คำถามจากภาคประชาชน หวั่นรัฐใช้ ม.44 เปิดเหมืองทอง

คำถามจากภาคประชาชน หวั่นรัฐใช้ ม.44 เปิดเหมืองทอง

เวทีสาธารณะออนไลน์ “จับตา ม.44 รอบสอง เปิดเหมืองทองคิงส์เกต ?” หวั่นรัฐบาลไทยเจรจาไม่เปิดเผย และอาจใช้อำนาจพิเศษเปิดเหมืองทองอีกครั้ง จี้ เปิดข้อมูลการต่อสู้ในอนุญาโตตุลาการ

รายงานโดย: The Story of แม่หญิงไฟ้ท์

8 พ.ย. 2564 – เวทีสาธารณะออนไลน์ เรื่อง “จับตา ม.44 รอบสอง เปิดเหมืองทองคิงส์เกต?” โดยเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw), โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM), FTA Watch, ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (CPCR), มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC), Protection international, พรรคสามัญชน, พรรคประชาชาติ ร่วมกับสำนักข่าว The Reporters

จากกระแสข่าว การเตรียมเปิดเหมืองทองอัครา ของ บ.คิงส์เกต คอนโซลิเดท จํากัด ประเทศออสเตรเลีย บริเวณรอยต่อของ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ขึ้นมาใหม่ หลังจากที่คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้เลื่อนการอ่านคำชี้ขาดข้อพิพาทระหว่าง บ.คิงส์เกตฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บ.อัครา รีซอร์สเซส จำกัด กับราชอาณาจักรไทย ในกรณี คสช.ได้ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 72/2559 ระงับการทำเหมืองทองคำ และการประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ หรือเหมืองทองพิจิตร ออกไปเป็นวันที่ 31 ม.ค. 2565

กลุ่มผู้จัดงานระบุว่า เวทีสาธารณะนี้มีขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็น หรือข้อความใดโดยสุจริต ติชม ด้วยความเป็นธรรม เพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน โดยหวังว่าการแจ้งข่าวนี้เรียกร้องให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เปิดเผย และปฏิบัติการเพื่อคงไว้ซึ่งหลักการสำคัญสูงสุดคือ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ประชาชนและสาธารณะ กรณีที่เกี่ยวข้องกับเหมืองทองคำ

หัวหน้าพรรคสามัญชนเผยข้อมูลจากคิงส์เกต อาจได้เปิดเหมืองชาตรี พร้อมได้สิทธิเปิดแหล่งแร่ใหม่ ทับเขตอุทยาน

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมและหัวหน้าพรรคสามัญชน กล่าวว่า หลังมีการใช้ มาตรา 44 ปิดเหมือง บ.คิงส์เกตได้ไปยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการ ระหว่างนั้น บ.คิงส์เกต ก็ใช้สงครามจิตวิทยาข่าวสาร โดยนำเรื่องจ่ายเงินประภัยคุ้มครองความเสี่ยงทางการเมืองมาลดทอน หักล้างความเสี่ยงด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนไทย เป็นการโน้มน้าวและสร้างสถานการณ์ สร้างน้ำหนักให้อนุญาโตฯ เชื่อว่าเกิดความเสี่ยงทางการเมืองขึ้นมากกว่าความเสี่ยงด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนไทย

ขณะเดียวกันทาง บ.คิงส์เกต ยังได้จับมือกับ บ.ซูริกฯ ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัย ให้ บ.ซูริกฯ มาไล่เบี้ยกับรัฐบาลไทย หลังจากที่ทาง บ.ซูริกฯ เสียค่าประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงทางการเมืองให้แก่คิงส์เกต ไป 55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงจะถือว่าการเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย เพื่อให้จ่ายค่าประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงทางการเมืองนั้นเกินไปจากข้อพิพาทหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการสู้ในชั้นอนุญาโตฯ มีการไกล่เกลี่ยกันระหว่าง บ.คิงส์เกต กับ รัฐบาลไทย โดย บ.คิงส์เกตได้เปิดเผยข้อมูลว่า ข้อเสนอของบริษัทจะได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลไทยทุกข้อโดยไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการได้รับอนุญาตให้กลับมาทำเหมืองใหม่ในพื้นที่เดิม คือ ‘แหล่งชาตรี’ และในพื้นที่ ‘แหล่งชาตรีเหนือ’

