จังหวัดสมุทรสาคร : วันที่ 22 เมษายน 2566 เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับคณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน คณะทำงานสวัสดิการชุมชนภาคกลางและตะวันตก เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักงานภาคกลางและตะวันตก จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการคณะทำงานสวัสดิการชุมชนระดับโซนจังหวัดสมุทรสาคร ประกอบด้วย 3 โซนอำเภอ ได้แก่ โซนอำเภอเมืองสมุทรสาคร โซนอำเภอกระทุ่มแบน และโซนอำเภอบ้านแพ้ว
นางวัชรา สงมา ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก (ปฏิบัติการพื้นที่) กล่าวถึงภารกิจการทำงานของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ตามวิสัยทัศน์ ปี 2579 ว่า “ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย” โดยสนับสนุนและช่วยเหลือพี่น้ององค์กรชุมชนและเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาศักยภาพแกนนำ การพัฒนาอาชีพและรายได้ สินเชื่อเพื่อการพัฒนา ตามบริบทพื้นที่ เพื่อให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของการพัฒนาอย่างแท้จริง ซึ่งอาจประสานความร่วมมือกับภาคีพัฒนาในพื้นที่ผ่านการบูรณาการแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และบริหารจัดการทุนชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ ตามการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรจังหวัดสมุทรสาคร ภายใต้เป้าหมายสำคัญในสร้างสังคมสุขภาวะให้คนในตำบล/ ชุมชนอยู่ดีมีสุข โดยมีกลไกการขับเคลื่อนงาน ได้แก่ สภาองค์กรชุมชนจำนวน 40 ตำบล และกองทุนสวัสดิการชุมชน จำนวน 32 ตำบล โดยมีรูปธรรมการทำงานที่เห็นผลชัดเจน อาทิ การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านพอเพียงจำนวน 24 ตำบล 793 ครัวเรือน การสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชนจำนวน 15 ตำบล เครือข่ายตำบลชายฝั่ง 8 ตำบล แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินผ่านโครงการบ้านมั่นคงจำนวน 1 เมือง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาจังหวัดกับภาคีพัฒนาในพื้นที่ เช่น พัฒนาชุมชนสมุทรสาคร พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การสนับสนุนวิทยากรกระบวนการของวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร
ในการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนแล้วจำนวน 32 กองทุน สมาชิกรวม 11,054 คน ซึ่งมีการจัดสวัสดิการชุมชนเพื่อดูแลคนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกิด ด้านการรักษาพยาบาล ด้านการประกอบพิธีศพ ด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี ด้านที่อยู่อาศัย ด้านกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ฯลฯ
นายธนพล ศรีใส ผู้แทนคณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน กล่าวถึงจุดเริ่มต้นการก่อเกิดกองทุนสวัสดิการชุมชน ตั้งแต่ปี 2548 ที่มีการจัดงานสมัชชาองค์กรชุมชนระดับชาติหรือวิถีพลังไทย โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับสวัสดิการชุมชนโดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเป็นเครื่องมือในการดูแลประชาชนโดยประชาชน ผ่านการระดมเงินภายในชุมชน ในขณะเดียวกันได้มีการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนในเชิงนโยบาย ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนและสมทบงบประมาณกองทุนสวัสดิการชุมชน จนกลายมาเป็นวาระแห่งชาติและปัจจุบันสวัสดิการชุมชนได้ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (4) พร้อมได้รับความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทยในการออกระเบียบว่าด้วยการสมทบงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย รวมถึงมีการผลักดันเรื่อง “พระราชบัญญัติส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน” เพื่อให้กองทุนมีสถานะที่เกิดการยอมรับต่อสังคมในที่สุด
ภายหลังจากกระบวนการแบ่งกลุ่มย่อยของกองทุนสวัสดิการชุมชนในแต่ละโซนอำเภอ มีการประเมินเบื้องต้นรายกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล กำหนดบทบาทหน้าที่และทบทวนโครงสร้างทีมทำงานระดับโซนอำเภอ คัดเลือกผู้ประสานงานระดับจังหวัด วางแผนการขับเคลื่อนการทำงานระดับโซนและฟื้นฟูกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อเสนอขอรับงบประมาณสมทบ เช่น การจัดประชุมทำความเข้าใจคณะทำงานระดับโซน การหนุนเสริมและฟื้นฟูกองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นต้น โดยคณะทำงานระดับโซนนั้นก่อให้เกิดความคล่องตัว สามารถสื่อสารและหนุนเสริมพื้นที่กองทุนสวัสดิการชุมชนอย่างทั่วถึงมากขึ้น นอกจากนี้ เวทีดังกล่าวยังเกิดการเรียนรู้และเติมเต็มกระบวนการร่วมระหว่างเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 และระดับภาค โดยเฉพาะการฟื้นฟูกองทุนสวัสดิการชุมชน การยกระดับและพัฒนาคนทำงานเพื่อสร้างการยอมรับกับภาคีความร่วมมือในทุกภาคส่วน
รายงาน : ศรสวรรค์ เฉลียว