เลือกตั้ง66: 5 พรรคการเมือง เสนอนโยบายแรงงานทำดี ทำได้? ทำจริง?

เลือกตั้ง66: 5 พรรคการเมือง เสนอนโยบายแรงงานทำดี ทำได้? ทำจริง?

ท่ามกลางบรรยากาศวันแรงงาน วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยและนักข่าวพลเมือง ThaiPBS จัดเสวนาทางวิชาการระดับชาติ “นโยบายแรงงานของพรรคการเมือง… ทำได้?… ทำจริง?” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 เม.ย. 2565 ณ ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ เชิญ 5 พรรคการเมืองที่มีนโยบายด้านแรงงานร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและตอบคำถาม โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต สิทธิ และสวัสดิการของแรงงาน กับผู้นำแรงงานและนักวิชาการ เพื่อมองอนาคตของแรงงาน

5 พรรคการเมือง ร่วมนำเสนอนโยบายด้านแรงงาน ทำได้? ทำจริง? ประกอบด้วย

  • มานิตย์ พรหมการีย์กุล ผู้แทนพรรครวมไทยสร้างชาติ
  • เอกพร รักความสุข ผู้แทนพรรคเพื่อไทย
  • มนัส โกศล หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ
  • สุเทพ อู่อ้น กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล
  • สาวิทย์ แก้วหวาน หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย

000

มานิตย์ พรหมการีย์กุล ผู้แทนพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็น ผู้นำแรงงาน 4 ปีที่ผ่านมา พรรครวมไทยสร้างชาติที่ไปทำงานร่วมกับรัฐมนตรีสุชาติ ชมกลิ่น ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สิ่งที่เราทำ เรากำหนดไว้เลย คือ “คืน เพิ่ม และสร้าง”

สิ่งที่จะคืน คือเรื่องของเงินชราภาพ ในปัจจุบันทุกคนที่เป็นลูกจ้างมาตรา 33 เราจะเข้าระบบประกันสังคมจากวิกฤตที่ผ่านมาในช่วงโควิดคนงานเราประสบปัญหาหลายอย่าง หลายคนไปกู้เงินสถาบันการเงิน แต่ไม่สามารถกู้ได้เพราะเต็มหมด ก็จะไปกู้เงินนอกระบบ เกิดปัญหามากมาย ดังนั้นเงินที่อยู่ในประกันสังคมอย่างเงินชราภาพ ทำไมถึงไม่เอามาใช้ในช่วงที่เราขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยนโยบายของเราคือการทำให้สามารถกู้เงินในส่วนกองทุนชราภาพได้ 30% นี่คือการคืน

ส่วนการเพิ่ม สิ่งที่เราเขียนลงไปในนโนบายพรรครวมไทยสร้างชาติ คือ เพิ่มเรื่องเงินสงเคราะห์บุตรของประกันสังคม ปัจจุบันบุตร 3 คน ไม่เกิน 6 ปีให้ 600 บาท ตอนนี้เราเสนอไปใหม่ และน่าจะผ่านขั้นตอนร่างไปแล้ว คือเพิ่มมา 1,000 บาท ตั้งแต่ 1-6 ปีเหมือนเดิม เราวางแผนไว้ 12 ปี อาจจะเกิดปัญหา ขั้นต้นก็คือได้แน่นอน 6 ปี เราให้ 1,000 บาท

อีกเรื่องเราเป็นมนุษย์เงินเดือน โดยเฉพาะเอกชน เราจะเห็นว่าเงินชราภาพ ปัจจุบันใครอายุ 55 ปีขึ้นไปแล้วได้ 5,025 บาท เรามองว่าเงินจำนวนนี้ ในวันข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพสูงขึ้นเราไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตได้ในวัยเกษียณ นโยบายของเราก็คือจะเพิ่มเงินชราภาพไปอีกเป็น 10,000 บาท

นอกจากนี้ เรามีนโยบาย “โรงพยาบาลประกันสังคม” เราจะสร้างโรงพยาบาลประกันสังคมของผู้ประกันตน ซึ่งที่ผ่านมาตำรวจ ทหารเรือ ทหารบก ทหารอากาศมีหมด ทั้ง ๆ ที่ในกลุ่มนี้มีจำนวนทั้งหมดประมาณ 100,000 คน แต่ประกันสังคมในระบบเรามีประมาณ 12 ล้านคน และนอกระบบอีก 16 ล้านคน ทำไมถึงไม่มีโรงพยาบาลเป็นของตัวเอง อันนี้คือสิ่งที่จำเป็นต้องมีเพราะว่าโรงพยาบาล หรือว่าคนงานของเรามีอยู่หลากหลายสาขาอาชีพ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือว่าต้องอยู่กับสารเคมี แล้วต้องไปโรงพยาบาลทั่วไป ทุกวันนี้จะเห็นว่าการรักษาโดยทั่วไป ถ้าไม่ใช่หมอเฉพาะทางก็จะไม่สามารถวิเคราะห์ที่มาของโรคได้

หลังจากเรามีโรงพยาบาลประกันสังคมเป็นหลักแล้วเราจะมี สถาบันทางการแพทย์เพื่อให้ หมอเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสามารถวิเคราะห์วิจัยโรคจากการทำงานของลูกจ้าง และรักษาได้อย่างถูกทาง นอกจากนี้บุตรธิดาของผู้ประกันตน เรามีทุนการศึกษาให้ สามารถ มาสอบชิงทุนเพื่อเรียนหมอ เรียนพยาบาล แล้วหลังจากเรียนจบแล้วค่อยมาใช้ทุนตอนหลังได้

โรงพยาบาลประกันสังคมจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร ต้องบอกว่าเงินที่มีในระบบประกันสังคม นายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐจ่ายเข้ามา ปัจจุบันมี 2.4 ล้านล้านบาท เป็นกองทุนที่ใหญ่ และมี 7 กรณีอยู่แล้ว เราเอาเงินส่วนนี้มาสร้างเป็นโรงพยาบาลประกันสังคม เป็นโมเดลก่อน โดยใช้พื้นที่ที่เรามีอยู่แล้วอย่างศูนย์ฟื้นฟูที่เรามีอยู่ทั่วประเทศ และค่อยไปคอนแทคกับโรงพยาบาลภาครัฐในการทำงานร่วมกันในการศึกษาระบบการเป็นโรงพยาบาลประกันสังคม และเริ่มศึกษาเรื่องความปลอดภัยและชีวอนามัย ถ้าเราใช้แพทย์ที่ไม่มีความรู้เฉพาะทางเราก็จะวินิจฉัยโรคผิดไป