โดยอาจจะมีการขยายเวลาอายุประทานบัตรแหล่งชาตรีที่หมดอายุประทานบัตรไปเมื่อปี 2563 หรือต่ออายุประทานบัตรให้กับแหล่งชาตรีไปอีก 20 – 30 ปี และขยายเวลาอายุประทานบัตรแหล่งชาตรีเหนือที่หมดอายุประทานบัตรปี 2571 ให้ด้วย เนื่องจากเสียโอกาสไม่ได้ทำเหมืองมาหลายปีจากคำสั่ง คสช.ที่สั่งปิดการทำเหมืองทองคำทั้งหมด

นอกจากนี้ยังได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองในพื้นที่ใหม่ ซึ่งคาดเดาว่าน่าจะเป็น ‘แหล่งสุวรรณ’ พื้นที่ประมาณ 12,500 ไร่ ในเขต ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ ‘แหล่งโชคดี’ อยู่ห่างจากแหล่งชาตรีขึ้นไปทางเหนือ 20 กิโลเมตร บนพื้นที่ประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร ประมาณ 18,750 ไร่ ในเขต ต.บ้านมุงและ ต.วังยาง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งทองคำที่ทับลงบนพื้นที่ทั้งในและนอกเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงและป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย

พร้อมกับจะได้รับการขยายเวลาหรือต่ออายุอนุญาตใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำเหมืองทองตามประทานบัตรแหล่งชาตรีและแหล่งชาตรีเหนือ เช่น ใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่

“เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการทำผิดให้เป็นถูกด้วย เพราะโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายที่ขยายการถลุงแร่ทองคำเพิ่มไปอีก 3 เท่า จาก 8,000 ตัน/วัน เป็น 24,000 ตัน/วัน ที่สร้างก่อนได้รับใบอนุญาตโรงงาน และก่อนที่ EHIA จะผ่านความเห็นชอบ ซึ่งคดียังอยู่ในชั้นศาลปกครองสูงสุด โดยศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้คล้องโซ่ปิดโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายเอาไว้ไม่ให้ใช้งาน จึงมีนัยยะว่ารัฐบาลไทยคงจะให้ความช่วยเหลือคิงส์เกตอย่างเต็มที่ในการสู้คดีนี้หรือไม่”

นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่า ยังมีข้อมูลด้วยว่า บ.คิงส์เกตอาจจะได้รับการลดหย่อนค่าภาคหลวงแร่ ภาษีรายการต่าง ๆ จากการประกอบกิจการเหมืองทองและโลหกรรม และสามารถนำบริษัท อัครา ฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์ไทยโดยไม่ต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมายเพิ่มเติม ขณะเดียวกันจะได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำไม่ต่ำกว่า 1 ล้านไร่ ส่วนสินแร่ทองคำและเงินคงค้างในระบบผลิตเดิมก่อนถูกคำสั่งปิดก็จะได้รับอนุญาตให้ขนออกมา

ทั้งนี้ สิ่งที่ทาง บ.คิงส์เกตใช้ในการฟ้องคดีไทย นอกเหนือไปจากการใช้ มาตรา 44 ที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมแล้ว ยังอ้างว่า ไม่ได้เป็นต้นเหตุในการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อชาวบ้านรอบเหมือง โดยอ้างผลการตรวจสอบว่าไม่มีคนป่วยที่เกิดจากโลหะหนัก

“เป็นอะไรที่แย่มากที่อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลไทยโดย กพร. ก็ได้ตั้งคณะกรรมการ 5 ฝ่าย ขึ้นมาศึกษาวิจัยเรื่องนี้ และก็มีผลออกมาหลายประการว่า เหมืองเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดผลกระทบ แต่ก็มีความพยายามไม่มากพอจาก กพร. บริษัทกฎหมายระหว่างประเทศ และอนุญาโตฯ ฝ่ายไทยที่ไม่ได้นำข้อเท็จจริงเหล่านั้นไปสู้ในชั้นอนุญาโตฯ เท่าที่ควร คำถามคือทำไม กพร. ถึงเล่นเกมสองหน้า และทำไมบริษัทกฎหมายระหว่างประเทศและอนุญาโตฯ ฝ่ายไทยถึงดูอ่อนหัด หรือแสร้งอ่อนหัด”


