หัวลำโพงของหลาย ๆ คน ที่นี่คือสถานีรถไฟที่เชื่อมโยงการเดินทางจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไปไม่ว่าจะขึ้นเหนือลงใต้ เข้าสู่เมืองหลวงที่ทุกคนเข้าถึงได้ ด้วยค่าโดยสารราคาเริ่มต้นที่ 2 บาท (กรุงเทพ-บางซื่อ)
105 ปีของการมีอยู่ของสถานีศูนย์กลางรถไปไทย นับตั้งแต่ก่อสร้างช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2453 สร้างเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 จนถึงปัจจุบัน ที่นี่คือพื้นที่บันทึกประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงชีวิตของผู้คน
คุณลุงสุรศักดิ์ รุ่งเรือง อดีตพ่อครัวบนขบวนรถไฟ ขบวนที่ 13-14 เล่าว่า ความเปลี่ยนแปลงของหัวลำโพงในวันนี้สิ่งที่ชัดเจนคือ การไม่มีห้องครัวบนขบวนรถไฟแล้ว ทำให้เขาต้องตกงานตอนอายุที่มากแล้ว จึงไม่สามารถหางานใหม่ได้
นอกจากพ่อครัวที่ตกงานแล้ว ส่วนเล็ก ๆ ของการทำอาหารคือน้ำแข็งที่ใช้เพื่อการถนอมอาหาร หลังมีการลดรอบเดินรถไฟ พ่อค้าน้ำแข็งรายหนึ่งที่เคยนำน้ำแข็งขึ้นไปส่งบนรถไฟเป็นประจำ ก็ได้รับผลกระทบที่ไม่สามารถนำสินค้าขึ้นไปส่งได้ จากคนที่เคยมีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน เมื่อขาดรายได้ ปัจจุบันเขาได้กลายไปเป็นคนไร้บ้าน นี่คือเรื่องราวของชีวิตที่ถูกเล่าต่อ
ความเปลี่ยนแปลงที่หัวลำโพงมีมาเป็นระลอก ล่าสุดคือการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ประกาศลดรอบรถไฟเหลือเพียง 22 ขบวนจาก 118 ขบวน ที่จะเดินทางเข้าสู่หัวลำโพง และมีแนวทางที่จะปิดการเดินรถในอนาคตอันใกล้
เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 ทางมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ในชุมชนรองเมือง ใกล้สถานีหัวลำโพง จึงได้จัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ รอบ ๆ หัวลำโพงได้ขึ้นรถไฟไปเที่ยว โดยมีสถานีปลายทางอยู่ที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
เพราะแม้จะอยู่ใกล้หัวลำโพงเพียงแค่กำแพงกั้น แต่เด็ก ๆ บางคนยังไม่เคยนั่งรถไฟกันมาก่อน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่บางคนก็ไม่ได้ใช้บริการด้านการท่องเที่ยวบ่อยครั้งนัก
“อยากไปเที่ยวด้วยตัวเองสักครั้ง พอไปซื้อตั๋วเขาก็บอกว่าให้ไปขึ้นที่บางซื่อแทน ป้าเลยไม่ได้ไปเพราะบางซื่อไกลกว่าที่นี่ ทำให้ป้าเดินทางได้ยากขึ้นและใช้เวลา” ป้าติ๋ม อาสาสมัครของมูลนิธิและเป็นคนในชุมชนรองเมือง เล่าให้ฟังหลังจากกิจกรรมครั้งนั้น
ป้าติ๋มบอกว่าคนที่อยู่รอบ ๆ แถวนี้หรือต้องเดินทางมาทำงานในเมือง ในกรุงเทพฯ เดินทางลำบากมากขึ้นหลังจากลดรอบเดินรถไฟ ทำให้กระทบไปถึงบ้านพัก ห้องเช่าที่ไม่มีคนเช่า และคนเริ่มทยอยกลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัด เพราะเจอทั้งโควิด-19 และสถานีรถไฟที่กำลังจะลดรอบลง ทำให้คนรอบ ๆ ตกงานกันมากขึ้น
