3 มีนาคม 2558 ธีรยุทธ วีระคำ สมาชิกเพียงหนึ่งเดียวของกลุ่มทีละเฟรม ส่งข้อความผ่านระบบแชทของเฟซบุ๊กมาหา มันเป็นข้อความประกอบลิงก์ไปยังกิจกรรมหนึ่งของกลุ่ม Big Trees กับงานที่ชื่อว่า “ชวนมาบอกรัก ปู่น่าน-ย่าน่าน อุโมงค์ต้นไม้น่าน-ท่าวังผา” เป็นอันเข้าใจกันว่า เขาอยากเล่าเรื่องนี้
ย้อนกลับไปก่อนนั้นไม่นานเท่าไหร่ ประชาชนบนประเทศเฟซบุ๊กกระหน่ำแชร์ข่าวคราวการตัดต้นไม้เพื่อขยายถนนบนทางหลวงน่าน-ท่าวังผา กม.383 กันครึกโครม อุโมงค์ต้นไม้ที่หลายคนคุ้นเคยกำลังถูกทำให้หายไป เพื่อเปิดพื้นที่ให้ถนนกว้างกว่าเดิม
หลังพูดคุยปรึกษาหารือกันพอหอมปากหอมคอ “ธีรยุทธ วีระคำ แห่งทีมทีละเฟรม” ก็ไปโผล่ จ.น่าน และนี่ก็คือเรื่องราวที่เขาบอกเล่าให้เราฟัง
……………..
++ทีละเฟรมคือใคร ทำไม ต้อง ที-ละ-เฟรม
ทีละเฟรม ในความตั้งใจของผม คือ การอธิบายการทำงานของเฟรมภาพ (Frame) ทำไปทีละภาพ ทีละขั้นตอน ทีละเรื่อง เพราะการจะร้อยเรื่องราวต่างๆเข้าด้วยกันต้องอาศัยการค่อยๆทำความเข้าใจจึงนำมาเป็นชื่อทีมในการทำงานในฐานะผู้ผลิตอิสระ ที่ค่อยๆ ก่อร่างมากับงานรณรงค์ในองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิเด็กและการศึกษา ก่อนจะผันตัวเข้าสู่สายพานงานสารคดี
++ทำไมจึงเลือกเล่าเรื่องอุโมงค์ต้นไม้ มันน่าสนใจตรงไหน
แวบแรก…ที่ผมได้ข่าวจากโลกออนไลน์ว่าเด็กและก็ประชาชนในจังหวัดน่านกลุ่มหนึ่ง จะรวมตัวกันไปวาดรูปหัวใจทับเครื่องหมายกากบาทบนต้นไม้ที่จะต้องถูกตัดทิ้ง มันอยู่ในขอบข่ายโครงการขยายผิวถนนจราจร ลึกๆแล้วผมรู้สึกว่านี่มันคือ กิจกรรมการประท้วงนะ เป็นการประท้วงต่อโครงการของรัฐด้วย เพียงแต่ว่าวิธีการมันมีศิลปะ ผมว่านี่แหละจุดแรกที่นำให้ผมเดินทางไปน่าน ทั้งที่ไม่รู้จักใครเลยสักคน
++เรื่องราวย่นย่อเป็นอย่างไร
ในส่วนของตัวงาน ก็คือ ผมอยากเล่าเรื่องให้คนดูรู้สึกเหมือนกับได้อ่านสมุดบันทึกเล่มหนึ่ง ซึ่งมีผมเป็นผู้จดบันทึก เมื่อผมพบใคร เจอเหตุการ์ณอะไร ก็มาเล่าให้ฟัง มาบอกให้รู้ เริ่มต้นก็ไปร่วมงานวาดหัวใจก่อน หลังจากนั้นเรื่องราวและสถานการณ์มันก็พาผมและสมุดบันทึกเล่มนี้ไปเรื่อยๆ ไปวงประชุมระดมความเห็นภาคประชาคม พรุ่งนี้ลุยสำรวจพื้นที่ บ่ายกลับมาทำข้อมูล อีกวันลงหาชาวบ้านสองข้างทางที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ บางช่วงมันก็เข้มข้น ต้องมีการเจรจาหาทางออก มีภาคประชาชน มีคนของหน่วยงานรัฐ มีนายทหาร และสุดท้ายมันก็มีจุดสงบของเรื่อง แต่ว่ามันไม่ใช่จุดจบของเรื่องแบบแฮปปี้ เอ็นดิ้งมากนัก
++การรักษาต้นไม้ใหญ่ริมถนน คือความโรแมนติกของคนเมืองกับการอนุรักษ์ ทีละเฟรมคิดอย่างไร
ส่วนตัวผมคิดว่าเชยมากเลยนะที่เราจะคิดแบบแยกส่วนระหว่างงานอนุรักษ์กับงานพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ ผมคิดว่าวันนี้โลกได้เดินทางมาถึงจุดที่มนุษย์มีองค์ความรู้ มีความสามารถ มีเทคโนโลยี มีนวัตกรรม มีประสบการณ์บอบช้ำต่างๆมากมาย ที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นแผนพัฒนาเมืองที่อยู่บนฐานของชุมชนและสังคมดั้งเดิม ผมว่านี่เสียอีกกลับเป็นแนวทางการพัฒนาในแบบที่โลกกำลังต้องการ
++บ้างมีความห่วงกังวลเรื่องความปลอดภัย และมองเป็นเรื่องโลกสวย?