ในเรื่องของการสร้างความมั่นคง ทุกวันนี้เรามีปัญหาเรื่องแรงงานอิสระ และกึ่งอิสระ พ่อค้า แม่ค้า แท็กซี่ ทำไมเราถึงไม่ให้เขาเข้ามาสู่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรามองว่าทุกคนคือคนไทย ต้องมีกฎหมายรองรับ การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ในการประกอบสัมมาอาชีพ และการรักษาพยาบาล เราทำเรียบร้อยร่างส่งเสริมคุ้มครองอิสระ ตอนนี้ผ่านกฤษฎีการคณะเก้า กำลังจะเข้า ครม. ถ้าท่านเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ เข้าสภาแน่นอน หลังจากฟอร์มรัฐบาล ซึ่งพี่น้องสาขาอาชีพต่าง ๆ ถ้ารวมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้น ก็สามารถเป็นกลุ่มอาชีพได้ ถ้ารวมตัว 15 คน ขึ้นไปสามารถตั้งสหภาพแรงงาน หรือองค์กรได้

ที่ผ่านมาเราได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องไรเดอร์ ไลน์แมนว่า มีค่าเที่ยวลดลง ผมรู้สึกไม่สบายใจ เพราะอาชีพนี้ค่อนข้างอันตราย ดังนั้นถ้าเรามีพระราชบัญญัติของต่อเองก็สามารถพูดคุยเจรจาต่อรองได้ อีกส่วนใน พ.ร.บ.นี้เรามีกองทุนที่สามารถกู้ยืมเพื่อไปบริหารจัดการอาชีพของเราได้

ส่วนของเรื่องที่เกี่ยวกับเงิน โครงสร้างทางภาษีของเรา ยังสลับซับซ้อนอยู่ ต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่เพื่อเก็บภาษีที่ถูกต้อง เพื่อนำมาบริหารจักการกับประชาชนถ้วนหน้าในประเทศไทย

000

เอกพร รักความสุข ผู้แทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เนื่องในวันพรุ่งนี้เป็นวันแรงงานแห่งชาติในหลายปีที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานมักจะพูดตรงประเด็น ส่วนของการที่อยากจะให้รัฐบาลหรือผู้เกี่ยวข้องสนใจ ซึ่งจะมี 3 ภาพใหญ่ ๆ ภาพที่ 1 คือ เรื่องของคุณภาพชีวิต ภาพที่ 2 คือ เรื่องของการบริหารแรงงาน ภาพที่ 3 คือ การสร้างหลักการหรือกติกาในด้านแรงงาน

ทั้ง 3 ภาพ นำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า เศรษฐกิจพื้นฐานของประชาชนทั้งประเทศ เพราะว่าการทำงานของประเทศไทยมีทั้งในระบบ ใช้ระบบประกันสังคมในการคุ้มครองแรงงานและแรงงานนอกระบบคือคนทำงานทั่วไปที่มีมากถึง 20 ล้านคน ดังนั้นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเห็น เรานำวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโรคมาเป็นประเด็นใหญ่ และในช่วงนั้นกิจการที่ไปไม่รอดกระทบกับคนทำงานทั้งหมด คนต้องอพยพจากโรงงานไปอยู่ที่บ้านเพราะเชื้อโควิด 19 ฉะนั้นปัญหาจากโควิด 19 ทำให้พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระดับแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

เรื่องที่ 1 คือ การวางรากฐานบุคคล มีการเพิ่มทักษะขนาดใหญ่ ให้เกิดขึ้นกับบุคคลทั้งประเทศโดยตั้งเป้าหมายปี 2570 คนไทยอย่างน้อย ๆ ต้องมีรายได้ 600 บาทต่อวัน คนงานที่มีการศึกษา ใช้ความสามารถในระดับปริญญาตรี ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 25,000 บาทต่อเดือน

คำถามจึงมีอยู่มีว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 5 ต่อปี ต่อเนื่องตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี 2570 นั้นจะทำอย่างไร สิ่งที่พรรคเพื่อไทยวางไว้ก็คือเรื่องของการใช้ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม และเพิ่มรายได้

หลายท่านทราบดีว่า คนไทยเก่งในเรื่องของนวัตกรรม เพียงแต่ยังไม่มีการกระตุ้นอย่างเต็ม สิ่งที่พรรคเพื่อไทยวางแนวทางไว้ก็คือการเพิ่มทักษะฝีมือของทุกคน โดยเฉพาะในระดับครอบครัว ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาทต่อครอบครัว หรือ 1 ปี ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท โดยการเติมทักษะเรื่องของระบบดิจิทัล สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้คนไทยเก่งขึ้น เหมือนน้องมิลลิที่โชว์ข้าวเหนียวมะม่วงในเวทีคอนเสิร์ตคนทั้งโลกก็มาเมืองไทย เพื่อที่จะทานข้าวเหนียวมะม่วง หรือลิซ่าพี่โด่งดังระดับโลกมีแต่่คนสนใจสิ่งที่ลิซ่าทำ

ดังนั้น นวัตกรรมของเมืองไทยระดับครอบครัวไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร แต่งเพลง ดนตรี การแสดง ในโลกติ๊กตอกมีสอนทั้งหมด และพรรคเพื่อไทยจะเติมเต็มทักษะให้คนไทยทั้งครอบครัวมีรากแก้วเกิดขึ้นจากการสร้างรายได้ของตัวเอง ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อเราทำได้คนไทยทุกคนจะมีรายได้ใหม่

สุดท้ายเรื่องของระบบการบริหาร รายงานเสรีภาพของประชาชนที่อยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจ เสรีภาพไม่ดี แต่พรรคเพื่อไทยจะสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อให้เสรีภาพสิทธิประชาชนดีกว่าเดิมตามที่ประชาชนต้องการ ดังนั้นความเป็นประชาธิปไตยที่พรรคเพื่อไทยมุ่งมั่นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิทธิแรงงาน และหวังว่าการบริหารแรงงาน จะเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า มีความเท่าเทียมกันระหว่างฝ่ายของรัฐ คนทำงาน และเจ้าของกิจการ เมื่อเป็นแบบนี้ระบบของการบริหารแรงงานจะนำไปสู่เป้าหมายของคุณภาพชีวิต

ยืนยันว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาของของรัฐบาลชุดปัจจุบันทำข้อเรียกร้องของวันแรงงานแทบไม่ได้ ดังนั้นในช่วงนี้จะมีการเรียกร้องอะไรก็เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าท่านเรียกร้องจากพรรคเพื่อไทยสิทธิท่านจะได้คือเรื่องคุณภาพชีวิตที่ชัดเจน ในระดับบุคคล ระดับครอบครัว และภาพรวมระดับประเทศ

