วันอังคารที่ 25 เมษายน 2566 มีการจัดเวทีสรุปบทเรียนการพัฒนาตำบลต้นแบบมิติคนมีคุณภาพ ณ ศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลดงใหญ่ ตำบลดงใหญ่ อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ แกนนำชุมชนตำบลเขื่อน อำเภอโกสุมพิสัย แกนนำชุมชนตำบลดงใหญ่ อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร จัดกระบวนการโดย รศ.ดร.สุภาวดี ขุนทองจันทร์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ช่วงเช้าแกนนำชุมชนตำบลเขื่อน อำเภอโกสุมพิสัย เดินทางมาถึงสถานที่ประชุม พร้อมยกกระสอบข้าวพันธุ์ดี จำนวน 2 กระสอบ และเล่มเอกสารรายงานผลโครงการต่าง ๆ มาแสดงผลงานพร้อมแลกเปลี่ยนในเวที ได้แก่ โครงการบ้านพอเพียง โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม ตำบลเข้มแข็ง เศรษฐกิจฐานราก ธรรมนูญสุขภาพ โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลเขื่อน โครงการที่ตำบลเขื่อนทำมาตลอดตั้งแต่ปี 2559 คือ โครงการข้าวพันธุ์ดี เป้าหมายส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตเม็ดข้าวพันธุ์ดีและทำเกษตรกรรมอินทรีย์ ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต พันธ์ข้าวที่นำมาได้แก่ ข้าวเหนียวพันธุ์อีเตี้ยเขี้ยวงู แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะประสบปัญหา น้ำแล้ง น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง “น้ำท่วมแต่กลุ่มเราไม่ท้อถอย ผลิตพันธุ์ข้าวให้พี่น้องตำบลเขื่อนได้ซื้อในราคาถูก” นายสำลี สีมาลักษณ์ กล่าวถ้อยคำแสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนินงาน
ช่วงบ่าย แกนนำชุมชนตำบลดงใหญ่ อำเภอวาปีปทุม เจ้าบ้านเจ้าของสถานที่การจัดงานในวันนี้ เล่าการทำงานที่ผ่านมา ได้แก่ ป่าชุมชน ถือว่าเป็นฐานทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของพื้นที่ มีการเชื่อมโยงทำงานด้านความมั่นคงทางอาหาร การจัดงานมหกรรมเทศกาลเห็ดทุกปี การจัดการดูแลอนุรักษ์ป่าชุมชน “ป่าชุมชนเปรียบเหมือน supermarket ของชาวบ้าน” คำกล่าวกำนันคงศักดิ์ ปัญญาละ
จากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา มีคนรุ่นใหม่คืนถิ่นกลับมาในตำบล ได้เข้ามาเรียนรู้และมีบทบาทในการทำงานตำบล อาทิเช่น ผู้ใหญ่บ้านคนรุ่นใหม่ เกษตรกรโคกหนองนาโมเดล แม่ค้ารถพุ่มพวงขมอเตอร์ไซด์รับพืชผักปลอดภัยไปขายให้แก่คนในตำบล อสม.หน้าใสคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานด้านสุขภาพ เป็นต้น
นี่เป็นเพียงบางส่วนจากการแลกเปลี่ยนเวทีสรุปบทเรียนการพัฒนาตำบลต้นแบบมิติคนมีคุณภาพขณะนี้จัดเวทีไปแล้วจำนวน 7 พื้นที่ ใกล้ครบจำนวน 10 พื้นที่ ตามแผนการดำเนินงานโครงการถอดองค์ความรู้การพัฒนาตำบลเข้มแข็ง ประจำปี 2566 ซึ่งแต่ละพื้นที่มีเรื่องราวบริบท กลไก รูปแบบวิธีการทำงานที่น่าสนใจแตกต่างกัน
สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร