เปิดอีก 12 เหมืองทองคำ

เปิดอีก 12 เหมืองทองคำ

ทำไม ต้องเปิดอีก 12 เหมืองทองคำ

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ไปแล้ว 2 รอบ มีการสำรวจแร่ทองคำไปแล้ว 3.5 ล้านไร่ ทั่วประเทศ ร่าง ประกาศนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ รอบที่ 3 ที่กำลังผลักดัน โดยครั้งแรกในปี 2532 และครั้งที่2 ปี 2554

เมื่อเร็วๆ นี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาประกาศนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ 12 จังหวัด (พิจิตร, พิษณุโลก, ลพบุรี, เลย, สตูล, สระแก้ว, สุราษฎร์ธานี, จันทบุรี ,ระยอง, สระบุรี, นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์) เพื่อเตรียมขยายพื้นที่ให้เอกชนเข้าสำรวจ

พื้นที่ทองคำในประเทศ
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ศักยภาพเป็นแหล่งแร่ทองคำ 9 บริเวณ คือ

1 บริเวณอำเภอเมือง อำเภอเชียงคาน และอำเภอปากชม จังหวัดเลย ต่อเนื่อง ไปถึง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย และอำเภอน้ำโสม อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดอุดรธานี
2บริเวณอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว
3 บริเวณอำเภอลอง และอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ต่อเนื่องถึง อำเภอสบปราบ และอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และอำเภอศรีสัชนาลัย – อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย
4 บริเวณอำเภอเมือง อำเภอแม่สาย และอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
5 บริเวณอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ผ่านอำเภอบ้านบึง และอำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ไปจนถึง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
6 บริเวณอำเภอทับสะแก บางสะพาน และบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อเนื่องไปถึง อำเภอประทิว และอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
7 บริเวณอำเภอสุคิริน แว้ง และระแอะ จังหวัดนราธิวาส และบริเวณตอนใต้ของ จังหวัดยะลา
8 บริเวณอำเภอสังขละบุรี ทองผาภูมิ และไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และ
9บริเวณอำเภอเมือง อำเภอวังโป่ง และหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอโคกสำโรง และอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี

 

แหล่งทองในประเทศที่มีการทำเหมือง
ปัจจุบันในประเทศมีการทำเหมืองทอง อยู่ 2 เหมือง ในแหล่งทองชาตรี จังหวัดพิจิตร และแหล่งทองภูทับฟ้า จังหวัดเลยทั้งสองพื้นที่ที่มีการทำเหมืองทอง มีเสียงคัดค้านจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อย่างกรณี บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ผู้ผลิตแร่ทองคำแห่งเดียวของประเทศในปัจจุบัน ต้องหยุดการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำเป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือน ตามคำสั่งของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่โดยรอบเหมืองทอง

 

17 กันยายน 2558 เครือข่ายประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท. 12 จังหวัด) และชาวบ้านพื้นที่ทำเหมืองทองคำ พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี รวมตัวกันที่วัดหนองขอน ต.เนิมะปราง อ.เนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ก่อนเคลื่อนขบวนไปใกล้ๆ กับเหมืองทองพิจิตร เพื่อแสดงสัญลักษณ์ไม่ต้องการเหมืองแร่

หนึ่งในเครือข่าย ปปท. ให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่า ในวันที่ 20 กันยายน 2558 นี้จะมีการแถลงจุดยืนการเคลื่อนไหวอีกครั้งที่กรุงเทพมหานคร รวมกับนักวิชาและตัวแทนประชาจาก 12 จังหวัดที่จะมีนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ และในวันที่ 22 กันยายน 2558 จะเข้าเสนอยื่นรายชื่อทั้ง 20,000 รายชื่อคัดค้านการเปิดสัมปทานเหมือง ต่อนายกรัฐมนตรี

ข้อสันนิษฐานจากคนในพื้นที่ที่มีการทำเหมืองทองคำในจังหวัดพิจิตรคาดการว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ศักยภาพเป็นแหล่งแร่ทองคำอีกหลายจังหวัด การที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาประกาศนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ 12 จังหวัด นั้นน่าจะเป็นการนำร่องก่อน และจังหวัดที่เหลือน่าจะตามมา ข้อสันนิษฐานและความกังวลที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ ประเทศไทยมีบทเรียนจากการทำเหมืองแร่จนส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชนมาแล้ว อย่างกรณีการทำเหมืองแร่ตะกั่วที่ทำให้สารพิษตะกั่วและอื่นๆ ไหลลงไปในลำห้วยคลิตี้ที่อำเภอทองผาภูมิ กาญจนบุรี ,กรณีการปนเปื้อนแคดเมียมในลำห้วยน้ำแม่ตาว จ.ตาก ,การทำเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดเลย และบริเวณรอยต่อ 3จังหวัด ของพิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก
 