ส่วนเรื่องการเติมทักษะกับรัฐธรรมนูณฉบับประชาชนจะทำอย่างไร เมื่อได้เป็นรัฐบาล หลักการที่นำเสนอนโยบายคือการรดน้ำที่ราก เหตุผลเป็นเพราะว่า ผ่านมา 8 ปี เกิดวิกฤตระดับประชาชนช่วงโควิด เห็นได้ชัดว่าครอบครัวลำบาก ลูกหลานที่เคยเป็นกำลังกับกลายเป็นภาระของครอบครัว ทุกพื้นที่ 80,000 กว่าหมู่บ้าน

จากนั้นการที่จะกระตุ้นให้ทุกคนสร้างรายได้ใหม่ คือการเติม วิธีการของหน่วยงานภาครัฐนั่นก็คือการเปลี่ยนประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ เลขประชาชน 13 หลักจะตอบทุกอย่าง ไม่ต้องอ้อนวอนลงทะเบียนหรือพิสูจน์สิทธิ์ ข้อมูลทั้งหมดที่มีประเทศไทยในระบบที่เป็นไซโลจะถูกเชื่อมต่ออย่างเป็นระบบ รัฐบาลจะใช้ฐานข้อมูลของประชาชน 67 ล้านคนให้เป็นประโยชน์โดยจะรู้เลยว่าครอบครัวนี้มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือนหรือไม่ถ้าค้นพบแล้วหน่วยงานภาครัฐที่เป็นรัฐบาลดิจิทัลจะเป็นคนดูแล

ในส่วนของทักษะฝีมือเรามักจะเห็นว่ามีการกระจัดกระจาย การฝึกอบรมทั้งหลายของหน่วยงานแยกกันไป ถ้าใช้ระบบดิจิทัลเราจะรู้เลยว่า ครอบครัวไหนต้องเติมทักษะอะไรลงไป โดยเน้นเรื่องของเรียนตลอดชีวิตมีรายได้ตลอดเวลา หลักการนี้จะทำให้เราสามารถพัฒนาไปสู่ประเทศที่ไม่ต่างจากกับเกาหลีใต้ หรือประเทศญี่ปุ่นที่ใช้พลังงานทางสมองในการสร้าง สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ดังนั้นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยมองคือการรดน้ำที่รากจริงๆ ทำให้คนเข้มแข็งและครอบครัวเข้มแข็งโดยการใช้ระบบดิจิทัล ปัญหาต่างๆก็จะหมดไป ไม่เหมือนที่ผ่านมาเรามีการเลือกปฏิบัติ มีการเหลื่อมล้ำของข้อมูล ในการบริหารภาครัฐ

ประเด็นต่อมาคือเรื่องของการทำเป็น แม้เรื่องใหญ่ ๆ ทั้งหลายที่ใคร ๆ ก็จะคิดได้ แต่สิ่งที่พักไทยรักไทยในอดีต สืบทอดมาจนถึงวันนี้ เรามีความสามารถที่จะทำให้คนไทยยืนบนขาของตัวเองได้ เมื่อคนไทยมีความคิดแบบนี้รายได้ใหม่จะเกิดขึ้นทั้ง 8 หมื่นหมู่บ้าน

ตัวอย่างสำคัญคือเรื่องของการเติมเงิน 10,000 บาท ลงไปในคนไทยอายุ 16 ปีทุกคน นี่ไม่ใช่เรื่องแจกเงิน แต่เป็นเรื่องของการทำให้โครงสร้างพื้นฐานของดิจิทัลเกิดขึ้นทันที เมื่อประชาชนท้องถิ่นเริ่มลงทุนทำมาหากิน เงิน 10,000 บาทที่ปูพื้นฐานไปจะทำให้เกิดการหมุนเวียน เกิดภาษีและรายได้ขึ้น จากนั้นตลาดนำนวัตกรรมเสริมจะไปเติมเต็มระดับโลก เปลี่ยนตลาดคนไทยจาก 67 ล้านคนให้เป็น 7 พันล้านคน รายได้จะเกิดจริง ๆ นำไปสู่ภาพใหญ่ของประเทศ

ขณะนี้ปัญหาแรงงานไม่ใช่ปัญหาระบบเศรษฐกิจใหญ่ อย่างเดียวแต่ไปปัญหาสังคมและการเมืองด้วย เราจะทำให้ทุกหมู่บ้านเชื่อมต่อกับเมืองอย่างเต็มที่ เพราะทุกวันนี้คนชนบทกับคนเมืองคิดเหมือนกันใช้ชีวิตคล้าย ๆ กัน ถ้าคิดเป็นฐานได้ คนทุกคนจะอยู่ที่ไหนก็ไม่แตกต่างกัน ดังนั้นการวางเมืองแบบใหม่พรรคเพื่อไทยทำระบบเศรษฐกิจเมืองและชนบทให้เท่าเทียมกันและกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น อย่างน้อยทุกภูมิภาคของประเทศไทยจะมีกุญแจ 3 ดอกไปไขกุญแจตรงนั้น เพื่อให้การทำงานดีขึ้น

สุดท้ายผมเคยแก้ไขกฎหมายคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ปฏิเสธการใช้คำว่า “ลูกจ้าง” แต่กฤษฎีกาไม่ยอม ทำให้สภาพคนไทยตกเป็นลูกจ้างและมีนายจ้างเข้ามาเกี่ยว พรรคเพื่อไทยเน้นให้ทุกคนสร้างรายได้ด้วยตนเอง และกระตุ้นเศรษฐกิจภาพใหญ่ อันนี้เป็นปัญหาการเมือง นำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่คนไทยต้องมีเสรีภาพ ไม่เป็นลูกจ้างของนายจ้าง แต่เป็น “คนทำงาน” ของประเทศไทย คำใหม่ที่จะใช้คือ “ผู้ทำงาน” ส่วนเจ้าของประกอบการ คือ ผู้ประกอบการ

000

มนัส โกศล หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ กล่าว ผมอยู่ในขบวนการแรงงาน 43 ปี เป็นทั้งประธานสหภาพ ประธานสหพันธ์ ประธานสภา ประธานองค์การแรงงาน ประธานเครือข่ายคนทำงานและอยู่ในไตรภาคีของกระทรวงแรงงานทุกกรมรู้ปัญหาของผู้ใช้แรงงานและประชาชนที่มีรายได้น้อย เราเคยยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทุกรัฐบาล แต่การตอบสนองทางนโยบายแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ตอบโจทย์ไม่ชัดเจน สิ่งหนึ่งที่ผู้นำแรงงาน นักวิชาการและนักกฎหมายมารวมตัวกันจัดตั้งพรรคแรงงานสร้างชาติขึ้นมา มีวัตถุประสงค์ การจ้างงานต้องเป็นธรรม สวัสดิการต้องมั่นคง ประเทศชาติจึงจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้

