เมื่อพูดถึง “ภาคใต้” สิ่งที่หลายคนนึกถึงคือ ทะเล ชายหาด และอาหารรสจัดจ้าน แต่หากมองภาคใต้จากแผนที่ประเทศไทย เราจะเห็นเป็น “ด้ามขวาน” ที่ขนาบด้วยทะเลทั้งสองฝั่ง ส่วนปลายติดประเทศมาเลเซีย ซึ่งนี่คือทรัพยากรที่สำคัญของภาคใต้ และเป็นต้นทุนสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ
- พื้นที่ภาคใต้มีทั้งสิ้น 44.2 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 13.3 ของประเทศ และมีประชากรทั้งหมดประมาณ 7.3 ล้านคนคิดเป็นประมาณ 11% ของประชากรทั้งหมดของไทย
- ผลผลิตภาคเกษตรที่สำคัญของภาคใต้ คือ ยางพารา ประมง ปาล์มน้ำมัน และผลไม้
ในช่วงบรรยากาศเลือกตั้งแบบนี้ ทีมงานแลต๊ะแลใต้ชวนคุย และเช็คต้นทุนภาคใต้จากหลากหลายมุมมอง
ดร.สินาด ตรีวรรณไชย
“เศรษฐกิจของภาคใต้จะขึ้นอยู่กับพื้นที่ อย่างพื้นที่ชายฝั่งทะเล(เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคใต้) ขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยว และภาคเกษตรก็คือการทำประมง ขยับเข้ามาในพื้นที่ในบนบกหน่อย ก็จะเป็นเรื่องของภาคเกษตร คือการเพาะปลูกไม่ว่าจะเป็นยางพารา ปาล์ม สวนผลไม้ จากนั้นจะเป็นอุตสาหกรรมแปรรูป ที่ต่อเนื่องมาจากสินค้าเกษตรหลักของภูมิภาค”
ดร.สินาด ตรีวรรณไชย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบายให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจกับลักษณะภูมิประเทศของภาคใต้ ที่ปัจจุบันยังถือเป็นจุดแข็งของคนใต้ เป็นโอกาสของเกษตรกรภาคใต้ ในการยกระดับสถานะของตัวเองจากการเป็นเพียงผู้ผลิตอย่างเดียว สู่การสร้างตลาดของตัวเอง
“ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือว่าการลดการทำเกษตรเชิงเดี่ยว แล้วหันมาเน้นการทำเกษตรพรีเมียม หรือการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เกษตรกรยังต้องการการฝึกอบรม ความช่วยเหลืออยู่มากพอสมควร และเป็นโจทย์ของภาครัฐด้วยว่าจะสนับสนุนได้มากน้อยแค่ไหน อยากให้ SME เข้มแข็งแล้วสามารถมีตลาดของตัวเอง และยกระดับจากการขายวัตถุดิบมาเป็นผู้ประกอบการขายสินค้าที่แปรรูปมากขึ้น”
“ผมคิดว่าถ้าคนไหนอยากจะเป็นเกษตรกร เราควรทำให้เขาเป็นเกษตรกรมืออาชีพให้มากขึ้น เพราะหลาย ๆ ครั้งไม่ว่าจะเป็นการจัดการฟาร์ม การทำให้สินค้ามีคุณภาพ เรายังคงมีปัญหาอยู่พอสมควร อย่างเราปลูกยางพารา 1 ไร่ ผลตอบแทนได้ไม่เยอะเท่ากับฟาร์ม(หรือสวนยางพารา) ที่มีการวิเคราะห์จัดการดี ๆ เพราะฉะนั้นการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ยังคงต้องทำต่อเนื่อง ผมคิดว่าเป็นโจทย์ที่ทำได้”
ดร.สินาด ตรีวรรณไชย
การเติมทักษะความรู้ใหม่ เป็นอีกวิธีการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร แต่หากเป็นระดับภูมิภาค หรือระดับประเทศ ดร.สินาด ตรีวรรณไชย มองว่ายังเป็นเรื่องที่ต้องหาแนวทางร่วมกันว่าจะสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจขนาดไหนที่จะพอดี และเพียงพอต่อการพัฒนา
“สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการค้าขาย ซึ่งภาคใต้จะมีการค้าขายหลาย ๆ เมืองที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต สงขลา หรือแม้แต่สามจังหวัดชายแดนใต้ ก็เป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ ถ้ามองในภาพรวมทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป ภาคบริการ(ท่องเที่ยว)”
“มีภาคเศรษฐกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่เป็นลักษณะขนาดเล็ก แต่ขนาดผลผลิตมีมูลค่าสูง”
ดร.สินาด ตรีวรรณไชย
สมพล ชีววัฒนาพงศ์