ด้านสราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย เชื่อมโยงกรณีสถานีรถไฟหัวลำโพงกับความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงสวัสดิว่า สิ่งที่ประชาชนผู้เสียภาษีควรจะได้รับ คือการที่ทุกคนควรที่จะเข้าถึงสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงสาธารณูปโภค ประปา ไฟฟ้า แม้กระทั้งระบบขนส่งสาธารณะ
ปัจจุบันราคาค่าเดินทางเพิ่มขึ้นทุกวันสวนทางกับค่าแรงขั้นต่ำของคนไทย และยิ่งการรถไฟจะลดรอบยิ่งทำให้เกิดผลกระทบในวงที่กว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางจากต่างจังหวัดเข้าเมืองเพื่อมาซื้อของนำไปขายต่างจังหวัด หรือคนจากตัวเมืองเดินทางไปทำงานต่างจังหวัดก็ต้องไปใช้สถานีบางซื่อแทน การขนส่งอื่น ๆ เช่น รถไฟฟ้า MRT ที่ราคาเริ่มต้น 16 บาทหากดินทาง 1 สถานี (หัวลำโพง-บางซื่อราคา 42 บาท)
อย่างไรก็ตาม สถานีบางซื่อเองเมื่อสร้างมาแล้วก็ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อไปในอนาคตคงต้องมาหารือกับอีกที
สราวุธให้ความเห็นอีกว่า หลัก ๆ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องการจะเปลี่ยนสถานีหัวลำโพงให้เป็นสถาที่เชิงพาณิชย์ เนื่องจากรถไฟคิดค่าโดยสารที่ถูกกว่าต้นทุน ซึ่งโดยปกติแล้วรัฐบาลจะต้องจ่ายค่าส่วนต่างนี้
กำไรที่เข้าสู่รัฐบาลคือภาษี ซึ่งภาษีที่เป็นรายได้หลักของประเทศไทยคือภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7 % จากประชากรทุกคน ไม่ว่าคนรวยหรือจน การจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มคือสิ่งที่เราจ่ายกันตลอดเวลา
การที่รัฐกำลังผลักภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชน โดยไม่หาทางออกและทางแก้ไขที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่ายนั้น ทางสหภาพแรงงานไม่เห็นด้วย แต่หากปรับสถานีรถไฟให้เป็นสถานีเชิงพาณิชย์ที่ประชาชนยังสามารถใช้รถไฟได้เหมือนเดิมทางสหภาพฯ เห็นด้วย
การที่การรถไฟขยายเวลาการลดรอบเดินรถและปิดสถานีออกไปอีก 30 วัน จากวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้เราได้เห็นว่าการรถไฟยังรับฟังเสียงจากประชาชน เป็นโอกาสที่จะทำให้สหภาพฯ สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อยื่นเสนอให้ทางการรถไฟได้พิจารณาที่จะไม่ยุติการเดินรถที่หัวลำโพง
หากการเดินรถจากสถานีหัวลำโพงที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนมาอย่างยาวนานจะหายไป คงไม่แปลกที่ผู้คนมากมายจะตั้งคำถามกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้
แต่ระยะเวลาที่การรถไฟเลื่อนออกไปนั้น เพียงพอหรือไม่ที่จะให้ประชาชนได้ส่งเสียงความต้องการ เพื่อให้เกิดการรับฟังและแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด โดยเฉพาะเสียงของผู้คนที่ดำเนินชีวิตโดยรอบหัวลำโพง… นั่นยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป
ภาพประกอบโดย
พัสกร บุตรอำไพ กลุ่มเยาวชนอาสามูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ชุมชนวัดดวงแข
เรียบเรียงโดย
พัทธิยา ชูสวัสดิ์