การจ้างงานเป็นธรรม ทำได้อย่างไร การจ้างงานในประเทศเรามีความเหลื่อมล้ำมาก ยกตัวอย่างหน่วยงานของรัฐที่ชูประเด็นเริ่มต้น ตั้งแต่เรายังไม่มีพรรคการเมือง ลูกจ้างรับเหมาบริการตามมหาวิทยาลัยหรือองค์กรต่าง ๆ ของรัฐทั่วประเทศเกือบ 500,000 คน ทำงานจนอายุ 60 ปี เกษียณอายุไม่ได้อะไร ไม่มีประกันสังคม สวัสดิการไม่มี เจ็บป่วยใช้บัตร 30 บาท อยากจะเข้ากองทุนทดแทนอะไรก็ไม่ได้

พรรคแรงงานสร้างชาติ ถ้าได้รับการเลือกตั้ง เราจะบรรจุลูกจ้างรับเหมาบริการ เป็นพนักงานประจำทันที

ส่วนเรื่องของประกันสังคม มาตรา 40 ตอนนี้มีอยู่ 3 ช่องทาง รัฐบาลจ่ายอยู่ตอนนี้ 230 บาท ข้อเรียกร้องในมาตรา 40 คือหลายคนอยากจะเลือกโรงพยาบาลได้ เหมือนมาตรา 33 อยากได้ค่าตอบแทนการขาดรายได้เพียงพอ พรรคแรงงานสร้างชาติมองว่า แรงงานเรามีกว่า 39 ล้านคน จะทำอย่างไรให้พวกเขามีประกันสังคมได้อย่างคนที่อยู่ในรั้วโรงงาน แล้ววันหนึ่งคนที่โรงงานก็ต้องออกมาอยู่ข้างนอก ระบบการจ้างงานจะถูกเปลี่ยนแปลงเยอะมาก เรื่องต่าง ๆ จะถูกแยกออกมาจากโรงงาน มีการประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น

พรรคแรงงานสร้างชาติมองว่า มาตรา 40 ที่มีอยู่ 3 ช่องทางจะต้องเหลือแค่ช่องทางเดียว และครอบคลุม 7 กรณีเหมือนมาตรา 33 ใช้งบไม่มาก เอากองทุนมาช่วยมาตรา 40 อีก 350 บาท ผู้ประกันตนจ่ายร่วม 100 บาท ได้ค่าทดแทนการขาดรายได้ เรื่องโรงพยาบาลเจ็บป่วยติดเตียง ได้ค่าทดแทนการขาดรายได้ นโยบายนี้เรายื่นเข้า กกต. ทำได้ทำจริงนี่คือพรรคแรงงานสร้างชาติ

เรื่องของประกันสังคม ต้องมีการปฏิรูปประกันถ้วนหน้า ไม่ต้องล็อคอายุ 60 หรือ 70 จะเข้าปีไหนเข้าได้เลย แต่ต้องมีเงื่อนไข สิ่งเหล่านี้เราสำรวจมาแล้วว่า พี่น้องที่มีกว่า 10 กว่าล้านคน ที่จะเข้ามาสู่ระบบ มาตรา 40 ในอนาคตผมมองว่าจะได้เข้ามาหมด ระบบประกันถ้วนหน้าจะมีมาตรฐานเดียวกัน

ส่วนจะทำอย่างไร พรรคแรงงานสร้างชาติมีหลายนโยบาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุตอนนี้ที่มีอยู่ 12 ล้านคน เราจะเปลี่ยนคำว่า “เบี้ยยังชีพ” เป็น “เบี้ยบำนาญชราภาพ” ผู้สูงอายุจ่ายสูงสุด 4,500 บาท ผู้สูงอายุ 60- 69 ปี มีอยู่ประมาณ 6 ล้านคน เราจะจ่าย 1,500 บาท จะมี พ.ร.บ.ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ ถ้าสถานประกอบการไหนหรือหน่วยงานของรัฐมีการจ้างผู้สูงอายุจะมีการลดคอร์สต่าง ๆ ของต้นทุนให้ ในช่วงของอายุ 70-79 ปี มีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน เราจ่าย 3,000 บาท สุดท้ายผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปเราจ่าย 4,500 บาท สุดท้ายก็เป็นเงินของรัฐที่จ่ายไปไม่ต่างจากเงิน 3,000 บาท ถ้วนหน้าที่เราดีดตัวเลขมา

ดังนั้น คำว่าสวัสดิการถ้วนหน้ากับการจ้างงานที่เป็นธรรม มติ ครม.ต้นปี 40 ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็ยกเลิกการบรรจุราชการให้ลดน้อยลง มีการจ้างงานแบบเหมาบริการ ลูกจ้างเหล่านี้ของกระทรวง ทบวง กรมทั้งหมด เข้าระบบประกันสังคมหรืออะไรไม่ได้เลย ไม่ใช่เพราะกฎหมาย ถ้าพรรคแรงงานสร้างชาติได้รับโอกาสจากพี่น้องประชาชนในการเลือกตั้ง แค่เป็นมติ ครม.เราก็สามารถเอาสวัสดิการเหล่านี้กลับคืนมาให้กับพี่น้องประชาชนได้ทั้งหมด

การปฏิรูปประกันสังคมถ้วนหน้า เราติดกับดักกฎหมายของประกันสังคมมาโดยตลอด แก้ไขตอนนี้ 8 ฉบับ เราพยายามโดยมีการเลือกตั้งผ่านผู้ประกันตนโดยตรง เราพยายามปฏิรูป มีช่องทางเพื่อให้สวัสดิการเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่เป็นผล ก็คิดว่าในอนาคตคนทำงานในรั้วโรงงานจะลดน้อยลง มาตรา 33 จะลดลงไปเรื่อย ๆ ตอนนี้ประกันสังคมมีเงินอยู่ 2.4 ล้านล้านบาท ถามว่าเงิน 2.4 ล้านบาท นี้ไปอยู่ไหน มีการเอาไปลงทุนไปฝากแบงค์พาณิชย์ ผู้ประกันตนเดือดร้อนโควิดไม่สามารถกู้ได้ ดังนั้น พรรคแรงงานสร้างชาติจึงมองว่าเราควรมีธนาคารแรงงาน เวลากู้ไม่ต้องใช้อะไรไปค้ำ เอากองทุนชราภาพไปค้ำ เราจะตั้ง “ธนาคารแรงงาน” ให้กับทุกภาคส่วน

