ขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาคจับมือนิด้าจัดเวที “จับตานโยบายพรรคการเมืองเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง” พร้อมยื่นข้อเสนอสร้างประชาธิปไตย-ลดเหลื่อมล้ำ-กระจายอำนาจ
นิด้า / ขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาคและภาคประชาสังคมจับมือนิด้า จัดเวที “จับตานโยบายพรรคการเมืองเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง” โดยมีผู้แทน 10 พรรคการเมืองเข้าร่วมรับฟังข้อเสนอจากขบวนองค์กรชุมชนและเสนอนโยบายของพรรคในการหนุนเสริมชุมชนเข้มแข็ง ขณะที่ข้อเสนอจากภาคประชาชน เน้น 5 ด้าน เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ลดความเหลื่อมล้ำทุกมิติ กระจายอำนาจ ปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจน ต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ฯลฯ
วันนี้ (24 เมษายน) ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ระหว่างเวลา 9.00-12.00 น. ขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาค และภาคประชาสังคม ร่วมกับนิด้าจัดเวที “จับตานโยบายพรรคการเมืองเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง” โดยมีผู้แทน 10 พรรคการเมืองเข้าร่วม ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล รวมไทยสร้างชาติ เสรีรวมไทย ชาติไทยพัฒนา ไทยสร้างไทย ชาติพัฒนากล้า เสมอภาค ประชาชาติ เพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมรับฟังข้อเสนอจากขบวนองค์กรชุมชนและเสนอนโยบายของพรรคในการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 120 คน และรับฟังผ่านระบบซูมอีกประมาณ 130 คน
ก้าวย่างของเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนและภาคประชาสังคม
การจัดเวทีครั้งนี้มีผู้บริหารนิด้า นำโดย รศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนานาชาติ กล่าวเปิดงาน ขณะที่ขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาคและภาคประชาสังคม โดยนางวิภาศศิ ช้างทอง ผู้แทน กล่าวรายงานความเป็นมาว่า เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคม เกิดจากการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมในทุกมิติ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาความยากจน และการกระจายอำนาจ
เครือข่ายองค์กรชุมชนมีหลากหลาย ได้แก่ สภาองค์กรชุมชน เครือข่ายสวัสดิการชุมชน เครือข่ายที่อยู่อาศัย เครือข่ายที่ดินทำกิน เครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชน เครือข่ายชุมชนต่อต้านการทุจริต ครอบคลุมกว่า 7,000 ตำบล ทั้ง 77 จังหวัด มีประชาชนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการประมาณกว่า 10 ล้านคน
“เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคม มีเป้าหมายในการสนับสนุน ผลักดันให้ภาคประชาชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ตามความหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของท้องถิ่น เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิชุมชนในการสร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียม อันเป็นอำนาจที่แท้จริงของประชาชนชาวไทย
ขบวนองค์กรชุมชนจึงมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการที่จะพัฒนาไปสู่ชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเองได้ เพื่อเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ สร้างระบบประชาธิปไตย และระบบธรรมาภิบาลร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียม” ผู้แทนภาคประชาชนกล่าว
เส้นทางสู่ชุมชนเข้มแข็ง
ส่วนการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคมที่ดำเนินการในปัจจุบัน เช่น 1. การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน เป็นองค์กรที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงองค์กรชุมชน และทุกภาคส่วนในตำบลมาทำงานแก้ไขปัญหาและการพัฒนาในตำบล
ปัจจุบันมีการจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลแล้วประมาณ 7,795 ตำบล มีองค์กรชุมชนซึ่งจดแจ้งแล้วประมาณ 156,280 องค์กร ผู้แทนของชุมชนและผู้ทรงคุณวุฒิรวม 254,945 คน
- 2. การแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยเครือข่ายทั้งในเมืองและชนบท ปัจจุบัน สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ชุมชนเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน เช่น โครงการบ้านมั่นคง รวม 127,920 ครัวเรือน ใน 1,832 ชุมชน 77 จังหวัด
- 3. การจัดตั้งและพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล เพื่อสร้างระบบสวัสดิการของชุมชนพึ่งตนเองด้วยกันเอง ด้วยชุมชนและสังคม ภายใต้หลักคิด “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” โดยประชาชนร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาทและรัฐร่วมสมทบ