“ปีที่ผ่านมา GDP ของประเทศมาเลเซียโตขึ้น 8.5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวมาเลเซียมีความพร้อมที่จะเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทย โดยเฉพาะ จ.สงขลา ที่มีชายแดนติดกัน ประเด็นคือทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาไม่ต้องใช้เวลารอในการเดินทางเข้าประเทศไทย 2-3 ชม.ต่อครั้ง ถ้าสามารถจัดการตรงนี้ได้ เวลา 2 ชม. สามารถใช้จ่ายในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้น สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากยิ่งขึ้น”
ด้านสมพล ชีววัฒนาพงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา มองว่าแม้นักท่องเที่ยวมาเลเซีย จะเป็นกลุ่มหลักของเมืองท่องเที่ยวในภาคใต้ แต่การทำให้เกิดความยั่งยืนของรายได้และชุมชนเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เมืองท่องเที่ยวภาคใต้เดินหน้าต่อไปได้
“การท่องเที่ยวโดยชุมชนสิ่งที่เราต้องมอง คือความพร้อมของชุมชน แม้บางชุมชนจะยังไม่มีความพร้อมแต่เราก็ไม่ผลักเขาออกจากการท่องเที่ยว แต่มองเขาเป็นส่วนเสริมในการผลิตสินค้าป้อนให้กับแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ส่วนสินค้าประมง แทนที่เราจะไปผลักดันการท่องเที่ยวในแหล่งทรัพยากรที่สมบูรณ์แล้วทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย เราอาจสนับสนุนสินค้าประมงของพวกเขามาเป็นส่วนเสริมการท่องเที่ยวในเมืองแทน ทำให้เกิดการกระจ่ายรายได้ในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว”
“เราพยายามปรับโครงสร้างด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา โดยหาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่มีมูลค่าสูง อย่างการผลักดันเรื่อง medical and wellness (การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ) ในพื้นที่ จ.สงขลา เรากระจายความเสี่ยงจากนักท่องเที่ยวมาเลเซียอย่างเดียว โดยที่เราพยายามดึงนักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซีย ชาวจีน หรือชาวเวียดนาม เข้ามาในจังหวัดสงขลาให้มายิ่งขึ้น เพื่อกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว”
สมพล ชีววัฒนาพงศ์
ไมตรี จงไกรจักร์
“ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ คนจนเมือง หรือชุมชนเล็ก ๆ ตามที่ต่าง ๆ จะมีปัญหารุกเร้ามากขึ้น เพราะว่ารัฐบาลพยายามที่จะมุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจ รวมไปถึงเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม เป็นการบ่อนทำลายชุมชนโดยที่ไม่สนใจ เพราะเขาไม่ได้มองว่าชาวบ้านเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ”
ด้วยความสำคัญของฐานทรัพยากรธรรมชาติในภาคใต้ ไมตรี จงไกรจักร จากมูลนิธิชุมชนไท มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ทรัพยากรภาคใต้จะเป็นที่หมายปองของรัฐบาล เพื่อนำไปใช้ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังมีข้อกังวลในวิธีการพัฒนาที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่
“กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ในพื้นที่ฝั่งอันดามัน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 14,000 คน เป็นกลุ่มไม่ใหญ่มากนัก กระจายอยู่ใน 5 จังหวัด(ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สตูล) และอยู่ติดชายทะเลทั้งหมด เราเห็นชัดว่าเมื่อรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ผลกระทบจะตกกับวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล 100 เปอร์เซ็นต์ 1.ชายหาดหายไป 2.ไม่มีที่หาปลา 3.วิถีชีวิต การละเล่นหรือวิถีชุมชนที่เคยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีเครื่องมือประกอบอาชีพประมงอยู่ได้ กลายเป็นต้องรวบให้อยู่ชิดกัน ให้เป็นคนเมืองมากขึ้น แล้วก็ไม่มีโอกาสที่จะใช้ทรัพยากรในพื้นที่ที่ชายหาด ที่เมื่อก่อนเคยหาหอย หาปลา ดำน้ำได้”