นายเลิศศักดิ์ ระบุว่า สถานการณ์เช่นนี้อาจะทำให้ให้รัฐบาลไทยใช้อำนาจพิเศษเปิดเหมืองทอง บวกกับผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่เกินไปกว่าข้อพิพาทอีกมหาศาลที่จะส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพของชีวิตประชาชนไทยจำนวนมาก

จึงมีลักษณะเสมือนการใช้ มาตรา 44 รอบ 2 เพราะมีความพยายามให้รัฐบาลใช้อำนาจพิเศษเปิดเหมือง เพราะถ้าจะใช้อำนาจตามกฏหมายปกติ ถามว่าจะใช้กฎหมายอะไรมาเปิด เพราะหากเป็นกฎหมายแร่ฉบับใหม่ก็มั่นใจว่า ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ เหมืองชาตรีไม่สามารถเปิดได้อย่างแน่นอน เพราะมีผลกระทบหลายอย่างต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด

เอฟทีเอ ว็อทช์ กังขาชงเรื่องให้ใช้ ม. 44 ปิดเหมือง เปิดช่องทางนักลงทุนฟ้องกลับ จี้ให้สู้ต่อเพื่อให้อนุญาโตฯ ตัดสิน ก่อนนำเรื่องเข้าสู่ศาลไทย

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของ FTA เป็นการสนับสนุนเอื้ออำนวยให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศนั้น ๆ และป้องกันรัฐบาลแบบอำนาจนิยม แต่ปัจจุบันโลกมีมาตราฐานมากขึ้น การโอบอุ้มนักลงทุนมากเกินไปบางครั้งก็ทำร้ายประชาชน

อย่างกรณีปิดเหมือง ทางบริษัทก็อ้างว่าเป็นการยึดทรัพย์ทางอ้อม เพราะไม่สามารถแสวงหาผลกำไรตามที่คาดการณ์ไว้ว่าจะได้ ทำให้มีการเรียกค่าเสียหายถึง 3 หมื่นล้านบาท แต่ส่วนตัวเห็นว่าบางครั้งนักลงทุนไม่ได้หวังว่าจะมีการฟ้องจริง เพื่อให้ได้ค่าชดเชยมหาศาล แต่ฟ้องเพื่อข่มขู่และหวังแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตัวเองต้องการเท่านั้น

กรรณิการ์ ยังกล่าวถึงกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor – State Dispute Settlement – ISDS) ด้วยว่า คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่จะไปเลือกนักกฎหมาย บริษัทต่าง ๆ ที่ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งถือว่าเป็นพวกผลประโยชน์ทับซ้อน และมีอยู่เพียงไม่กี่บริษัท ซึ่งวิธีการทำงานบริษัทพวกนี้ก็จะมีหน้าที่ไปบีบบังคับให้มีการฟ้องร้องตามข้อตกลง FTA 

พร้อมกันนี้ยังตั้งสังเกตด้วยว่า การที่หัวหน้าคสช.ใช้มาตรา 44 ปิดเหมืองทอง มีคนในหน่วยราชการรู้หรือหรือจงใจหรือไม่ ที่เลือกใช้มาตรา 44 เพื่อที่จะนำมาสู่วันนี้ เพราะข้อตกลง FTA มีไว้เพื่อที่จัดการกับรัฐบาลอำนาจนิยม จึงเป็นช่องให้บ.คิงส์เกต ฟ้องว่าใช้กฎหมายที่ไม่เป็นนิติรัฐนิติธรรม

“คุณใช้กฎหมายปกติได้ แต่คุณไม่ทำ แต่คุณไปให้ข้อมูลหัวหน้าคสช. เพื่อให้ใช้มาตรา 44 เพราะคุณรู้ว่าจะปิดไม่ได้อย่างนั้นหรือเปล่า และจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนฟ้องร้องในที่สุด และต่อมาคุณก็ไม่สู้เพราะคุณกลัวแพ้ คุณก็เลยต่อรองให้เค้าเปิดเหมืองได้ เปิดเหมืองต่อไปได้ในที่เดิมหรือถวายที่ใหม่ๆให้กับเขา โดยไม่สนใจว่ามันต้องมาจากเลือดเนื้อของชุมชนนี่คือบทสรุปของการลงทุนใน FTA ต่าง ๆ และจะรุนแรงยิ่งขึ้นใน CPTPP ที่ให้การคุ้มครองการลงทุนแม้ไม่ใช่การลงทุนโดยตรงก็ตาม แค่ลงทุนใน portfolio ก็ได้รับการคุ้มครอง”