ข้อเสนอภาคประชาชนที่เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้หยุดโครงการการให้สัมปทานเหมืองแร่ และเร่งแก้ไข พ.ร.บ.แร่ เพื่อประเทศชาติและประชาชนก่อนหน้านี้

1 ขอให้หยุดโครงการการให้สัมปทานเหมืองแร่

2 ขอให้ระงับการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำใน 12 จังหวัด ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 15 และ 17 ก.ย. 2558 เนื่องจากปัญหาของเหมืองแร่ในพื้นที่เดิมหลายแห่งยังไม่ได้รับการแก้ไข (โดย กพร.ประกาศใหม่ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในวันที่ 18 ก.ย.2558 )

3 ขอให้เร่งการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับของอดีตรัฐมนตรีจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช และให้มีการเปิดการประชุม แก้ไขเป็น พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ ฉบับเพื่อประเทศชาติและประชาชน

4 ทุกกระบวนการที่ทางรัฐแก้ไข ขอให้มีการเชิญตัวแทนของภาคประชาชนไปรับรับทราบแนวทางแก้ไข และได้มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ตั้งแค่ตรวจติดตาม ฟื้นฟู และประเมินผล รวมถึงแผนการชดเชย การฟื้นฟู ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

5 ประเทศไทยไม่ควรส่งออกแร่ทองคำเป็นวัตถุดิบ ต้องใช้และแปรรูปในประเทศ ในปริมาณที่พอควรกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

6 ขอให้รัฐดำเนินการตามคำขออย่างเร่งด่วนและก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยจะต้องมีการปรึกษาหารือในเรื่องแผนและแนวทางการจัดการกับประชาชน

www.change.org

 

ได้คุ้มเสียหรือไม่

ส่วนตัวผู้เขียนคงมิอาจจะเทียบความคุ้มได้คุ้มเสีย เนื่องจากแร่ เป็นสินทรัพย์ของประเทศ คิดแล้วนับว่าเป็นต้นทุนของประเทศมิต่างจากปิโตรเลียม เคยมีนักวิชาการ ม.ธรรมศาสตร์ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า สหรัฐอเมริกามีแหล่งปิโตรเลียมมหาศาลเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่สหรัฐอเมริกาพยายามใช้ของตัวเองให้น้อยที่สุดเลยคิดว่าเขาน่าจะเก็บต้นทุนตรงนี้ไว้ในอนาคต

ข้อมูลจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่รายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมเหมืองแร่ของไทยปี 2557 ระบุบการผลิตในปี 2557 ประเทศไทยมีการผลิตแร่กว่า 40 ชนิด มีมูลค่าผลผลิตประมาณ 63,939 ล้านบาทดยแร่ที่มูลค่าผลผลิตสูงที่สุด คือ หินปูน 18,471 ล้านบาทรองลงมา คือ ลิกไนต์ 17,272 ล้านบาท ยิปซัม 7,205 ล้านบาท ทองคำ 5,845 ล้านบาท และสังกะสี 3,312 ล้านบาท เมื่อจำแนกการผลิตตามกลุ่มแร่พบว่า แร่โลหะที่มีผลผลิตสูงที่สุด ได้แก่ เงิน 30.98 ล้านกรัม ทองคำ 4.43 ล้านกรัม

โดยในปี 2557 ไทยส่งออกแร่ในรูปโลหะ16,064 ล้านบาท โดยเป็น ดีบุก 9,223 ล้านบาท ทองคำ 5,967 ล้านบาท และเงิน 618 ล้านบาท

ปี2557 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่สามารถจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ได้ประมาณ 3,145 ล้านบาท ซึ่งแร่ที่สามารถจัดเก็บค่าภาคหลวงได้มากที่สุด ได้แก่ หินปูน ลิกไนต์ ทองคำ ยิปซัม และหินบะซอลต์

ค่าภาคหลวงจากแร่ทั้ง 5 ชนิดนี้มีมูลค่ารวมกัน 2,603 ล้านบาท (แร่ทองคำได้ 486 ล้านบาท) และค่าภาคหลวงแร่ที่จัดเก็บได้ส่วนหนึ่งจะถูกนำส่งเป็นรายได้ของรัฐ และอีกส่วนหนึ่งจะจัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามที่ได้กำหนดอัตราที่ได้รับการจัดสรรไว้ในพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