ปัจจุบันมีกองทุนสวัสดิการชุมชนประมาณ 5,913 ตำบล (กองทุน) สมาชิก 7.4 ล้านคน มีเงินรวมกันประมาณ 20,412 ล้านบาท จัดสวัสดิการให้สมาชิกแล้ว 2,463 ล้านบาท สมาชิกที่ได้รับการช่วยเหลือ 4,275,417 คน
- 4. การพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน สร้างระบบเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นที่สามารถพึ่งตนเอง มีคุณธรรม มีการตั้งกลุ่มและเครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชน เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีการพัฒนาแผนธุรกิจเพื่อชุมชน ทั้งด้านการผลิต แหล่งทุนสนับสนุน รวมถึงระบบการตลาด เทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนาสร้างคนรุ่นใหม่
- 5. การสร้างสังคมสุจริตและการต่อต้านการทุจริต โดยเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรชุมชน แนวทางสำคัญ คือ เปลี่ยนภาคประชาชนเป็นพลังพลเมือง โดยสร้างจิตสำนึก สร้างระบบพื้นที่เปิดเผยโปร่งใส สร้างธรรมาภิบาลชุมชน และการแจ้งเบาะแสการทุจริต ดำเนินการแล้วใน 383 ตำบล 24 จังหวัด
ข้อเสนอ 5 ด้านหลักต่อพรรคการเมือง
ในการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาคและภาคประชาสังคมทั่วประเทศ ได้จัดประชุม ระดมความเห็น และนำข้อเสนอการแก้ไขปัญหาต่างๆ มาสังเคราะห์ จัดทำเอกสาร เพื่อยื่นเสนอต่อพรรคการเมืองที่เข้าร่วมในเวทีวันนี้ โดยมีเนื้อหาหลัก ดังนี้
- 1. แก้ไขรัฐธรรมนูญให้สะท้อนการมีประชาธิปไตย โดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนมาทำหน้าที่
- 2. มีนโยบายและมาตรการในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญ ได้แก่ การลดความเหลื่อมล้ำทุกมิติ การแก้ปัญหาความยากจน การปฏิรูประบบราชการทุกระดับ การสร้างสังคมที่เป็นธรรมและสมานฉันท์ การกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่นให้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนา
- 3. ส่งเสริมสนับสนุนบทบาทและความสามารถของเครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเอง เป็นหุ้นส่วนกับภาครัฐในการพัฒนาสังคม โดยจัดให้มีนโยบายและกลไกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับเครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมที่ชัดเจน
รวมถึงการผลักดันร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งเพื่อให้เกิดกลไกกลางในการ บูรณาการการแก้ปัญหาของประชาชนและการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น
- 4. กำหนดนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เครือข่ายองค์กรชุมชนดำเนินการอยู่แล้วให้เกิดผลมากขึ้น ได้แก่
4.1 สนับสนุนให้สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกการเชื่อมโยงการแก้ปัญหาและพัฒนาในระดับตำบล/เทศบาล จัดทำข้อมูล แผนพัฒนา สร้างความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ปัญหาและพัฒนา โดยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐรับรองสถานะและให้ความร่วมมือ
4.2 ปฏิรูปที่ดินของรัฐเพื่อการอยู่อาศัยและการทำกินของคนจนทั้งในเมืองและชนบท การแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค และสนับสนุนทางการเงินให้คนจนสามารถมีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินได้อย่างเหมาะสม
4.3 สนับสนุนการพัฒนาและการเงินแก่กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลให้เป็นกลไกการจัดสวัสดิการในพื้นที่และยกระดับเป็นระบบสวัสดิการชุมชนตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงการสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมระบบสวัสดิการชุมชนที่ภาคประชาชนเสนอและค้างอยู่ที่รัฐบาลและสภา
4.4 เร่งสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มั่นคง เกิดมูลค่าและคุณค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการผลิต การตลาด การบริการ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) โดยเฉพาะการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้กลับคืนถิ่น เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนท้องถิ่น
- 5. พรรคต้องประกาศนโยบายต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ทั้งในภาคการเมือง ภาคราชการ ไม่แต่งตั้งคนของพรรคที่มีประวัติทุจริตเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง ออกกฎหมายข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่หน่วยงานต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการ งบประมาณ และการดำเนินงานให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายผ่านเทคโนโลยี โดยประชาชนไม่ต้องร้องขอ และสนับสนุนให้ภาคประชาชนมีบทบาทในการสร้างสังคมสุจริตและต่อต้านการทุจริตได้อย่างปลอดภัย