เปิดหน้ากากคุยกับ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ปัญหาหมอกควันนี้จะแก้ไขอย่างไรกัน

เปิดหน้ากากคุยกับ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ปัญหาหมอกควันนี้จะแก้ไขอย่างไรกัน

20151703173251.jpg

สัมภาษณ์ : วิภาพร วัฒนวิทย์ เรียบเรียง : ณิชาปวีณ์  พรรุจีลักษณ์ ภาพ : โกวิท โพธิสาร

โดยไม่ต้องคาดเดา ถึงเดือนกุมภาพันธุ์-มีนาคมทีไรสถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือก็เริ่มเป็นประเด็นข่าวราวกับนัดกันไว้ล่วงหน้า เฉพาะในระยะหลังมานี้ยิ่งชัดเจนว่า หมอกควันกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่คาราคาซัง แก้ไขไม่ได้ จับต้นชนปลายไม่ถูก ที่สุดก็ทำได้เพียงรอให้ฤดูกาลผ่านพ้นเพื่อรอให้ผู้คนหลุดจากม่านหมอกออกไปได้เอง

ในฐานะที่ติดตามเรื่องนี้มานาน รวมท้ังมีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์สถานการณ์ภัยพิบัติ เรานัดคุยกับ ดร. สมพร ช่วยอารีย์ ประธานเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานี เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือ รวมทั้งช่วยตอบคำถามว่า เราจะทำได้เพียงตั้งรับกับหมอกควันเสมือนนั่งรอแสงตะวันของเช้าใหม่ที่ริมหาดทรายเท่านั้นฤา

…………………………………

++สถานการณ์หมอกควันที่เกิดขึ้นในภาคเหนือตอนนี้เป็นอย่างไร 

ตอนนี้ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือจะเห็นว่า ปริมาณความหนาแน่นของหมอกควันมีค่าเกินมาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร(g/m3) ถ้าถามว่าวิกฤติหรือไม่ ต้องบอกว่า บางสถานที่เกิน 200 g/m3 บางสถานที่เกิน 220 g/m3  ก็คงต้องตอบว่าวิกฤติ แต่คิดว่ามันจะมีจุดดีอยู่บางอย่างที่ทำให้เราเห็นว่า ปัญหาปีนี้มันอาจจะหนักกว่าปีที่แล้วหรืออาจจะหนักกว่าปีก่อนๆ คืออาจหนักเทียบเท่าได้กับ 8 ปีก่อน แต่ว่าตรงนี้เป็นการทำให้คนเหนือได้ลองที่จะนำไปสู่การทบทวนว่าเราจะสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมได้อย่างไร เพื่อนำไปสู่การจัดการหมอกควันให้มันยั่งยืนแทนที่จะแก้ปัญหาแบบเป็นรายปีไป

ในตอนนี้นักวิชาการจากหลายๆ ภาคส่วนจะต้องมาทำงานร่วมกันจะทำให้ปัญหาสถานการณ์หมอกควันลดลงไปได้ แต่อาจจะยังมีปัญหาหมอกควันในเดือนมีนาคมตลอดทั้งเดือน เพราะตอนนี้ไฟกำลังลุกจะเห็นได้ว่าแนวโน้มของความหนาแน่นจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะมีแนวโน้มว่าลดลงในเดือนเมษายน ก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดฝนตกลงมาช่วยหรือไม่ เพราะลมกับฝนสามารถช่วยได้ ความกดอากาศต่ำที่จะมาแทนที่ความกดอากาศสูง

