9 ก.ย. 2563 – ประชาชนชาว จ.จันทบุรี หลายร้อยคนรวมตัวแสดงพลังบริเวณลานหน้าศาลากลางจังหวัดจันทบุรี คัดค้านกรณีบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ เพื่อขอสำรวจประกอบอุตสาหกรรมเหมืองทองคำ พื้นที่ ต.พวา และ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เนื้อที่ 14,650 ไร่ ตามคำขอที่ 8/2549 และ 9/2549 สร้างกระแสไม่เห็นด้วยของคนในพื้นที่ และได้มีการรวมลายมือชื่อกว่า 160,000 รายชื่อ ตามขั้นตอนที่ประชาชนสามารถส่งข้อทักท้วงเพื่อประกอบการพิจารณาคำขอไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดได้ภายใน 30 วัน หลังจากมีการปิดประกาศขออาชญาบัตร เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2563
การชุมนุมครั้งนี้มีการยื่นหนังสือคัดค้านพร้อมรายชื่อที่รวบรวมได้ให้กับนายอลงกรณ์ แอคะรัจน์ รอง ผวจ.จันทบุรี ในฐานตัวแทนจังหวัดจันทบุรี และน.ส.กาญจนา ทัพป้อม อุตสาหกรรม จ.จันทบุรี อีกทั้งยังมีการยื่นหนังสือให้กับ นายจารึก ศรีอ่อน และ พ.ต.ท.ดร.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี เพื่อส่งต่อให้กับรัฐบาลต่อไป
ทิวา แตงอ่อน เครือข่ายปกป้องผืนป่าตะวันออก กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี ได้ติดประกาศ ในพื้นที่ ต.สามพี่น้อง และ ต.พวา จำนวนทั้งหมด 22 หมู่บ้าน แจ้งว่า บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจทำเหมืองแร่ทองคำในทั้งสองตำบล เนื้อที่ประมาณ 14,650 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านทราบอยู่แล้วว่าเหมืองทองมีผลกระทบอย่างไรบ้าง จากกิจการทำเหมืองทองใน จ.พิจิตร และ จ.เลย เพราะฉะนั้นชาวบ้านใน จ.จันทบุรีจึงรวมตัวกันคัดค้านในทุกพื้นที่
ทิวา กล่าวด้วยว่า ชาวบ้านทำตามกระบวนการของกฎหมาย คือการยื่นหนังสือด้วยเหตุด้วยผลในการคัดค้าน 30 วัน จนถึงวันสุดท้ายน่าจะเป็นวันที่ 27 กันยายน แต่ส่วนตัวคิดว่าแค่นั้นไม่พอ วันนี้ชาวบ้านใน อ.แก่งหางแมว และอีก 9 อำเภอ ใน จ.จันทบุรี และจังหวัดใกล้เคียง มารวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดเพื่อแสดงพลัง เพื่อแสดงจุดยืน แสดงตัวชัดเจนว่า ชาวจังหวัดจันทบุรี ไม่ต้องการเหมืองแร่ทองคำ
“เราต้องการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เราต้องการให้มีการถอนคำร้องนี้ตั้งแต่ต้นเลย วันนี้เป็นการแสดงจุดยืน แสดงพลังที่ชัดเจนที่สุดแล้วของจังหวัดจันทบุรี หลังจากวันนี้เราดูท่าทีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน จะมีท่าทีอย่างไร ผมเชื่อว่าชาว จ.จันทบุรีทั้งจังหวัดและพี่น้องทั่วประเทศ ไม่เห็นด้วยกันการทำเหมืองแร่ทองคำใน จ.จันทบุรี เชื่อว่าครั้งนี้เราจะเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน เราจะช่วยกันต่อสู้คัดค้าน ยกเลิกอาชญาบัตรพิเศษให้ได้” ทิวากล่าว
ตัวแทนเครือข่ายปกป้องผืนป่าตะวันออก กล่าวด้วยว่า ไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมอะไรเลยที่จะมาทำเหมืองทองที่ จ.จันทบุรี และจังหวัดอื่นๆ ด้วย เพราะสามารถสร้างมูลค่า หารายได้จากกิจการอย่างอิ่นได้ โดยไม่ต้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ภูเขา สายน้ำ
“เราสามารถทำอย่างอื่นได้ ทองคำบนดินคือทุเรียนของเรา โดยเฉพาะที่ จ.จันทบุรี หลายปีที่ผ่านมาเราสามารถทำรายได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท ในการทำทุเรียนชาวบ้านส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ แต่ว่าทองคำบนดินนั้น ชาวบ้านได้ปีหนึ่งประมาณ 6-10% ปีหนึ่งไม่กี่ร้อยล้านบาท และต้องแลกกับการทำลายทรัพยากร ภูเขา ป่าไม้ สายน้ำ มากมายมโหฬาร ทำลายวิถีชุมชน ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วทั้งพิจิตรและเลย” ทิวาให้ข้อมูลถึงแหล่งรายได้ของคนพื้นที่