เมื่อกลับมาที่เรื่องอุโมงค์ต้นไม้ รัฐได้โยนโครงการขยายถนนเข้ามาภายใต้เงื่อนไขความปลอดภัย และวาทกรรมของความเจริญ ถามว่าชาวบ้านที่ไหนล่ะจะกล้าปฎิเสธคำทั้งสองนี้ แต่คำถามคือว่า ความปลอดภัยบนท้องถนน มันมาจากสาเหตุเพราะมีต้นไม้อยู่ริมถนนเพียงสาเหตุเดียวหรือว่ามันมาจากสาเหตุอื่นด้วย คำถามต่อมาคือถ้าถนนถูกเพิ่มไหล่ทางออกไปจะเป็นการการันตีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินบนท้องถนนจริงใช่หรือไม่
แต่คำถามที่ท้าทายและต้องการให้ทั้งภาครัฐก็ดี ภาคประชาคมในทุกกลุ่มก้อนก็ดี มาร่วมกันแสวงหาคำตอบก็คือ การสร้างความปลอดภัยเพื่อรองรับการขยายความเจริญบนถนนที่อุดมไปด้วยต้นไม้มีค่าที่เรียงรายอยู่สองข้างทางนั้นทำได้อย่างไร ผมว่าอันนี้ท้าทายดีออก แต่ก็ต้องอาศัยระยะเวลาในการศึกษา ต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการเยอะ ต้องมีความความจริงใจและความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเริ่มต้นทำในจุดเล็กๆอย่างต้นไม้ข้างถนนระยะทางแค่ร้อยกว่ากิโลได้ เรื่องอื่นๆ เช่น ปัญหาเขาหัวโล้นบนป่าน่านก็ย่อมมีความเป็นไปได้ ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจต่อจากนี้คือจะยกระดับจากกระแสความตื่นตัว กระแสความโรแมนติคของคนเมือง รวมทั้งคนในพื้นที่ ให้เปลี่ยนเป็นความรู้ ความเข้าใจ จนลงมือทำอะไรบางอย่างกับถิ่นฐานบ้านเรือน อันนี้ต่างหากที่น่าคิดต่อ
++คนทำสารคดีได้เรียนรู้อะไรจากงานนี้บ้าง
นอกจากมิตรภาพที่ได้รับจากการเดินทางไปทำสารคดีชิ้นนี้แล้ว ก็คงจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงการขนาดใหญ่โดยภาคประชาชนคนธรรมดานี่แหละ ซึ่งวิธีการเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นเริ่มต้นด้วยการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ ใช้การวาดภาพ ใช้สีใช้การถ่ายภาพ ที่สำคัญคือการใช้เครื่องมือการสื่อสารบนโลกออนไลน์ที่ทรงพลังมาก แม้ว่าจะเปลี่ยนแปลงได้เพียงเล็กๆแต่มันก็เริ่มขึ้นแล้วครับ
……………..
เบื้องหลังความคิดฉบับย่นย่อมีที่มาที่ไปแต่เพียงเท่านี้ เนื้อหาผ่านการลำดับเรื่องของเขาเป็นอย่างไรโปรดรอติดตามชม “ที่นี่บ้านเรา” ตอน บันทึกอุโมงค์ต้นไม้น่าน วันพุธที่ 8 เมษายน 2558 เวลา 13.30 น. ทางไทยพีบีเอส