++สาเหตุหลักของการเกิดหมอกควันที่เป็นมลพิษอยู่ในตอนนี้ สาเหตุมาจากอะไร

คือที่จริงมันมีสองส่วนมาผสมกัน เวลาเราเรียกหมอกควันเราจะเรียก “smog” (หมอกควัน) ซึ่งเกิดจาก “smoke”(ควัน) บวกกับ “fog”(หมอก) รวมกันเกิดเป็นคำว่าหมอกควัน ซึ่งมันก็คือการเกิดจากการเผาและลอยขึ้นไปอยู่บนชั้นบรรยากาศ ซึ่งชั้นบรรยากาศแต่ละชั้นก็จะมีความหนาแน่นของอากาศไม่เท่ากัน ถ้าเกิดว่าอากาศมันลอยตัว เราก็สามารถที่จะให้ควันมันลอยขึ้นไปและอาศัยลมในชั้นบรรยากาศที่มีทิศทางแตกต่างกันพัดพาหมอกควันให้ลอยไปที่อื่นก็อาจจะไม่มีปัญหาถ้าเกิดว่าสามารถระบายอากาศได้ดี แต่ถ้าระบายอากาศไม่ดีก็จะเป็นปัญหาอย่างนี้อยู่ตลอด ซึ่งสิ่งที่เราเห็นในช่วงของมีนาคมอากาศมันจะนิ่งทำให้หมอกควันเหล่านี้ไม่สามารถไปไหนได้ มันก็จะครอบคลุมพื้นที่บริเวณภาคเหนืออยู่อย่างนั้น ทำให้บริบทของตรงนี้มันเกิดปัญหา

++ตอนนี้ในหลายจังหวัดมีการวัดปริมาณหมอกควันที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ภาพตรงนี้มันสามารถสะท้อนอะไรได้บ้า

การวัดจุดเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดี แต่จุดหลักๆสามารถเป็นตัวแทนได้ดีขนาดไหนในชุมชนทั้งหลาย หมอกควันเวลาเราเผาในหลายๆจุด พอลอยขึ้นไปมันจะเกิดการรวมตัวเป็นก้อนเดียวกัน ทีนี้ความเข้มข้นของหมอกควันปริมาตรมันมีเท่าเดิม แต่ความเข้มข้นของการเผาที่เกิดจากหลายๆจุด มันก็สามารถที่จะเพิ่มปริมาตรของหมอกควันในพื้นที่ให้เพิ่มมากขึ้น ตอนนี้ถ้าไฟยังไม่หยุด นั่นหมายความว่าปริมาตรของหมอกควันที่เราจะวัดนั้นก็จะเพิ่มมากขึ้น

ถามว่าปริมาณที่มันเบาบางลงมันเข้าไปอยู่ในปอด ในร่างกายของเรา ที่เราหายใจเข้าไปเท่าไหร่ โดยที่เราไม่สามารถที่จะปลดปล่อยมันออกมาได้ จุดหลักๆ ก็คือเวลาที่หมอกควันลอยขึ้นไปอยู่ข้างบนมันไม่ถึงสภาวะพร้อมที่จะถูกเปิดออกและถูกพัดพาไปที่อื่นเพื่อจะทำให้มันจางลง ปัญหาหลักๆ ตรงนี้คือ การเผาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเผาฝั่งพม่า หรือฝั่งไทย สุดท้ายแล้วมันก็จะรวมเป็นก้อนหมอกควันเดียวกัน เพราะลมและท้องฟ้ามันไม่ได้แบ่งเขตแดนชัดเจน

++อย่างนี้วิกฤติที่เกิดขึ้น พอจะชี้แนวทางได้หรือไม่ว่าจุดไหนเป็นจุดเสี่ยง จุดไหนเป็นจุดที่ก่อให้เกิดอันตรายกับวิถีชีวิตของผู้คน

คือตรงนี้ต้องเก็บข้อมูลว่าตรงไหนเป็นแหล่งของควัน คืออาจอยู่ในพื้นที่ป่า หรือพื้นที่เมือง เราจะพบว่าวิถีชีวิตของคนภาคเหนือในบางจุดบางพื้นที่เขาจะกวาดใบไม้มากองแล้วเผาเลยในทันที ถ้าเกิดแบบนี้ในหลายๆที่รวมกัน มันจะนำไปสู่การเพิ่มจำนวนหมอกควันมากขึ้น แต่ตรงนี้คิดว่ายังไม่หนักเท่ากับที่ไปเผาในป่าเพื่อที่จะให้เกิดกระบวนการสร้างพันธุ์ใหม่หรือการสร้างต้นกล้าใหม่หลังจากที่ฝนตกลงมา

