายพหลโยธิน ประมาณ 602 กม. ตามทางรถไฟประมาณ 625 กม. มีเนื้อที่ประมาณ 12,533.961 ตร.กม. หรือประมาณ 7,833,726 ไร่ มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของภาคเหนือ รองจากเชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน และเพชรบูรณ์ จังหวัดลำปาง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 268.80 เมตร พื้นที่มีลักษณะเป็นรูปยาวรี ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีภูเขาสูงอยู่ทั่วไป ทอดตัวยาวตามแนวทิศเหนือไปทางทิศใต้ของจังหวัด และในบริเวณตอนกลางของจังหวัดบางส่วนมีที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ และตามลักษณะทางกายภาพทางด้านธรณีสัณฐานวิทยา จังหวัดลำปางมีพื้นที่เป็นที่ราบล้อมรอบด้วยภูเขา มีลักษณะเป็นแอ่งแผ่นดินที่ยาวและกว้างที่สุดในภาคเหนือ เรียกว่าอ่างลำปาง ลักษณะภูมิประเทศแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ

1.บริเวณตอนบนของจังหวัด เป็นที่ราบสูง ภูเขา และเป็นป่าค่อนข้างทึบ อุดมสมบูรณ์ด้วยไม้มีค่า ได้แก่ พื้นที่อำเภอเมืองปาน แจ้ห่ม วังเหนือ และงาว

2. บริเวณตอนกลางของจังหวัด เป็นที่ราบและที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของจังหวัด ได้แก่ พื้นที่อำเภอห้างฉัตร เมืองลำปาง เกาะคา แม่ทะ และสบปราบ

3. บริเวณตอนใต้ของจังหวัด เป็นป่าไม้รัง บางส่วนเป็นทุ่งหญ้า ได้แก่ พื้นที่อำเภอเถิน แม่พริก บางส่วนของอำเภอเสริมงาม และแม่ทะ จังหวัดลําปางมีเนื้อที่ป่าไม้แยก เป็นป่าสงวนแห่งชาติจำนวน 33 ป่า มีอุทยานแห่งชาติ 6 แห่ง อุทยานแห่งชาติ (เตรียมการ) 1 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง รายละเอียด ดังนี้ ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 33 ป่า เนื้อที่ 5,600,634.50 ไร่ อุทยานแห่งชาติจำนวน 7 แห่ง มีพื้นที่ทั้งหมด 3,034,198 ไร่ เนื้อที่อยู่ในจังหวัดลําปาง 1,986,138 ไร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำนวน 1 แห่ง มีพื้นที่ทั้งหมด 364,449 ไร่ เนื้อที่อยู่ในจังหวัดลําปาง 86,984 ไร่ วนอุทยานแห่งชาติ ๑ แห่ง มีพื้นที่ทั้งหมด 18,579 – 0 – 00 ไร่ เนื้อที่อยู่ในจังหวัดลําปาง 18,579 – 0 – 00 ไร่ (แหล่งที่มาของข้อมูล : สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดลอมจังหวัดลําปาง และ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 ลําปาง (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554) สภาพปัญหา

1. เกิดการสูญเสียพื้นที่ ที่เหมาะสมสำหรับการทำเกษตรกรรม เนื่องจากมีการใช้ที่ดินผิดประเภท เช่น พื้นที่อยู่ในเขตชลประทานและเหมาะสมสำหรับการทำนาปลูกข้าว ถูกนำไปสร้างโรงงานอุตสาหกรรม รีสอร์ท บ้านจัดสรร สถานที่ราชการ และสถานศึกษา เพิ่มมากขึ้น

2. เกิดปัญหาที่ดินหลุดมือและกำลังจะหลุดมือ อันเนื่องมาจากความล้มเหลวทางด้านการเกษตรเป็นเหตุให้เกิดปัญหาหนี้สินและได้ผลผลิตน้อย รวมถึงการกว้านซื้อที่ดินของกลุ่มทุน

3. ที่ดินจำนวนมากถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าโดยไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า เนื่องจากพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53 – 54 ระบุให้เจ้าของที่ดินเมื่อจะขายที่ดินที่มีผู้เช่าอยู่ ต้องให้สิทธิ์แก่ผู้เช่าก่อน เมื่อผู้เช่าไม่ซื้อจึงจะขายให้แก่ผู้อื่นได้ ซึ่งราคาที่ดินที่ผู้เช่าต้องการซื้อมีราคาต่ำกว่าราคาตลาด เจ้าของที่ดินส่วนหนึ่งจึงไม่ยอมให้เช่าที่ดิน และปล่อยที่ดินทิ้งไว้โดยไม่ได้ทำประโยชน์

4. เกิดกรณีขยายพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยในเขตป่าจนกลายเป็นชุมชนที่อาศัยกันมาเนิ่นนาน โดยมิได้มีการจัดการ และเมื่อรัฐเห็นว่ามีการขยายจนพื้นที่ป่าลดลงจึงมีนโยบายเพื่อหยุดยั้งการบุกรุกด้วยการประกาศเขตป่าสงวน เขตป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติ เขตปฏิรูปที่ดิน นำไปสู่การข้อพิพาทเรื่องการทับซ้อนของที่อยู่อาศัยและที่ทำกินกับพื้นที่มี่รัฐประกาศ

1. ทบทวนกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้พื้นที่อนุรักษ์ เช่น พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่อุทยานฯ พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ เช่น กรณีสภาพพื้นที่จริงถูกบุกรุก แผ้วถาง จนไม่เหลือสภาพป่า แต่อยู่ในเขตพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ หรือเขตพื้นที่ประกาศเป็นอุทยานฯ ต้องนำเงินงบประมาณมาใช้ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ควรมีกระบวนการหรือขั้นตอนที่สามารถพิจารณายกเว้นพื้นที่เหล่านี้เพื่อให้ขั้นตอนการขออนุญาตรวดเร็วขึ้น

2. ควรขยายผลโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริฯ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้ให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่า และมีรายได้เสริมจากการปลูกพืชโดยที่ไม่ทำลายป่าไม้ และยังช่วยลดปัญหามลพิษหมอกควัน

3. นำมติของคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2561 มาเป็นหลักและเครื่องมือในการดำเนินการ สำรวจตรวจสอบ รังวัดและจัดทำผังแปลงที่ดิน วางแผนและกำหนดความเหมาะสมในการใช้ที่ดิน การจัดการเขตที่ดินให้เกิดความชัดเจนตามมาตรการและข้อกฎหมายที่มีอยู่

4. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดการที่ดินระดับตำบล ที่มีประกอบนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนผู้แทนเกษตรกร และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562 ในการแต่งตั้ง โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

  • 4.1 ตรวจสอบ รังวัดและจัดทำผังแปลงที่ดินพื้นที่ของราษฎรแต่ละรายในพื้นที่จริง รังวัดแปลงที่อยู่อาศัย/ทำกิน โดยใช้ GPS ในการจับพิกัด ร่วมกับคนในชุมชนนั้นๆ นำผลการรังวัดไปจัดทำผังแปลงที่ดินลงในแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ที่ถ่ายในปี พ.ศ.2545 ใช้มาตราส่วน 1:4000 รายแปลง
  • 4.2 จัดทำฐานข้อมูล ทะเบียนรายชื่อสมาชิกในชุมชนผู้ครอบครองที่ดิน ทำขอบเขตให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการควบคุมพื้นที่ โดยจัดทำเป็นระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS Application) แล้วให้คณะอนุกรรมการจัดการที่ดินระดับตำบล พิจารณาจัดตั้งเป็นชุมชนเพื่อนำไปสู่ผังที่ดินแปลงรวมทั้งตำบลตามเขตการปกครองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนำผลที่ได้เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขออนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยคณะอนุกรรมการจัดการที่ดินระดับตำบล เช่าพื้นที่ตามผังที่ดินแปลงรวมเพื่อจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนต่อคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (ตามมติ คทช. ครั้งที่ 2/2561)
  • 4.3 จัดทำระเบียบว่าด้วยการเช่าที่ทำกินและที่อยู่อาศัยชุมชน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เช่าที่ดินจาก คทช. ในลักษณะแปลงรวม ระยะเวลาการอนุญาต 30 ปีเขตป่าสงวนแห่งชาติ และ 20 ปีในเขตอุทยานแห่งชาติ จากนั้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยคณะอนุกรรมการจัดการที่ดินระดับตำบล จัดทำหนังสือสัญญาอนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินแก่สมาชิกในชุมชนตามผังรายแปลงตามระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมรายปี โดยใช้อัตราค่าเช่าของกรมธนารักษ์ในการเช่าที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรมเป็นเกณฑ์โดยอนุโลม ให้สมาชิกชำระค่าธรรมเนียมรายปีโดยชำระที่สำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ค่าธรรมเนียมที่ได้ให้ถือเป็นรายได้ของท้องถิ่น โดยกำหนดแบ่งเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกึ่งหนึ่ง และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำส่งเป็นรายได้ของหน่วยงานกรมป่าไม้หรือกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธ์พืชแล้วแต่กรณีว่าที่ดินเป็นเขตใดอีกกึ่งหนึ่งเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ทั้งนี้ ในระเบียบดังข้างต้นให้มีหลักสำคัญในการดำเนินงาน ดังนี้

1) จะต้องเป็นพื้นที่ที่ได้ทำประโยชน์ หรือ อยู่อาศัย/ทำกินอยู่แล้วอย่างต่อเนื่องอยู่เดิมแล้ว มิใช่พื้นที่แผ้วถางเพิ่มเติมหรือเปิดพื้นที่ใหม่ และ ไม่มีการจัดที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกพื้นที่ มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำกินที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน และเป็นการให้สิทธิทำกินโดยการให้เป็นหนังสือสัญญาอนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินเพื่อการยังชีพที่ชอบด้วยกฎหมาย มิใช่การให้เอกสารสิทธิ

2) ลักษณะพื้นที่ที่ทำการตรวจสอบรังวัดต้องเป็นไปเพื่อการอยู่อาศัยหรือทำกินโดยสมควรแก่การดำรงชีพ

3) หนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินให้สามารถตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมที่ต้องการทำการประกอบอาชีพและอยู่อาศัยต่อจากผู้ได้รับสัญญาอนุญาต

4) สมาชิกทุกคนต้องฟื้นฟูสภาพป่าในรูปแบบการมีส่วนร่วม เช่นส่งเสริมการทำแปลงป่าไม้ตามพระราชดำริปลูกป่า 3 อย่างเพื่อประโยชน์ 4 อย่าง

ข้อมูลจากสภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง : https://www.csitereport.com/profile?lp=profile

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