หลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญรถไฟชนเก๋ง 2 สามีภรรยาเสียชีวิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลต้นมะม่วง อ.เมือง จ.เพชรบุรี ร้องเรียนผ่าน ProgressTH ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา พร้อมเปิดสถิติอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟในช่วงระหว่างปี 2545-2551 เกิดขึ้นประมาณ 1,200 ครั้ง เฉลี่ยปีละ 200 ครั้ง
ร.ต.ต.กนกศักดิ์ มุทธากาญจน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลต้นมะม่วง อ.เมือง เพชรบุรี ได้เสนอผ่าน www.progressTH.org ประเด็นปัญหาจุดตัดรถไฟถึงเวลาต้องแก้ไข เพื่อเรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟที่เป็นทางหลักผ่านที่จุดตัดรถไฟบ้านนาแค ต.ต้นมะม่วง อ.เมือง จ.เพชรบุรี อย่างเร่งด่วน เพราะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะครั้งล่าสุด กรณีรถไฟ กทม.-หัวหิน ชนรถเก๋งสองสามีภรรยา ทำให้ทั้งคู่เสียชีวิต เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ อีกทั้งยังมีเหตุการณ์เดียวกันเกิดขึ้นตามมาอีกหลายครั้งทั่วประเทศ กลายเป็นโศกนาฎกรรมซ้ำซากที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
นายกอบต.ต้นมะม่วง กล่าวว่า ในส่วนของจุดบ้านนาแค ปัจจุบันเป็นทางลักผ่าน จึงขอเรียกให้ รฟท. ประกาศให้จุดตัดบ้านนาแค ต.ต้นมะม่วง เป็นจุดตัดที่ได้รับอนุญาตจากรฟท. อย่างถูกต้อง เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งเครื่องกั้นกันรถไฟอัตโนมัติ และเพิ่มสัญญานไฟ เพราะจุดดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพราะมีรถประชาชนสัญจรที่จุดตัดนี้เฉลี่ย 7,000 คันต่อวัน นับเป็นจุดที่มีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก โดยปีนี้จุดตัดดังกล่าวได้เกิดเหตุรถไฟชน 2 ครั้งแล้ว เกรงว่าหากไม่มีการแก้ไขอย่างทันท่วงทีจะเกิดเหตุร้ายขึ้นอีก
“ทราบมาว่า รฟท. มีแผนที่จะแก้ไขเรื่องนี้ ด้วยการเร่งติดสัญญาณไฟและเสียงเตือนให้ผู้ขับขี่บริเวณจุดตัดที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือจุดตัดทางลักผ่าน 584 แห่ง ให้เสร็จภายในปี 2559 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า ทาง อบต .ต้นมะม่วง เห็นว่า รฟท.ควรพิจารณาจุดที่บ้านนาแค ต.ต้นมะม่วง เป็นลำดับต้นๆ เพราะจุดดังกล่าวเป็นจุดที่มีการ จราจรคับคั่งหนาแน่น และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง” ร.ต.ต.กนกศักดิ์ กล่าว
ร.ต.ต.กนกศักดิ์ กล่าวอีกว่า เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางเลี่ยงเมืองประชาชน นักเรียน นักศึกษา ใช้เดินทางที่ไปมหาวิทยาลัยราชภัฎ เพชรบุรี และ หาดเจ้าสำราญ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่มีคนต่างเดินทางมาเที่ยวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนกว่า 200 หลังคาเรือน เหตุการณ์โศกนาฎกรรมรถไฟชนสองสามีภรรยา เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2557 ที่ผ่านมา ยังติดตาประชาชน เพราะกล้องวงจรปิดจับภาพเอาไว้ได้ เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก
ดังนั้น นี่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข ไม่ใช่ประโยชน์ของคนเมืองเพชร แต่เพื่อความปลอดภัยของคนไทยทุกคนที่ใช้บริการรถไฟ เพราะที่ผ่านมามีข่าวอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วประเทศ และมีการสูญเสียเป็นจำนวนมาก เช่น ที่ขอนแก่นมีผู้เสียชีวิต 5 ราย โดยมีพนักงานคนขับรถไฟเสียชีวิตด้วย และยังมีผู้บาดเจ็บกว่า 20 คน เหตุการณ์ที่ นครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ตัวอย่างเหล่านี้เป็นปัญหาที่รฟท. ไม่อาจจะละเลยเฉื่อยชาไม่ให้ความสำคัญได้อีกต่อไป เพราะนับวันจะมีอุบัติเหตุเกิดถี่ขึ้น และทวีความรุนแรงจนถึงขั้นสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น จึงขอเรียกร้องให้รฟท.แก้ปัญหาทันที โดยทางท้องถิ่นพร้อมร่วมมือเต็มที่
“สถิติตัวเลขระบุว่า ในช่วงระหว่างปี 2545-2551 มีอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟเกิดขึ้นประมาณ 1,200 ครั้ง เฉลี่ยปีละ 200 ครั้ง และหากพิจารณาตัวเลขล่าสุด (สถิติของการรถไฟแห่งประเทศไทย) ในรอบปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – กันยายน 2557) เกิดอุบัติเหตุ 127 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 27 คนและบาดเจ็บ 91 คน นับว่าเป็นความสูญเสียในจำนวนไม่น้อยทีเดียว ทั้งๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้” นายกอบต.ต้นมะม่วง กล่าว
ดังนั้นการรถไฟและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ไม่ควรปล่อยให้ประชาชนต้องอยู่กับความเสี่ยงแบบนี้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถแก้ได้ หากลงมือทำทันที เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่ถึง2 ปีแน่นอน ทั้งนี้ในส่วนของจังหวัดเพขรบุรี ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรองการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนน และคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด กำลังพิจารณา เพื่อเสนอให้ผู้ว่าการรถไฟพิจารณาจุดที่บ้านนาแค เป็นจุดผ่านที่ถูกต้อง ก็หวังว่าผู้ว่าการรถไฟคงพิจารณาให้ความเห็นชอบ และร่วมมือกันแก้ปัญหาดังกล่าวให้เร็วที่สุดต่อไป
สำหรับ www.progressTH.org เป็นเว็บไซต์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กับประชาชนคนทั่วไป ที่อยากเห็นการแก้ปัญหาต่างๆเพื่อความก้าวหน้าของสังคมไทย มาร่วมกันเสนอปัญหาและแสวงหาความร่วมมือร่วมใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาต่างๆอย่างสร้างสรรค์และเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ProgressTH ยังเป็นพื้นที่สะท้อนปัญหาและบอกต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการพัฒนาเพื่อความก้าวหน้าสู่สาธารณะ เพื่อเป็นโมเดลในการพัฒนาความก้าวหน้าให้กับพื้นที่อื่นๆ ด้วย