ส่วนมาตรา 40 ถามว่าเราจะเอาเงินมาจากไหน ตอนนี้รัฐบาลจ่ายแล้ว 230 บาท ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ

ช่องทางที่ 1 ผู้ประกันตนจ่าย 70 รัฐบาลให้ 30

ช่องทางที่ 2 รัฐบาลให้ 100 ผู้ประกันตนจ่าย 50

ช่องทางที่ 3 ผู้ประกันตนจ่าย 300 รัฐบาลให้ 50

มีกองทุนที่เรายังหมุนเวียนมาได้ ที่พี่น้องมาตรา 40 เรียกร้อง ตกเดือนละ 350 บาท ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 เท่ากับ 700 มาตรา 39 จ่าย 432 บาท รวม 6 กรณี แต่ถ้าจ่าย 700 บาท เราได้ 7 กรณี คือ เพิ่มคุ้มครองการขาดรายได้เข้ามา ถามว่ากองทุนจะมาจากไหน ถ้าพี่น้องประชาชนเลือกเบอร์ 8 กองทุนนี้เกิดขึ้นแน่นอน

000

สุเทพ อู่อ้น กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล กล่าว่า นโยบายของพรรคก้าวไกลชัดเจน ค่าจ้างค่าแรงปรับขึ้นทุกปี เริ่มจากปีนี้ 450 บาท และมีกฎหมายตราไว้ ซึ่งกฎหมายยื่นไปเรียบร้อยแล้ว ให้มีการปรับขึ้นทุกปีตามกฎหมายไม่ต้องรอการเมือง การทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หยุดพักผ่อน 2 วันต่อสัปดาห์ สัญญาจ้าง ต้องเป็นธรรม ยกเลิกการจ้างรายวันทำงานแบบลักษณะเดียวกันเป็นรายเดือน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ผู้ว่าจ้างและผู้ประกันสังคมต้องได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม คุ้มครองแรงงานเหมาช่วง เหมาบริการภาครัฐ ซึ่งทำแล้วในสภา ทุกอาชีพต้องมีสภาพแรงงาน ได้คุ้มครองแรงงานตามหลักสากล อนุสัญญา ILO 87 98 ที่เราเรียกร้องกันมานาน

สภาพแรงงานเข้าถึงข้อมูลบริษัทในการที่จะมาเจรจาข้อเรียกร้อง สิทธิ์ลาคลอดได้ 180 วัน คุณพ่อคุณแม่สามารถมีสิทธิ์เลือกได้ใน 90 วันหลัง เจ็บป่วยชดเชยค่าเดินทางไปหาหมอ เรียนฟรีตั้งแต่อายุ 7 ขวบถึง 16 ปีหรือ จบ ปวส.และที่สำคัญจบมามีงานทำ เรียนรู้ฟรีได้ตลอดเวลาโดยมีคูปอง เสริมทักษะในการเรียน 5,000 บาทต่อปี สามารถเลือกตั้งได้ตามที่อยู่อาศัยจริง นี่คือนโยบายที่เกี่ยวกับแรงงาน

ในส่วนของแรงงานนอกระบบ ที่มีจำนวนมากเราต้องการให้มีประกันสังคมที่เท่าเทียมกับมาตรา 33 โดยเฉพาะโควิด-19 ที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีการตกหล่น ดังนั้น ถ้ามี 7 กรณี การว่างงานจะต้องมีเงินมาชดเชยให้กับแรงงานนอกระบบทันที สามารถรวมตัวจัดตั้งสหภาพได้ มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่คุ้มครองแรงงานนอกระบบ และมีการกระจายที่ดินให้กับพี่น้องประชาชน และที่สำคัญกองทุนเพื่อการสร้างอาชีพ ให้กับผู้ใช้แรงงาน ให้กับพี่น้องแรงงาน

ด้านแรงงานสมัยใหม่ ผู้ใช้แพลตฟอร์ม พรรคก้าวไกลเห็นว่าต้องมีการศึกษาด้านแพลตฟอร์มไว้ อาชีพที่คนมาทำงานด้านแพลตฟอร์มไว้ ตอนนี้มีปัญหาอยู่เรื่องของคนที่พ้นโทษมาไม่สามารถทำงานได้ เรามีการนิรโทษกรรม การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต

ที่พูดมาทั้งหมดจะทำได้อย่างไร เราต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและสร้างให้เกิดระบบรัฐสวัสดิการตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบเรามีเรื่องของการช่วยเหลือดูแลบุตร 1,200 บาท เรียนฟรีตั้งแต่อายุ 7 – 16 ปี มีรถรับส่งที่ปลอดภัยมีอาหารให้ทานทั้ง 2 มื้อ คือ เช้าและกลางวัน หลักสูตรต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทันยุคสมัย ออกมาแล้วสามารถทำงานได้เลย

เมื่อวัยทำงานอายุ 18 – 59 ต้องมีระบบประกันสังคมที่เท่าเทียมกันคำว่าประกันสังคม ไม่ได้ประกันเฉพาะคนทำงานในโรงงาน เราต้องประกันคนทางสังคม และเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป ปัจจุบันไม่เพียงพอ เราต้องฝากเงินให้กับคนที่มีอายุ 10 ปี ขึ้นไป เป็น 3,000 บาท เพื่อที่จะได้มีเงินใช้ในการดำรงชีพ พ่อแม่ของเราจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ยืนยันว่าระบบประกันสังคมที่ครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศทำได้จริง จากเงิน 3.3 ล้านล้านบาท เราได้เข้าสู้สภาฯ เรียบร้อยแล้ว วันนี้ พรรคก้าวไกลเรามี ส.ส.อยู่แล้วขาข้างหนึ่ง อันดับ 3 ระดับ 4 และยังมี ส.ส.เขต อีกทั้งผมเป็นกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล

นโยบายที่ออกไปถ้าทำไม่ได้ผมจะไม่มาให้ทุกคนเห็นหน้าอีกต่อไป ผมต้องผลักดันนโยบายที่ท้าชน เราต้องรับผิดชอบผมจึงยืนหยัดอยู่กับพรรคอนาคตใหม่และก้าวไกลด้วยศักดิ์ศรีการเป็นแรงงาน เงินไม่สามารถสู้เรา ได้ศักดิ์ศรีของเราแรงงานที่ส่งผมเข้าไปสู่สภา นี่คือสิ่งที่ผมแบกและรับน้ำหนักมาอย่างเต็มที่ เราจะทำเพื่อพี่น้องแรงงานทุกคน