คิดว่าตรงนี้จะต้องทำเป็นระบบฐานข้อมูลเพื่อให้เห็นว่าในภาพรวมใหญ่ทั้งหมดมันเกิดความซ้ำซ้อน ความถี่ในการเกิดบ่อยขนาดไหน เพื่อจะนำสู่การขับเคลื่อนระบบคิดจะทำให้ปัญหานี้มันสามารถแก้ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

++ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว อาจารย์เคยเขียนบทความที่เกี่ยวกับปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้น มาถึงวันนี้พัฒนาการของปัญหานี้มันเป็นอย่างไรบ้าง

ในสิ่งที่มันเกิดมันยังคงเกิดเหมือนเดิม แต่ว่าในเชิงมวลชน หรือกลุ่มที่เขาอยากจะลดปัญหานี้ก็มีความพยายามจะขยายผลจากการที่จะเผาใบไม้เพื่อทำลาย ก็นำใบไม้มาทำเป็นปุ๋ยหมักโดยไม่ต้องพลิกคลองซ้อนกันกับมูลโค และแทนที่จะเผาฟางข้าวในนา ซังข้าวพวกนี้ไม่ต้องเผาเพียงแค่ไปตัดมาแล้วก็มาทำเป็นตัวปุ๋ยหมักแทน อันนี้สามารถที่จะลดลงได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นในพื้นที่ป่าจะแก้ปัญหาลำบากเพราะว่าเราต้องลงไปเชิงลึกก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ ยกตัวอย่างเช่นในพื้นที่ภูเขาบริเวณนี้เกิดขึ้นทุกๆปี ก่อนที่จะถึงเดือนมีนาคม เราควรลงไปในพื้นที่ก่อน เราควรให้ความสำคัญในการเก็บข้อมูลในพื้นที่ที่เกิดบ่อยเราจะต้องมีการทำฐานข้อมูลที่ดี ระบบสารสนเทศเชิงภูมิศาสตร์กับการเกิดไฟป่าในรอบ 10-20 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เราก็สามารถทำนายได้เลยว่าในปีต่อๆไปจะเกิดซ้ำในที่เดิมอีก เพราะฉะนั้นตรงไหนที่เป็นจุดเสี่ยงถ้าเป็นไปได้ไม่สมควรให้เกิด

การเกิดก็มีหลายสาเหตุ อาจจะเกิดจากคน เกิดจากธรรมชาติเผาตัวเอง หรืออาจจะลุกลามมาจากที่อื่นๆ ความร้อนที่ไปเจอกับใบไม้มันสามารถเป็นเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดีไม่ต่างอะไรกับน้ำมันและไฟ เมื่อเชื้อเพลิงติดสำเร็จมันก็จะลุกลาม และตัวลมที่อยู่ข้างล่างก็จะไปช่วยพัดให้มันกระจายตัวออก การรวมตัวกันเป็นจุดเดียวเหมือนกับการทิ้งก้อนหินให้ลงในน้ำที่คลื่นค่อยๆกระจายตัวออก  การหยุดไฟจะต้องหยุดด้วยน้ำ แต่เดือนมีนาคมมันไม่มีน้ำ ทีนี้เกิดคำถามขึ้นว่าจะทำอย่างไรในกรณีที่ไม่มีน้ำ การแก้ปัญหาอาจจะด้วยวิธีฝนเทียม

++เรื่องของกระบวนการโปรยน้ำในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหา อาจารย์มองว่าวิธีแบบนี้มันสามารถช่วยได้มากน้อยแค่ไหน

มันทำให้ความรู้สึกของประชาชนดีขึ้น ดีกว่าการไม่แก้ไขปัญหาอะไรเลยในสภาวะตรงนี้ แต่ถ้ามองเรื่องของการแก้ปัญหามันเป็นการเผชิญภัยมากกว่า คือเป็นการลดปัญหาตอนที่เผชิญหน้า ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน แต่คงจะดีกว่าการไม่ทำอะไร ในอนาคตควรจะวางแผนไปถึงขั้น 2P คือ Protect (การป้องกัน) และ Prepare (การเตรียมการ) ซึ่งสำคัญมาก