ไมตรี มองว่าทางออกของเรื่องนี้นอกจากจะสร้างความเข้าใจในสังคมวงกว้างถึงการมีอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ทางมูลนิธิชุมชนไท และหน่วยงานหลายภาคส่วนร่วมกันผลักดัน จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
สภาเศรษฐกิจโลก World Economic Forum (WEF) ได้ประเมินความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดของโลก ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม 3 อันดับแรก ประกอบด้วย ความล้มเหลวของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความแปรปรวนสภาพอากาศแบบสุดขั้ว และความสูญเสียของความหลากหลายทางชีวภาพ
ขณะที่สถานการณ์ด้านทรัพยากรของภาคใต้ ความสมบูรณ์ลุ่มน้ำ ภูเขา ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ทะเลสาบ มีแนวโน้มลดลง จากการถูกบุกรุกและ ใช้ประโยชน์เพื่อขยายพื้นที่ทางการเกษตรและเพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สมบูรณ์ คำแหง
“การกระจายอำนาจ ซึ่งไม่ใช่แค่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเดียว แต่เป็นการกระจายอำนาจไปถึงการจัดการภาษีของเราเอง รวมถึงการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรด้วย”
ด้านสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล มองว่าในอีก 10 ปีต่อจากนี้ ความขัดแย้งเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจะสูงขึ้นก็จริง แต่ก็มีเครื่องมือที่จะนำมาแก้ปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้ได้นั่นคือ “การกระจายอำนาจ”
“ผมคิดว่าประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมในอนาคต สังคมยังไม่เข้าใจเรื่องสภาวะโลกร้อน แม้กระทั่งนโยบายของรัฐบาลที่พยายามพูดถึงเรื่อง คาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ผมคิดว่ารัฐบาลกำลังเข้าใจผิดในเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นวันนี้แนวคิดเรื่องการลงทุนบวกกับสิทธิชุมชน ชาวบ้านที่กังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนา ถ้าต่างคนต่างคิดคนละแบบ อีก 10 ปีข้างหน้าความขัดแย้งยังคงอยู่ และอาจจะมีมากขึ้น อาจโยงไปถึงเรื่องการละเมิดสิทธิชุมชนตามมา นี่เป็นภาพอนาคตที่เรามองว่ายังไม่คลี่คลาย และต้องจับตา”
“สิ่งหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมากคือเรื่องการกระจายอำนาจ ซึ่งไม่ใช่แค่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเดียว แต่เป็นการกระจายอำนาจไปถึงการจัดการภาษีของเราเองตั้งแต่ระดับท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด หรือกลุ่มจังหวัด รวมถึงการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรด้วย ในตอนนี้หลายเรื่องชุมชนมีความสามารถจะจัดการได้แล้ว อย่างการฟื้นฟูดูแลทะเล การรักษาป่าไม้ ดูแลภูเขา แม่น้ำ ซึ่งผมคิดว่านี่จะเป็นสิ่งที่ชัดเจนขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า และเราต้องช่วยกันทำ”
สมบูรณ์ คำแหง
“ทุกพรรคการเมืองตอนนี้ลงมาแย่งชิงมวลชนในภาคใต้ คาดหวังว่าถ้าคุมภาคใต้ได้เขาจะสามารถเป็นผู้กำหนดนโยบายการพัฒนาภาคใต้ได้ การที่จะกำหนดนโยบายและการพัฒนาได้ คือการแย่งชิงทรัพยากรในภาคใต้”
ไมตรี จงไกรจักร์
รับชมคลิปที่เกี่ยวข้อง