ส่วนคำถามที่ว่า ก้าวไกลจะทำอย่างไร ถ้าประชาชนเลือกก้าวไกลทั้ง 2 เบอร์เรามี ส.ส. มากกว่า 250 คนเราได้เป็นรัฐบาลแน่นอน ถ้าเราได้เป็นแน่นอนว่าเรามีสิทธิ์ที่จะแก้กฎหมาย เรื่องค่าจ้างและการกำหนดชั่วโมงการทำงาน ให้สิทธิการรวมตัวของสหภาพแรงงาน เป็นเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดทั้งนั้น เราทำไว้ตั้งแต่ตอนเป็นฝ่ายค้าน กฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิสารภาพการรวมตัวฉบับนั้นมาจากกระบวนการของพี่น้องแรงงานที่ส่งมาให้ทางผม ชัดเจนว่าเราทำได้แน่นอนถ้าเราได้ยินเสียงในการรวมตัวเป็นรัฐบาล เรื่องกฎหมายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ถ้าเป็นเรื่องของการจัดการระบบรัฐสวัสดิการ จะต้องไปเจรจากับภาคเอกชน เพื่อให้มีการปรับค่าจ้าง แต่ที่สำคัญภาครัฐ หน่วยงานราชการต้องทำงานเพื่อตอบโจทย์กับนโยบายของเรา ต้องปฏิรูประบบราชการให้มีความทันสมัย รับใช้ประชาชน จะเห็นว่าหลายพรรคพูดถึงเรื่องของนายทุนแต่ถ้าก้าวไกลของเราต้องขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ให้เงินภาษี เรามีเงินบริหารโดยเงินของประชาชน แล้วเราจะทำเพื่อประชาชน แล้วเราจะไปรีดงบจากกระทรวงกลาโหม เพื่อมาจ่ายสวัสดิการให้กับประชาชน เราจะมีการเก็บภาษีรายได้ ที่เป็นรายได้นิติบุคคล ต้องเสียภาษีหมดเรายืนยันจะเก็บภาษีก้าวหน้า ทางการประกอบธุรกิจกิจ เรื่องของที่ดิน และทรัพย์สิน เพราะประเทศไทยที่ส่วนใหญ่เป็นของคนส่วนน้อย

ดังนั้นผู้แทนราษฎรต้องทำหน้าที่แทนราษฎร ไม่ใช่ทำหน้าที่แทนนายทุน ถึงเวลาที่พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานต้องออกมาตื่นตัวทางการเมืองเยอะ ๆ เลือกพรรคที่ท่านชอบ เลือก ส.ส.เขตที่คิดว่าใช่ แต่พรรคก้าวไกลเราขอโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ เพื่อประชาชนทุกคน ถ้าเราเปลี่ยนแปลงประเทศได้เราจะกลับมาไม่เหมือนเดิมแน่นอน ประเทศไทยเราควรมีโอกาสไปแข่งขันกับนานาประเทศ ทุนใหญ่ต่าง ๆ ควรที่จะไปแข่งขันกับต่างประเทศ ไม่ใช่เป็นทุนใหญ่ที่ผูกขาด

อย่างนโยบายสุราก้าวหน้า เราไม่ได้ส่งเสริมคนกินสุรา แต่เป็นสิ่งที่คนไทยควรได้ทำ เรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศต่าง ๆ เราก็ต้องทำเพื่อให้เป็นประเทศที่มีสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น แรงงานเราก็ต้องดูแลทั้งในระบบและนอกระบบ และเรื่องของการลงทุน ประชาชนต้องมีเงินในการลงทุน รัฐบาลต้องหาเงินมาให้ประชาชนลงทุนและต่อยอด และมีการติดตามผลอย่างเป็นระบบ นี่คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย และหางานให้คนไทยทำ กระจายตัวไปทั่วภูมิภาค

การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นเป็นเรื่องที่จำเป็น ทั้งอำนาจและงบประมาณถ้าลงไปสู่ท้องถิ่นได้ท้องถิ่นนั้นจะมีการจ้างงานที่มหาศาล ไม่ใช่เป็นแบบปัจจุบันที่เหนือ ใต้ อีสาน ตะวันออก ตะวันตก มากระจุกตัวกันอยู่ที่ภาคกลาง จำเป็นที่ต้องแก้ไขเราทำได้และเราจะทำทันที เรามีแผน 100 วัน 300 วัน 2 ปี และ 4 ปี ในนโยบายที่เราเขียนไว้ ถ้าทำได้เราจะมอบอนาคตที่ดีให้กับลูกหลานของเรา

000

สาวิทย์ แก้วหวาน หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย กล่าวว่า 40 กว่าปี บนถนนคนทำงาน ข้อเสนอทุกข้อที่เสนอไป ยังไม่ได้รับการปฏิบัติ แต่ถามว่าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทยมีแนวทางหรือวิธีไหม เรามีวิธีการ ยื่นข้อเสนอแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นวัน Mayday วันสตรีสากล หรือวันที่มีคุณค่าสากล วันความปลอดภัยแห่งชาติ มีข้อเสนอแนะแนวทางทั้งหมด เพียงแต่ว่าสิ่งที่เสนอไม่นำไปสู่การปฏิบัติ อันนี้คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องสร้างพรรคสังคมประชาธิปไตยไทยขึ้นมา

เราสู้ 2 แนวทาง ด้านหนึ่งสู้กับขบวน ที่ผ่านมาพอเลือกตั้งเสร็จเราปล่อยให้นักการเมืองทำหน้าที่ในสภาฯ ไป ท้ายที่สุดนักการเมืองไม่สนใจภาพของขบวนปัญหาทุกอย่าง จึงถูกปฏิเสธหรือมีการแก้ไขบ้าง แต่ก็นิดหน่อย ดังนั้นกระบวนการเราพยายามทำทุกวิถีทาง แต่ก็อย่างที่เราเห็น ยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด

ข้อเสนอของพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย เรามองเห็นว่า ปัญหาของคนทำงานมีทุกภาคส่วนทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ เราต้องมองภาพรวมทั้งหมด ไม่มองภาพใดภาพหนึ่ง แน่นอนว่าคนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมเจอกับผลกระทบบ้านกดขี่หรือขุดรีด เอารัดเอาเปรียบอย่างเป็นกระบวนการ มีการจำแนกแรงงานนอกระบบ ในระบบ ที่หาเหตุและออกกฎหมายในการควบคุมกำกับดูแล แต่ท้ายที่สุดไม่มีหลักประกันในการดำเนินชีวิต คนที่จนไม่ใช่แค่เรื่องเงิน ความจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จนเงิน จนโอกาส จนอำนาจ จนสิทธิ์ โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการรวมตัวกันยังไม่เกิดขึ้น