เราต้องเตรียมคนและเตรียมระบบคิดของคน แนวคิดที่จะบอกว่า ทำอย่างไรจึงไม่เผา เพราะความเข้าใจที่ว่าการเผาแล้วได้ปุ๋ยเป็นความเข้าใจที่ผิด แต่สิ่งที่ได้มาจากการเผาจะได้เพียงแค่คาร์บอนอย่างเดียว การเผาจะไปทำลายจุลินทรีย์หน้าดิน แต่มันก็มีกลุ่มของเมล็ดบางชนิด เช่น ต้นตอผักหวานที่อยู่ในป่าถูกเผามันจะตายไปและเกิดการแตกใหม่ ซึ่งเป็นเหตุให้ผักหวานป่ามีราคาที่สูง กิโลกรัมละ 200-300 บาท อันนี้เป็นตัวหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการเผาป่าในอดีต แต่ปัจจุบันอาจจะเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่

20151703173313.jpg

++ถ้าจะแก้ปัญหาสถานการณ์วิกฤติหมอกควันที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ มันสามารถที่จะมีวิธีการแก้ไขอย่างไรได้บ้าง

ที่จริงในส่วนนี้ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายมากอยู่เหมือนกันในเรื่องของการแก้ไขปัญหาหมอกควัน เพราะว่าเราได้สัมผัสปัญหานี้และรับฟังมาทุกๆปี และทำนายได้เลยว่า ทุกเดือนมีนาคมของทุกปีจะเกิดปัญหาหมอกควันที่ภาคเหนือเสมอ และถ้าไม่มีการแก้ไขก็จะเกิดปัญหานี้เป็นปัญหานิรันดร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและอีกหลายๆอย่างอาจสร้างปัญหาอีกมากมาย ถ้าจะนำไปสู่การแก้ไขจริงๆคือ สาเหตุเกิดจากคน เพราะฉะนั้นคนทำให้เกิดปัญหา ก็จะต้องไปแก้ปัญหาที่คน

กลุ่มที่เห็นด้วยกับการเผากับกลุ่มที่คัดค้านการเผาก็สามารถที่จะมาคุยกันได้ หน่วยงานทั้งหลายที่รับผิดชอบจะต้องลงมาเก็บข้อมูลเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนร่วมกัน ทั้งนักวิชาการหรือมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่ทุกจังหวัดในภาคเหนือ ถ้านักวิชาการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเราจะเห็นในส่วนของพื้นที่ป่า ความแห้งแล้ง ความชื้นในดินของเดือนมีนาคม และเมษายนเป็นอย่างไร สามารถนำไปสู่เรื่องของการทำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ พื้นที่ไหนที่เกิดเหตุการณ์ไฟป่าบ่อยครั้งเราก็สามารถเก็บข้อมูลสถิติทั้งหมดมารวมกัน มาซ้อนข้อมูลกัน เราจะเห็นบริบทภาพรวมตรงนี้ทั้งหมดและเชิญทุกภาคส่วนมาดูร่วมกันรวมถึงประชาชนในพื้นที่ด้วย เพื่อให้เขาเห็นว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ละปีเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราสูญเสียป่าไปเท่าไหร่ สูญเสียพืชพันธุ์สมุนไพรไปเท่าไหร่เพื่อให้เห็นว่าเราสูญเสียยารักษาโรคไปด้วย มันจะนำไปสู่การรื้อฟื้นเรื่องของภูมิปัญญาเป็นภูมิปัญญาสมัยใหม่ซึ่งไม่ใช่ภูมิปัญญาแบบเผา แต่เป็นภูมิปัญญาแบบสร้างสมเรื่องของการเพิ่มปุ๋ยให้กับดิน นำไปสู่เรื่องของการเตรียมความชื้นเอาไว้แก้ปัญหาต้านกับไฟป่า หรือถ้ามันหลบไม่ได้สำหรับพื้นที่ตรงนี้เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำทางป้องกันไฟ โดยที่เราไม่ต้องไปชิงเผาก่อน เพราะการที่จะชิงเผาป่าได้นั้น จะต้องมีการเกิดไฟป่าก่อนแล้วจึงจะเผาเพื่อไล่ไฟไม่ให้ลุกลาม อีกทั้งยังต้องดูทิศทางลมและอะไรอีกหลายๆอย่าง