กรรณิการ์ ระบุว่าทางออกของเรื่องนี้ รัฐจะต้องสู้ต่อเต็มที่ไม่ให้กลับมาเปิดเหมือง เพราะอย่าลืมว่าคดีนี้เป็นคดีภายใต้ระบบอนุญาโตตุลาการชั่วคราวของสหประชาชาติ (UNCITRAL) ที่กระบวนการยุติธรรมในประเทศยังสามารถกลับมาทบทวนความถูกต้องก่อนมีคำสั่งบังคับคดีได้ ดังนั้นเมื่อมีผลจากอนุญาโตตุลาการแล้ว ก็สามารถนำผลนั้นกลับเข้าสู่ศาลไทยเพื่อที่จะให้ศาลไทยพิจารณาว่าในสิ่งที่เขาพิจารณามาถูกต้องหรือไม่ถึงจะบังคับใช้

แนะ ยอมจ่ายค่าเสียหาย แต่ฟ้องกลับให้อ่วมกว่า ชี้ มีหลายคดีใน ป.ป.ช.-ชั้นศาล ทั้งสินบนข้ามชาติ สิ่งแวดล้อม และทำสุขภาพชาวบ้านรอบเหมืองย่ำแย่

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า มีวิธีการที่ทำให้เราไม่ต้องเสียค่าโง่กว่า 2 หมื่นล้าน เพราะเรื่องนี้ยังมีคดีสินบนข้ามชาติอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลายคดี เช่น กลต.ออสเตรเลียพบว่า มีการโอนเงินจากบริษัทในออสเตรเลีย ซึ่งได้สัมปทานทำเมืองทองคำใน จ.พิจิตร มายังประเทศไทย

ป.ป.ช.ได้รับเรื่องในปี 2558 และตั้งอนุกรรมการไต่สวนเรื่องนี้ และพบว่ามีนักการเมืองและข้าราชการของไทยถึง 13 คนเข้ามาเกี่ยวข้อง ในจำนวนนี้มีอดีตรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและอดีตหัวหน้าพรรคการเมืองไทยพรรคหนึ่ง และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสากรรมในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ต่อมาได้ทำเรื่องขอเส้นทางการเงินจากทางฮ่องกง จนปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้ป.ป.ช. ไม่สามารถตามต่อได้ว่ามีเงินเข้าบัญชีใครบ้าง

ไชยณรงค์ กล่าวว่า ยังมีคดีที่ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด อธิบดีกพร. ตามมาตรา 157 และ ผิดวินัยร้ายแรง ในการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน กรณีให้บริษัทแก้ผังย้ายบ่อเก็บกากแร่แหล่งที่ 2 ในปี 2554 ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนอย่างร้ายแรงได้ พร้อมกับชี้มูลว่าการกระทำของบริษัทและกรรมการผู้จัดการมีความผิดทางอาญาฐานสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดด้วย

นอกจากนี้ยังมีคดี การขยายโรงประกอบโลหะกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต กระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่ไม่ถูกต้อง การกระทำผิดตามผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ พ.ร.บ.ทางหลวง แต่วันนี้คดีเหล่านี้มีความคืบหน้าถึงไหนแล้ว ถ้าไม่ถึงไหนจะต้องเร่งรัด

“ค่าโง่กว่า 2 หมื่นล้านก็จ่ายไป แล้วรัฐก็มาฟ้องเอาคืนจากเอกชนมากกว่าค่าโง่ที่เราต้องเสียไป ทั้งความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมสุขภาพของประชาชนที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ คดีที่พูดไปทั้งหมด รัฐบาลสามารถจัดการทุนข้ามชาติได้เลย ไม่ต้องมานั่งรอให้เขาฟ้อง ในประเทศที่กำลังพัฒนาอื่น ๆ เขาไม่ปล่อยให้เอกชนทำร้ายประชาชนแบบนี้

แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่ได้ช่วยปกป้องผลประโยชน์ให้กับประชาชนเลย รัฐให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนต่อสู้กับเอกชนเองตามยถากรรม อีกทั้งในระยะหลังยังมีกระแสข่าวการซูเอี๋ยกัน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ แต่ท่าทีของรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ดูเหมือนว่าจะให้กลับมาเปิดใหม่ ซึ่งหากมีการเปิดใหม่อีกครั้ง จะเป็นการทำร้ายประชาชนอย่างร้ายแรง”