นโยบายของพรรคสังคมประชาธิปไตยไทยไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง 712 บาท ที่เราเสนอไป ทำได้จริง ถามว่ามาจากไหน ผลสำรวจเมื่อปี 2560 ชี้ว่าเราสามารถทำได้จริง เรื่องระบบสวัสดิการเด็กในประกันสังคมจาก 600-800 บาท เราเสนอ 1,200 บาท เป็นระยะเวลา 12 ปี อุดหนุนเด็กถ้วนหน้า 0-12 ปี 3,000 บาทต่อเดือน เรื่องของชราภาพ ที่เราเสนอบอกว่าทำไมประกันสังคมถึงคำนวณแค่ 60 เดือนเฉลี่ยแล้วหาร 20%ไม่เหมือนราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่เวลาทำ ทำไมเราถึงไม่หาร 150 ไปเลย

นโยบายที่เราเสนอไปหลายพรรคยังไม่พูดว่า การทำรัฐสวัสดิการจะเอาเงินมาจากไหน ไม่มีใครแตะเรื่องของโครงสร้างภาษี ไม่มีใครแตะเรื่องอัตราภาษีก้าวหน้า ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีในตลาดหลักทรัพย์ที่ขายกันตอนนี้ไม่เก็บภาษีเลย ปีหนึ่งหายไปร่วมล้านล้านบาท พอเข้าใจว่าคนที่ทำเรื่องนี้ก็จะมีปัญหากับพวกนายทุน กระทบกับเจ้าของพรรคฯ เป็นปัญหาว่า ถ้าพูดเรื่องนี้ก็จะเป็นปัญหาเกิดขึ้น

บ้านผมคิดว่าเงินมีมากมาย การอุดหนุนเด็กเรียนฟรีสามารถทำได้ ทั้งหมดมีกระบวนการมีเงินแต่เราไม่มีกระบวนการในการบีบบังคับ หรือว่าสร้างกระบวนการเหล่านั้นเพราะกลไกที่อยู่ในสภาหรือรัฐบาลเป็นกลไกของชนชั้นนายทุน

ดังนั้น การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ พรรคสังคมประชาธิปไตยชูธงว่าจะต้องหยุดคอรัปชั่น สวัสดิการถ้วนหน้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ นี่คือโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน ถ้าเราจะแก้โจทย์นี้ไม่ได้พรรคการเมืองไหนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ แต่วันนี้ถ้าพรรคสังคมประชาธิปไตยมีโอกาส เราสามารถทำได้ทุกข้อที่เขียนไป

เรื่องภาษีก็ออกกฎหมายกำกับดูแลภาษีอัตราก้าวหน้า ซึ่งมีอยู่แล้วแต่ว่ามีการจัดเก็บที่ต่ำเกินไปโดยเฉพาะภาษีในตลาดหลักทรัพย์ 40 ปี แล้วไม่มีการเก็บภาษีเลย มูลค่าการซื้อขายในแต่ละปี 20 ล้านล้านบาท ดังนั้นเงินที่เราจะลงไปเม็ดเงินต่าง ๆ ไม่เกิดผลกับพี่น้องประชาชน ผู้ใช้แรงงาน

ขณะที่พวกเราผู้เป็นแรงงานถูกเก็บภาษีสูงสุด 35% ลดภาษีที่เก็บได้มากที่สุดคือภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ภาษีนายทุนไม่เก็บ ที่ดินไม่เก็บ ภาษีมรดกไม่เก็บ ดูได้จากตารางของกรมสรรพากรภาษีที่เก็บได้น้อยที่สุดคือภาษีมรดก ปีที่ผ่านมาเก็บได้ 450 ล้านเท่านั้น ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มเก็บได้ 7 แสนกว่าล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีก

ทำไมกฎหมายประกันสังคมถึงยอมให้รัฐละ 2 .75% และวันนี้ยอดค้างจ่ายอีก 7-8 หมื่นล้านบาท ยอดประกันสังคมสามารถทำร้ายประเทศ ลูกจ้างไม่ต้องจ่ายรัฐบาลจ่ายแทน พี่น้องในรายงานนอกระบบก็เช่นเดียวกัน วันนี้รับเสนอนโยบายสวัสดิการถ้วนหน้า เขาบอกเป็นไปไม่ได้เพราะกฎหมายไม่มีนายจ้าง ไม่มีลักษณะการเป็นตัวแทนลูกจ้างนายจ้าง ทำไมเราไม่เจรจา รัฐไม่ดำเนินการ

เราปล่อยให้ Application ต่าง ๆ ที่ต่างชาติคิดค้นขึ้นมา ปล่อยให้มีการจ้างงานชั่วคราว แต่ทำไมรัฐบาลไม่ทำหน้าที่กำกับว่า ถ้าไม่ดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานของประเทศไทยคุณเปิด Application ไม่ได้ หลายประเทศสามารถทำได้ แต่บ้านเราไม่ทำ ปล่อยให้มีการดำเนินงานแบบนี้ ทำให้คนงานอยู่ทุกข์ยากลำบาก

วันนี้ธุรกิจแบบเสรีทุนนิยมมีปัญหา สังคมประชาธิปไตยดีกว่าสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ ซึ่งวันนี้ผมคิดว่าทุกพรรคนำเสนอนโยบายแนวคิดแบบทุนเสรีนิยมหมด แต่พรรคฯ มองว่า ลักษณะแบบทุนเสรีนิยมที่ทุกพรรคนำเสนอมีปัญหาหมด ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นทั่วโลก ความรุนแรงในการแย่งชิงทรัพยากร ทางใต้ดิน บนดิน บทอวกาศ ดาวเทียม เอกชนยึดหมด เรามานั่งถกเถียงเรื่องค่าไฟฟ้าราคาแพง แต่เราไม่เข้าใจว่าโครงสร้างภาษีและการจัดเก็บ

โครงสร้างภาษีการทำสัญญาทาสกับเอกชน ไม่มีใครคิดที่จะแก้ในสิ่งนี้เพราะส่วนใหญ่ถือหุ้น และผลประโยชน์แบ่งปันกัน ขณะที่เราจ่ายทุกบาททุกสตางค์ ขณะที่กลุ่มทุนก็รวยขึ้น และเราก็จนเรื่อย ๆ จึงคิดว่า วันนี้พี่น้องแรงงานต้องพิจารณาว่าคุณจะตัดสินใจอย่างไรกับชีวิตคุณ