ทิวาฝากความคิดเห็นไปถึงรัฐบาลว่า อยากให้ยุติการทำเหมืองแร่ทองคำ จ.จันทบุรีและเหมืองทองทั่วประเทศ แล้วไปหารายได้อย่างอื่นที่มันยั่งยืน มั่นคงมากกว่านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากประชาชนในพื้นที่ จ.จันทบุรี และ จ.ระยอง ที่อาจได้รับผลกระทบ การเคลื่อนไหวครั่งนี้ยังมี ตัวแทนองค์กรท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์กรภาคประชาสังคมในนามเครือข่ายเพื่อนตะวันออก เข้าร่วมด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศเหมืองทองที่ได้รับการอนุญาตประกอบกิจการอยู่ 2 เหมือง คือ ในแหล่งทองชาตรี จ.พิจิตร และแหล่งทองภูทับฟ้า จ.เลย ในปัจจุบันได้หยุดการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำแล้ว แต่ระหว่างเปิดดำเนินการทั้งสองพื้นที่มีเสียงร้องเรียนเรื่องผลกระทบจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
เครือข่ายเพื่อนตะวันออก หนุนคนจันท์คัดค้านการขออาชญาบัตร
สำหรับแถลงการณ์เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2563 ระบุว่า ขอสนับสนุนเครือข่ายภาคประชาสังคมและภาคส่วนต่าง ๆ ใน จ.จันทบุรี ในการคัดค้านการยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่ จ.จันทบุรี โดยบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด ผู้เป็นนักลงทุนกลุ่มเดียวกับบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทแม่ในประเทศออสเตรเลีย คือ บริษัท คิงส์เกต กำลังมีกรณีพิพาทอยู่กับรัฐบาลไทย
เนื่องจากในขณะนี้ภาคส่วนต่าง ๆ ในท้องที่ จ.จันทบุรี และส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคประชาสังคมได้มีมติร่วมกันคัดค้านบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด ผู้ยื่นขอสำรวจแร่ทองคำในอำเภอแก่งหางแมว โดยไม่มีการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ก่อนที่จะปิดประกาศเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2563 ประชาชนชาวจันทบุรีที่ไม่ต้องการให้มีเหมืองแร่ทองคำมีเวลาส่งหนังสือคัดค้าน 30 วัน ทำให้ผู้ไม่เคยรับรู้การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกิดการตื่นตัวออกมาคัดค้านอย่างกว้างขวาง โดยมีมติไม่ยินยอมให้บริษัทยื่นคำขอสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่ดังกล่าว
เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออกที่เป็นองค์กรของพี่น้องเครือข่ายภาคประชาสังคมใน 8 จังหวัดภาคตะวันออก จึงขอประกาศให้การสนับสนุนพี่น้องทุกภาคส่วนของ จ.จันทบุรีที่ได้ลุกขึ้นมาคัดค้านการขออาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจแร่ทองคำ ของบริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด โดยสนับสนุนข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1.ขอให้ยกเลิกคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำทุกพื้นที่ที่เป็นป่าต้นน้ำของจังหวัดจันทบุรีอย่างถาวร
2.ต้องไม่อนุญาตให้มีการขออาชญาบัตรสำรวจแร่ และไม่ออกประทานบัตรเปิดเหมืองแร่ทุกชนิด ในพื้นที่ทุกจังหวัดของภาคตะวันออก ตราบที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเดิมที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ที่ผ่านมาให้เรียบร้อยเสียก่อน