ไชยณรงค์ ระบุว่า หากมีการเปิดเหมืองอีกครั้ง ที่ต้องแบกรับคือคนที่อยู่ตรงนั้น และสิ่งแวดล้อมได้รับความเสียหาย เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในเชิงคุณภาพ เพราะชาวบ้านรอบเมืองได้รับสารพิษโลหะหนักเข้าไปในร่างกายคุณภาพชีวิตของประชาชนที่เราต้องจ่ายให้กับเรื่องนี้ ไม่สามารถคำนวณความเสียหายได้

นอกจากนี้เห็นว่านักการเมืองควรที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน แต่วันนี้พรรคการเมืองพูดเฉพาะประเด็น มาตรา 44 แต่ไม่มีการพูดถึงมิติความเสียหายที่ประชาชนมีแต่อย่างใด

ชี้ ม.44 ทำป่วน คิงส์เกต ฟ้องรัฐไทยทั้งที่ กม.ปกติมีแต่ไม่ใช้ ตั้งข้อสงสัยกระแสดอดเจรจา เปิดเหมืองแลกถอนคดี

ด้านสุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (CPCR) กล่าวว่า การใช้มาตรา 44 ของคสช.ในการสั่งปิดเหมืองทอง กลายเป็นช่องทางให้บ.คิงส์เกตฯ นำไปฟ้องว่ามีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพราะมาตรา 44 นี้ ตัดกระบวนการทางกฎหมายปกติไปหมด จนทำให้กลายเป็นว่าไทยโต้แย้งไม่ได้ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่ากฎหมายตามช่องทางปกติ เช่น กฎหมายแร่ หรือคำสั่งของกระทรวงอุตสาหกรรม คำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ก็สามารถใช้ในการปิดเหมืองทองได้แล้ว เพราะมีประชาชนได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจริง

สุมิตรชัย กล่าวถึงกรณีที่มี ส.ส.ตั้งข้อสังเกตว่ามีการไปลอบเจรจากันแล้วให้คิงส์เกตฯ ถอนเรื่องออกจากอนุญาโตตุลาการ เพื่อแลกกับการให้เปิดเหมืองอีกครั้งนั้น มองว่ากระบวนการการต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ ไม่มีการเปิดเผยให้ข้อมูลประชาชนหรือสาธารณะได้รับรู้ แต่ที่รับทราบกันเป็นเพราะทาง บ.คิงส์เกตฯ ไปรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ของออสเตรเลีย โดยขอให้สภาผู้แทนราษฎรเปิดอภิปรายทั่วไปในเรื่องนี้

“มีคำถามว่าสิ่งที่คิงส์เกตฯ ไปรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ของเขาเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เพราะถ้ารัฐบาลไทยประเคนสิ่งต่าง ๆ ให้กับคิงส์เกต โดยไม่ผ่านกระบวนการกฎหมายภายในประเทศเท่ากับเป็นการทำลายหลักนิติธรรมเหมือนกัน และถ้าคิงส์เกตจะกลับมาเปิดเหมืองจะต้องมาผ่านกระบวนการตามกฏหมายไทยก่อนหรือไม่ นอกจากนี้ ในทางกลับกันถ้าคิงส์เกตรับเงื่อนไขนี้ ก็เท่ากับกลืนน้ำลายตัวเอง เพราะบริษัท ก็นำประเด็นการใช้มาตรา 44 ปิดเหมืองว่าไม่มีหลักนิติธรรมทำไปฟ้อง”

สุมิตรชัย ยังตั้งคำถามกลับไปที่คิงส์เกตด้วยว่า พร้อมกลับมาสู้คดีสิ่งแวดล้อมที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้หรือไม่ โดยเฉพาะกรณีที่คณะกรรมการ 5 ฝ่ายระบุชัดว่า เหมืองนี้มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เดินเข้ามาเปิดเหมืองแบบไม่สนใจในสิ่งที่ผ่านมา