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 นี้อำนาจอยู่ในมือคุณ คุณจะคิดอย่างไร เลือกแบบเดิมหรือไม่ เลือกพรรคการเมืองแบบเดิน ท่านจะเจอแบบเดิม ดังนั้นถ้าคิดจะเปลี่ยนสังคม ต้องคิดว่าจะเลือกแบบไหน ความเป็นจริงจะเกินขึ้นได้ ผมยืนยันว่าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทยเสนอนั้นทุกนโยบาย มีรายละเอียดและวิธีการทำทั้งหมด ทั้งกรรมกร กลุ่มชาติพันธุ์ และเกษตรกร มีวิธีการทำทั้งนั้น อยู่ที่พี่น้องประชาชนจะให้โอกาสกับพรรคสังคมประชาธิปไตยไทยหรือไม่

000

000

ทั้งนี้ หลังการนำเสนอนโยบายจากพรรคการเมือง มีการวิจารณ์และแสดงความเห็นโดยผู้นำแรงาน อาทิ ชินโชติ แสงสังข์ ประธานจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ 2566, ธนัสถา คำมาวงษ์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย, ดร.ปิยรัชต์ สมาทา ประธานสภาองค์การลูกจ้างอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, นิว สหภาพคนทำงาน, ณีรมล สุทธิพรรณพงศ์ สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ แห่งประเทศไทย, บัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง และศิววศ์ สุขทวี เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

และนักวิชาการ อาทิ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

000

เติมข้อมูล: การขับเคลื่อนนโยบายเพื่อแรงงานของพรรคการเมืองไทย

แรงงานเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศซึ่งมีองค์กรจัดตั้งของตนเอง ได้แก่ สหภาพแรงงานและกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นองค์กรนำขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงาน (Labour movement) เพื่อผลักดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาแรงงานด้านต่าง ๆ แต่ในอดีตที่ผ่านมา พรรคการเมืองขนาดใหญ่มักไม่ให้ความสำคัญกับการนำเสนอนโยบายแรงงานอย่างเป็นรูปธรรมในการรณรงค์หาเสียงก่อนการเลือกตั้ง

หลังการประกาศใช้ รธน. 2540 มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แม้ว่าก่อนการเลือกตั้งพรรคไทยรักไทยได้มีการนำเสนอนโยบายหาเสียงอย่างเป็นรูปธรรมที่เรียกว่า “นโยบายประชานิยม” เพื่อหวังคะแนนเสียงจากประชาชนที่เป็นชนชั้นล่างโดยเฉพาะ แต่นโยบายดังกล่าวก็มุ่งเน้นไปที่คนชนบทและคนจนเมืองทั่วไป ยังไม่มีนโยบายรูปธรรมสำหรับกลุ่มแรงงานที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการและแรงงานนอกระบบ

การนำเสนอนโยบายแรงงานที่เป็นรูปธรรมของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ในช่วงของการรณรงค์หาเสียงก่อนการเลือกตั้งปรากฏขึ้นครั้งแรกในนโยบายของพรรคเพื่อไทยก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2554 โดยพรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายที่จะทำอย่างเร่งด่วน ข้อที่เป็นนโยบายแรงงานคือ การปรับค่าจ้างขึ้นต่ำให้ลูกจ้างเท่ากันทั่วประเทศเป็นวันละ 300 บาท และเงินเดือนลูกจ้างที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นเดือนละ 15,000 บาท

หลังการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งนี้เสียงสนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากแรงงานที่ชื่นชมนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำของพรรคเพื่อไทย ขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงานที่นำโดยสหภาพแรงงานได้มีการรณรงค์เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลจนต้องประกาศให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จากวันละ 215 บาทเป็นวันละ 300 บาท ในช่วงต้นปี 2555 ตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้

อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคพลังประชารัฐได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ก็ไม่ปรากฏว่ามีความพยายามในการปฏิบัติตามนโยบายแรงงานที่ได้นำเสนอไว้แต่อย่างใด

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2562 พรรคการเมืองขนาดใหญ่บางพรรค ได้เริ่มให้ความสำคัญกับการจัดทำข้อเสนอนโยบายแรงงานที่เป็นรูปธรรมในการรณรงค์หาเสียงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป เช่น พรรคพลังประชารัฐ นำเสนอนโยบายว่าจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำรายวันเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 425 บาทและปรับเงินเดือนผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นวันละ 20,000 บาท ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอาชีวะศึกษาปรับค่าจ้างเป็นเดือนละ 18,000 บาท ลูกจ้างรายเดือนจะได้รับการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงร้อยละ 10

ขณะที่ พรรคอนาคตใหม่ (พรรคก้าวไกลในปัจจุบัน) มีการนำเสนอนโยบายแรงงานที่จะผลักดันให้มีกฎหมายปรับค่าจ้างตามอายุการทำงาน โดยเริ่มต้นที่วันละ 450 บาท ลดชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์เหลือ 40 ชั่วโมง เพิ่มค่าทำงานล่วงเวลาเป็นชั่วโมงละ 2 เท่าของค่าแรงงานปกติ ผลักดันโครงการสวัสดิการถ้วนหน้าและสิทธิแรงงานต่าง ๆ และเกิดสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่คือ พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคการเมืองที่มีอดีตผู้นำสหภาพแรงงานที่ไม่เคยมีบทบาททางการเมืองได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในแบบบัญชีรายชื่อและแบบเขตถึง 4 คน

ในด้านการจัดตั้งพรรคของแรงงาน หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ได้มีอดีตผู้นำแรงงานจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาคือ พรรคสังคมประชาธิปไตย ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคสังคมธิปไตย และพรรคแนวสังคมประชาธิปไตย แต่ยังไม่เคยประสบความสำเร็จ ไม่มีผู้ได้รับการเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ปัจจุบัน การประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า ในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ผู้นำแรงงานบางกลุ่มได้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองของแรงงาน และบางกลุ่มได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคการเมืองต่าง ๆ โดยมีการนำเสนอนโยบายแรงงานในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

ฝ่ายบริการวิชาการและวิจัย วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย จึงได้จัดเวทีเสวนาทางวิชาการให้พรรคการเมืองที่มีนโยบายด้านการพัฒนาแรงงาน ได้พบผู้นำแรงงานและนักวิชาการ เพื่อนำเสนอนโยบายด้านแรงงานและรับฟังความคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