แต่ทั้งหมดทั้งมวลเราจะต้องมาพิจารณาแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วม โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำฝนเทียม ไม่จำเป็นต้องเสียงบประมาณในการพ่นละอองน้ำ เพื่อเป็นการป้องกันสุขภาวะของประชาชนทั้งในเมืองและนอกพื้นที่ด้วย คิดว่าจะต้องทำเป็นโมเดล รูปแบบการจัดการแบบบูรณาการเพื่อให้เห็นว่าเมื่อเผาแล้วจะสามารถได้สิ่งอื่นชดเชยหรือไม่ เช่น การเผาแล้วได้ผักหวาน เพื่อให้ได้สิ่งต่างๆจากป่าในชุดใหม่ แต่ทั้งนี้เราสามารถทำสิ่งอื่นชดเชยได้หรือไม่ เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่าจากความต้องการจากการเผานี้ กับบางส่วนที่มันเกิดเองตามธรรมชาติเราจะสามารถลดมันได้หรือไม่ กับอีกส่วนหนึ่งคิดว่าถ้าเราสามารถจัดการในพื้นที่ประเทศไทยได้พอเราได้รับผลกระทบจากประเทศเพื่อนบ้าน มันก็จะไม่หนักมาก แต่ถ้าเกิดทั้งสองส่วนร่วมกันไม่ว่าจะบูรณาการในการป้องกันลมมันก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ทัน

โจทย์ที่ท้าทายคือ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะบอกว่า เดือนมีนาคมเป็นเดือนแห่งการท่องเที่ยวแทนการบอกว่าเดือนมีนาคมเป็นเดือนแห่งหมอกควันของภาคเหนือ ถ้าเป็นแบบนั้นได้จะนำไปสู่การต้อนรับสู่เดือนเมษายนสำหรับสงกรานต์ภาคเหนือ มันจะนำไปสู่เรื่องของการได้ผลประโยชน์ทางด้านอื่นแทน เป็นจุดหนึ่งที่คิดว่าระบบสารสนเทศตรงนี้มันน่าจะสร้างขึ้นมาให้เห็นภาพรวมว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและสร้างความตระหนัก กลุ่มคนก็เข้าไปในพื้นที่เพื่อจัดการ มีการพูดคุยกันระหว่างกลุ่มคนที่สร้างหมอกควันกับกลุ่มคนที่คัดค้านเรื่องการเผา

++มีมิติในสองส่วนนั่นคือ ส่วนแรกจะต้องมีการสร้างโมเดลทางภูมิศาสตร์ และส่วนที่สองคือมีการระบุจุดที่จะเกิดความเสี่ยงของหมอกควัน

ระบบฐานข้อมูล ระบบการมีส่วนร่วมกันของประชาชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม สื่อทั้งหลายรวมตัวกัน คิดว่าแทนที่จะมาลงข่าวในช่วงเดือนมีนาคม เราต้องเริ่มจากเดือนมกราคมคือหาแนวทางว่าทำอย่างไรให้หมอกควันไม่เกิดในเดือนมีนาคม พอถึงเดือนกุมภาพันธ์จะต้องเข้าสู่สภาวะของการเตรียมความพร้อม พอถึงเดือนมีนาคมเราจะสามารถควบคุมปัญหาหมอกควันไม่ให้เกิดขึ้นได้ เปรียบเหมือนกับการวางแผนการลดอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ หรือในช่วงปีใหม่ แต่ไม่ใช่ในช่วงนอกเหนือจากเดือนเหล่านี้จะละเลย เป็นการช่วยกันอีกทางให้เดือนมีนาคมเป็นเดือนแห่งการสูดลมหายใจที่บริสุทธิ์โดยไร้หมอกควัน 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