สำหรับทางออกในเรื่องนี้ ต้องให้อนุญาโตตุลาการตัดสินวินิจฉัยชี้ขาดออกมาว่า ตกลงแล้วรัฐบาลผิดจริงแค่ไหน ความเสียหายเกิดขึ้นแค่ไหน เพราะว่าจริง ๆ แล้ว เคยมีคดีแบบนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ ที่อนุญาตโตตุลาการ พิจารณาว่า การตัดสินใจของรัฐบาลทำให้เอกชนเสียหาย แต่ถ้ารัฐบาลตัดสินใจเป็นไปเพื่อการปกป้องประโยชน์สาธารณะ ปกป้องชีวิตของประชาชน ก็อาจจะ สั่งให้จ่ายน้อยกว่าที่คิงส์เกตเรียกมา 3 หมื่นล้านบาท เพราะที่ผ่านมาคิงส์เกตก็ได้ผลประโยชน์มากมาย

“เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นในมาแล้วในแคนาดา ที่ยอมผิดสัญญา เพราะประโยชน์สาธารณะจะต้องเหนือกว่าประโยชน์ของเอกชน ดังนั้นจึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลไทยตัดสินใจปกป้องอะไร แต่พวกเราไม่รู้ว่ารัฐบาลไทยเอาอะไรไปสู้ในอนุญาโตตุลาการ เพราะไม่เคยมีการเปิดเผยต่อสาธารณะเลย ซึ่งรัฐบาลควรเปิดเผยต่อประชาชน เพื่อคลี่คลาย ความสงสัยของประชาชน ถ้าแพ้เราก็จะรู้สึกว่าเราสู้เต็มที่แล้ว ไม่ใช่ทำเป็นความลับ ดูไม่โปร่งใส ที่ผ่านมาเราเสียค่าสู้คดีเยอะมาก

ถึงแม้จะเป็นความหวังดีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่การใช้วิธีที่ผิดเลยส่งผลเกิดความเสียหายแบบนี้ตามมา ความรับผิดชอบตกกับประชาชน ไม่ว่าจะจ่ายเป็นภาษี หรือต้องเอาทรัพยากรประเคนให้เขา”

แนะรัฐ ใช้คดีที่ชาวบ้านฟ้องกลุ่ม ผลกระทบสุขภาพ-สิ่งแวดล้อมในศาลไทย ไปสู้ในชั้นอนุญาโตฯ จี้ เปิดข้อมูลการต่อสู้ต่อสาธารณะ ดักคออย่าไปต่อรองลับหลัง

ส.รัตนมณี พลกล้า มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ระบุุว่า บ.คิงส์เกต มาทำเหมืองในไทยต้องปฏิบัติตามกฎหมายในไทยซึ่งจะต้องประกอบกิจการที่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน และถ้ามีมลพิษออกมาจากพื้นที่ก็จะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งใน 3 เสาหลักของหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ที่มี 3 หลักการใหญ่ คือ คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา

เท่าที่ทราบที่ผ่านมา มีการอ้างว่า การประกอบกิจการของบริษัทมีการร้องเรียนทั้ง ประเด็นการดำเนินกิจการนอกเหนือจากพื้นที่ที่ตัวเองได้ขออนุญาต มีมลพิษหลุดออกมานอกพื้นที่ ซึ่งเหล่านี้หากเป็นจริงบริษัทจะต้องรับผิดชอบ โดยขณะนี้ศาลไทยได้รับการฟ้องคดีเมืองทองอัคราเป็นคดีแบบกลุ่มแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เป็นกฎหมายภายในประเทศ ที่ไม่ว่าบริษัทใดก็ตามที่มาลงทุนจะต้องรับเรื่องหลักการนี้ แต่สำหรับบ.คิงส์เกต ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติ สิ่งที่จะต้องติดตามต่อ คือ การลงทุนข้ามพรมแดนความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ความรับผิดชอบเพียงแค่บริษัทลูกที่จดทะเบียนในไทยเท่านั้น แต่บริษัทที่เป็นผู้ที่มาลงทุนซึ่งอยู่ต่างประเทศที่ออสเตรเลีย จะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย

ส.รัตนมณี ระบุด้วยว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากการใช้ มาตรา 44 ในการสั่งปิดเมือง ถือเป็นจุดอ่อนเพียงข้อเดียว ที่ไทยเสียเปรียบบริษัทคิงส์เกต เพราะถูกนำไปร้องต่ออนุญาโตตุลาการว่า ไทยใช้กฎนอกกฎหมายปกติมาปิดเหมือง ทั้งที่ทางบริษัทมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และปัญหาเรื่องการถูกตรวจสอบในการประกอบกิจการอยู่แล้ว