3.การตัดสินใจของหน่วยงานผู้อนุญาตในเรื่องใดๆ เกี่ยวกับการทำแร่ ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออก จะต้องผ่านความเห็นชอบของประชาคมในพื้นที่ก่อนติดประกาศ โดยจะต้องมีประชาชนผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. แร่ พ.ศ.2560 และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม และผลกระทบต่อวิถีเศรษฐกิจของประชาชนฐานรากในพื้นที่
4.ขอให้ดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ที่ประเทศไทยได้ลงนามในสัตยาบันต่อนานาชาติไปแล้ว เนื่องจากพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเป็นพื้นที่ต้นน้ำและมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ความมั่นคงด้านอาหารต่อชาวจังหวัดจันทบุรี และต่อคนในประเทศไทย รวมทั้งเป็นผู้ผลิตอาหารให้ประชากรโลก จึงขอให้หน่วยงานทุกหน่วยงานของรัฐ เลิกมีความคิดที่จะหาผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมที่สร้างมลภาวะอันเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
5.ขอให้ตรวจสอบความโปร่งใส่ในการขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ในครั้ง เนื่องจากคำขอเดิมสิ้นอายุไปแล้ว และบริษัทแม่ในประเทศออสเตรเลียกำลังมีข้อพิพาทกับรัฐบาลไทย ดังคำพังเพยที่ว่าความวัวยังแก้ไม่หายก็สร้างความควายเข้ามาแทรก จึงเข้าข่ายส่อเจตนาไม่บริสุทธิ์ ไม่โปร่งใส จึงไม่สามารถไว้วางใจให้บริษัทดำเนินการสำรวจต่อไปได้
ริชภูมิ ไมนิ่ง บริษัทลูก อัครา
ข้อมูลจาก “ประชาชาติธุรกิจ” ระบุว่า บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง เป็นบริษัทที่อยู่ในเครือของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มคิงสเกท แคปปิตอล ออสเตรเลีย ซึ่งกำลังมีข้อพิพาทกับรัฐบาลไทย ในกรณีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 สั่งระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ การต่ออายุประทานบัตรและการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส ในพื้นที่รอยต่อของจังหวัดพิจิตร-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก มาตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2559 โดยคดีนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่กลุ่มคิงสเกทฯ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย
ทั้งนี้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส และกลุ่มคิงสเกท แคปปิตอล ได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ผ่านบริษัทต่าง ๆ ถึง 3 ทอด โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ได้แก่ บริษัท อิสระ ไมนิ่ง (99.9988%) ในขณะที่บริษัท อิสระ ไมนิ่ง ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็คือ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) (51%) กับบริษัท คิงสเกท แคปปิตอล ออสเตรเลีย (49%) มีสถานที่ตั้งบริษัทอยู่ในเลขที่เดียวกันคือ 99 หมู่ที่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร อีกทั้งยังมีกรรมการบริษัทเป็นบุคคลชุดเดียวกัน คือ นายรอส อเล็กซานเดอร์ คอยส์, นายสิโรจ ประเสริฐผล, นายเจมี่ ลี กิ๊บสัน และนายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ เฉพาะ 3 คนแรกยังดำรงตำแหน่งกรรมการ ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม คำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำทั้งประเทศจากการตรวจสอบข้อมูลมีอยู่ประมาณ 13 บริษัท คิดเป็นจำนวนแปลง 167 แปลง เนื้อที่ 1,428,412-2-00 ไร่ เฉพาะกรณีของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง เคยยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษไว้ 4 จังหวัด ประกอบไปด้วย ระยอง-พิษณุโลก-จันทบุรี-ลพบุรี เนื้อที่ประมาณ 127,687 ไร่