“เราไปยอมรับตั้งแต่ต้น ตั้งแต่รับ FTA ทั้งที่เราต้องยืนยันว่า ให้ใช้กฎหมายไทยขึ้นศาลไทย แต่นี่เรารับมาหมดเลย หลายอย่างให้ผลประโยชน์เขาไปหมดเลย รัฐกำลังจะเปิดโอกาสให้เอกชนมาปู้ยี่ปู้ยำในประเทศ โดยที่ไม่สนใจว่าคนในชุมชนจะเป็นอย่างไร สิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไร จะมองเฉพาะประโยชน์รัฐแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งประโยชน์รัฐบางทีอาจจะไม่ใช่ประโยชน์ของประเทศ แต่เป็นประโยชน์ของตัวบุคคลในรัฐบาล

ส.รัตนมณี ยังกล่าวถึงกรณีคดีที่เครือข่ายภาคประชาชน 5 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคิงส์เกต ยื่นให้ป.ป.ช. เอาผิด นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ว่า เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายของประชาชน ประชาชนไปร้องเรียนให้หน่วยงานดำเนินการ แต่หน่วยงานไม่ดำเนินการ เพราะฉะนั้นรัฐมนตรีก็ต้องรับผิดชอบในประเด็นนี้

ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ประชาชนฟ้องแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่มีสารพิษรั่วไหลออกมาจากเหมืองอัครานั้น ขณะนี้อยู่ในชั้นตรวจสอบพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลย จากนั้นจะเข้าสู่การสืบพยาน อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลสามารถนำไปใช้โต้แย้งคดีที่อนุญาโตตุลาการพิจารณาอยู่ด้วยได้

แต่ปัญหาคือ ประชาชนไม่แน่ใจเลยว่า ตอนนี้ข้อมูลที่อยู่ในอนุญาโตตุลาการคืออะไร เพราะฉะนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลที่ไปต่อสู้ทางคดีในคดีอนุญาโตตุลาการว่า ให้ข้อมูลครบถ้วนแค่ไหนเพียงใด และได้ข่าวมาว่า มีการต่อรองกับบริษัทเอกชน ถามว่าเอาอะไรไปต่อรอง นำประชาชนไปเป็นตัวประกันในการต่อรองหรือไม่

“รัฐบาลจะไปทำแบบเงียบ ๆ ไม่ได้รัฐต้องให้ประชาชนต้องรับรู้ด้วยในทุกขั้นตอนของการต่อสู้คดี เพราะถึงที่สุดแล้วประชาชนก็จะต้องมาแบกรับใช้หนี้ ซึ่งปัญหาตอนนี้ คือ การไปต่อรองกัน ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็เท่ากับว่า รัฐบาลจะใช้มาตรา 44 อีกรอบ ซึ่งคราวนี้ไม่ใช่รัฐบาลแล้วแต่เป็นบริษัทคิงส์เกตด้วยที่มาเอาประโยชน์จากมาตรา 44 นี้อีกรอบ”

ชี้ ม.44 สะท้อนอำนาจเผด็จการ ทำไทยเสียเปรียบ ถูกฟ้องให้ชดเชยค่าเสียหายกว่า 2 หมื่นล้าน

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาติ ย้ำว่า ในความเป็นจริงเรามีกฎหมายเรื่องเหมืองแร่อยู่แล้ว โดยถ้าพบว่าโลหะการต่าง ๆ ในเหมือง ส่งผลต่อสุขภาพ อธิบดีก็มีอำนาจไปสั่งระงับใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้อยู่แล้วไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพราะกฎหมายนี้สะท้อนให้เห็นว่ามีการใช้อำนาจเผด็จการ เอกชนก็ไปฟ้องร้องว่าประเทศไทยไม่มีหลักนิติธรรม

พ.ต.อ.ทวี ระบุด้วยว่า ในช่วงปี 2562-2564 บริษัทคิงส์เกต ไปฟ้องรัฐบาลไทย ที่มีคำสั่ง มาตรา 44 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา จนต่อมาเมื่อ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 บริษัท คิงส์เกตฯ ได้นำคดีเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ กับราชอาณาจักรไทย โดยเรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 22,672 ล้านบาท เนื่องจากการสั่งปิดเหมืองที่เป็นการละเมิดตามข้อตกลงการค้าเสรี อย่างไรก็ตามจะนำประเด็นของเวทีนี้ขับเคลื่อนต่อไปในสภาฯ

“การตรวจสอบของคณะกรรมการวิสามัญ ของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีการเข้าไปศึกษาพบว่า มีข้อสงสัยค่อนข้างเยอะ ที่ผ่านมา บริษัทต่างชาติ จะต้องถือหุ้น 49% และมีคนไทยถือหุ้น 51% แต่ปรากฎว่า พบข้อมูลการถือหุ้นของคนต่างชาติ 100% เลย ทำไมไม่ดูว่าเป็นนอมินีหรือไม่ เรื่องนี้นอมินี การถือหุ้นแทนเป็นโทษทางอาญา 3 ปีเลย ซึ่งเรื่องแบบนี้มีข้อผิดพลาดอยู่ที่หน่วยงานของรัฐ ที่ไม่เคร่งครัดหรือไม่ตรวจสอบข้อกฎหมาย โดยจะต้องมีการตรวจสอบต่อไป

นอกจากนี้ถ้าไปดูผลประกอบการของบริษัทเหมืองออสเตรเลีย จะพบว่ามีรายได้จากทรัพยากรของไทยเยอะมาก แต่เราได้แค่ภาคหลวง กับโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากสารพิษ สงสัยว่านี่เราเสียเอกราชไปแล้วหรือ ที่ให้เขามายึด และยังจะขยายไปจังหวัดอื่น ๆ อีก” พ.ต.อ.ทวี ระบุ

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ออกแถลงการณ์ เตรียมพร้อมเดินหน้าฟ้อง หากใช้ ม. 44 เปิดเหมือง

อ่านแถลงการณ์เต็ม : The Story of แม่หญิงไฟ้ท์

ขณะที่เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ออกแถลงการณ์ ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการ มาจากที่บ.คิงส์เกตฟ้องไทยว่าใช้ มาตรา 44 ปิดเหมืองทอง ซึ่งไม่ใช่กฎหมายปกติที่สากลจะยอมรับได้ และได้ทำลายข้อตกลง TAFTA โดยกลั่นแกล้งนักลงทุนในประเทศภาคีให้ได้รับความเสียหาย และบ.คิงส์เกตกลับกำลังบังคับให้รัฐบาลไทยใช้อำนาจพิเศษเปิดเหมืองทอง บวกกับผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่เกินไปกว่าข้อพิพาท ซึ่งปัญหานี้เกิดจากการที่อดีตหัวหน้าคสช. มีสภาวะ ‘โรคใช้อำนาจเหนือกฎหมาย’ อย่างเป็นปกติวิสัย

เครือข่ายเห็นว่า ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นหากรัฐบาลไทยต้องแพ้คดีเพราะการกระทำโดยใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องจ่ายค่าเสียหายด้วยทรัพย์สินของตนเอง จะต้องไม่เอาชะตาชีวิตและภาษีประชาชนไปจ่ายแทนการกระทำความผิดของตนเอง หรือหากแลกกับการไม่แพ้คดีโดยให้ผลประโยชน์ตอบพิเศษ พลเอกประยุทธ์ต้องเป็นผู้รับโทษทั้งหมด

ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่จะรณรงค์ร่วมกับประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ ร้องคัดค้านต่อศาลไทยให้ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเพื่อยุติข้อพิพาทระหว่างคิงส์เกตกับรัฐบาลไทยที่จะถูกอ่านในคำตัดสินชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในวันที่ 31 มกราคม 2565 อย่างถึงที่สุด และจะฟ้องร้องต่อศาลให้ลงโทษ พล.อ.ประยุทธ์อย่างถึงที่สุดที่นำชะตาชีวิต ความเสียหายและผลประโยชน์ของประชาชนไปแลกกับความผิดพลาดของตนเพียงผู้เดียวที่ใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ปิดเหมืองทอง และกำลังใช้อำนาจเหนือกฎหมายเสมือนการใช้ มาตรา 44 รอบสอง เพื่อเปิดเหมืองทองสร้างความหายนะให้กับประชาชนและชุมชนโดยรอบเหมืองอีกครั้ง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